- Home
- Thaireform
- หลากมิติ
- การเมืองและระบบยุติธรรม
- กสม. ออกจม.เปิดผนึก ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง
กสม. ออกจม.เปิดผนึก ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง
จดหมายเปิดผนึก
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง
ด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการซึ่งนานาประเทศต่างให้การคุ้มครองรับรองว่า สำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่จะดำรงตนด้วยความปลอดภัย อิสรภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ยังได้ยืนยันโดยปรารภไว้ว่า เป็นการจำเป็นที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองโดยหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
นายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ ๒๔ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๖ ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของประชาธิปไตยเราไม่สามารถและต้องไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย และต้องสนับสนุนคุณค่าประชาธิปไตยด้วยการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งประชาธิปไตยยังไม่ใช่เพียงเสียงข้างมาก แต่เป็นการใช้อำนาจในวิถีทางที่เคารพต่อเสียงส่วนน้อยด้วย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ทางการเมืองภายในราชอาณาจักรไทย ณ ปัจจุบัน อยู่ในสภาวะที่ละเอียดอ่อน ประชาชนอันเป็นองคาพยพที่สำคัญยิ่งของรัฐยังมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะนับแต่ได้มีความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรง และการละเมิดต่อกฎหมายอันเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐซึ่งสำคัญยิ่งในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการโต้แย้งในการตรากฎหมาย และเนื้อหาแห่งร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. .... ในกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภาเนื่องด้วยมีทั้งกระแสสนับสนุนและคัดค้านของประชาชนในสังคมและมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อความมั่นคง การดำรงอยู่ของหลักนิติรัฐหลักนิติธรรมหลัก ธรรมาภิบาล อันเป็นสาระสำคัญยิ่งในการดำรงไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเช่น การลบล้างความผิดร้ายแรงซึ่งได้กระทำโดยเจตนาล่วงละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย อาจนำไปสู่การเป็นเยี่ยงอย่างให้มีการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนซ้ำอีกในอนาคต
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ดังนี้
๑) การพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา จะต้องยึดถือหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมหลักธรรมาภิบาล และหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)และที่ปรากฏในหลักการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยการต่อต้านการไม่ต้องรับผิดของผู้ทำผิด (Set of Principles for the Protection and Promotion of Human Rights Through Action to Combat Impunity --- สหประชาชาติรับรองเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๕) ดังนั้น การตรากฎหมายที่มีความละเอียดอ่อนสมควรมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
๒) ควรเร่งรีบพิจารณาถึงสวัสดิภาพของประชาชนที่มิใช่ผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองไปในทิศทางใด แต่ได้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ การถูกจับกุม การถูกกักขัง การอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือการถูกจำคุกด้วยเหตุที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมือง เพื่อให้เกิดผลเห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ จึงเห็นสมควรเสนอเจตจำนงมายังท่านเพื่อร่วมกันยึดมั่นในหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมหลักธรรมาภิบาล หลักสิทธิมนุษยชน และหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่สำคัญอย่างยิ่งจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนในการแก้ไขปัญหา
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