- Home
- South
- สถิติย้อนหลัง
- 8 ปีไฟใต้ (1) ยอดตายทะลุ 5 พัน ละลายงบประมาณ 1.6 แสนล้าน!
8 ปีไฟใต้ (1) ยอดตายทะลุ 5 พัน ละลายงบประมาณ 1.6 แสนล้าน!
ครบรอบ 8 ปีไฟใต้รัฐเทงบไปแล้ว 1.61 แสนล้าน เฉพาะปี 55 ตั้งงบไว้ 1.6 หมื่นล้าน เป็นงบทหาร-ตำรวจ-กอ.รมน.กว่า 60% ขณะที่สถานการณ์ภาพรวมยังไม่ดีขึ้น สรุปยอด 8 ปีมีเหตุรุนแรงกว่าหมื่นครั้ง เฉลี่ยวันละ 2.7 เหตุการณ์ ระเบิดมากกว่า 2 พันลูก ยอดตายทะลุ 5 พันศพ เด็กกำพร้าเฉียดครึ่งหมื่น แฉตัวเลขปืนถูกปล้น 1.6 พันกระบอก ตามยึดคืนได้ไม่ถึง 500 กระบอก
สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เดินทางมาครบ 8 ปีเต็มในวันนี้ (4 ม.ค.2555) หากนับเอาเหตุการณ์คนร้ายบุกปล้นปืนและฆ่าทหารจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ซึ่งได้อาวุธปืนไปถึง 413 กระบอก เป็นปฐมบทของความรุนแรงรอบใหม่ในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน
ประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังจับตาและตั้งคำถามในวาระครบรอบ 8 ปีของเหตุการณ์ปล้นปืนก็คือ ผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาตลอด 7 รัฐบาล 6 นายกรัฐมนตรี ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเหตุร้ายรายวันยังคงดำรงอยู่ ขณะที่มีการทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลลงไปเพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์รุนแรง
9 ปีงบประมาณเม็ดเงินทะลัก 1.61 แสนล้าน
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมากำหนดนโยบายดับไฟใต้เป็น "วาระแห่งชาติ" และทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากลงไปเพื่อยุติปัญหา โดยเม็ดเงินรวมตลอด 9 ปีงบประมาณมียอดสูงถึง 161,278 ล้านบาท
ตัวเลขงบประมาณดังกล่าว สามารถแยกแยะพิจารณาเป็นรายปีงบประมาณได้ดังนี้ ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 19,102 ล้านบาท และปี 2555 ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระ 2-3 ตั้งไว้ก่อนปรับลดที่ 16,277 ล้านบาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวเลขงบประมาณรวม 1.61 แสนล้านบาทนี้ เป็นงบโครงการที่เรียกว่า "งบฟังก์ชั่น" ของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมถึงงบปฏิบัติการ งบเบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มพิเศษ และ "งบทรงชีพ" ของหน่วยงานความมั่นคง (ตำรวจ ทหาร) ภายใต้การบังคับบัญชาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทั้งนี้ ไม่นับรวมรายจ่ายประจำประเภทเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ รวมทั้งไม่รวมงบเยียวยาผู้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ราว 3 พันล้านบาท
ผ่างบปี 55 ทหาร-ตร.-ศอ.บต.กวาด 70%
กล่าวสำหรับงบประมาณดับไฟใต้ปี 2555 ที่ใช้ชื่อว่า "แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งตั้งเอาไว้ก่อนปรับลด 16,277 ล้านบาทนั้น แยกเป็นงบของ กอ.รมน. 6,100 ล้านบาท, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 1,422 ล้านบาท, กองทัพบก 1,502 ล้านบาท, กองทัพเรือ 690 ล้านบาท, กองทัพอากาศ 204 ล้านบาท และกองบัญชาการกองทัพไทย 50 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีงบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,521 ล้านบาท, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย 2,085 ล้านบาท, กรมโยธาธิการและผังเมือง 238 ล้านบาท, กระทรวงศึกษาธิการตั้งงบไว้หลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง 163 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 749 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 186 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 113 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ตั้งงบเอาไว้ที่สำนักงานปลัดกระทรวง 413 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังมีกระทรวง ทบวง กรมที่เป็นหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนมหาวิทยาลัยของรัฐตั้งงบสำหรับแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้เป็นโครงการย่อยๆ อีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี หากนำตัวเลขงบประมาณของหน่วยงานความมั่นคง ทั้ง กอ.รมน. กองทัพ และตำรวจ รวมกับงบของหน่วยงานพิเศษที่มีภารกิจเฉพาะสำหรับแก้ไขปัญหาชายแดนใต้อย่าง ศอ.บต. จะพบว่าตัวเลขงบประมาณในส่วนนี้สูงถึง 11,489 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70 ของงบดับไฟใต้ทั้งหมด แต่หากตัดงบ ศอ.บต.จำนวน 1,422 ล้านบาทออกไป น้ำหนักของงบประมาณก็ยังอยู่ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และ กอ.รมน.ถึงร้อยละ 62
สำหรับการพิจารณางบประมาณของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ในชั้นสภาผู้แทนราษฎรนั้น ได้ปรับลดงบประมาณในส่วนของแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ลง 290 ล้านบาทเศษ
8 ปีรุนแรงพุ่ง 1.2 หมื่นครั้ง-เฉลี่ยวันละ 2.7 เหตุ
จากข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณจำนวน 9 ปีงบประมาณซึ่งมีตัวเลขสูงถึง 1.61 แสนล้านบาท เมื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับสถิติความรุนแรงและความสูญเสียต่างๆ ก็น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าการแก้ไขปัญหาในภาพรวมมีผลสัมฤทธิ์เพียงใด
