- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- "สถิติพิสดาร"ของเหตุรุนแรงชายแดนใต้... มาตรฐานอยู่ตรงไหน?
"สถิติพิสดาร"ของเหตุรุนแรงชายแดนใต้... มาตรฐานอยู่ตรงไหน?
ไฟใต้ที่ปะทุคุโชนรอบล่าสุดที่กำหนดหมุดหมายกันตั้งแต่เหตุปล้นปืนวันที่ 4 ม.ค.2547 นับถึงวันนี้ก็ล่วงเลย 10 ปีมาแล้ว แต่น่าแปลกที่กระบวนการนับ "สถิติเหตุรุนแรง" และ "ผู้สูญเสีย" กลับยังไม่เป็นระบบระเบียบหรือมีมาตรฐานเพียงพอ
ทำไปทำมากลายเป็น "สงครามตัวเลข" ที่ถูกหยิบฉวยไปใช้เพื่อประโยชน์ของคนที่นำไปอ้างเสียมากกว่า
ย้อนไปดูสถิติเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.ถึง 27 ก.ค.2557 มีการกล่าวอ้างจาก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต.ว่า "เหตุรุนแรงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วถือว่าลดน้อยลงมาก แต่จำนวนผู้เสียชีวิตปีนี้มากกว่าเล็กน้อย โดยในช่วงรอมฎอนปีที่แล้วมีการก่อเหตุ 107 เหตุการณ์ ส่วนปีนี้มี 30 เหตุการณ์ ลดไปกว่า 60% แต่จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงรอมฎอนปีนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 9 ราย ผู้บาดเจ็บลดลงกว่า 50%"
คำสัมภาษณ์ของ พล.อ.อุดมเดช สอดคล้องกับที่ทีมโฆษก กอ.รมน. โดยเฉพาะในส่วนกลางแถลงเป็นระยะว่า "สถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้น มีเหตุรุนแรงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว" ถือเป็นสูตรสำเร็จในการแถลงข่าวหรือเปล่า?
ทีนี้ลองหันไปดูสถิติที่จัดเก็บและรวบรวมโดยหน่วยงานอื่นบ้าง เริ่มจาก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือที่รู้จักกันในนาม "ดีพเซาท์วอทช์" สรุปเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนปี 2557 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เกิดเหตุความไม่สงบรวมทั้งสิ้น 77 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 45 เหตุการณ์ เหตุระเบิด 22 เหตุการณ์ เหตุวางเพลิง 1 เหตุการณ์ และอื่นๆ 9 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 158 คน
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสถิติเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนปี 2556 ซึ่งศูนย์เฝ้าระวังฯ จัดเก็บไว้เช่นกัน ปรากฏว่าปี 2556 เกิดเหตุความไม่สงบขึ้น 86 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 134 คน จึงสรุปได้ว่าสถิติเหตุในช่วงเดือนรอมฎอนปี 2557 ลดลงบ้าง ส่วนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่าแม้จะลดลง แต่ก็ไม่ได้ลดถึง 60% ตามตัวเลขของ คปต.
ขณะที่ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา รายงานตัวเลขเหตุรุนแรงทุกประเภทที่บันทึกโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ปรากฏว่ามีเหตุรุนแรงทั้งที่เป็นเหตุความมั่นคง และเหตุที่สงสัยว่าเป็นเหตุส่วนตัว ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ในช่วงเดือนรอมฎอนปี 2557 รวมทั้งสิ้น 57 เหตุการณ์ เป็นเหตุยิง 40 เหตุการณ์ ระเบิด 17 เหตุการณ์ และก่อกวน 3 เหตุการณ์
เมื่อย้อนกลับไปดูสถิติเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนปีที่แล้ว (10 ก.ค.ถึง 7 ส.ค.2556) ซึ่งจัดเก็บโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ พบว่า เหตุรุนแรงทุกประเภทเกิดขึ้น 69 เหตุการณ์
นอกจากนั้น ในห้วงเดือนรอมฎอนเมื่อปีที่แล้วยังมีการตั้ง ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานเข้าร่วม รวมทั้งกองทัพภาคที่ 4 และได้นับสถิติเหตุรุนแรงในห้วง 40 วันของเดือนรอมฎอนและช่วงเทศกาลฮารีรายอ ซึ่งเป็นช่วงที่มีข้อตกลงลดเหตุรุนแรงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ปรากฏว่าตัวเลขเหตุรุนแรงตลอด 40 วัน (10 ก.ค.ถึง 18 ส.ค.2556) อยู่ที่ 79 เหตุการณ์ โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิต 29 ราย ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีไฟใต้
