- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- จิตสำนึกใหม่
- ความในใจ “ศรไกร แน่นศรีนิล” ช่างซ่อมฉลองพระบาท
ความในใจ “ศรไกร แน่นศรีนิล” ช่างซ่อมฉลองพระบาท
“ผมไม่เคยเข้าเฝ้า ไม่เคยไปรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลยสักครั้ง แต่การที่ได้มีโอกาสถวายรับใช้พระองค์ถือว่าเป็นสิ่งสูงสุดในชีวิต เหนือที่จะบรรยาย สำหรับลูกชาวนาคนหนึ่ง”
"วันนั้น...มีลูกค้ารายหนึ่งเดินประคองรองเท้าเข้ามาในร้าน พอวางรองเท้าลง ก็ก้มลงกราบ ผมเลยถามออกไปว่าเอาอะไรมาให้ผม??
ลูกค้ารายนั้น ซึ่งก็คือมหาดเล็ก ตอบกลับมาว่า ฉลองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โอ้โฮ!...ได้ยินเท่านั้นแหละครับ ผมขนลุกซู่ พูดอะไรไม่ถูก คิดในใจแต่เพียงว่า นี่เราจะเป็นคนโชคดีแล้วมั้ง ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีโอกาสได้ซ่อมรองเท้าของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน"
นายศรไกร แน่นศรีนิล หรือ 'ช่างไก่' ช่างนอกราชสำนัก ผู้ถวายงานซ่อมฉลองพระบาท เผยความรู้สึกนับตั้งแต่วันที่ได้ถวายงานซ่อมฉลองพระบาทคู่แรก ราวปลายปี 2545 พร้อมเล่าเหตุการณ์ย้อนอดีตให้ฟังอีกว่า
“พอมหาดเล็กถามผมต่อว่า ซ่อมได้ไหม ผมรีบตอบทันทีว่าซ่อมได้ๆ แต่คงต้องใช้เวลานานหน่อย ทั้งที่จริงๆ ใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียวก็ซ่อมเสร็จ” ช่างไก่ สารภาพถึงเหตุที่ตอบไปเช่นนั้น เพราะอยากให้ฉลองพระบาทคู่นี้ อยู่ที่ร้านนานๆ
นอกจากนี้ เขายังจำภาพฉลองพระบาทคู่แรกได้อย่างแม่นยำ...
“สภาพชำรุด บริเวณซับในหลุดลุ่ยทั้งหมด ถ้าเป็นคนมีเงิน เป็นเศรษฐีเขาทิ้งไปแล้ว ผมไม่รู้จะพูดอย่างไร แต่ในความคิดของผม พระองค์อาจทรงเห็นว่า หนังยังดีอยู่ก็เป็นได้” และเท่าที่สอบถามจากมหาดเล็กคร่าวๆ ก็บอกว่า เป็นฉลองพระบาทคู่โปรด ที่พระองค์ใช้ทรงดนตรี
นับจากนั้นเป็นต้นมา 'ช่างไก่' ยังมีโอกาสได้ถวายงาน "ซ่อม" ฉลองพระบาทอีกหลายคู่ ทั้งฉลองพระบาทที่ใช้ในงานพระราชพิธี ฉลองพระบาทที่คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงกัด รวมกันแล้วทั้งหมด 6 คู่
แต่ที่ทำให้ช่างไก่ ปราบปลื้มยิ่งไปกว่านั้นคือ การได้ตัดฉลองพระบาทถวาย
“ผมไม่เคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครับ ก็ใช้วิธีตัดโดยวัดรอยพระบาทจากฉลองพระบาทที่ส่งมาซ่อม ซึ่งคู่แรกที่ถวายไปนั้น ผ่านไป 2-3 เดือนมหาดเล็กนำกลับมาที่ร้าน ผมตกใจมากเลยว่า มีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า ปรากฏว่าพระองค์ให้นำกลับมาติดกันลื่นแค่นั้น”
ซึ่งนั่นก็ทำให้ผมดีใจว่า พระองค์ทรงใช้งานจริง...
เขายังบอกต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาได้ตัดฉลองพระบาทถวายไปแล้วจำนวน 11 คู่ด้วยกัน และในเดือนมกราคมปีหน้านี้จะนำถวายอีก 2 คู่ แต่ฉลองพระบาทที่ตัดถวายในระยะหลัง จะเน้นเพื่อสุขภาพมากกว่า
“ตอนนี้พระองค์ใส่แบบธรรมดาไม่ได้ ต้องเป็นรองเท้าสุขภาพ มีแผ่นรองประมาณนี้ครับ”
ปัจจุบัน 'ช่างไก่' เป็นเจ้าของร้านซ่อมรองเท้า ก.เปรมศิลป์ บริเวณสี่แยกพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ และเมื่อธุรกิจแจ้งเกิด ยังสามารถขยายสาขาได้อีก บริเวณสี่แยกซังฮี้ โดยเขาให้เหตุผลว่า ที่กิจการรุ่งเรืองดีได้ถึงขนาดนี้ เป็นเพราะบารมีของในหลวง ทำให้ร้านซ่อมรองเท้าเล็กๆ กลายเป็นที่รู้จัก มีคนมาใช้บริการไม่ขาดสาย
ประการสำคัญ สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากพ่อของแผ่นดินก็คือ ‘ความพอเพียง’
“ดูท่าทางแล้ว ผมว่าในหลวงน่าจะมีความพอเพียงมากกว่าเราๆ เสียอีก เพราะขนาดรองเท้าเก่า ยังส่งมาซ่อมใช้ และตรงนี้ผมว่า หากคนไทยเดินตามรอยของพระองค์ท่าน เราน่าจะเป็นสุขกันมากกว่านี้ครับ” ช่างนอกราชสำนักรายนี้ทิ้งท้าย
ฉลองพระบาททั้ง 6 คู่ ที่ผ่านการซ่อมจากช่างนอกราชสำนัก ร้าน ก.เปรมศิลป์
โดยคู่กลาง แถวล่างสุด คือฉลองพระบาทที่ 'คุณทองแดง' สุนัขทรงเลี้ยงได้กัดแทะจนชำรุด
รอยเท้าพ่อ: 'ช่างไก่' นำพื้นรองเท้าที่มีรอยพระบาท มาใส่กรอบบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล
และเพื่อรำลึกว่าครั้งหนึ่งได้มีโอกาสถวายรับใช้เบื้องพระยุคลบาท