- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ขอ 3 ปี พิสูจน์กระบี่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง 100% ไม่พึ่งถ่านหิน
เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ขอ 3 ปี พิสูจน์กระบี่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง 100% ไม่พึ่งถ่านหิน
เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ยื่นหนังสือนายกฯ ค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ ชี้รัฐละเลยปฏิบัติหน้าที่ เพิกเฉยบังคับใช้ กม. ระบุยังเดินหน้าเตรียมฟ้องศาล ปค.คุ้มครอง ด้าน 'ครูหยุย' เผยนายกฯ ห่วงใย เตรียมดึงเจรจาที่ทำเนียบ
วันที่ 13 กรกฎาคม 2558 เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ณ หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายหลังสมาชิกเครือข่ายฯ 2 คน คือ นายประสิทธิชัย หนูนวล และนายอัครเดช ฉากจินดา อดอาหารตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีจุดประสงค์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ทั้งนี้ มีนายอิทธิพล มีเจริญ ผอ.สำนักบริหารกลาง กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นผู้แทนรับมอบ
นายอมฤทธิ์ ศิริพรจุฑากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.กระบี่ กล่าวถึงข้อเสนอต่อการยกเลิกโครงการฯ ว่า หากภายใน 3 ปี จ.กระบี่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง 100% ภายใต้เงื่อนไขว่า หลังจากนี้รัฐบาลต้องสนับสนุนการขยายระบบโครงข่ายสายส่งให้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนของ จ.กระบี่ เข้าสู่สายส่งไฟฟ้าได้เป็นอันดับแรก รัฐบาลจึงค่อยมาพิจารณาเรื่องโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
นอกจากนี้เพื่อพิสูจน์ว่าไฟฟ้ามีที่มาจากพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น โดยไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและยังเป็นการพิสูจน์ว่า ในภูมิภาคอันดามันและภาคใต้ทั้งหมดสามารถสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งนี้ เฉพาะ จ.กระบี่มีโรงไฟฟ้าตัวอย่าง โดยใช้น้ำเสียจากโรงงานปาล์มผลิตไฟฟ้า และในปัจจุบันสามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งและศักยภาพการผลิตมีได้มากกว่า
ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากน้ำเสียในโรงงานปาล์มจะไม่ก่อมลพิษจนเกิดผลกระทบ และเป็นการจัดการกับปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ที่สำคัญ เป็นการแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่มีปัญหามาตลอด ซึ่งเฉพาะ จ.กระบี่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเคยประเมินศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดของจ .กระบี่ที่มีเป็นพันเมกกะวัตต์
“ปัจจุบันโรงงานปาล์มจำนวน 11 โรง ผลิตไฟฟ้าได้แล้ว และ 6 โรง กำลังดำเนินการ อีก 15 โรง ยังไม่ได้ผลิต ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากน้ำเสีย หากใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ จะผลิตไฟฟ้าได้จำนวนมากและเป็นการจัดการมลพิษที่เกิดจากโรงงานปาล์มได้ด้วย” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.กระบี่ กล่าว
ด้านดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเหลือประมาณ 27% และกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองนั้นจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้านั้นสูงเกินความจริง 1,500 เมกกะวัตต์ ฉะนั้นการผลิตไฟฟ้าสำรองจะเพิ่มขึ้นสูงสุด 39% ในปี 2568
ขณะที่แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปี 2562 สามารถเลื่อนออกไปได้น้อยที่สุด 6-7 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินขอทดลองระบบพึ่งตนเอง โดยใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน นั่นหมายความว่า ช่วงเวลา 3 ปี จะได้รับคำตอบต่อนายกรัฐมนตรี ประชาชน และ กฟผ. ว่าไฟฟ้าควรมาจากสิ่งใด หากใช้พลังงานหมุนเวียนได้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ก็ทบทวนว่า จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
นักวิชาการ มก. กล่าวด้วยว่า เวลา 3 ปี ในการพิสูจน์ รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาระบบสายส่ง เพราะ จ.กระบี่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก แต่ไม่สามารถถ่ายเข้าระบบได้ เนื่องจากสายส่งเต็ม เพราะไม่มีการลงทุนด้านนี้รองรับไว้ และไม่ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน ทำให้ศักยภาพที่มีอยู่ไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าก็จำเป็นต้องทบทวน เพราะกำลังก่อตั้งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ
ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2551 และพ.ร.บ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 กำหนดชัดเจนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะต้องวางแผนและมาตรการในการคุ้มครองหรือสงวนพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว และผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีอำนาจประกาศพระราชกฤษฎีกาให้พื้นที่ใดที่มีความเหมาะสมเป็นพื้นที่สงวนและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้
ฉะนั้นการที่สมาชิกเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 2 คน นั่งอดอาหารประท้วง เพื่อส่งสัญญาณไปยัง ททท., รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายกรัฐมนตรี เพื่อรับทราบว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่ จ.กระบี่เป็นพื้นที่การท่องเที่ยว นำรายได้มาสู่คนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท/ปี และเข้าสู่ประเทศไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท/ปี ซึ่งมากกว่ากิจการอื่นที่รัฐบาลส่งเสริมอีก
“การที่รัฐบาลไม่ดำเนินนโยบายตามประกาศสงวนให้ จ.กระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และจะอ้างว่าไม่มีกฎหมายรองรับหรือไม่มีเครื่องมือเชิงนโยบายไม่ได้ เพราะกฎหมายสองฉบับเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นอำนาจของ ททท. ที่สำคัญ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ ททท.ออกกฎกระทรวงประกาศให้สตูล ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง เป็นพื้นที่พัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว หากรัฐบาลปฏิเสธสมาคมต่อต้านฯ และชาวอันดามันจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองต่อไป” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าว
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความห่วงใยต่อการเคลื่อนไหวของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ซึ่งท่านไม่ต้องการให้มีภาวะแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศ เพราะอยากขับเคลื่อนประเทศให้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาทุกเรื่องสามารถพูดคุยกันได้ คนไทยต้องพูดคุยกัน และมีโอกาสจะชวนไปเจรจาหารือที่ทำเนียบรัฐบาลร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ จะมีขึ้นวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 สมาชิก สนช. กล่าวว่า การเจรจากันต้องนำสลัดเงื่อนไขพันธนาการออกไปก่อน หากยังมีอยู่จะเจรจากันยาก เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่งมากขึ้น พร้อมระบุจะนำเรียนนายกรัฐมนตรีวันนี้ และยืนยันท่านอยากแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่เป็นไปได้อยากให้กลับ ไม่อยากให้ลำบากลำบน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 กฟผ. กำหนดยื่นซองประกวดราคา ตั้งแต่เวลา 9.30 – 10.00 น. และเปิดซองประกวดราคาเวลา 10.00 น. ณ ห้องโถงอาคารประชาสัมพันธ์ ชั้น 1 อาคาร ท.031 กฟผ.เชิงสะพานพระราม 7 โดยการก่อสร้างมีราคากลาง 49,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:อารยะขัดขืน! เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ อดอาหาร ค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่
เครือข่ายปกป้องอันดามันยื่นหนังสือสถานฑูตสหรัฐฯ หนุนยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน
โรงไฟฟ้ากระบี่เป็นปัญหาใต้! ภาคประชาสังคมเชื่อรัฐสร้างรองรับอุตฯ ขนาดใหญ่