- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- สื่อสารมวลชน
- ผลวิจัยม.หอการค้าฯ ชี้คนอ่านข่าวแชร์มากกว่าอ่านจากสำนักข่าวหลัก
ผลวิจัยม.หอการค้าฯ ชี้คนอ่านข่าวแชร์มากกว่าอ่านจากสำนักข่าวหลัก
ม.หอการค้าแถลงผลวิจัยเผยคนเสพข่าวจากโซเชียลมาก แต่ยังเชื่อถือสื่อกระแสหลัก คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ชี้สื่อออนไลน์น่าเป็นห่วงคนไม่ค่อยเชื่อถือเหตุมีข่าวลวงเยอะ
วันที่ 19 สิงหาคม 2559 ณ คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย มีการแถลงผลการวิจัยหัวข้อ “พฤติกรรมการรับข่าวสารและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสื่อมวลชน” โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการวิจัยโดยการเก็บแบบสอบถาม ช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 800 คน ผู้ตอบแบบสอบถาม เป็นเพศชาย 44% เพศหญิง 56 % มีช่วงอายุของผู้ตอบแบบสอบถาม 4 ช่วง คือ เจนเนอเรชั่น Y อายุระหว่าง 19-36 ปี 65.1% เจเนอเรชั่น X อายุระหว่าง 37-51 ปี 21% เบบี้บูมเมอร์ อายุระหว่าง 52-70 ปี 7.5% และเจเนอเรชั่น Z อายุระหว่าง 12-18 ปี 6.4%
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงสรุปถึงผลงานวิจัยครั้งนี้ว่า พฤติกรรมการรับข่าวสารของประชาชนพบว่า ประชาชนจำนวน 32.6 % ใช้เวลาในการรับข่าวสารโดยเฉลี่ยวันละ 1-2 ชั่วโมง รองลงมา 24.1% ใช้เวลาในการรับชมข่าวสารโดยเฉลี่ยวันละ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งข่าวสารที่รับชมบ่อยที่สุดคือข่าวบันเทิง 54.4 % รองลงมาคือข่าวเหตุการณ์สำคัญ 52.3% ข่าวกีฬา 37% ข่าวการเมือง 34.9% และข่าวอาชญากรรม 32.8%
สำหรับช่องทางที่ประชาชนรับข้อมูลข่าวสาร พบว่า สื่อออนไลน์บ่อยที่สุดคิดเป็น 4.13 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 5 ) รองลงมาคือโทรทัศน์ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.81 และเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นข่าวคิดเป็น 3.15 คะแนน
ความน่าสนใจ ที่พบประชาชนส่วนใหญ่เลือกอ่านข่าวแชร์มาจากคนใกล้ชิด คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.53 และสื่อที่เป็นสำนักข่าวอย่างเป็นทางการ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.33
ทั้งนี้ ผลสำรวจพฤติกรรมการรับข่าวสารผ่านทางออนไลน์ ประชาชนส่วนใหญ่เลือกอ่านข่าวผ่านทางอุปกรณ์มือถือ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 4.35 (จากคะแนนเต็ม 5 ) ซึ่งบ่อยกว่าอ่านจากคอมพิวเตอร์คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.21
ช่อง3 และช่อง 7 ยังเป็นที่นิยม
ส่วนพฤติกรรมการรับชมข่าวทางสถานีโทรทัศน์ ในระยะเวลา 3 เดือนพบว่า รายการข่าวช่วงเช้าที่มีคนรับชมมากที่สุดคือ เรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 HD 48.9% รองลงมาคือเช้านี้ที่หมอชิต 26.4% รายการข่าวช่วงเที่ยง คือ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ ช่อง 3 HD และรายการห้องข่าวภาคเที่ยง ช่อง 7 HD 23 %
รายการข่าวช่วงเย็น คือเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 HD รายการ ข่าวภาคค่ำช่อง 7 HD 35.5% รายการข่าวภาคดึก คือข่าวสามมิติช่อง 3 HD 46% รายการประเด็นเด็ด 7 สี ช่อง7HD 31.5%
ข่าวเสาร์อาทิตย์ คือรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ช่อง 3 HD 42.1% รายการข่าวภาคค่ำช่อง 7 HD 27.9% โดยช่องที่ได้รับความนิยมมาก คือ ช่อง3 และช่อง 7
ดร.มานะ กล่าวถึงผลวิจัยชิ้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สื่อเก่าโดยเฉพาะสื่อทีวียังได้ความน่าเชื่อถือในสายตาของคนกรุงเทพและปริมณฑล ถึงแม้ว่าคนกรุงเทพจะเสพสื่อใหม่มากกว่าก็ตาม ตัวของสื่อเองสามารถดำรงไว้ด้วยความน่าเชื่อถือเวลาเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เวลาที่จะเช็คข่าวประชาชนจะหันมาสนใจสื่อกระแสหลักและสื่อดั่งเดิมอยู่ แม้ประชาชนส่วนใหญ่เสพข่าวผ่านโซเชียลมีเดียมากที่สุด แต่สื่อที่ได้รับความเชื่อมั่นที่สุดคือสื่อโทรทัศน์
ดร.มานะ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือสื่อออนไลน์โดยเฉพาะสื่อที่มีการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือการพาดหัวข่าวที่เกินจริงก็อาจจะทำให้ความน่าเชื่อถือลดน้อยลง สื่อออนไลน์สำนักต่าง ๆ ควรจะมีมาตรฐานให้มากขึ้น เพราะว่า สมัยนี้มีเว็บไซต์ที่เรียกว่า Clickbait เลยทำให้ภาพรวมของสื่อออนไลน์มีความน่าเชื่อถือน้อย เพราะคนโดนหลอกให้คลิกบ่อยจากเว็บพวกนี้ ดังนั้นสื่อออนไลน์ควรจะรักษามาตรฐานของข่าวเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง
"สื่อทีวีดิจิตอลเองก็ควรสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนไว้วางใจกลุ่มเป้าหมายก็ต้องมีความชัดเจนและเนื้อก็ต้องมีความเฉพาะและต้องมีความแตกต่างจากช่องที่มาตรฐาน"
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวอีกว่า ผลงานวิจัยจะเห็นได้ชัดว่ากลุ่มที่อ่านหนังสือพิมพ์จะเป็นกลุ่มผู้มีอายุ ซึ่งสื่อหนังสือพิมพ์อาจจะต้องปรับขนาดตัวอักษรให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุของผู้อ่าน เนื้อหาต่างอาจจะต้องตอบสนองถึงวิถีชีวิตของกลุ่มผู้มีอายุให้มากขึ้นแทนที่จะจับในกลุ่มที่กว้าง เพราะผลการสำรวจเห็นชัดว่าเจน X และเจน Y อ่านหนังสือพิมพ์ค่อนข้างน้อย
ด้านสื่อวิทยุ ดร.มานะ กล่าวว่า ที่เห็นว่ามีความนิยมน้อยตรงนี้เราวัดแค่เรื่องของข่าว ซึ่งคิดว่า คนส่วนใหญ่ฟังวิทยุจะเน้นไปเรื่องของความบันเทิงมากกว่า
ขณะที่นางสาวกนกกาญจน์ บัญชาบุษบง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสริมในรายละเอียดของการสำรวจ พบว่า
กลุ่มเบเบี้บูมเมอร์ อายุระหว่าง 52-70 ปี มี พฤติกรรมทั่วไปในการรับข่าวสารทางโทรทัศน์บ่อยที่สุด รองลงมาคือหนังสือพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และวิทยุ ตามลำดับ
ข่าวที่กลุ่มเบเบี้บูมเมอร์รับชมมากที่สุด 65% คือ ข่าวการเมือง รองลงมาคือข่าวเหตุการณ์สำคัญ 60% และข่าวอาชญากรรม 50% ช่วงเวลาที่รับชมรายการข่าวทางโทรทัศน์มากที่สุดคือ 10.30 น. – 15.30 น.
