- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- การสร้างสำนึกร่วมของชุมชน
- เกณฑ์ชาวบ้านร่วมเวทีรับฟังโครงการน้ำ เห็นจะจะจ่ายจริงค่ารถคนละ 400
เกณฑ์ชาวบ้านร่วมเวทีรับฟังโครงการน้ำ เห็นจะจะจ่ายจริงค่ารถคนละ 400
[ที่มาภาพ:http://www.oknation.net/blog/pasalarksee/2013/10/22/entry-]
ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 (2) มาตรา 67 (2) ด้วยการนำ “แผนบริหารจัดการน้ำ” ไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบแต่ละแผนงานในแต่ละโมดูลนั้น
เฉพาะการจัดเวทีสอบถามความเห็นประชาชนโครงการบริหารจัดการน้ำ รัฐบาลกำลังเดินหน้าจัดเวทีอยู่ ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ผ่านไปแล้ว 5 เวที โดยเวทีแรกเริ่มขึ้นที่จังหวัดลำพูน ตามด้วยชัยนาท (พื้นที่ในแผนงานการก่อสร้าง 9 โมดูล) ตราด ระยอง และชลบุรี (พื้นที่นอกแผนงานการก่อสร้าง 9 โมดูล)
โชว์คำสั่งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ สั่งระดมคน
ขณะที่แฟนเพจสายตรงภาคสนาม มีการเผยแพร่คำสั่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ส่งถึงนายอำเภอแม่แจ่ม สันป่าตอง หางอง ฮอด ดอยหล่อ และอำเภอแม่วาง เรื่องการจัดกิจกรรมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 30 ตุลาคม ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ
เนื้อหาใจความในคำสั่ง ที่น่าสนใจ ระบุ ให้แต่ละอำเภอ “นำมวลชนไปร่วมประชุม” โดยดำเนินการ เช่น พื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม (อ.แม่แจ่ม และอ.ฮอด) จะต้องจัดประชาชนเข้าร่วม 1,115 คน พื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่ขาน (อ.สันป่าตอง แม่วาง ดอยหล่อ และหางดง) จะต้องจัดประชาชนเข้าร่วม 885 คน
รวมแล้ว 2,000 คน
ขณะที่ การเบิกเงินของผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น ระบุด้วยว่า ให้แต่ละอำเภอจัดทำและรวบรวมเอกสารเบิกเงิน ส่งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่
ผู้ว่าฯ ชลบุรี หนุนโครงการมาลงพื้นที่
ส่วน “ชลบุรี” 1 ใน 41 จังหวัดนอกแผนงานก่อสร้าง 9 โมดูลนั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา มีโอกาสลงพื้นที่เกาะติดเพื่อดูบรรยากาศ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ณ โรงแรมเดอะเซส บางแสน จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา
นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน โดยย้อนความไปถึงอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่สร้างความเดือนร้อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล พร้อมมองว่า หากรัฐบาลไม่จัดสรรงบประมาณทำโครงการทั้งประเทศ ก็จะต้องมาแก้ปัญหากันไปอย่างไม่จบสิ้น
ในความเห็นของผู้ว่าฯ ชลบุรี ยืนยันว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลพยายามจะทำนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง และจำเป็นต้องทำตามแผนแม่บท หากไม่บริหารจัดการนับวันยิ่งจะเสียหายมากขึ้นเพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งภัยธรรมชาติมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ลงมือทำในวันนี้ ในอนาคตก็จะใช้เงินมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท
“แม้โครงการต่างๆ ภายใต้แผนแม่บทนี้จะไม่ลงในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี แต่ในฐานะที่อยู่ในประเทศเดียวกัน เราต้องมีความเห็นอกเห็นใจและต้องช่วยกันแสดงความเห็น อีกทั้งชลบุรีเองยังเป็นจังหวัดที่เกิดน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลายสิบปี ฉะนั้น นี่ก็จะเป็นเวทีที่เราจะได้แสดงความเห็นไปยังรัฐบาล ชลบุรีก็ต้องการโครงการมาลงในพื้นที่เช่นกัน”
สุขุม แจงขยายเวที 77 จังหวัด
ด้านรศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ในฐานะเป็นผู้จัดงานให้สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีที่จังหวัดชลบุรี ถึงการขยายเวทีรับฟังความเห็น จาก 36 จังหวัด เพิ่มอีก 41 จังหวัด ว่า เนื่องจากมีเสียงทวงติงมาว่า ยังมีคนไทยอีก41 จังหวัด อีกทั้งเงินที่นำมาใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำนั้น ก็เป็นเงินภาษีของคนทั้งประเทศ เราจึงแยกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เพิ่มอีก 41 จังหวัดที่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นด้วยเช่นเดียวกัน
“แผนแม่บท จะคุ้มหรือไม่คุ้มอย่างไร การรับฟังความคิดเห็นจะเป็นประโยชน์อย่างมาก อีกทั้งความเอื้ออาทรต่อกันที่คนไทยมีให้กับคนในทุกๆพื้นที่ เราจึงต้องมาช่วยกันระดมความคิด จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร”
ชี้รับฟังความเห็นไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยอย่างเดียว
