- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- สื่อสารมวลชน
- นักวิชาการชี้สื่อยุคหลอมรวม ใช้เป็นได้ประโยชน์สร้างพลังร่วมมหาศาล
นักวิชาการชี้สื่อยุคหลอมรวม ใช้เป็นได้ประโยชน์สร้างพลังร่วมมหาศาล
ธาม เชื้อสถาปนาศิริ ชี้ปี 2006 จุดเปลี่ยนของสื่อ ที่ผู้รับสารกลายเป็นผู้ใช้สื่อ ผลิตสื่อได้เอง แถมมีพฤติกรรมการใช้สื่อหลายหน้าจอ จนเกิดโรคใหม่ๆ ในยุคสื่อหลอมรวม ทั้งโรคเซฟฟี่ รอคนกดไลค์ โรคละเมอแชท โรคเสพติดอินเตอร์เน็ต
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเพื่อนปฏิรูปการเรียนรู้จัดงานประชุมวิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม ทั้งนี้เวทีย่อยมีหัวข้อเสวนาเรื่อง “เด็กเรียนรู้อย่างไรในยุคสื่อหลอมรวม”
นายชิตพงษ์ กิตตินราดร สถาบัน ChangeFusion กล่าวถึงยุคสื่อหลอมรวมว่า การหลอมรวมเป็นการสร้างโลกใบใหม่ที่นำเอาสื่อต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน ซึ่งการปฎิสัมพันธ์ของคนหรือการเรียนรู้ เช่นการเรียนรู้ระหว่างกัน การเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ในโลกภายนอกนั้นเปลี่ยนไปแล้ว
“การเปลี่ยนไปอาจจะไม่ดี แต่ในความเป็นจริงอาจจะดีก็ได้ ก็ยังเป็นคำถามที่หลายคนยังสงสัยอยู่” นายชิตพงษ์ กล่าวถึงการเปลี่ยนไปของสื่อ และว่า ในปัจจุบันการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมีเพิ่มสูงมากขึ้น อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ราคาของอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์มีราคาที่ถูกลง และการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
จากนั้น ได้นำเสนอแนวโน้มของสื่อที่เป็นข้อน่าสังเกตในการใช้สื่อใหม่ในยุคนี้ ได้แก่
1.โลกส่วนตัวแยกออกจากโลกเครือข่ายสังคมดั้งเดิม เช่น การเป็นข่าว การแสดงความรู้ การแสดงความคิดเห็นMeme หรือการนำสิ่งต่างๆรอบตัวมาเป็นประเด็นขบขัน การรณรงค์ที่ทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงศิลปะ ความโปร่งใส สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโลกส่วนตัวที่แยกออกจากโลกเครือข่ายดั้งเดิมทั้งสิ้น
2.เครือข่ายสังคมร่วมกับเรื่องสาธารณะเป็นหนึ่งเดียว เครือข่ายสังคมได้หลอมรวมกับเรื่องของเครือข่ายสาธารณะ เรื่องข่าว เรื่องความรู้ เรื่องการรณรงค์ให้เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
3.การเติบโตของ Social Media Campaign ซึ่งแคมเปญการรณรงค์ที่ใช้สื่อใหม่ที่เราเรียกว่า Social Media เป็นตัวนำ ในการรณรงค์ต่อสาธารณะที่ก่อให้เกิดกระแสในอินเตอร์เน็ตและประสบความสำเร็จในที่สุด
4.พื้นที่ใหม่ที่ใช้นวัตกรรมสร้างพลัง การเกิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ ในการสร้างเรื่องใหม่ๆในสังคม เช่น เว็บไซต์ที่สามารถให้ทุกคนเรียนฟรี, เว็บที่คนสังคมร่วมรณรงค์ในเรื่องต่างๆ หรืออื่นๆที่เกิดขึ้นมาในอินเตอร์เน็ตและทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมได้ เป็นต้น
“สื่อใหม่ในยุคปัจจุบัน ชีวิตกับอินเตอร์เน็ตหลอมรวมเข้าเป็นอย่างเดียวกัน เส้นแบ่งพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะยากมากยิ่งขึ้น โซเซียลมีเดียสามาถใช้ได้หลากหลาย ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น ดูข่าว ดูข้อมูลความรู้การสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ถ้าหากผสมผสานเป็น การเรียนหรือการให้ความรู้ การร่วมตัวบางอย่างเพื่อแสดงพลัง”
ด้านนายธาม เชื้อสถาปนาศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ กล่าวถึงการหลอมรวมสื่อ คือ การนำสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่อโทรศัทพ์ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มาผสมผสานกัน จึงทำให้เกิดอิทธิพลของสื่อและทำให้คนในยุคนี้อยากเข้าไปอยู่ในโลกของอินเตอร์เน็ต
พร้อมกันนี้ นายธาม ยังกล่าวถึงจุดเปลี่ยนของสื่อเมื่อปี 2006 เป็นจุดเปลี่ยน ผู้รับสารไม่ใช่ผู้รับสารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นยุคที่ผู้รับสารกลายเป็นผู้ใช้สื่อ สามารถผลิตสื่อได้เอง โดยพฤติกรรมการรับสื่อในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป เรียกว่า พฤติกรรมการใช้สื่อหลายหน้าจอ (multi-screen) คือแต่ละช่องทางมีพฤติกรรมแต่ละช่องทางแตกต่างกันเด็กจะลดการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ลงหันมาใช้สื่อแบบคอมพิวเตอร์ หรือสมารท์โฟนมากขึ้น รวมทั้งจะเกิดโรคใหม่ๆในยุคสื่อหลอมรวม อาทิ โรคเซฟฟี่ (Selfie) คือการถ่ายรูปตัวเองโดยใช้กล้องหน้า และมาอัฟแชร์ และรอคนกดไลค์ โรคละเมอแชท โรคเสพติดอินเตอร์เน๊ตเป็นต้น
นายธาม กล่าวถึงสาเหตุที่มีจำนวนเยาวชนเล่นสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้นด้วยว่า เพราะเยาวชนต้องการสร้างสถานะทางสังคมที่โรงเรียนไม่สามารถให้ได้ ซึ่งอินเตอร์เน็ตสามารถให้พื้นที่กับเยาวชนได้อย่างเต็มที่ การแสดงความคิดเห็น และสามารถแสดงตัวตนได้
“เด็กๆที่เล่นเฟชบุค เพราะต้องการสร้างสถานะทางสังคมที่โรงเรียนให้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นอินเตอร์เน็ตกลายเป็นทุกอย่าง โลกของเด็กอยู่ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้เขามีโลกเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นอาจารย์ต้องเข้าใจและปรับตัวให้รู้เท่าทันเด็ก“ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ กล่าวทิ้งท้ายการเสวนา