จากตัวเลขแหล่งต่างๆ ที่ยกมาทั้งหมดนี้ จึงไม่รู้ว่า คปต.เอาตัวเลขที่ไหนมาอธิบายว่าเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนปีที่แล้วสูงถึง 107 เหตุการณ์ ขณะที่ปีนี้ลดฮวบเหลือเพียง 30 เหตุการณ์เท่านั้น
ประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือ ตัวเลขสถิติที่หลายหน่วยงานนับกันอยู่นี้ ไม่มีความชัดเจนว่า "มาตรฐาน" อยู่ตรงไหน โดยมีข้อสังเกตหลายประการ ได้แก่
1.ขอบเขตพื้นที่ของความรุนแรง ตกลงว่าจะนับจำนวนเหตุรุนแรงและความสูญเสียเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเท่านั้น หรือรวม 4 อำเภอของ จ.สงขลาด้วย เพราะบางหน่วยงานอ้างว่านับเฉพาะ 3 จังหวัด ขณะที่บางหน่วยงานอย่าง กอ.รมน.นับรวม 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ด้วย ซึ่งทั้ง 4 อำเภอเป็นพื้นที่รอยต่อกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประกาศใช้กฎหมายพิเศษ คือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
2.นิยามของ "เหตุความไม่สงบ" หรือ "เหตุความมั่นคง" ที่ไม่ใช่ "เหตุส่วนตัว" คืออะไรกันแน่ เพราะเมื่อตัวเลขความสูญเสียมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานความมั่นคงเองจึงได้พยายามแยกแยะเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร หากไม่ใช่การกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง (หรืออาจเรียกว่ากลุ่มก่อความไม่สงบ) ก็จะไม่นับ เพื่อกดตัวเลขเหตุรุนแรงและความสูญเสียให้ลดลง หรือสะท้อนภาพสถานการณ์ความไม่สงบจากน้ำมือของผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างแท้จริงเท่านั้น
แต่ปัญหาก็คือ นิยามของ "เหตุความมั่นคง" คืออะไร กรณีลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่น แต่อาวุธที่ใช้เป็นอาวุธที่มีประวัติเกี่ยวโยงกับการก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือมีรูปแบบการก่อเหตุคล้ายคลึงกัน (เพราะผู้ถืออาวุธในขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน อาจถูกใช้ก่อเหตุรุนแรงในมิติอื่นๆ ด้วย) อย่างนี้ถือว่าเป็น "เหตุความมั่นคง" หรือ "ขัดแย้งส่วนตัว" หรือจะตั้งหมวดใหม่ว่าเป็น "ขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น"
ประเด็นนี้ค่อนข้างอ่อนไหวมาก เพราะจะไปโยงกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บด้วย โดยหากมูลเหตุที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บไม่ใช่เหตุความมั่นคง ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยา (ต้องมีการลงนามรับรองร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหาร และปกครอง) แต่ที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีเหมือนกันที่หลังเกิดเหตุใหม่ๆ เจ้าหน้าที่สรุปว่าเป็นเหตุความมั่นคง จ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว แต่พอตำรวจสอบไปสอบมากลับกลายเป็นการล้างแค้นส่วนตัว หรือปมชู้สาว จะเรียกเงินเยียวยาคืนก็ไม่ได้
ทั้งนี้และทั้งนั้น คำถามที่เกี่ยวกับการจัดเก็บสถิติก็คือ ได้มีการย้อนกลับไปแก้ตัวเลขที่นับผิดหรือแยกหมวดหมู่ผิดเอาไว้หรือไม่?
3.ที่มาของตัวเลขมาจากไหน เพราะในสถิติของ กอ.รมน.เขาอ้างอิงว่า เขาเริ่มนับเองตั้งแต่ 1 มิ.ย.2551 โดยกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร หรือ พตท. และศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ขณะที่ข้อมูลก่อนหน้านั้นอ้างอิงว่านำมาจากศูนย์เฝ้าระวังฯ
แล้วศูนย์เฝ้าระวังฯ เอาข้อมูลมาจากไหน?