ในฐานะตัวแทนชุมชนเมืองศรีราชา นายไพพัฒน์ สมานชื่น เจ้าของเว็บไซต์ www.easternfloodwatch.com แสดงความเห็นว่า แม้จังหวัดชลบุรี จะอยู่นอกแผนงานก่อสร้าง แต่ก็จำเป็นจะต้องจัดเวทีรับฟังความเห็น และอย่ามองการเป็นจังหวัดที่ไม่อยู่ในพื้นที่ตามแผนแม่บท หรือโครงการ3.5 แสนล้านบาท เนื่องจากเงินที่ใช้นั้น เป็นเงินภาษีของทุกคน ประชาชนทุกคนย่อมได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมอย่างแน่นอน
“ข้อมูลเรื่องน้ำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ ฝนตก น้ำท่วมสามารถเกิดได้ แม้จะไม่มีการก่อสร้างใหญ่ๆ ในจังหวัดชลบุรี แต่ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องหากเปิดโอกาสให้ทุกพื้นที่ได้แสดงความเห็น”
นายไพพัฒน์ ยังเห็นว่า การรับฟังความเห็นจากคนจำนวนมากเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อย เราไม่ควรมองเฉพาะนักวิชาการส่วนกลาง หรือคนในกรุงเทพฯ เท่านั้นที่มีความรู้ด้านนี้ คนในพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมมาก่อนจะมีความเข้าใจและสามารถหยิบประสบการณ์มาใช้ได้
“กรณีมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่นอกแผนงาน หากคนนอกพื้นที่สนับสนุนแผนแม่บททุกอย่าง และมีเสียงมากกว่าคนในพื้นที่นั้น ผมคิดว่า สิ่งไหนดี คนดีๆย่อมคิดได้ การจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างต้องดูว่า อยู่บนพื้นฐานของอะไร มีการประเมินข้อมูลเหล่านั้นหรือไม่ และไม่ใช่เป็นการประเมินด้วยประชามติว่าชอบหรือไม่ชอบเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยเทคนิคและวิชาการร่วมกัน เรื่องน้ำท่วม ฝนตก ไม่ใช่ไสยศาสตร์
การบริหารจัดการน้ำ คือเรื่องของวิทยาศาสตร์ และการรับฟังความเห็นไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียวต้องเป็นเรื่องข้อมูลวิชาการร่วมกันด้วย หากเสียงส่วนใหญ่และข้อมูลทางวิชาการคล้อยตามกันหรือไปในแนวทางเดียวกันนั่นหมายความว่า เรื่องนั้นถูกต้องและสามารถทำได้ แต่ถ้าหากเสียงส่วนใหญ่เลือกจะทำ แต่ขัดกับเทคนิคและข้อมูลทางวิชาการนั่นเป็นคำถามที่ต้องดูว่า ผู้บริหารหรือกบอ.จะเอาอย่างไร จะเลือกทำไปแบบถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง หรือว่าจะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ”
พร้อมกันนี้ เขายังฝากไปถึงรัฐบาล คือ ต้องนำข้อมูลความคิดเห็นที่ได้รับฟังนั้น ไปใช้จะเกิดประโยชน์ ไม่ใช่เอาไปใช้เพื่อหวังผลอย่างอื่น รวมถึงประชาชนเองก็อย่าหวังจะพึ่งเพียงรัฐบาล เราต้องสร้างเครือข่ายสังคมเฝ้าระวังและขยายเครือข่ายออกไปเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วย”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้น เวทีที่จังหวัดชลบุรี มีการประกาศจากพิธีกรและเจ้าหน้าที่ให้ผู้ร่วมรับฟังความเห็นไปรับเงินค่าเดินทางเป็นจำนวนเงิน 400 บาท
ต่อกรณีดังกล่าว การรับค่าเดินทางเพื่อมาร่วมเวทีรับฟังโครงการน้ำฯ มีประกาศ หรือระเบียบใด รองรับหรือไม่ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้สอบถามไปยัง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า
มติที่ประชุม สบอช. ได้กำหนดให้พื้นที่ที่อยู่ในแผนแม่บททั้ง 36 จังหวัดที่มีการจัดรับฟังความเห็นนั้นจะได้รับเงินค่าเดินทาง โดยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่าย
แต่สำหรับพื้นที่นอกเหนือจากแผนแม่บทที่ขยายเพิ่ม 41 จังหวัดนั้น เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ให้สอบถามไปยัง ปภ.เนื่องจากได้จัดสรรงบประมาณให้ปภ.แต่ละจังหวัดดูแลค่าใช้จ่ายในการเปิดเวทีรับฟังความเห็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปแล้ว
ถ่ายทอดสดแบบใบ้ๆ เวทีน้ำ
ล่าสุด สบอช. มีการเปิดให้ประชาชนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดเวทีรับฟังความเห็นโครงการน้ำ ได้แล้ว จากเว็บไซต์ :http://cctv-onwf.dyndns.org/ โดยสามารถเลือกรับชมได้จากภายในงานตามส่วนต่างๆ ของนิทรรศการ ทั้งหน้าเวที บริเวณแสดงความคิดเห็น และส่วนนิทรรศการ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การถ่ายทอดสอดผ่านเว็บไซต์นี้ มีแต่ภาพมุมสูง แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหว แต่ไม่มีการถ่ายทอดเสียงให้ได้รับฟังแต่อย่างใด
อีกทั้งการถ่ายทอดสด ก็เลือกเฉพาะเวทีเดียว จังหวัดเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับการขยายการจัดเวที ที่เพิ่มจาก 36 จังหวัด เป็น 77 จังหวัด ที่บางวันมีการจัดเวทีชนกันถึง 4 เวที ยกตัวอย่างเช่น วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 จัดทั้งที่จังหวัดพะเยา ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และนครสวรรค์ พร้อมๆ กันเป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ประเดิมประชาพิจารณ์น้ำเวทีเเรก ‘ศรีสุวรรณ’ ชี้กบอ.งุบงิบ 8 แผนจัดการส่อขัดรธน.
เสียง 80-90% ค้านโครงการเขื่อนห้วยตั้งในเวทีน้ำที่ลำพูน
สบอช.ขยายเวทีรับฟังโครงการน้ำ 36 เวที 36 จังหวัด เป็น 77 เวที 77 จังหวัด