กองทุนยุติธรรม เล็งหาแหล่งทุนใหม่ช่วยคดีคนจนได้ประกันตัวชั่วคราว
ผอ.กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพฯ โชว์ผลงาน 3 ปี ช่วยเหลือคนจน วางเงินประกันปล่อยตัวชั่วคราวแล้วกว่า 500 คดี มี 4 คดีเท่านั้นหลบหนี โอดศาลฯ เรียกแพง เงินกองทุนฯ จมหลายสิบล้านบาท
ความคืบหน้าการดำเนินการของ “กองทุนยุติธรรม” ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้การสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย การดำเนินคดี และการบังคับคดี โดย 1 ใน 8 ภารกิจของกองทุนยุติธรรมนั้น มีการบริการ “วางเงินประกันการปล่อยตัวชั่วคราว” ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า กองทุนยุติธรรมได้งบประมาณปีละกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ปี 2553-2556 มีการช่วยเหลือประชาชนเรื่องการวางเงินประกันการตัวปล่อยตัวชั่วคราวแล้วกว่า 500 คดี มีแค่ 4 คดีที่หนีการประกันตัว ได้แก่ คดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และคดี นปช.
“การวางเงินประกันเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวตกคดีละ 1 แสนบาท สูงสุดที่ศาลเรียกเงินประกันอยู่ที่ 2 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เราเป็นกองทุนหมุนเวียน การที่ศาลเรียกเงินประกันแพง ทำให้เงินไปจมอยู่ที่การประกันตัวหลายสิบล้านบาท”
เมื่อถามถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า กองทุนยุติธรรมนำเงินของรัฐ ซึ่งเป็นเงินงบประมาณ ไปประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่เชื่อว่า ไม่มีพฤติกรรมหนี หรือไม่มีพฤติกรรมไปก่อเหตุร้าย หากไม่หลบหนีศาลจะคืนเงินให้กองทุนยุติธรรม แต่หากผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีการประกัน ก็จะเกิดกระบวนการบังคับหลักประกัน และการที่ศาลซึ่งเป็นรัฐ บังคับหลักประกัน คือกองทุนยุติธรรม ซึ่งก็เป็นเงินของรัฐ เหมือนกับการย้ายเงินจากกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา รัฐบังคับเงินรัฐนั้น จะมีการแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไรบ้าง
นางนงภรณ์ กล่าวว่า จริงอยู่เงินกองทุนยุติธรรม เป็นเงินงบประมาณ ดังนั้น ในอนาคตจะมีการแก้กฎหมายเพื่อให้มีการตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ โดยดึงเงินมาจากเงินที่ได้จากการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดตัวจริง,เงินค่าธรรมเนียมศาล กรณีฟ้องคดีแพ่ง,เงินประกันตัวที่ศาลยึดไว้ กรณีผู้ต้องหาหลบหนี รวมถึงเงินจากค่าปรับผิดกฎหมาย เช่น เมาแล้วขับ เป็นต้น เพื่อนำกลับมาเยียวยาคนยากจน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ปัจจุบันมีการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรมฉบับประชาชนขึ้น โดย ดร.ปกป้อง ศรีสนิท มีสาระสำคัญ เช่น การให้กองทุนมีสถานะเป็นนิติบุคคล การขยายขอบเขตภารกิจของกองทุนให้ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือที่มากขึ้น การเปิดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนมาจากหลายภาคส่วน ตลอดจนแหล่งที่มาของเงินกองทุนที่มาจากหลากหลายแหล่งมากขึ้นเพื่อความมั่นคง เป็นอิสระและยั่งยืนของกองทุน
|
ที่มาภาพ:http://v-reform.org