และ70% ของเบบี้บูมเมอร์ เชื่อว่าสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่นำเสนอข่าวด้านการเมืองและประเด็นสังคมในหลายด้าน และหากรับข่าวสารทางสื่อออนไลน์จะเลือกรับข่าวสารจากแหล่งต้นตอข่าวที่ให้ความเชื่อถือ คือสำนักข่าวที่เป็นทางการ
นอกจากนี้ ผลวิจัย ยังพบว่า เจเนอเรชั่น X อายุระหว่าง 37-51 ปี มีพฤติกรรมในการรับข่าวสารคือ FOMO (Fear of Missing Out) คนกลุ่มนี้กลัวตกข่าว จึงรับข่าวสารทางออนไลน์ผ่านสำนักข่าวที่เป็นทางการและคนใกล้ชิด ติดตามข่าว ทางสื่อใหม่เพื่อให้ทันกระแสสังคมแต่ไม่ได้ให้ความเชื่อถือ โดยเฉพาะข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คที่จะให้ความเชื่อถือในระดับน้อย แต่ให้ความเชื่อถือในสื่อที่เป็นประเภทสื่อดั้งเดิมในระดับมาก คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่รับข่าวสารผ่านทางสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่น โดยเชื่อว่าการนำเสนอข่าวด้านการเมืองและประเด็นสำคัญของสังคมจากสื่อโทรทัศน์เป็นการนำเสนอข้อมูลในหลายด้าน
กลุ่มต่อมาคือ เจนเนอเรชั่น Y อายุระหว่าง 19-36 ปี กลุ่มนี้รับข่าวสารผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียบ่อยที่สุด รองลงมาคือสื่อโทรทัศน์ เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นข่าว หนังสือพิมพ์ และวิทยุ ตามลำดับ แม้จะรับข่าวสารทางสื่อใหม่มากแต่คนนี้ให้ความเชื่อถือในสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ มากกว่าข่าวสารจากสื่อใหม่ แต่มีแนวโน้มที่จะเชื่อถือในสื่อใหม่มากขึ้น โดยต้นตอข่าวทางออนไลน์ที่เจนเนอเรชั่น Y รับข่าวสารบ่อย คือสำนักข่าวที่ไม่เป็นทางการและรับข้อมูลข่าวสารจากคนใกล้ชิด บ่อยครั้งกว่าสำนักข่าวที่เป็นทางการ และคิดว่าข่าวสารที่รับจากในสื่อใหม่นั้นมีการนำเสนอข่าวการเมืองและประเด็นสำคัญทางสังคมหลายด้าน
ประเภทข่าวที่เจนเนอเรชั่น Y รับชมได้แก่ ข่าวบันเทิง 57.2% ข่าวเหตุการณ์สำคัญ 51.6% และข่าวกีฬา 37.2%
กลุ่มสุดท้ายคือ เจเนอเรชั่น Z อายุระหว่าง 12-18 ปี เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมในการรับข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชี่ยวเน็ตเวิร์คบ่อยที่สุด มากกว่าเจนเนอเรชั่นอื่น ๆ รองลงมาคือสื่อโทรทัศน์ สื่อเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นข่าว หนังสือพิมพ์ และวิทยุ
เจเนอเรชั่น Z ยังคงให้ความเชื่อถือในสื่อโทรทัศน์มาก ต่างกับสื่ออื่นทั้งหมดที่เชื่อถือแค่ในระดับปานกลาง การรับข่าวสารทางสื่อใหม่ของคนกลุ่มนี้ รับข่าวสารจากสำนักข่าวออนไลน์ที่ไม่เป็นทางการและรับข่าวที่แชร์มาจากคนใกล้ชิด บ่อยกว่าการรับข่าวสารจากสำนักข่าวออนไลน์ที่เป็นทางการ แต่ให้ความเชื่อถือในสำนักข่าวที่เป็นทางการมากกว่าต้นตอข่าวออนไลน์อื่น ๆ แนวโน้มในการรับสารของคนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะมีความเชื่อถือในข่าวสารจากสื่อใหม่มากขึ้น จะเห็นได้ว่า เจเนอเรชั่น Z มีความคิดเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียจะนำเสนอข่าวด้านการเมืองและประเด็นสำคัญทางสังคมหลายด้าน