ปรากฏว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เฝ้าระวังฯเพิ่งจัดกิจกรรมเปิดตัว "ระบบฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้" หรือ Deep South Incident Database (DSID) โดยผู้ปฏิบัติงานของ DSID อ้างว่าการจัดทำระบบและพัฒนาฐานข้อมูลเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2547 โดยมีแหล่งที่มา คือ หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ, ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน โทร.1881 ศชต. (ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้) และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวมทั้ง News Center ซึ่งน่าจะหมายถึงระบบถังข้อมูลข่าวกลางที่มีสื่อมวลชนหลายแขนงเป็นสมาชิก
แต่ "แหล่งที่มา" ที่ทาง DSID อ้างมานั้น ไม่ได้หมายความว่ามีแหล่งข้อมูลจากหลายแหล่งมากมายขนาดที่อ้างตั้งแต่ทำงานวันแรก (มี.ค.2547) เพราะหลายหน่วยงานที่พูดถึงเพิ่งจัดตั้งขึ้นภายหลัง เช่น ศชต.เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 (ก่อนหน้านั้นเป็นศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า หรือ ศปก.ตร.สน.) หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ไม่ได้ตั้งขึ้นทันทีหลังเหตุปล้นปืนเมื่อ 4 ม.ค.2547
จำได้ว่าการนับตัวเลขเหตุรุนแรงและผู้สูญเสียราวๆ ปี 2548-2549 ยังมาขอให้นักข่าวช่วยกันติ๊กข้อมูลอยู่เลย โดยแหล่งข้อมูลของนักข่าวก็มาจากหน่วยข่าวกรอง ซึ่งมีทั้งของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ซึ่งแต่ละแหล่งก็ให้ข้อมูลแตกต่างกันไป และการเกาะติดเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลในภายหลังก็ไม่มี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเยอะมากในช่วง 3-4 ปีแรกของไฟใต้รอบนี้
ในขณะที่บุคลากรในองค์กรนี้หลายคนมักพูดโจมตีการทำงานของนักข่าวจากสื่อมวลชนกระแสหลักอยู่เป็นประจำ
ที่สำคัญการบันทึกสถิติของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นการบันทึกข้อมูลแบบวันต่อวัน ไม่มีการย้อนกลับไปแก้ไขข้อมูลหากมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง เช่น เกิดเหตุระเบิดมีผู้เสียชีวิต 3 ราย แล้ววันต่อมามีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ก็จะไม่กลับไปเพิ่มตัวเลขผู้เสียชีวิต นี่เป็นคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเองจากที่เคยสอบถามเมื่อราวๆ 1-2 ปีที่แล้ว ไม่ทราบว่าปัจจุบันมีการปรับปรุงรูปแบบการทำงานหรือยัง
ส่วน ศชต.ของตำรวจ ทราบว่าเพิ่งมีการยกเครื่องการบันทึกข้อมูลกันใหม่ โดยแยกแยะคดีที่ "ไม่ใช่เหตุความมั่นคง" ออกไป (ประเภทขัดแย้งส่วนตัว, ชู้สาว และอาจรวมถึงการเมืองท้องถิ่น) ซึ่งการแยกแยะดังกล่าวนี้ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะสรุปเป็นสถิติออกมา ณ สิ้นปี 2555 ว่า นับตั้งแต่เดือน ม.ค.2547 ถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2555 มีเหตุความมั่นคงทั้งสิ้น 7,903 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 3,380 ราย
ขณะที่ข้อมูล ณ สิ้นปี 2556 มีเหตุความมั่นคงทั้งสิ้น 8,479 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 3,705 คน
ช่างแตกต่างจากข้อมูลของหน่วยงานรัฐด้วยกันเองอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่รายงานตัวเลขความสูญเสีย ณ สิ้นเดือน ก.ค.2557 ว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 5,596 คน
ทางด้านศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ตัวเลขเหตุรุนแรง ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2557 สูงถึง 14,329 เหตุการณ์ จำนวนผู้เสียชีวิตทะลุ 6 พันไปแล้ว คืออยู่ที่ 6,159 คน!
ที่ยกข้อมูลมาเปรียบเทียบให้เห็นเช่นนี้ ไม่ได้มีเจตนาไปตัดสินว่าข้อมูลชุดไหนถูก ข้อมูลของใครผิด เพราะศูนย์ข่าวอิศรา (รวมทั้งสื่อมวลชนแขนงต่างๆ) ก็นำสถิติของบางหน่วยงานมาเผยแพร่เหมือนกัน เพียงแต่ต้องการสะท้อนความรู้สึกของคนที่สนใจปัญหาชายแดนใต้และประชาชนทั่วไปว่า "แล้วเราจะเชื่อข้อมูลชุดไหนดี?"