สถิติที่รวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 กระทั่งถึงสิ้นปี 2554 มีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น 12,604 ครั้ง แยกเป็นเหตุความมั่นคง (ก่อการร้าย ก่อความไม่สงบ) จำนวน 8,094 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 2.77 เหตุการณ์
จากตัวเลขเหตุรุนแรงในภาพรวม สามารถแยกเป็นการก่อเหตุรูปแบบต่างๆ ได้แก่ เหตุยิงด้วยอาวุธปืน 6,834 เหตุการณ์ วางระเบิด 2,265 เหตุการณ์ วางเพลิง 1,489 เหตุการณ์ และอื่นๆ เช่น ทำร้าย ฆ่าตัดคอ ปล้น ประท้วง ก่อกวน ทำลายธงชาติ จับตัวประกัน รวม 2,016 เหตุการณ์
ยอดตายทะลุ 5 พัน-กำพร้าเฉียดครึ่งหมื่น
ขณะที่ตัวเลขความสูญเสีย ข้อมูลจาก ศชต.ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตทุกฝ่ายนับถึงสิ้นปี 2554 จำนวน 5,243 ราย แยกเป็นประชาชนทั่วไป 4,215 ราย ทหาร 351 นาย ตำรวจ 280 นาย ครูและบุคลากรการศึกษา 148 ราย พระ 7 รูป คนร้าย 242 ราย
ยอดรวมผู้บาดเจ็บทุกฝ่าย 8,941 ราย แยกเป็นประชาชนทั่วไป 5,855 ราย ทหาร 1,712 นาย ตำรวจ 1,173 นาย ครูและบุคลากรการศึกษา 144 ราย พระ 23 รูป คนร้าย 34 ราย
นอกจากนั้นยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กกำพร้าและสตรีหม้ายที่เก็บรวบรวมโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นับถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 มีเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 4,455 คน และสตรีหม้าย 2,295 คน
เทียบสถานการณ์ปี 54 แรงกว่าปี 53
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถิติเหตุรุนแรงเปรียบเทียบระหว่างปี 2553 กับปี 2554 พบว่าทั้งเหตุรุนแรงและความสูญเสียกลับเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลงตามเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคง กล่าวคือ ปี 2553 มีเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุความมั่นคงจำนวน 652 เหตุการณ์ ขณะที่ปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 671 เหตุการณ์ หรือเพิ่มขึ้น 19 เหตุการณ์
ขณะที่ความสูญเสียเฉพาะชีวิตและร่างกาย ปี 2553 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 521 ราย บาดเจ็บ 941 ราย ส่วนปี 2554 มีผู้เสียชีวิต 535 ราย บาดเจ็บ 1,049 ราย
ปืนถูกปล้น 1.6 พันกระบอก-ได้คืนแค่ 400
เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุรุนแรงรอบใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เริ่มนับจากเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 และตลอด 8 ปีที่ผ่านมามีอาวุธปืนถูกปล้นชิงจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอีกหลายครั้ง รวมไปถึงเหตุการณ์ปล้นฐานพระองค์ดำ หรือฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 (ร้อย ร.15121) หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 ที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 ด้วย แต่จำนวนอาวุธปืนที่ถูกปล้นไปกลับถูกปิดเป็นความลับตลอดมา
จากการตรวจสอบพบรายงานของหน่วยงานความมั่นคงหน่วยหนึ่งระบุว่า อาวุธปืนที่ถูกปล้นไปทั้งหมดตลอด 8 ปีมีมากถึง 1,629 กระบอก แยกเป็นอาวุธปืนที่ถูกปล้นจากกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จำนวน 413 กระบอก ถูกปล้นจากฐานพระองค์ดำอีก 65 กระบอก นอกนั้นเป็นปืนที่ถูกปล้นจากเหตุร้ายรายวันต่างๆ
ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงสามารถติดตามปืนคืนได้เพียง 484 กระบอก แยกเป็นปืนเอ็ม 16 จำนวน 140 กระบอก อาก้า 66 กระบอก ปืนพกสั้น 203 กระบอก ลูกซอง 53 กระบอก เอชเค 15 กระบอก และอื่นๆ 7 กระบอก ส่วนอาวุธปืนจากฐานพระองค์ดำ ตามยึดคืนได้ 3 กระบอก คือเอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก และอูซี่ 1 กระบอก (ข้อมูลถึงสิ้นปี 2554)
ออกหมายจับร่วมหมื่น-คดียกฟ้อง 45%
ด้านการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม พบว่า ฝ่ายความมั่นคงออกหมายจับ-หมายเรียกรวมทั้งสิ้น 8,807 หมาย แยกเป็นหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จำนวน 4,637 หมาย และหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) 4,170 หมาย
ส่วนคดีความมั่นคงที่แยกแยะเหตุขัดแย้งส่วนตัวออกไปแล้ว มีทั้งสิ้น 8,247 คดี แยกเป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด 1,946 คดี (ร้อยละ 23.6) ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด 6,301 คดี (ร้อยละ 76.4) มีคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว 262 คดี จำเลย 484 คน แยกเป็น ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ 143 คดี (ร้อยละ 54.58) จำเลย 243 คน และยกฟ้อง 119 คดี (ร้อยละ 45.42) จำเลย 241 คน ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการรวบรวมพยานหลักฐานและคลี่คลายคดีความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างชัดเจน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟฟิกแสดงงบประมาณดับไฟใต้ 9 ปีงบประมาณ
2 กราฟฟิกแสดงสถิติการเกิดเหตุร้ายและความสูญเสีย
ขอบคุณ : กราฟฟิกทั้งหมดโดยฝ่ายศิลป์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ : ข่าวชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 4 ม.ค.2555 ด้วย