- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- ไอโอ "ล้ำเส้น" ที่ชายแดนใต้
ไอโอ "ล้ำเส้น" ที่ชายแดนใต้
หลายคนอาจไม่รู้จัก "ไอโอ" แต่ตัวย่อสั้นๆ นี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และแท้ที่จริงแล้วไอโออยู่รอบตัวเรา กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นดั่ง "สมรภูมิ" อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
"ไอโอ" ย่อมาจาก Information Operations หรือ "ปฏิบัติการข่าวสาร" ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของการชิงความได้เปรียบในสงคราม เวลาเราสู้รบปรบมือกับใคร แทนที่จะสู้กันซึ่งๆ หน้าอย่างเดียว ก็ต้องมีการต่อสู้กันในเชิงข้อมูลข่าวสารเพื่อปลุกขวัญกำลังใจ ตีแผ่ความดีและความสำเร็จของฝ่ายตน ในขณะเดียวกันก็ตอกย้ำความเลวร้ายหรือความไม่ถูกต้องของฝ่ายตรงข้ามไปด้วย
"ไอโอ" ในยุคหลังๆ พัฒนาไปตามเครื่องมือการสื่อสาร ในยุคปัจจุบันก็ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเฉพาะ "เฟซบุุ๊ค" เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลฝ่ายตน
ที่ชายแดนใต้ก็มีการทำ "ไอโอ" เช่นกัน เพราะสมัยแรกๆ รัฐและฝ่ายความมั่นคงตกเป็น "ฝ่ายตั้งรับ" ใน "ยุทธการข่าวลือ" ของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่ใช้การปล่อยข่าวตามร้านน้ำชา ใช้ความน่าเชื่อถือของคนที่ปล่อยข่าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ชาวบ้านยอมรับนับถือในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านหลงเชื่อ และมองรัฐในแง่ลบแบบ 100%
ต่อมาเมื่ออินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟนแพร่หลาย กลุ่มขบวนการก็ขยายเขตงานเข้าไปในโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากระยะหลัง มีภาพการฝึก การสะสมอาวุธ และการปฏิบัติการเริ่มหลุดออกสู่สาธารณะบ่อยครั้ง
ด้วยเหตุนี้รัฐและฝ่ายความมั่นคงจึงต้องปรับตัว เน้นยุทธศาสตร์ชิงพื้นที่สื่อทั้งบนดินใต้ดิน เรื่อง "บนดิน" ไม่มีใครว่า (เช่น การแถลงทันทีหลังเกิดเหตุรุนแรงทุกครั้ง, การจัดกิจกรรมพบปะทำความเข้าใจกับสื่อในสามจังหวัด, การพาสื่อส่วนกลางลงพื้นที่ ฯลฯ) แต่ "ใต้ดิน" เริ่มแรงและ "ล้ำเส้น" มากขึ้นเรื่อยๆ
ช่วง 2-3 ปีหลังมีการเปิด "เพจผี" ในเฟซบุ๊ค ซึ่งหมายถึงหน้าเพจที่ไม่ระบุตัวตนชัดเจน แล้วแพร่ข้อมูลในลักษณะสร้างความเกลียดชังกลุ่มก่อความไม่สงบ ก่อนจะค่อยๆ ลุกลามไปยังผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างในท้องถิ่น ล่วงเลยไปถึงสื่อมวลชนอาชีพที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของฝ่ายความมั่นคงอย่างตรงไปตรงมา มีการเอารูปจริง หน้าจริง ชื่อจริง และเฟซบุ๊คไปโพสต์ประจาน โดยไม่สนใจสวัสดิภาพของคนเหล่านั้น
ทั้งๆ ที่บางคนเขาก็เปิดตัวอยู่แล้ว และหากเขาทำผิดกฎหมาย ก็แจ้งความดำเนินคดีได้เลย...
ส่วนการด่าประณามผู้ก่อเหตุรุนแรง ก็มีการใช้ภาพจากจุดเกิดเหตุอย่างแพร่หลาย โดยมากเป็นภาพเหยื่อผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บในลักษณะที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิ์ผู้ตาย ผู้บาดเจ็บ และครอบครัวผู้ตายอย่างชัดแจ้ง แล้วก็เขียนถ้อยคำหยาบคายต่อว่าผู้กระทำ จากนั้นก็โยงไปถึงผู้คิดเห็นแตกต่าง รวมทั้งสื่อบางแขนง ทั้งๆ ที่หลายเหตุการณ์ยังไม่มีผลสอบสวนชัดเจนว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด
การใช้ภาพที่แม้แต่สื่อมืออาชีพยังหาได้ยาก ประกอบกับข้อมูลเชิงลึกชนิดที่น้อยคนนักที่รู้ ทำให้หลายคนเห็นตรงกันว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลัง "เพจผี" เหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเอง
พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกลาโหม และอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กูรูด้านการข่าวของทหารเอง เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า การใช้ "ไอโอ" แบบที่ฝ่ายความมั่นคงไทยนิยมใช้กันเหมือนที่สหรัฐใช้ในสงครามอิรัก คือ ให้ข้อมูลความเลวร้ายของฝ่ายตรงข้ามด้านเดียวนั้น จริงๆ แล้วไม่ควรใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะนี่คือการต่อสู้ของ "คนไทยด้วยกัน" เป็นการต่อสู้ของทหาร ตำรวจ ในนามฝ่ายความมั่นคง กับประชาชนของตนเอง ซึ่งบทสรุปสุดท้ายต้องอยู่ร่วมกันต่อไป การมุ่งสร้างความเกลียดชังจึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ และไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม
การก่อความรุนแรงโดยมีผู้บริสุทธิ์เป็นเหยื่อนั้น ไม่มีใครสนับสนุนแน่นอน ไม่จำเป็นต้องมีคนมาบอกหรือชี้นำ แต่การจงใจประณามทุกเรื่องเสมือนหนึ่งทุกเหตุการณ์มาจากฝีมือฝ่ายขบวนการเท่านั้น และมีลักษณะการใช้ถ้อยคำแบบ "แยกเขา-แยกเรา" จะยิ่งซ้ำเติมปัญหามากกว่า
โดยเฉพาะในบางเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเขารู้ว่าขบวนการไม่ได้ทำ หรือยังคลุมเครืออยู่ว่าใครทำ
ต้องไม่ลืมว่าการทำ "ไอโอ" ในพื้นที่พิเศษที่มีอัตลักษณ์เฉพาะอย่างสามจังหวัดใต้ ซึ่งมีการปลุกระดมสร้างฐานมวลชนเพื่อต่อสู้กับรัฐมาเนิ่นนานหลายสิบปี หนำซ้ำวิธีการยังอิงกับเรื่องอุดมการณ์ ดินแดน และผูกโยงกับศาสนานั้น การเปลี่ยนความคิดความเชื่อต้องมีชั้นเชิงและมีศิลปะพอสมควร
ยิ่งคำตอบสุดท้ายยังต้องการให้ทุกคนเป็น "คนไทยด้วยกัน" ด้วยแล้ว ยิ่งต้องระมัดระวัง
ตัวอย่างง่ายๆ กรณีมีคนร้ายลอบวางระเบิดในโรงพยาบาลโคกโพธิ์ สมมติทำไอโอด้วยการเอาภาพความรุนแรงมาเผยแพร่ แล้วเขียนด่าประณาม "โจรใต้" เพื่อสร้างความเกลียดชัง ทั้งๆ ที่ยังจับกุมคนก่อเหตุไม่ได้ เทียบกับการอัดคลิปเอาเสียงชาวบ้านที่บาดเจ็บแล้วพูดเพียงว่า "ขอให้มีพื้นที่ปลอดภัยสักที่ได้ไหม" ถามว่าอย่างไหนกระทบใจหรือทำให้ผู้คนได้ฉุกคิดมากกว่ากัน
เพราะคนบาดเจ็บก็คือพี่น้องมลายูที่เป็นเป้าหมายแย่งชิงมวลชนของฝ่ายขบวนการนั่นเอง
ขอย้อนกลับไปเรื่องพฤติการณ์ "ล้ำเส้น" ว่าด้วยการกล่าวหาสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือใครก็ตามที่คิดเห็นแตกต่าง ซึ่งวันนี้ไม่ใช่แค่ใน "เพจผี" เท่านั้น แต่ในการบรรยายสรุปอย่างเป็นทางการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็มีการนำภาพบุคคลที่คิดต่าง หรือไม่ได้ยืนข้าง (เชียร์) เจ้าหน้าที่ตลอดเวลา มาขึ้นจอประจานด้วยว่าเป็น "แนวร่วมมุมกลับ"
อะไรคือ "แนวร่วมมุมกลับ" หากพิจารณากันอย่างผิวเผินแบบที่เจ้าหน้าที่คิด แนวร่วมมุมกลับก็หมายถึงสื่อ หรือใครก็ตามที่มีสถานะทางสังคม แต่เสนอข่าวหรือพูดอะไรที่ไปเข้าทางฝ่ายขบวนการ จนทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียหาย แล้วขบวนการได้ประโยชน์ (ในความเข้าใจของเจ้าหน้าที่)
ลองมาดูตัวอย่างนี้ แล้วค่อยพิจารณาว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่คิดนั้น จริงหรือไม่จริง...