สมมติจะเลือกเชื่อข้อมูลของตำรวจ เพราะตำรวจเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาและคดีความมั่นคง การแยกแยะข้อมูลจึงน่าเชื่อถือที่สุด ก็จะเกิดคำถามว่าแล้วทำไมหน่วยงานอื่นอย่าง กอ.รมน. หรือศูนย์เฝ้าระวังฯ ถึงไม่ปรับตัวเลขลดลงตาม หรือมุ่งนับบนฐานข้อมูลของตัวเองต่อไปโดยไม่สนใจการแยกแยะประเภทคดีในอดีต
หรือคิดว่าเหตุรุนแรงทุกประเภทเกี่ยวโยงกับความมั่นคงทั้งหมด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง...หลักคิดแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ตอบยาก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงบนความสับสนและหลากหลายเรื่องข้อมูลสถิติเหตุรุนแรงชายแดนใต้ ก็คือ แต่ละหน่วย แต่ละฝ่ายต่างเลือกหยิบข้อมูลบางแหล่ง บางด้าน ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตน
เช่น ฝ่ายความมั่นคงมักอ้างตัวเลขที่ต่ำที่สุด หรือให้น้ำหนักกับสัดส่วนการลดน้อยลงของเหตุรุนแรงหรือความสูญเสียเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการยืนยันว่าแนวทางการทำงานของตนถูกต้อง ถูกทางแล้ว
ขณะที่องค์กรอื่นบางองค์กรที่ต้องการงบประมาณสนับสนุนจากต่างประเทศ ก็มักอ้างตัวเลขเหตุรุนแรงและความสูญเสียที่สูงๆ เพื่อทำให้เห็นว่าปัญหาความพยายามแบ่งแยกดินแดนซึ่ง (อ้างว่า) เกิดจากชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ที่แตกต่างนั้น หนักหน่วงรุนแรงจริงๆ ไม่ช่วยกันไม่ได้แล้ว
แต่จะเป็นการส่งสัญญาณปัญหาผิดไปจากความเป็นจริงหรือไม่...เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หรือองค์กรที่สนับสนุนให้เกิดการพูดคุยเจรจา ก็อาจจะจงใจอ้างตัวเลขเหตุรุนแรงจำนวนมากๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมว่าควรมีการพูดคุยเจรจาเสียที เพราะเชื่อเอาเองว่าการพูดคุยเจรจาคือทางออกเดียวของปัญหาโดยไม่ดูบริบทอื่นๆ เลย
ที่ผ่านมาเคยมีบุคลากรของบางองค์กรไปเขียนสกู๊ปพิเศษในนิตยสารหัวนอกเล่มหนึ่ง แต่เป็นฉบับภาษาไทย อ้างว่าเดือน ส.ค.2555 มีเหตุรุนแรงมากถึง 300 กว่าครั้ง มากที่สุดตลอดเกือบ 10 ปีไฟใต้ จึงถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องจัดให้มีเวทีสำหรับการพูดคุยเจรจา (กับกลุ่มบีอาร์เอ็น) ในปี 2556 ทั้งๆ ที่เหตุรุนแรง 300 กว่าครั้งตามที่อ้างนั้น แท้ที่จริงแล้วเกือบทั้งหมดคือเหตุการณ์ติดธงชาติมาเลเซียราว 300 จุดทั่วสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2555 ไม่ใช่เหตุรุนแรงที่สร้างความสูญเสียขนาดใหญ่แต่อย่างใด
สุดท้ายก็อยากจะฝากข้อสังเกตของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางรายที่เกาะติดอยู่ในพื้นที่นานกว่า 10 ปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ตั้งแต่ก่อนปล้นปืนเมื่อปี 2547 จนถึงวันเสียงปืนแตก จากนั้นก็มีเหตุรุนแรงกระจายทั่วเหมือนจุดดอกไม้ไฟ กระทั่งรัฐควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง กดเหตุรุนแรงให้ลดจำนวนลง และทรงตัวมาจนถึงปัจจุบัน
เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้บอกว่าปัญหาความรุนแรงที่ชายแดนใต้แตกตัวจากอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีฐานของอิทธิพลและอำนาจทางการเมืองซ้อนอยู่ กลายเป็นปัญหาที่กระจายตัวไปยังความขัดแย้งของกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นต่างๆ กลุ่มการเมือง ธุรกิจผิดกฎหมาย และยาเสพติด
ปัจจุบันกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มอิทธิพลที่อิงผลประโยชน์ ล้วนมี "กองกำลัง" ของตัวเอง เวลามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจึงสรุปแทบไม่ได้แล้วว่ามีสาเหตุมาจากเรื่องใดแน่ การแก้ปัญหาอาจต้อง "จัดสมดุล" ระหว่างกลุ่มอิทธิพลต่างๆ เพื่อประคองสถานการณ์ให้อยู่กันไปได้ และเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจทำได้เพียงแค่นั้น เพราะหลายปัญหาอย่างน้ำมันเถื่อน (ในระดับรากหญ้า) ฝังรากลึกจนกลายเป็นวิถีชีวิตกันไปแล้ว
หากข้อสังเกตนี้เป็นจริง คำถามที่ย้อนกลับมายังเรื่องสถิติเหตุรุนแรงก็คือ ตัวเลขพวกนั้นได้สะท้อนสภาพปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วหรือยัง?
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟฟิกแสดงเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนปี 57 จากหลายหน่วยงาน เปรียบเทียบกับปี 56 ที่นับโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ขอบคุณ : กราฟฟิกโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