- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- แรงงานและคุณภาพชีวิต
- นักผังเมือง ชูแนวคิด "เมืองทั่วถึง" อนาคตการพัฒนากรุงเทพฯ
นักผังเมือง ชูแนวคิด "เมืองทั่วถึง" อนาคตการพัฒนากรุงเทพฯ
ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ชูแนวคิด "เมืองทั่วถึง" แนะพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ผู้อาศัยเข้าถึงบริการสาธารณะ ได้อย่างเท่าเทียม ชี้ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะยังน้อย ขณะที่กรุงเทพฯ มีศักยภาพมากพอในการพัฒนา
เมื่อเร็วๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส สถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง โรงเรียนสถาปัตยกรรมแห่งชาติเบลล์วิลล์ จัดงานเสวนา “Grand Bangkok – Grand Paris: Inclusive Cities” ณ สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ (Alliance Francaise)
ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานคร ให้เป็นเมืองที่ผู้อาศัยสามาารถเข้าถึงระบบสาธารณะได้อย่างทั่วถึง ภายใต้แนวคิด "เมืองทั่วถึง" (Inclusive City) ว่า ปัจจุบันเป็นยุคแห่งศตวรรษของเมือง เป็นยุคที่ประชากรโลกกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง เมืองจึงกลายมาเป็นพื้นที่พบปะ สังสรรค์ ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ภาษา แม้แต่เพศ
"การเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนอย่างเข้มข้น ของความหลากหลายเหล่านี้ภายในเมืองนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมในรูปแบบใหม่ภายในเมือง ในขณะเดียวกันความหลากหลายก็แฝงในนัยยะความหลากหลายทางความคิด ความต้องการ โดยอีกนัยหนึ่ง เมืองจะเป็นพื้นที่ของการเผชิญหน้า การเจรจาต่อรองของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม เพราะฉะนั้นการกีดกันกลุ่มคนใด กลุ่มคนหนึ่งออกจากโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของเมืองและผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการพัฒนาออกไปอย่างไม่เป็นธรรม มักจะนำมาซึ่งความเลื่อมล้ำและนำไปสู่วิกฤตการณ์ต่างๆ ไมว่าจะเป็นทางสังคม ทางเศรษฐกิจ แม้กระทั่งทางการเมือง"
ภายใต้ความท้าทายดังกล่าว ผศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า คอนเซ็ปต์ “เมืองทั่วถึง” จึงกลายมาเป็นประเด็นสำคัญ แม้ว่าจะยังเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ แต่สาระสำคัญคือ กระบวนการพัฒนาที่เปิดกว้างและตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนที่หลากหลายภายในเมือง โดยไม่ละทิ้งกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง หากจะกล่าวให้เจาะจงลงไปอีก คือ ความเป็นเมืองทั่วถึง มีนัยยะสำคัญคือการสร้างโอกาส ให้กับคนทุกกลุ่มที่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการสาธารณะได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่โล่ง สวนสาธารณะ สถานีขนส่งมวลชน รวมไปถึงสาธารณูปโภคทางปัญญา โดยวางบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและสังคมประชาธิปไตย
"ดังนั้นการฟื้นฟูเมืองให้เป็นเมืองทั่วถึง คือการเพิ่มโอกาสต่างๆ ของคนเมือง โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่มีความเสื่อมโทรม ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม สู่ย่านที่มีคุณภาพ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดปฎิสัมพันธ์ทางสังคมในระดับต่างๆ ของผู้คน และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของคนทุกกลุ่ม คำถามสำคัญก็คือว่า เราจะทำความความซับซ้อนและความหลากหลาย ตลอดจนพลวัตของพื้นที่และกลุ่มคนต่างๆ ในเมือง รวมถึงการเชื่อมโยงการวางแผนเมืองและการตัดสินใจได้อย่างไร"
ซึ่งหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของ "เมืองทั่วถึง" ผอ. ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวว่า คือ พื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าไปประกอบกิจกรรมได้ และยังเป็นการหาความสุขในชีวิตโดยไม่ต้องเสียเงิน รวมถึงเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ออกจากพื้นที่ของตนเอง เป็นโอกาสที่จะทำให้คนได้มองเห็นความหลากหลายของผู้คนมากขึ้น อย่างที่นักคิดหลายๆ คนพูดว่า “เมืองใดไม่มีพื้นที่สาธารณะ เมืองนั้นก็ยากที่จะประชาธิปไตย” เพราะว่าคนจะอยู่แค่ในพื้นที่ของกลุ่มตนเอง ไม่มีความอดทนในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา แม้กระทั่งความคิด
ในเวทีเสวนา ผศ.ดร.นิรมล เผยว่า พื้นที่ริมน้ำในกรุงเทพฯนั้น เป็น พื้นที่สาธารณะที่มีศักยภาพอย่างมาก และเป็นพื้นที่ที่มีการเจรจาต่อรองที่เข้มข้นที่สุด เพราะลักษณะของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เป็นที่ตั้งของความหลากหลาย เป็นย่านที่มีความคึกคัก ใครไปใครมากรุงเทพฯ จะต้องนั่งเรือชมเสน่ห์ริมสองฝั่งแม่น้ำ แตกต่างจากแม่น้ำอย่างแม่น้ำเซนในปารีส ที่เป็นพื้นที่โล่งว่าง แต่เสน่ห์ของความหลากหลายริมน้ำนั้น กลับกลายเป็นปัญหา เพราะความงามเหล่านั้น มีเจ้าของและถูกล้อมรั้วเอาไว้
ยกตัวอย่างพื้นที่ริมน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปฎิสัมพันธ์ของผู้คนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะระยะจากสะพานกรุงธนฯ ถึงสะพานกรุงเทพฯ ซึ่ง ผศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า จากสำรวจพบมีพื้นที่สาธารณะ ที่ผู้คนสามารถไปนั่งพักผ่อน หย่อนใจได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินมีอยู่แค่ 14% หรือเพียง 3.3 กิโลเมตรจากทั้งงหมด 24 กิโลเมตร (รวมระยะซ้ายขวาระหว่างสะพานกรุงธนฯ และสะพานกรุงเทพฯ)
แกนสำคัญในการพัฒนาในอนาคตพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาถือเป็นจุดสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการพัฒนาระบบราง จะทำให้เกิดการเชื่อมระหว่างโครงข่ายการเดินทางต่างๆ มากขึ้น ภายใต้เเนวคิด “เชื่อมย่านสู่เมือง เชื่อมเมืองสู่ชีวิตใหม่”
"ประเด็นสำคัญคือ เราจะทำพื้นที่ริมน้ำ ให้เกิดการมีส่วนร่วมได้มากกว่านี้อย่างไร ในขณะเดียวกันยังสามารถเก็บเสน่ห์ที่มีอยู่นี้เอาไว้ได้"