- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- ได้เวลาทบทวนเจรจาโหมไฟใต้
ได้เวลาทบทวนเจรจาโหมไฟใต้
ไม่มีใครปฏิเสธแนวทางเจรจาหรือพูดคุยสันติภาพเพื่อดับไฟใต้ แต่วิธีการที่รัฐบาลทำอยู่อาจไม่ถูกต้องและส่งผลเสียหายตามมา ด้วยเหตุผลดังนี้
1.การพูดคุยเจรจาที่เปิดเผยต่อสาธารณะและสังคมโลกในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นการยกระดับคู่เจรจา (กลุ่มบีอาร์เอ็น) อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าต้องการกด "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" ให้เป็นเบี้ยล่างของรัฐไทย แต่หมายถึงว่าการเปิดเผยก่อนเวลาอันควร จะทำให้การพูดคุยเจรจามีปัจจัยแทรกซ้อนมาก มีแรงกดดันจากสังคมและผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายอย่างสูง ทำให้ไม่มีฝ่ายใดยอมถอย ทั้งๆ ที่การเดินทางสู่สันติภาพไม่มีฝ่ายใดได้ทั้งหมดหรือเสียทั้งหมด คู่ขัดแย้งต้องยอมเสียบางอย่าง หรือยอมถอยบ้าง เพื่อเป้าหมาย "สันติภาพ" และ "สันติสุข" ที่ปลายทาง แต่การพูดคุยเจรจาแบบเปิดเผยจะทำเช่นนั้นได้ยาก
2.เมื่อบีอาร์เอ็นได้รับการยกระดับเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐไทยแล้ว ทำให้พวกเขามีเสรีในการเสนอเงื่อนไขหรือข้อเรียกร้องผ่านทุกช่องทาง ไม่เฉพาะโต๊ะเจรจา ทำให้บทบาทของโต๊ะพูดคุยเจรจาลดน้อยลง กลายเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบกันมากกว่า
3.การพูดคุยเจรจาที่เปิดเผยกลายเป็นตัวเร่งให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ต้องการสันติภาพก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น ผู้บริสุทธิ์ ตำรวจ ทหาร ตกเป็นเหยื่อมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไทยก็จำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารมากขึ้น ความสูญเสียย่อมเกิดกับทั้งสองฝ่าย
4.การพูดคุยเจรจาอย่างเปิดเผยโดยที่รัฐไทยยังไม่พร้อมเพราะยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้ ทำให้บีอาร์เอ็น (กรณีคุมกองกำลังในพื้นที่ได้จริง) อาจไฟเขียวหรือขยิบตาให้ฝ่ายกองกำลังเร่งก่อเหตุรุนแรงเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง แต่หากไม่สามารถคุมกองกำลังได้จริง ก็จะเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มติดอาวุธยิ่งก่อเหตุเพื่อแสดงศักยภาพหรือตอบโต้การเจรจา ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ไม่ต้องการให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ด้วย
5.การให้มาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" กระบวนการพูดคุย กลายเป็นความเสี่ยง เพราะกลุ่มต่อต้านรัฐไทยบางส่วนพำนักอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียย่อมรู้เห็น หากต้องการช่วยไทยจริงต้องปฏิเสธการให้ที่พักพิงกลุ่มคนเหล่านี้นานแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรงและมีหมายจับของกระบวนการยุติธรรมไทย (ซึ่งหลายคนปรากฏตัวบนโต๊ะพูดคุย) ฉะนั้นบทบาทของมาเลเซียจึงอาจมีอิทธิพลหรือส่งผลครอบงำกระบวนการพูดคุยได้ โดยเฉพาะหากมาเลเซียไม่ได้มีความจริงใจหรือจริงจังในการคลี่คลายปัญหาชายแดนใต้ของไทยจริงๆ
6.การที่รัฐบาลไทยมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อความไม่สงบน้อยเกินไป และยังเป็นฝ่ายสูญเสียทุกวันทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือน ยิ่งทำให้อำนาจต่อรองลดลง แต่ด้วยสถานะความเป็น "รัฐ" ย่อมมีทางถอยไม่มากนัก สมการการพูดคุยเจรจาจึงอยู่ในภาวะไม่สมดุล ไม่ได้พร้อมใจช่วยกันลดความรุนแรงเพื่อก้าวสู่สันติภาพที่เป็นปลายทาง แต่ฝ่ายที่ได้เปรียบกลับใช้สันติภาพเป็นแค่เครื่องมือต่อรอง
7.ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลไทยและคณะผู้แทนพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยไม่มีความพร้อมทั้งในแง่ยุทธศาสตร์ นโยบาย กลยุทธ์ และข้อมูล โจทย์หลายเรื่องที่รับมาจากวงพูดคุยถูกนำมาขยายผลในทางปฏิบัติน้อยมาก ขณะที่ข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลไทยที่จะยื่นกลับไปยังฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ไม่มีพลัง ขาดยุทธศาสตร์ที่ดี มีการเตรียมการประชุมน้อยครั้ง และไม่มี "ทีมแบ็คอัพ" ที่มีประสบการณ์สำหรับสนับสนุนข้อมูลหรือเสนอแนะประเด็นการพูดคุยเจรจา
ถึงนาทีนี้จึงได้เวลาต้องทบทวน "วิธีการ" พูดคุยสันติภาพเสียใหม่ และประเมินสถานการณ์ด้วยข้อมูลจริงที่ไม่ใช้ความรู้สึก ไม่ควรอ้างเพียงว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ความสูญเสียต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา หรืออ้างเพียงว่าแม้ไม่มีการเจรจาก็เกิดเหตุรุนแรงอยู่แล้ว เพราะสถานการณ์เลวร้ายลงชัดเจน
ที่สำคัญชีวิตผู้คนทุกอาชีพ ทุกศาสนา ไม่ควรถูกใช้ทดลองกับ "วิธีการ" สร้างสันติภาพที่ยังมองไม่เห็นหลักประกันแห่งสันติสุข!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สามทหารเสือที่เป็น "แกนหลัก" ในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลไทย (จากหน้าไปหลัง) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก