- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- 10 ปีทนายสมชาย...บทพิสูจน์ จนท.รัฐอยู่เหนือประชาชน
10 ปีทนายสมชาย...บทพิสูจน์ จนท.รัฐอยู่เหนือประชาชน
วันที่ 12 มี.ค.57 เป็นวันครบรอบ 10 ปีการสูญหายของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งเป็นคดี "อุ้มหาย" ที่สะเทือนประเทศไทยมาตลอด 1 ทศวรรษ
วันที่ 12 มี.ค.มีกิจกรรมประชุมเสวนา "10 ปีทนายสมชาย นีละไพจิตร สูญหายโดยถูกบังคับ" จัดโดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) และ กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ที่ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหายตัวไปของทนายสมชาย เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้จึงมีการจัดเวทีในวาระ 10 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มาแล้ว โดยนักศึกษาวิชาประวิติศาสตร์การเมืองการปกครองท้องถิ่นไทย และวิชาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คณะรัฐศาสตร์ ม.อ. ชื่องาน "สมชาย นีละไพจิตร 10 ปีบนเส้นทางสันติภาพ"
ในครั้งนั้น อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ในฐานะประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้ขึ้นปาฐกถาบนเวที โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาการอุ้มฆ่า-อุ้มหายในสังคมไทย ทั้งในมิติของช่องโหว่ช่องว่างทางกฎหมาย และค่านิยมในการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าชาวบ้าน
อังคณา เล่าว่า 12 มี.ค.47 ทนายสมชายถูกลักพาตัวบริเวณเยื้องกับ สน.หัวหมาก ย่านรามคำแหง ใจกลางกรุงเทพฯ วันที่ถูกลักพาตัวเป็นเพียง 1 วันหลังจากที่เขาได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหา 5 คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในคดีปล้นปืน
นอกจากนั้น วันที่ทนายสมชายถูกอุ้มหาย ยังเป็นเพียง 13 วันหลังจากที่เขาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และไม่ถึงเดือนก่อนที่เขาจะหายตัวไป เขาได้ขึ้นเวทีร่วมอภิปรายปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ ม.อ.ปัตตานี
"ก่อนที่ทนายสมชายจะถูกลักพาตัวและถูกทำให้หายไป เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงมากขึ้นภายใต้นโยบายการปราบปรามการก่อการร้ายในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทนายสมชายได้ล่ารายชื่อประชาชน 50,000 คน เพื่อให้ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก นอกจากนั้นเขาได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน จ.นราธิวาส 5 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและถูกซ้อมทรมาน พร้อมทั้งได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง"
"ช่วงที่เขาถูกลักพาตัว เขามีกำหนดการที่ต้องเดินทางไปว่าความที่ศาลจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 15 มี.ค. โดยเขาตั้งใจว่าจะยื่นรายชื่อคัดค้านการใช้กฎอัยการศึกต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กำหนดจะเดินทางไปปัตตานีในวันที่ 16 มี.ค.ด้วย แต่หลังการร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ปรากฏว่าในวันที่ 12 มี.ค. เขาก็ถูกคนกลุ่มหนึ่งซึ่งสืบทราบในเวลาต่อมาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปรามปราม ลักพาตัวในบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ และจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 10 ปีก็ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของเขา"
อังคณา บอกว่า ในสายตาของตำรวจบางคน ทนายสมชายเป็นคนสำคัญที่ทำให้หลายคนพ้นผิด ศาลยกฟ้อง ตำรวจบางคนจึงคิดว่าสมควรถูกทำให้หายไป องค์กรต่างประเทศได้กดดันให้อดีตนายกฯทักษิณหาตัวคนผิดมาลงโทษ มีการจับกุมตำรวจ 5 นายแต่ไม่สามารถฟ้องเรื่องลักพาตัวได้ หาพยานหลักฐานยากมาก ตำรวจกลุ่มนี้ได้รับการประกันตัว มีพยานเด็กผู้หญิงที่ทำงานโรงงานย่านนั้นเห็นเหตุการณ์ เธอบอกว่าเห็นคนกลุ่มหนึ่งเอาคนคนหนึ่งเข้าไปในรถ เธอร้องไห้ไม่กล้ามองหน้าเมื่อมาชี้ตัวผู้ต้องหา แต่เป็นความมีน้ำใจและความกล้าหาญที่ชี้คนผิดจนฟ้องศาลได้ ส่วนในรถก็ไม่พบดีเอ็นเอหรือร่องรอยเพื่อหาคนผิดได้
คดีนี้แม้ดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร และกำลังเสนออัยการให้ยุติคดีนี้ด้วยเหตุผลว่าไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีศพ จะเห็นว่านับจากนี้การสูญหาย การบังคับให้ทนายสมชายสูญหายจะเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะเป็นคดีที่ไม่มีความผิดตามกฎหมาย
อังคณา บอกอีกว่า ปัจจุบันแม้ตัวเลขการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการทรมาน การลักพาตัว และอุ้มฆ่าจะลดลง แต่การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมกลับมีตัวเลขสูงขึ้น รวมถึงเหตุการณ์การสังหารผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ศาลยกฟ้องก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จำนวนคดีที่ศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอในการลงโทษผู้กระทำผิดมีเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้เสียหายและญาติต่างสิ้นหวังในกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดต้องรับผิดหรือรับโทษ
"ปัจจัยด้านกฎหมายที่ให้ความคุ้มกันเจ้าพนักงานของรัฐ ระบบยุติธรรมทางอาญาที่อ่อนแอเนื่องจากการแทรกแซงทางการเมือง รวมทั้งองค์กรตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตลอดจนการขาดเจตจำนงทางการเมือง ล้วนส่งผลให้เกิดการคุ้มกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งมีส่วนรับผิดชอบโดยตรง หรือเป็นผู้รับผิดชอบตามสายบังคับบัญชาต่อความผิดทางอาญาร้ายแรงเหล่านี้"
"ความคุ้มกันที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองทราบว่า ตนเองจะไม่ต้องรับผิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือมีโอกาสถูกลงโทษน้อยมาก จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่บางรายเลือกใช้วิธีการนอกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ เพื่อปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลหรือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทส่วนบุคคล ส่งผลให้การบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน การข่มขู่และคุกคาม กลายเป็นวิธีการนอกกฎหมายที่ชอบธรรมและจำเป็น รวมทั้งเหมาะสมสำหรับรัฐไทยในการควบคุมปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง"
"การเพิกเฉยต่อหลักนิติธรรมเหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ทำให้หลักนิติธรรมยังไม่อาจนำสู่การปฏิบัติได้ในประเทศไทย ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการลอยนวลพ้นผิดรุนแรงขึ้น"
อังคณา ชี้ว่า อาจเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลชุดนี้ (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ที่คิดว่าการเยียวยาจะคืนศักดิ์ศรีให้ครอบครัวเราได้ จึงมีมติให้มีการเยียวยาเรื่องนี้ด้วยเงินเมื่อปีที่แล้ว แต่การเยียวยาไม่ใช่การคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่มีการพูดถึงสิทธิของเหยื่อที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่เห็นอยู่นอกจากเงินแล้วไม่มีอะไรที่บอกว่าเหยื่อจะได้รับศักดิ์ศรี ตราบใดที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม คนที่ถูกฆ่าไม่มีแม้หลุมศพให้เห็น จะคืนความเป็นธรรมได้อย่างไร
"เราไม่มีกฎหมายเรื่องบังคับสูญหายในประเทศไทย คดีสมชายมีคนเห็นเขาถูกนำตัวขึ้นรถ แต่ไม่มีศพก็เอาผิดในคดีฆาตกรรมไม่ได้ เมื่อไม่มีศพก็ต้องหาพยานแวดล้อม เหตุจูงใจอื่น ซึ่งดีเอสไอรู้ว่าได้มีการทำลายหลักฐานหมดแล้ว ก็ต้องหาทางอื่น แต่คดีนี้เกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐในรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณและรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ จึงไม่ได้ถูกให้ความสำคัญในการคลี่คลาย แต่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าที่ไทยจะเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ต้องแสดงความจริงใจในการคุ้มครองชีวิตประชาชน ไม่เช่นนั้นเหยื่อก็ยังคงเป็นเหยื่อที่ถูกอุ้มภายใต้นโยบายการปราบปรามการก่อการร้ายของรัฐบาลอยู่ดี"
อังคณา กล่าวทิ้งท้ายว่า บุคคลหลายคนที่ถูกกล่าวถึงในคดีอุ้มฆ่าทนายสมชาย วันนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตำรวจหลายนายที่ตกเป็นจำเลยและปรากฏชื่อในสำนวนคดี ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการและทางการเมือง
นี่คือความจริงที่ตกหล่นของสังคมไทยในวาระ 10 ปีการสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อังคณา นีละไพจิตร ขณะขึ้นปาฐกถาที่ ม.อ.ปัตตานี
ภาพโดย : เลขา เกลี้ยงเกลา