อุบัติเหตุบนถนนไทยนำโด่ง สอจร.ยันไม่ทำอะไรเลย ขึ้นแท่นอันดับ 1 ของโลกแน่
สอจร.เผยประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากสุดอันดับ 2 ของโลกปี 2015 คดีที่โดนจับมากสุดคือเมาแล้วขับ และพบจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวจะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง เช่น ระยอง ชลบุรี เชียงใหม่ และสมุทรปราการ
วันที่ 18 สิงหาคม 2559 คณะทำงานแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) มูลนิธิถนนปลอดภัย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายเพื่อถนน ร่วมแถลงข่าว “รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของไทย ปี 2557” ณ ห้องประชุม MSC Hall โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่า ถนนเจริญกรุง
ดร.ลีวีอู เวดราสโก ผู้แทนจากสำนักงานองค์กรอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการมุ่งเน้นสำหรับประเทศไทยคือ "การบริการจัดการที่เข้มแข็ง-พัฒนาระบบข้อมูลและการติดตามกำกับที่จริงจัง" (มีข้อมูลการเสียชีวิตถูกต้องครบถ้วน) และ "การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ" ได้แก่ การปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมาย 1) การใช้ความเร็ว โดยเฉพาะการใช้ความเร็วในเขตเมืองที่สูงถึง 80 กม./ชม. ให้ลดลงตามมาตรฐานสากล ที่ 50กม./ชม. 2)กฎหมายและการบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยในผู้โดยสารตอนหลัง 3) การสวมหมวกนิรภัย 4) เมาแล้วขับ โดยกำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของนักดื่มอายุน้อยหรือผู้ขับขี่หน้าใหม่อยู่ที่ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ 5) การบังคับใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก และ 6)ระบบโครงสร้างพื้นฐานและมาตรฐานยานพาหนะ
ดร.ศาสตราวุฒิ พลบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร ผู้จัดการโครงการสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานณ์อุบัติเหตุของประเทศไทยทุกๆ 24 นาทีจะมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน นั้นหมายความว่า ใน 1 วันจะมีคนเสียชีวิตบนท้องถนน 57 คนต่อวัน
จากรายงานสถานณ์ความสูญเสียบนท้องถนนในปี 2015 ของประเทศไทย พบบว่า ยังอยู่อันดับ 2 ของโลก รองมาจากประเทศลิเบีย โดยไทยมีอัตราการตาย 36.2 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าอัตราตายเฉลี่ยทั่วโลก 17.5 ถึง 2 เท่า
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คือ รถจักรยานยนต์ยังมาเป็นอันดับ 1 หรือ 76% เท่ากับ 26 ต่อประชากรแสน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและเด็ก
ดร.ศาสตราวุฒิ กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาปี พ.ศ. 2557 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วประเทศ 21,429 ราย ลดลงจาก พ.ศ. 2555 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิต 23,601 ราย ลดลงจากเดิม 10 %
และได้มีการสำรวจด้านมาตราการบังคับใช้กฏหมายเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนปี พ.ศ.2557 ผลคือจำนวนการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี “เมาแล้วขับ” มีจำนวน 52,066 รายหรือ 99.3 รายต่อแสน จังหวัดที่จับกุมมากที่สุด คือ ชลบุรี เชียงใหม่ และสมุทรปราการ
"เป้าหมายของสอจร.ในปี 2563 เราจะลดลงอัตราการเสียชีวิตให้อยู่ที่ 10 คนต่อ 1 แสนประชากร ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 4 ปี ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย หากเราไม่ทำอะไรเลย เราอาจมีสิทธิกระโดดขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก"ดร.ศาสตราวุฒิ กล่าว
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์กรการอนามัยโลกด้านอุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า ความรุนแรงจากภัยบนท้องถนนของประเทศไทย ยังอยู่ในระดับวิกฤต ข้อมูลการเสียชีวิตจากฐานเดียวจะมีจำนวนต่ำกว่าความเป็นจริงกว่าเท่าตัว จึงควรเก็บข้อมูลการเสียชีวิตจาก 3 ฐาน เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงการเสียชีวิตเป็นจริง ฐานใบมรณะบัตร ฐานข้อมูลบริษัทกลาง ฐานตำรวจ
"ในประเทศไทยควรรวบรวมข้อมูลการตายทั้ง 3 ฐาน เพื่อข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งจากสถานการณ์รายจังหวัดพบว่า จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำสุดคือ กรุงเทพมหานคร 13.60 รายต่อแสนประชากร ตามด้วย สตูล ยะลา ปัตตานี โดยจังหวัดที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ ระยอง 74.73 รายต่อแสนประชากร ตามมาด้วย ปราจีนบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ โดยจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวจะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่า
พร้อมกันนี้ นพ.วิทยา มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐให้ตระหนักถึงปัญหาอุบัติภัยบนท้องถนนของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล ซึ่งต้องให้หน่วยงานทุกหน่วยงานมีความจริงจังในการดำเนินงานมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องปรับระบบการเก็บและรายงานข้อมูล 3 ฐาน จากอุบัติภัยบนท้องถนน และเร่งจัดตั้งหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและกำกับติดตามการดำเนินงานของทุกๆหน่วยงานในมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น