- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- ทำไมไม่คืนความเป็นธรรมทางคดีให้เหยื่อไฟใต้ทุกกรณี...พร้อมกับเยียวยา
ทำไมไม่คืนความเป็นธรรมทางคดีให้เหยื่อไฟใต้ทุกกรณี...พร้อมกับเยียวยา
เตรียมจ่ายเยียวยาล็อตแรกกันแล้วสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไฟใต้ หลังจากคณะกรรมการเยียวยาที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน มีมติอนุมัติกรอบการจ่ายเงิน 4 กลุ่ม 5 กรณีไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา และเตรียมชงเรื่องเข้า ครม.อังคารหน้า หาก ครม.อนุมัติก็นัดวันจ่ายได้เลย
4 กลุ่ม 5 กรณีที่ว่า ผมสรุปสั้นๆ ดังนี้
1.ประชาชนทั่วไปที่เป็นเหยื่อสถานการณ์รายวัน จากเดิมทุพพลภาพหรือตายได้เงินเยียวยา 8 หมื่นถึง 1 แสนบาท ปรับเพิ่มเป็น 5 แสนบาท โดยจะจ่ายย้อนหลังให้ถึงปี 2547 (ปีแรกของสถานการณ์ไฟใต้) ใช้เวลา 4 ปีงบประมาณ คือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 (ปัจจุบัน) ถึงปี 2558
2.เหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 หรือที่รู้จักกันในนาม "เหตุการณ์กรือเซะ" มี เหตุรุนแรงเกิดขึ้น 11 จุด อนุมัติแล้ว 2 จุด คือผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะจากการยิงอาวุธหนักของเจ้าหน้าที่รัฐ มี 32 ราย ได้รายละ 4 ล้านบาท ส่วนอีกจุดหนึ่งคือที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เยาวชนทีมฟุตบอลบ้านสุโสะ 19 ราย ได้รายละ 7.5 ล้านบาท
3.เหตุการณ์ตากใบ หมายถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (ด้วยวิธีถอดเสื้อมัดมือไพล่หลังเรียงซ้อนกันไปบนยีเอ็มซี) เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย จะได้รับเงินเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท
4.กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกอุ้มหายไปตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2547 ทายาทของทนายสมชายจะได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท โดยไม่ตัดสิทธิการฟ้องคดีทางศาล
5.กลุ่มที่ถูกอุ้มฆ่า-อุ้มหาย หากหลักฐานชัดว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จะได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท แต่ถ้าหลักฐานไม่ชัด เป็นแค่ข้อมูลเบื้องต้นว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจมีเอี่ยว จะได้รับ 4 ล้านบาท
นี่คือมติคร่าวๆ ของคณะกรรมการเยียวยาฯ ซึ่งต้องขอบอกก่อนว่าการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบถือเป็นเรื่องดีและน่าสนับสนุน โดยเฉพาะไอเดียของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ที่จะถือโอกาสนี้ "รีวิว" ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดตลอด 8 ปีไฟใต้ ทั้งที่ตกสำรวจและเคยได้รับเยียวยาไปบ้างแล้ว ว่าแต่ละราย แต่ละครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร หากพบว่าขาดแคลนสิ่งใดก็จะช่วยเหลือสิ่งนั้น สำคัญที่สุดคือการไปเยี่ยมเยียน และให้โอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องดี และขอเป็นกำลังใจให้ทำต่อไป...
แต่สิ่งที่ต้องนำมาพูดกันอีกส่วนหนึ่งก็คือ ปมที่ผูกขึ้นจากมติเยียวยาที่อาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งผมขอแยกเป็นประเด็นๆ ดังนี้
1.การกำหนดตัวเลขเงินเยียวยาทั้งหมด เท่าที่ฟังคำชี้แจงจากทุกฝ่าย ค่อนข้างชัดว่าเป็นการใช้ "ดุลพินิจ" ของคณะกรรมการเยียวยาชุดใหญ่ หรืออนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมา โดยไม่ค่อยจะมีหลักการอะไรรองรับ หลายเรื่องอ้างว่าจ่ายเพราะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่คดียังไม่ถึงที่สุด บางกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดด้วยซ้ำไป ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่เข้าข้างเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การอนุมัติจ่ายด้วยเหตุผลเช่นนี้จะทำให้เกิดสิทธิในการฟ้องคดี หรือนำไปสู่ปัญหาการฟ้องร้องกันอีรุงตุงนังในอนาคตหรือไม่ เพราะแม้แต่คณะกรรมการเยียวยาฯเองก็มีสิทธิถูกฟ้องเหมือนกัน
2.เรื่องการไม่ตัดสิทธิฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งของทายาท ทนายสมชาย นีละไพจิตร เหตุใดจึงไม่ให้สิทธิแบบเดียวกันนี้กับผู้เสียหายจากเหตุชุมนุมทางการเมืองที่ได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทด้วย เพราะกรณีชุมนุมทางการเมือง คณะกรรมการเยียวยาฯอีกชุดหนึ่งดันไปตัดสิทธิเขา จนเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันหลายครอบครัว
3.บางเหตุการณ์มีจุดเริ่มต้นและบทสรุปคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 คือกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมใช้มีดและไม้เป็นอาวุธ บุกโจมตีป้อมจุดตรวจ 11 แห่ง และถูกเจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้ โดยที่มัสยิดกรือเซะ ฝ่ายผู้โจมตีบางส่วนวิ่งหลบหนีเข้าไปในมัสยิด หลังจากปิดล้อมอยู่นานหลายชั่วโมงเจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจใช้อาวุธหนักยิงเข้าไปจนมีผู้เสียชีวิต 32 ราย ซึ่งบางส่วนอาจไม่ใช่ฝ่ายผู้โจมตี เพราะอาจเป็นคนที่ประกอบศาสนกิจอยู่ในมัสยิดอยู่แล้วก็ได้...น่าแปลกที่ กลุ่มนี้ได้แค่ 4 ล้านบาท
ส่วนจุดที่ อ.สะบ้าย้อย เยาวชนทีมฟุตบอล 19 คนถูกยิงเสียชีวิตเหมือนกัน จากมูลเหตุตั้งต้นคล้ายๆ กัน แต่ได้รายละ 7.5 ล้าน
สอบถาม นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการเยียวยาฯ บอกว่ามี "ข้อมูลภายใน" จากการสืบสวนและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ารายละเอียดของเหตุการณ์แตกต่างกัน แต่ไม่ยอมบอกว่าต่างกันอย่างไร พูดแค่ว่ากรณีสะบ้าย้อยนั้น "เจ้าหน้าที่รัฐมีร่องรอยแนวทางการทำงานไม่พอเหมาะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง"
คำถามก็คือ แล้วการตัดสินใจใช้ "อาร์พีจี" ยิงเข้าไปในมัสยิดทั้งๆ ที่น่าจะมีผู้บริสุทธิ์ปะปนอยู่ด้วยล่ะ...แบบนั้นหนักกว่าหรือไม่ แล้วทำไมถึงจ่ายให้ไม่เท่ากัน
และทั้งหมดนั้นได้นำมาสู่คำถามแหลมคมที่สุดว่า ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐมี "ข้อมูลภายใน" ชี้ชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการเกินกว่าเหตุในกรณีต่างๆ จริง เหตุใดจึงไม่สั่งรื้อฟื้นคดีเพื่อให้ "ความเป็นธรรมทางกฎหมาย" กับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย
เพราะหลายคนจากหลายกรณีที่เคยถูกกล่าวหาคลุมๆ จนเป็นตราบาปกับครอบครัว อาจจะเป็นผู้บริสุทธิ์ขึ้นมาก็ได้ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการเกินกว่าเหตุ และรับราชการต่ออย่างสบาย หรืออยู่ในสถานะ "ลอยนวล" กันไป ก็จะได้มีบรรทัดฐานใหม่ว่า การกระทำโดยประมาท เลินเล่อ หรือเกินสมควรแก่เหตุ ถือเป็นความผิด และต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
หากจะนำ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restotative Justice) หรือ ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) มาใช้เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ เลิกแล้วต่อกัน และก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกันโดยไม่ซุกขยะใต้พรมไว้เบื้องหลัง ผมก็ว่าไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
พูดง่ายๆ คือ วิธีการลงโทษผู้ที่กระทำผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และอาจเลอะเลือนสับสนในแง่ข้อมูลหรือพยานหลักฐานนั้น ไม่ได้มีแค่จำคุกกันสถานเดียว อาจใช้การลงโทษทางปกครอง หรือแม้แต่ลงโทษทางสังคมด้วยการ "ขอโทษอย่างจริงใจ" กับเหยื่อและต่อสาธารณะก็ได้ และผมเชื่อว่าชาวบ้านที่เป็นญาติผู้สูญเสียทุกรายก็คงให้อภัย เพียงแต่ขอให้ได้พิสูจน์ความจริงและเข้าถึงความยุติธรรมได้เท่านั้น
โดยเฉพาะกรณีตากใบที่กลายเป็นประเด็นอื้อฉาวไปทั้งโลก หรือแม้แต่ข้อสงสัยเรื่องยิงเยาวชนทีมฟุตบอลจากด้านหลัง ทั้งๆ ที่เยาวชนเหล่านั้นน่าจะยอมมอบตัวหมดแล้ว
เพราะแทบทุกเสียงที่ชายแดนใต้ (หรือแม้แต่กลุ่มผู้ชุมนุมทุกสี) ล้วนยืนยันตรงกัน...ความยุติธรรมสำคัญกว่าเงิน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : มัสยิดกรือเซะ หนึ่งในจุดที่เกิดเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าว (ภาพโดย สมศักดิ์ หุ่นงาม)
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "แกะรอย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 มิ.ย.2555