- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- สุรชาติ: แก้โจทย์ก่อการร้าย คำตอบไม่ใช่ซื้ออาวุธ!
สุรชาติ: แก้โจทย์ก่อการร้าย คำตอบไม่ใช่ซื้ออาวุธ!
การตัดสินใจของกองทัพที่ใช้งบหลายพันล้านบาทซื้อรถถังจากจีน แม้จะไม่ถูกวิจารณ์ในวงกว้างมากนัก เนื่องจากมีความสมเหตุสมผลในแง่ของการจัดซื้อมาทดแทนรถถังเก่าที่ต้องปลดระวางซึ่งใช้มานานถึง 50 ปีก็ตาม
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคำถามเรื่องการตีโจทย์ความมั่นคงในสถานการณ์ปัจจุบันว่าถูกต้อง สอดคล้องกับแนวโน้มของภัยคุกคามรูปแบบใหม่หรือไม่
แม้แต่นายทหารระดับยังเติร์กในกองทัพเอง ก็ยังยอมรับว่า ทหารไทยควรปรับหลักนิยมใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะต้องวิเคราะห์และตีโจทย์ให้แตกว่า พื้นที่การรบที่แท้จริงคืออะไร กองทัพจะรบในประเทศหรือนอกประเทศ
สอดรับกับคำถามจาก ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ว่าสัญญาณภัยคุกคามของโลกตอนนี้ชัดเจนมากว่าคือการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ถือเป็นโจทย์สงครามสมัยใหม่ที่ยุทโธปกรณ์แบบเก่าอย่างรถถัง หรือเรือดำน้ำ ดูจะลดความสำคัญลงไป
“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทั้งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเกิดทั้งต้นปีและปลายปีที่แล้ว หรือแม้แต่เหตุระเบิดที่สนามบินกับรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม หรือย้อนหลังไปก่อนหน้านั้นในประเทศใกล้ๆ บ้านไทยอย่างกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย รวมถึงสี่แยกราชประสงค์ กลางเมืองหลวงของเรา มันมีสัญญาณค่อนข้างชัดเชนมากขึ้น และน่าติดตามว่ารัฐบาลมองเห็นว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์ความมั่นคงที่สำคัญหรือไม่”
“ต้องไม่ลืมว่า โจทย์สงครามสมัยใหม่ไม่ใช่การรบกันโดยใช้รถถัง เรือรบ หรือเครื่องบิน ฉะนั้นการลงทุนซื้อยุทโธปกรณ์เหล่านี้อาจจะไม่มีความสำคัญมากเท่าไหร่ในอนาคต”
อาจารย์สุรชาติ บอกว่า ทิศทางการลงทุนที่สำคัญ คือการลงทุนเพื่อป้องกันการก่อการร้าย
“สงครามยุคนี้ไม่ได้รบกันด้วยยุทโธปกรณ์หนัก หรือการยึดสถานที่สำคัญ หรือจับตัวประกันแบบที่เราคุ้นเคย ฉะนั้นการฝึกแบบที่มีคนโรยตัวมาจากเฮลิคอปเตอร์แบบที่เราเห็นกันอยู่ ผมคิดว่าการป้องกันลักษณะนี้จบลงแล้ว โลกของการก่อการร้ายสมัยใหม่มีพัฒนาการมากไปกว่านั้นมาก”
นักวิชาการด้านความมั่นคง ฟันธงตรงๆ ว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการรับมือการก่อการร้ายเลย
“ถ้าถามว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือหรือไม่ ผมตอบได้เลยว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมอะไรเลยในการรับมือการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ สิ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจนที่สุด คือตอนเหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ที่ทำให้เห็นว่าระบบงานความมั่นคงและการป้องกันการก่อการร้ายในพื้นที่เขตเมืองของเราไม่ดีเลย”
อาจารย์สุรชาติ ชี้ว่า การก่อการร้ายสมัยใหม่ เลือกพื้นที่เมืองเป็นสมรภูมิ เห็นได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย คำถามคือ แล้วกรุงเทพมหานครล่ะ