เมื่อปลายปี 56 "ศูนย์ข่าวภาคใต้" เคยเสนอข่าวเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นบ้านผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งใน อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส โดยอ้างว่าเกี่ยวพันกับคดีความมั่นคง แต่บิดาของผู้ต้องสงสัยบอกว่าจะเกี่ยวได้อย่างไร เพราะลูกชายติดคุกในคดีอื่นอยู่ ทว่าเจ้าหน้าที่ก็ไม่ฟัง มีการตรวจค้น ออกหมาย และกดดันต่างๆ นานา สุดท้ายบิดาของผู้ต้องสงสัยต้องเข้าร้องเรียนกับตำรวจหน่วยหนึ่ง กระทั่งมีการส่งกำลังไปตรวจสอบในเรือนจำ และพบว่าผู้ต้องสงสัยตามอ้างติดคุกอยู่จริงในช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าไปเกี่ยวพันกับการก่อเหตุรุนแรงอีกเหตุหนึ่ง (อ่านรายละเอียดได้ใน ครอบครัวตาเล๊ะกับวิบากกรรม? ลูกอยู่ในเรือนจำถูกกล่าวหาซ้ำคดีพยายามฆ่า)
เมื่อข่าวนี้ถูกนำเสนอออกไป ก็มีเสียงวิจารณ์จากเจ้าหน้าที่ทำนองว่า "เขียนข่าวเข้าทางโจร"
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากพิจารณาให้ดี การที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่ตรวจสอบให้ดีว่าเป้าหมายติดคุกอยู่ ฯลฯ นั่นต่างหากที่กระทำเข้าทางโจร เพราะบิดาของผู้ต้องสงสัยก็ยังบอกเองว่า "ไม่รู้จะพูดอย่างไร มันเจ็บใจที่มาทำกันอย่างนี้ ถ้าอีกฝ่าย (แนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ) มาบอกให้ช่วยตัดต้นไม้ โปรยตะปูเรือใบ หรือเผายางรถยนต์ ผมจะทำให้ทันที"
ได้ยินคำพูดแบบนี้แล้ว ตกลงเจ้าหน้าที่ หรือสื่อมวลชนที่นำข่าวมาเสนอที่เป็น "แนวร่วมมุมกลับ" กันแน่
ผมเชื่อว่าเขียนมาขนาดนี้ ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่บางคนบอกว่า "สื่อเป็นแนวร่วมมุมกลับ" อยู่เหมือนเดิม เพราะนำเรื่องเล็กๆ มาขยายให้เป็นข่าว แต่จริงๆ ผมอยากจะบอกว่าลองอ่านข่าวนี้ดีๆ แล้วตั้งสติ ใช้ศิลปะสักนิด จะพบว่ามันมีแง่มุมดีๆ ที่นำไปขยาย หรือ "ไอโอ" ต่อได้อีกมากมาย เช่น ความเป็นธรรมยังหาได้ ไม่ใช่หาไม่ได้ แม้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่หน่วยหนึ่ง แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นให้ความช่วยเหลือ อย่างนี้เป็นต้น
ปัญหาคือคิดแบบตื้นๆ ก็จะจ้องบังคับให้สื่อรายงานแต่เรื่องดีๆ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ และมันก็ไม่เป็นความจริงด้วย
น่าแปลกที่วันนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้ากระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง แม่ทัพภาคที่ 4 เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่าจะส่งคณะทำงาน 14 คณะไปคุยถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และในพื้นที่ คุยกับครอบครัวผู้ก่อเหตุรุนแรง และอำนวยความสะดวกเรื่องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
แต่กับ "สื่อทางเลือก" หรือแม้แต่ "สื่อกระแสหลัก" ที่เสนอข่าวไม่ถูกใจ หรือเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พูดอะไรๆ แตกต่างจากที่รัฐให้ข่าวบ้าง กลับมีการขึ้นบัญชีว่าเป็น "แนวร่วมมุมกลับ"
ทหารหลายคนชอบพูดว่า "ถ้าสื่อหยุดเสนอข่าวใต้ 3 เดือน รับรองเหตุการณ์สงบ" ซึ่งเป็นคำพูดที่ไร้ความรับผิดชอบและไม่เข้าใจภูมิทัศน์ของสื่อในยุคปัจจุบันเอาเสียเลย เพราะในโลกยุคดิจิทัล คุณไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสารได้อีกแล้ว
การต่อสู้ด้วยความดี ความจริง (ใจ) และความถูกต้อง เคารพกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างหากที่จะทำให้ไฟใต้ดับมอดอย่างยั่งยืน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การต่อสู้ชิงความได้เปรียบในโลกออนไลน์ซึ่งนับวันจะยิ่งรุนแรงและสร้างความบาดหมางมากขึ้นทุกที