ชีวิตข้างถนน (2) : เมื่อเขาออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ
ตามที่สาธารณะ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งชุมชนต่างๆ เราอาจคุ้นชินกับการเห็นใครสักคนเนื้อตัวมอมแมม นั่งอยู่บนพื้น นอนอยู่ข้างถนน ตามป้ายรถเมล์ หรือบนม้านั่งข้างทาง บ้างก็เดินวนไปวนมา ง่วนอยู่กับการทำอะไรสักอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภายใต้แววตาที่ว่างเปล่า
หลายคนเลือกที่จะเมินเฉยต่อภาพเหล่านี้ หนำซ้ำพยายามที่จะอยู่ห่างๆ เพราะเกรงว่าจะถูกทำร้าย
แล้วพวกเขาเหล่านี้ที่เราเห็นคือใคร?
ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนเร่ร่อน หลายคนคือผู้ป่วยข้างถนน เขาจำอะไรไม่ได้ มีอาการป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ พลัดหลงจากบ้านที่ป้องกันเขาจากอันตรายสู่โลกกว้างใหญ่ในเมืองหลวง
ในขณะที่หลายคนเลือกที่จะเมินเฉยและเดินหนี ยังมีหญิงชายกลุ่มหนึ่งที่พยายามช่วยให้พวกเขาได้กลับบ้าน นั่นก็คือ ทีมงานโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา โดยมีหัวหน้าโครงการคือ "เอ๋" สิทธิพล ชูประจง
"เอ๋" บอกเล่าถึงสถิติคนหายที่ผ่านมาพบว่า การมีอาการทางสมองแล้วพลัดหลงออกมานั้นเป็นสาเหตุการหายตัวมากเป็นอันดับ 3 รองจากการหนีออกมาเอง และการหนีตามคนรัก ตามลำดับ
“จำนวนผู้ป่วยข้างถนนนั้นไม่ได้มีการทำสำรวจแน่ชัด เนื่องจากผู้ป่วยมีการเคลื่อนย้ายตลอด ไม่ได้อยู่เป็นที่ และการเข้าไปสำรวจนั้นยาก เพราะต้องใช้การประเมินเงื่อนไขหลายๆอย่างจากตัวพวกเขา เช่น การเข้าไปคุยและดูสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้ได้รู้ว่า คนนี้เป็นผู้ป่วยใช่หรือไม่” หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน ระบุ
หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนนฯ ยังสะท้อนมุมมองของคนทั่วไป ซึ่งเป็นความเห็นเชิงภววิสัยต่อคนกลุ่มนี้ว่า พวกเขาสกปรกและน่ารังเกียจ สร้างความหวาดกลัวกับคนอื่น เกะกะระราน ไม่อยากให้มาอยู่ใกล้ๆ
“ถามว่า เคยมีผู้ป่วยข้างถนนทำร้ายไหม ก็ไม่ค่อยพบนะ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นจิตเภท ซึ่งจะไม่ค่อยสุงสิงกับใครและจะไม่ค่อยอยากยุ่งกับใครอยู่แล้ว เว้นแต่ว่าบางคนที่เสพสารเสพติดก็อาจมีอาการรุนแรง เกรี้ยวกราดบ้าง”
เมื่อเราถามถึงปัญหาของผู้ป่วยข้างถนน มีอะไรบ้าง?
เขาได้ตอบคำถามข้างต้นว่า “พวกเขาประสบปัญหาด้านคุณภาพชีวิตที่มีต่ำมาก แทบไม่มีปัจจัยสี่เหลืออยู่เลย มีไม่เพียงพอสำหรับชีวิตคนคนหนึ่ง ที่อยู่ก็ไม่มี อาหารถ้าวันไหนขอเขากินไม่ได้ก็ต้องคุ้ยขยะ บางทีขอเขามาแล้วก็ไม่กิน เพราะต้องเก็บไว้จนใกล้บูดแล้วค่อยกิน ซึ่งจะส่งผลต่อโรคอื่นๆ ทางร่างกายได้อีก ปัญหาเกี่ยวกับการเจ็บป่วยถ้า ไม่ได้รับการรักษา อาการจะหนักยิ่งขึ้นไปอีกจนทำให้กลายเป็นจิตเภทเรื้อรัง รักษาไม่หาย ซึ่งการกินยาทำได้แค่ควบคุมเท่านั้น
อีกปัญหาหนึ่ง คือ ไม่มีภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือและพาไปรักษาพัฒนาคุณภาพชีวิต เรื่องนี้สำคัญมากรัฐยังไม่ตื่นตัวมากพอในเรื่องของสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน”
ทั้งนี้ประธานโครงการผู้ป่วยข้างถนน ยังได้เสริมว่า หากรัฐยังไม่มีการช่วยเหลือจะทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ในสถานะไม่ต่างอะไรกับคนหาย เพราะพวกเขาบางคนไม่สามารถบอกที่อยู่ได้ ญาติพี่น้องที่พยายามตามหาก็จะหาไม่พบเพราะไม่สามารถเจอตัวได้
เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากผลการดำเนินการของมูลนิธิฯ เมื่อปี 2556 ที่สามารถช่วยผู้ป่วยข้างถนนกลับบ้านได้เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น
สุดท้ายคนที่ไม่ได้กลับบ้านก็ต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์หรือต้องทนอยู่ข้างถนนโดยไม่รู้ชะตากรรมต่อไป
ในตอนที่แล้ว มูลนิธิอิสรชนได้พูดถึงการพาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะไปอยู่สถานสงเคราะห์ว่า อาจได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง เพราะจำนวนบุคลากรด้านสังคมสงเคราะห์นั้นมีจำนวนไม่มากพอที่จะรองรับหญิงชายกลุ่มนี้ได้ แต่เขาบอกว่าอย่างน้อยการอยู่ที่สถานสงเคราะห์นั้น ก็ยังดีกว่าการปล่อยให้อยู่ข้างถนนปล่อยไปตามยถากรรม
“ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิตระบุไว้ว่า ต้องมีเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านจิตวิทยาและด้านสังคมสงเคราะห์ ซึ่งอย่างหลังนั้นยังไม่มี เราต้องผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีคุณลักษณะนี้ให้เกิดขึ้น” หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนนฯ กล่าวเสริม
ทั้งนี้เขายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการทำงานด้านนี้ที่ยังมีความลักลั่น ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับกระทรวงสาธารณสุขว่า กระทรวงใดกันแน่ที่ต้องทำหน้าที่นี้โดยตรง ทำให้เกิดการเกี่ยงงานกันและยังไม่มีอะไรคืบหน้า
“อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องผลักดันคือต้องมีการรองรับผู้ป่วยหลังสิ้นสุดการรักษา ทั้งนี้ภาคประชาสังคมและท้องถิ่นต้องช่วยกันซึ่งเป็นกลไกของรัฐต้องให้ความช่วยเหลือ และต้องดันให้สถานสงเคราะห์มีศักยภาพมากขึ้นให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ” "เอ๋" กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่อยากให้ภาครัฐและเอกชนช่วยกันดูแลผู้ใช้ชีวิตข้างถนนให้สามารถอยู่ได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้
ติดตามสกู๊ปชีวิตข้างถนน (3) : เรื่องน้ำเน่าเคล้าโลกีย์ ได้ในวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคมนี้