- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- ปาติเมาะ: ปัญหาใต้ไม่ได้มีแค่หยุดยิง - ถอนทหาร
ปาติเมาะ: ปัญหาใต้ไม่ได้มีแค่หยุดยิง - ถอนทหาร
ห้องประชุมที่กำลังรับฟังการเสวนาหัวข้อ "ไฟใต้...โจทย์ใหญ่ประเทศไทย" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 17 ก.ค.2556 เงียบกริบไปพักใหญ่ เพราะทุกคนนิ่งฟัง ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ พูดถึงปัญหาใต้ในมุมมองของผู้หญิงในพื้นที่
เธอเป็นหนึ่งใน 5 วิทยากรที่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเชิญไปร่วมเวทีเสวนาในประเด็นร้อนไฟใต้ ท่ามกลางกระแสที่มีทั้งสนับสนุนและกังขาต่อกระบวนการสันติภาพที่ริเริ่มด้วยการหยุดก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
ปาตีเมาะ เริ่มต้นด้วยการแจกแจงว่า ปัญหาชายแดนใต้จริงๆ ในมุมมองของผู้หญิงในพื้นที่มีด้วยกัน 5 สาเหตุ คือ 1.แบ่งแยกดินแดน แต่มีคนที่คิดแบบนี้อยู่ประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด 2.เรื่องยาเสพติด เป็นปัญหาประมาณ 30% โดยเฉพาะใบกระท่อม บางครอบครัวภรรยาต้องต้มน้ำใบกระท่อมให้สามีกินเพื่อไม่ให้ออกจากบ้านไปลักขโมยของของคนอื่น ขณะที่บางครอบครัวลูกเห็นพ่อกินใบกระท่อมก็กินตาม ทำให้ยาเสพติดจำพวกนี้ลามถึงเด็กอนุบาล คือได้พบเห็น เกี่ยวข้อง และสัมผัสแทบทุกวัน
3.ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ เหตุรุนแรงบางเหตุ โดยเฉพาะเหตุยิงรายวัน เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้เชื่อมโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบ แต่เจ้าหน้าที่มักสรุปคดีว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะจะได้ไม่ต้องทำงานหนักติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี ขณะที่ประชาชนบางส่วนก็ชอบให้เจ้าหน้าที่สรุปว่าเป็นคดีความมั่นคงเช่นกัน เพราะจะได้รับเงินเยียวยาในอัตราที่สูง เช่น ภรรยารู้ทั้งรู้ว่าสามีขัดแย้งผลประโยชน์หรือไปมีเรื่องกับใครมา แต่เมื่อถูกยิงตายก็มักจะให้เจ้าหน้าที่รีบสรุปสำนวนว่าเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ เพื่อจะได้เงินเยียวยาจากภาครัฐ ดังนั้นสถิติการเสียชีวิตของคนในพื้นที่ที่เป็นคดีความมั่นคงจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะยิงใครหรือฆ่าใครก็ได้ สามารถนำไปโยงเรื่องสร้างสถานการณ์ได้ทั้งสิ้น
4.ปัญหาการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่นิยมเติมน้ำมันตามปั๊ม แต่จะไปใช้น้ำมันจากประเทศมาเลเซียเพราะราคาถูกกว่า จนเกิดการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนอย่างไม่เกรงกลังกฎหมาย และ 5.ปัญหาความไม่เป็นธรรม
"ปัญหาทั้งหมดนี้รัฐแก้แค่เรื่องเดียว คือเรื่องแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นเพียง 20% ของปัญหาในพื้นที่ แต่กลับทุ่มงบประมาณจำนวนมากในเรื่องการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ การจัดซื้ออาวุธ แต่ลืมแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของคน"
ปาตีเมาะ กล่าวต่อว่า ตอนนี้รัฐพยายามบอกว่าการแก้ปัญหาต้องฟังเสียงชาวบ้าน แต่ไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนนำข้อเสนอของชาวบ้านไปแก้ไขจริงๆ เลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวทีที่หน่วยงานรัฐจัดขึ้น คนที่เข้าไปร่วมส่วนใหญ่เป็นคนหน้าเดิมๆ 10-20 เวทีก็วนกันอยู่ไปแบบนี้
ที่ผ่านมามีหลายองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐลงพื้นที่ไปสอบถามชาวบ้านซึ่งเป็นรากหญ้าจริงๆ ปรากฏว่าสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คือ 1.อยากให้รัฐแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด 2.เรื่องการศึกษา เพราะเด็กบางคนเรียนถึงชั้น ป.6 ยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ 3.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 4.ปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม โดยชาวบ้านไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ถามว่าสันติภาพในมุมมองของชาวบ้านคืออะไร ส่วนใหญ่ตอบว่าอยากอยู่อย่างสงบสุข กินอิ่มนอนอุ่นเท่านั้น
นอกจากนั้นยังพบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ มีกฎชุมชนบางแห่งที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้สังคมสงบสุข แต่กลายเป็นกฎที่ลิดรอนสิทธิของผู้หญิง เช่น ผู้หญิงคนใดนั่งซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ผู้ชายที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องก็จะถูกจับแต่งงาน หรือการประกาศผ่านหอกระจายข่าวว่า ถ้าเจอผู้หญิงคนไหนไม่ใส่ฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะ) ออกจากบ้าน จะถูกจับโกนผม อยากถามว่าที่นี่คือประเทศไทย กฎหมายไม่ได้เขียนให้เรื่องแบบนี้เป็นความผิดที่ต้องถูกลงโทษ แล้วมีกฎแบบนี้ได้อย่างไร
"หลายคนบอกว่าสังคมมลายูไม่มีการข่มขืนกัน แต่ความจริงคือผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดจำนวนไม่น้อยถูกข่มขืน หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่สามารถเดินไปที่โรงพักเพื่อแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ เพราะเป็นสิ่งที่ยากมากที่คนในชุมชนจะทำแบบนั้น ส่วนใหญ่จะไปบอกกับผู้ใหญ่บ้านหรือบอกกับผู้นำชุมชน แล้วก็แก้ปัญหาโดยการให้ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายที่ข่มขืนเธอ ปัญหาเหล่านี้มันซ่อนอยู่ ไม่ปรากฏให้ใครได้รับทราบ แต่ผู้หญิงในสามจังหวัดรู้ดี"
ปาตีเมาะ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาหลายปี ชาวบ้านบางคนไม่กล้าไปกรีดยาง เพราะเจอทหารถือปืน เจอคนร้ายถืออาวุธ บางครั้งเห็นเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็เลือกที่จะไม่พูดหรือบอกให้ใครได้รับทราบ เพราะเกรงว่าตนเองจะไม่ปลอดภัย บางครั้งต้องเลิกกรีดยางไปเลยจนเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ปัญหาความตึงเครียดในครอบครัว หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักของครอบครัวที่ชายแดนใต้จริงๆ คือผู้หญิง เพราะเป็นคนที่ไปกรีดยาง เลี้ยงลูก ดังนั้นผู้หญิงคือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรง
"ดิฉันยังไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนที่กำหนดนโยบายแก้ปัญหาเกี่ยวกับผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัด แม้กระทั่งเวทีเจรจาก็ไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้ แต่กลับไปพูดคุยเรื่องการถอนกำลังทหาร เรื่องปัญหาโครงสร้างต่างๆ แต่ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดจริงๆ คือปัญหาสังคม ควรจะแก้จุดนี้ด้วย โดยแก้ตั้งแต่ครอบครัว หากแก้ไม่ได้จะไปแก้ปัญหาระดับชาติก็คงยาก และหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ปัญหาหย่าร้างเพิ่มขึ้นทุกปี"
ปาติเมาะ กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ขณะนี้จะมีหน่วยงานของรัฐออกมาบอกว่ารัฐบาลเป็นที่พึ่งของประชาชน แต่อยากถามจะมีผู้หญิงสักกี่คนที่กล้าก้าวเท้าไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ เพราะแม้แต่รัฐเองเมื่อมีการแจ้งว่าพื้นที่ไหนมีปัญหา ยังไม่กล้าลงพื้นที่ เพราะกลัวอันตราย ขณะที่ชาวบ้านเองก็ไม่กล้าเดินเข้าไปหารัฐ และต้องทนใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอันตราย
"เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมาเกือบ 10 ปี มีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงต้องเสียชีวิตไปแล้ว 393 ราย บาดเจ็บ 1,539 ราย รัฐจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปหรือ" เธอตั้งคำถามทิ้งท้าย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ปาติเมาะ ขณะยืนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังลงจากเวทีเสวนาที่สมาคมนักข่าวฯ ย่านสามเสน กรุงเทพฯ
อ่านประกอบ :
ศูนย์ข่าวอิศราเคยทำสกู๊ปและสัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับ "โศกนาฏกรรมซ้ำซาก" ของตระกูลเปาะอิแตดาโอะไว้หลายชิ้น แต่เนื่องจากมีการปรับหน้าเว็บไซต์และเปลี่ยนยูอาร์แอล ทำให้หาลิงค์งานเก่าไม่ได้ อย่างไรก็ดี ชิ้นงานดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่ออื่นๆ ทั้งสื่อกระแสหลัก และสถาบันการศึกษา จึงขออนุญาตทำลิงค์อ่านประกอบดังนี้
- ตระกูล "เปาะอีแตดาโอะ" กับชะตากรรมผู้ยืนข้างรัฐ
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9490000139402
- ต้องทำเลวใช่ไหมถึงจะไม่ตาย...เสียงจากทายาทเปาะอิแตดาโอะ
http://wbns.oas.psu.ac.th/shownews.php?news_id=76941