- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- การสร้างสำนึกร่วมของชุมชน
- UddC เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็น "เมืองเดินได้-เมืองเดินดี"
UddC เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็น "เมืองเดินได้-เมืองเดินดี"
ศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง เปิดตัวโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี “GoodWalk” เร่งศึกษาศักยภาพ พร้อมตั้งเป้าเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดิน จักรยาน ระบบขนส่งมวลชนเป็นวิธีการหลักในการเดินทาง
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง (UddC) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี “GoodWalk” ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการการเดินเท้าช่วยเพิ่มระดับกิจกรรมทางกายและสร้างเสริมสุขภาพของผู้คนในชีวิตประจำวัน ที่สามารถทำได้ง่าย และไม่มีค่าใช้จ่าย ในระดับสังคม การเดินเท้าช่วยกระจายรายได้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนการส่งเสริมความเท่าเทียมและความสัมพันธ์ในแนวราบของผู้คนในสังคม ดังนั้นจึงสังเกตเห็นมหานครและเมืองใหญ่ทั่วโลกมุ่งพัฒนาสู่ “เมืองเดินดี” (Walkable city) หรือเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดิน จักรยาน และระบบขนส่งมวลชนเป็นวิธีการหลักในการเดินทาง
“ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญในการพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเมืองเดินดี และพบว่า เมืองที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองเดินดี เช่น เมืองลอนดอน(อังกฤษ)เมืองพอร์ทแลนด์ (อเมริกา) เมืองโตเกียว (ญี่ปุ่น) ซึ่งเมืองเหล่านี้ ล้วนเป็นเมืองที่ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่ มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และดึงดูดให้ผู้คนไปเที่ยวชมเมืองเป็นจำนวนมาก” ผศ.ดร.ไขศรี กล่าว และว่า โครงการการนี้มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเมืองเดินดีให้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนที่ศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่ส่งเสริมการเดินเท้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 การกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับใช้เป็นพื้นที่นำร่อง และดำเนินการสำรวจสภาพของพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางในการออกแบบ และระยะที่ 3 การเสนอผังการพัฒนาพื้นที่นำร่องให้เหมาะสมกับการเดินที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ในระยะที่ 1 ของการการดำเนินการ ซึ่งศูนย์ฯ ได้พัฒนาดัชนีชี้วัด และแผนที่ศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเดินเท้า(แผนที่เมืองเดินได้) รวมถึงกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการพัฒนาเว็บไซต์ GoodEalk.org เพื่อเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวสู่สาธารณะ
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี โดยอยากให้บ้านเมืองมีบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมที่ดีกับการใช้ชีวิตในเมือง ไม่ใช่ใช้ชีวิตเร่งรีบ รีบร้อน และผิดหวังกับสภาพการจราจรต่างๆ หากเราสามารถมีบริเวณและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ด้วยการออกกำลังด้วยการเดิน จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า คนในกรุงเทพฯ เป็นคนอารยะ ไม่ใช่หมกมุ่นกับการทำงานโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวว่า มหานครและเมืองใหญ่ของโลก ต่างประสบกับความท้าทายจากการดำรงอยู่อย่างเมือง (Urbanization) ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
จากการายงาน UN HABITAT ในปี 2555 พบว่า ในปัจจุบันอัตราส่วนของประชากรทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เมือง (Urban) มีอัตราสูงกว่าในเขตพื้นที่ชนบท (Rural) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ปัญหาเมืองจึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบถึงการพัฒนาในมิติอื่นๆ เช่น สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
ดร.นิรมล กล่าวด้วยว่า ภายใต้ความท้าทายดังกล่าว นักคิดและนักพัฒนาทั่วโลกกลับเห็นว่า เมืองควรถูกมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ไขมากกว่าการยอมจำนนกับปัญหา ดังนั้น “การฟื้นฟูเมือง” (Urban Renewal) จึงเป็นหนึ่งในวิธีการพลิกฟื้นพื้นที่ชั้นในของเมือง โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อความยั่งยืนของเมืองและสุขภาวะของประชาชน