“โจทย์ความมั่นคงนี้ต้องการวิธีคิดแบบใหม่ทั้งหมด ทั้งการวางแผน การลงทุน และการกำหนดยุทธศาสตร์รับมือ ที่สำคัญการสร้างบุคคลรุ่นใหม่ขึ้นมาเรียนรู้โจทย์นี้ หากจะพูดง่ายๆ ก็คือ หน่วยงานความมั่นคงแบบเก่าทั้งหลาย เช่น กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาเป็นกระทรวงความมั่นคงแบบไทยๆ ผมมองว่าการคิดแบบนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย สิ่งสำคัญควรมองว่างบประมาณและอำนาจอยู่ที่ใครมากกว่า”
“ผมเห็นว่าผู้นำประเทศของเราไม่มีมิติด้านความมั่นคง รวมถึงจิตวิญญาณที่รู้สึกว่างานด้านความมั่นเป็นโจทย์ที่สำคัญของประเทศ หากสังเกตนานาชาติ เขาจะนำนโยบายด้านความมั่นคงมาดีเบตกัน แต่ในประเทศไทยไม่มีพรรคการเมืองหรือตัวผู้นำรัฐบาลออกมาพูดถึงโจทย์ความมั่นคงอย่างจริงจังในลักษณะวิสัยทัศน์ เราจะเห็นอย่างเดียวคือ หากพูดถึงความมั่นคงก็จะพูดแค่ว่าจะซื้อยุทโธปกรณ์และอาวุธต่างๆ เช่น เรือดำน้ำ รถถัง”
“หากถามกันตรงๆ ว่าเราจะไปรบกับใคร ผมไม่ได้บอกว่าไม่มีความจำเป็นต้องมี แต่เราต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้แตกก่อน วันนี้โจทย์ที่สำคัญคือการป้องกันพื้นที่เมือง มาตรการป้องกันการก่อการร้าย การลงทุนสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ต้องเกิด ขอถามว่าเราจะเอารถถัง เครื่องบินรบ หรือเรือดำน้ำไปทำอะไร หากจำกันได้ เครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 ซึ่งทุกคนรู้ว่าซื้อมาแล้วก็ไม่สามารถใช้ได้จริง เป็นเพียงแค่กล่องพลาสติกกับก้านเหล็กเท่านั้น แต่เราก็ยังซื้อกันมา”
“ฉะนั้นเรายังไม่เห็นทิศทางการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศสำหรับโจทย์สงครามชุดใหม่เลย สงครามที่ใช้คนเพียงคนเดียวเอาระเบิดติดไว้กับตัวเอง แล้วเดินเข้าไปในพื้นที่ชุมชนก่อนจะกดระเบิด ดังนั้นขอถามว่าเราจะเอารถถังหรือเครื่องบินรบไปทำอะไรได้ ไม่ต้องถามถึงเรือดำน้ำนะ”
เมื่อถามถึงกรณีที่หน่วยงานความมั่นคงมีแนวคิดจัดซื้อเทคโนโลยีทันสมัย อย่างกล้องโทรทัศน์วงจรปิดอัจฉริยะ หรือระบบไบโอเมทริกซ์ เข้ามาใช้เพื่อป้องกันการก่อการร้าย อาจารย์สุรชาติ มองว่า ที่ผ่านมาการจัดซื้อระบบอัจฉริยะทั้งหลายไม่เคยสามารถตอบโจทย์ได้เลย เพราะการจะซื้อเครื่องมือเหล่านี้เข้ามาใช้อย่างมีศักยภาพ ต้องมีอุปกรณ์อย่างอื่นรองรับด้วย โดยเฉพาะฐานข้อมูล และที่สำคัญคือความคิดในการใช้อุปกรณ์
“ประเทศไทยวันนี้ยังไม่ต้องซื้ออะไรก็ได้ หากดูตัวอย่างเหตุระเบิดรถไฟใต้ดินที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีกล้องวงจรปิดเยอะที่สุดในโลก จะพบว่ากล้องวงจรปิดเป็นพระเอกในการช่วยจับตัวคนร้าย แต่ประเทศไทยยังมีกล้องวงจรปิดที่ไม่สามารถใช้การได้จริง หรือกล้องดัมมี่เต็มไปหมด วันนี้ประเทศไทยขอเพียงมีกล้องวงจรที่มีระบบสมบูรณ์ สามารถบันทึกภาพได้จริงก็พอ ที่สำคัญเครื่องมือจะล้ำสมัยมากเท่าไหร่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับชุดความคิดในการพัฒนาของผู้มีอำนาจ”
อาจารย์สุรชาติ ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า หากในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบด้านความมั่นคงจริงจัง รัฐบาลจะกล้าลงทุนกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่มีฝีมือไม่แพ้ใคร ให้มีความพร้อมมากกว่านี้หรือไม่ รวมถึงการคัดสรรและพัฒนาบุคลากรในองค์กรอย่างจริงจัง
คำถามที่อยากฝากไว้ก็คือ ปัจจุบันสงครามสมัยใหม่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่การพัฒนาการป้องกันของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงตามหรือยัง?