- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- ปมลึกมาเลย์ยกฟ้องคดีระเบิด 3 มุสลิมใต้ กับคำให้การต่อต้านรัฐไทย!
ปมลึกมาเลย์ยกฟ้องคดีระเบิด 3 มุสลิมใต้ กับคำให้การต่อต้านรัฐไทย!
เมื่อเร็วๆ นี้ศาลมาเลเซียได้มีคำพิพากษายกฟ้องชายมุสลิม 3 คนจาก จ.นราธิวาส ที่ถูกจับกุมเมื่อ 14 ธ.ค.2552 พร้อมวัตถุระเบิดและอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากในบ้านเช่าแห่งหนึ่งในย่านปาเสมัส รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายคือ นายมูฮัมหมัดซิดี สาและ นายมามะคอยรี สือแบ และ นายมะยูไน เจ๊ะดอเลาะ โดย นายมามะคอยรี เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของทางการไทยในคดีระเบิด ถูกจับกุมในโรงเรียนอิสลามบูรพา จ.นราธิวาส แต่หลบหนีระหว่างต่อสู้คดี ส่วน นายมูฮัมหมัดซิดี มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
คดีนี้จึงถูกจับตามองจากทางการไทย เพราะเชื่อว่าผู้ต้องหา 2 ใน 3 คนเป็นสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบที่รัฐไทยต้องการตัว
25 ก.พ.2553 ศาลมาเจสเตรต ปาเสมัส รัฐกลันตัน นัดไต่สวน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เพราะยังไม่ได้รับเอกสารรายงานเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ของกลาง จึงเลื่อนการไต่สวนออกไป และส่งตัวจำเลยทั้งสามไปขึ้นศาลอาญาที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน
คดีเงียบหายไปนาน กระทั่ง 26 ก.พ.2555 ศาลมีคำพิพากษาในเบื้องต้นว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่า นายมูฮัมหมัดซิดี และ นายมะยูไน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการครอบครองวัตถุระเบิดที่พบ จึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยทั้ง 2 คน
22 พ.ค.2555 ศาลสูงโกตาบารูพิพากษายกฟ้อง นายมามะคอยรี สือแบ เพราะเชื่อคำให้การที่ว่าไปพักกับเพื่อนเพื่อรักษาอาการป่วย ศาลเห็นว่าจำเลยสามารถอ้างพยานหลักฐานหรือสร้างความคลางแคลงใจอย่างมีเหตุผลต่อข้อกล่าวหาของโจทก์ และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิดที่พบในบ้านเช่า
ผลของคดีนี้ทำให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทยต้องขยับตัว เตรียมจับเข่าคุยกับรัฐบาลมาเลย์อย่างเป็นทางการถึงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ของไทยตามที่ทางการมาเลย์เคยรับปาก
แต่การจะก้าวไปสู่จุดนั้น หากได้ย้อนมองถึงปมเหตุที่แท้จริงซึ่งทำให้คดียกฟ้องผ่านเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ฝังตัวอยู่ในโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย และเกาะติดคดีนี้มาตั้งแต่ต้น น่าจะทำให้ทางการไทยประเมินสถานการณ์และกำหนดทิศทางการทำงานได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น....
O ศาลมาเลเซีย ใช้หลักการอะไรในการพิจารณาคดี?
ระบบกฎหมายของมาเลเซียเป็นระบบจารีต ใช้ผสมกับกฎหมายอิสลาม เวลาศาลพิพากษาคดีจะใช้แนวคำพิพากษาที่ศาลเคยวางหลักไว้แล้วในอดีต หลักก็คือว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน ก็ต้องได้รับการปฏิบัติโดยหลักข้อเดียวกัน
กรณีที่เกิดขึ้น (คดี 3 คนไทย) ศาลใช้หลักพิพากษาที่ดีที่สุดแล้ว ศาลไม่จำเป็นต้องเชื่อคำให้การของผู้ถูกกล่าวหา (จำเลย) ว่าเป็นความจริงหรือไม่ แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาสามารถอ้างพยานหลักฐานหรือสร้างความคลางแคลงใจอย่างมีเหตุผลต่อข้อกล่าวหาของโจทก์ ศาลก็จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา (จำเลย) ไป
ประเด็นข้อกฎหมายและระบบยุติธรรม ความจริงก็คือประเทศไทยเราใช้ระบบหนึ่ง มาเลเซียใช้อีกระบบหนึ่ง พอนำมาเปรียบเทียบกันก็จะเห็นความแตกต่าง เช่น ทางการมาเลเซียสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้นานกว่า บางกรณีควบคุมไปเรื่อยๆ ก็ได้ ไม่ต้องนำตัวไปขึ้นศาล ขณะที่ของไทยยังมีข้อจำกัด
คดีนี้ในทางเทคนิคการรวบรวมพยานหลักฐาน เจ้าหน้าที่ทำมาดี เช่น กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ การตรวจดีเอ็นเอในบ้านพัก แต่ไม่พบของผู้ต้องหา พบแค่แปรงสีฟัน ซึ่งเขาอ้างว่ามาพักกับเพื่อนเพื่อรักษาอาการป่วย เพราะทุกคนย่อมต้องการการรักษาที่ดีที่สุดและปลอดภัย จำเลยสามารถรวบรวมรายงานทางการแพทย์ พร้อมนำนายแพทย์ผู้รักษาเขามายืนยันต่อศาลได้
ที่สำคัญการที่เขาสารภาพต่อศาลว่าเป็นผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลไทย ซึ่งส่งผลดีต่อเขาในประเด็นที่ศาลกำลังพิจารณา ทำให้ศาลมองว่าจำเลยคนนี้พูดความจริง แม้ว่าการสารภาพจะส่งผลลบกับตัวเอง แต่กลับสามารถทำให้ศาลเห็นว่าข้อกล่าวหามีความน่าคลางแคลงใจ ส่วนประเด็นพบระเบิดจำนวนมากที่บ้านเช่าแทบไม่ได้เป็นประเด็นที่ศาลพิจารณาเลย ของกลางทั้งหมดก็ส่งคืนให้ตำรวจไป
O ทำไมถึงไม่มีการขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย?
ส่งไม่ได้ เพราะเราไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับมาเลเซีย จริงอยู่ไทยกับมาเลเซียเคยมีสนธิสัญญาณส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่นั่นทำขึ้นในสมัยที่มาเลเซียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อมาเลเซียเป็นเอกราช เขาไม่ได้สืบสิทธิ์ต่อ ไทยจึงไม่สามารถขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ เมื่อผู้ต้องหากระทำผิดในมาเลเซีย ก็ต้องขึ้นศาลมาเลเซียจนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมของมาเลเซีย ไทยจึงจะสามารถเข้าไปดำเนินการต่อได้ นั่นคือการปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐานปกติ
แต่มันก็มีข้อสังเกต คือหากศาลลงโทษ เขาก็จะได้รับโทษนั้นไป แต่กรณีนี้ศาลยกฟ้อง ให้ปล่อยตัวตามขั้นตอน เขาก็ต้องถูกส่งกลับโดยผ่าน ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) แล้วเจ้าหน้าที่จะแจ้งไปยังสถานกงสุลไทยว่ามีคนไทยได้รับการปล่อยตัวแล้ว ให้ไปรับตัว ทางสถานกงสุลก็จะออกหนังสือซีไอให้ (หมายถึงหนังสือสำคัญประจำตัว หรือ Certificate of Identity) หลังจากนั้นจึงส่งให้กับเจ้าหน้าที่ ตม.ไทย
แต่มันมีข้อสังเกตคือ กรณีของ 2 คนแรกที่ศาลยกฟ้อง (นายมูฮัมหมัดซิดี สาและ กับ นายมะยูไน เจ๊ะดอเลาะ ) ไม่ได้ทำตามขั้นตอน แต่ถูกนำไปปล่อยตัวที่สะพานเลย ส่วนคนที่ 3 ก็คล้ายๆ กัน คือไม่ได้แจ้งไปยังสถานกงสุลฯ ทำให้ตอนนี้เราก็ไม่รู้ว่าทั้ง 3 คนนั้นอยู่ที่ไหน
กรณีของคนที่ 3 (นายมามะกอยรี สือแบ) เนื่องจากจำเลยถูกดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองด้วย เมื่อศาลพิพากษาให้ปล่อยตัว ตำรวจมาเลย์ก็เข้าควบคุมตัว เพราะถือว่าเป็นคนเถื่อน ไม่มีหนังสือเดินทาง ในทางปฏิบัติระหว่างประเทศคือต้องส่งฟ้องศาล เพื่อให้ศาลสั่งส่งตัวกลับ โดยระหว่างที่จะส่งตัวกลับประเทศต้นทาง ต้องส่งตัวไปยังศูนย์กักกันตรวจคนเข้าเมือง และก่อนจะปล่อยตัวก็ต้องพิสูจน์สัญชาติ แจ้งไปยังสถานกงสุล แล้วทางสถานกงสุลก็จะออกบัตรซีไอให้ หากเป็นคนสัญชาติไทย
เช่นเดียวกัน หากคนมาเลเซียถูกจับในไทยในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ไทยก็ต้องส่งตัวไปยังศูนย์กักกัน แล้วประสานไปยังสถานทูตมาเลเซีย ตามระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติต้องเป็นอย่างนี้ แต่ลักษณะของ 3 คนไทยที่ศาลมาเลย์ยกฟ้อง ผมก็ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะทางสถานกงสุลไม่ได้รับการติดต่อเลย ไม่รู้ว่าถูกส่งไปที่ไหน จึงเกิดความคลางแคลงใจว่าความสัมพันธ์ไม่ดีหรือเปล่า มาเลเซียจริงใจหรือเปล่าที่จะร่วมมือแก้ปัญหากับไทย
O ผลของคดีเป็นแบบนี้จะเป็นตัวอย่างให้กับผู้ก่อเหตุรุนแรงรายอื่นๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่?
ผมมองว่าคดีนี้เป็นคดีร้ายแรง เรากล่าวหาทั้ง 3 คนว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ใช้มาเลเซียเป็นฐาน แม้ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีหลักฐาน แต่คดีนี้เรามีหลักฐาน และเป็นหลักฐานอย่างดีที่สุด แต่เมื่อคดียกฟ้อง ก็ต้องเป็นเรื่องของกฎหมาย
O ปฏิกิริยาของคนมาเลเซียมองคดีนี้อย่างไรบ้าง?
สื่อในมาเลเซียก็ลงตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลได้อ่านคำพิพากษา (ว่าจำเลยสามารถสร้างความคลางแคลงใจต่อข้อกล่าวหาของโจทก์ได้) ส่วนคนมาเลย์ทั่วๆไปก็เห็นเป็นเรื่องปกติ ยอมรับคำตัดสินของศาล
O เมื่อเร็วๆ นี้มีความเคลื่อนไหวเรื่องเครือข่ายร้านต้มยำกุ้ง ทาง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) พยายามเข้าไปดูแล ล่าสุดเป็นอย่างไร?
หลายๆ ครั้งเราจะได้ยินว่ากลุ่มต้มยำกุ้งไทยในมาเลย์มีส่วนสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ แต่ต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นแค่ข้อกล่าวหา ต้องระมัดระวังให้มาก จริงๆ คนที่ไปทำร้านหรือไปทำงานในร้าน ปัญหาพื้นฐานก็คือตำแหน่งกุ๊กในมาเลเซียจะต้องมีใบอนุญาตทำงาน (เวิร์ค เพอร์มิต) แต่เท่าที่ทราบกันก็คือเข้าไปโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ทำให้อยู่ได้ไม่นาน บางคนก็เข้าไปด้วยบอร์เดอร์พาส (บัตรผ่านแดน ซึ่งใช้ผ่านแดนชั่วคราว) สำหรับการดูแลล่าสุดเราก็ดูแลตามโครงการที่ ศอ.บต.ทำร่วมกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย คือให้กู้เงินไปทำงาน ไปทำเวิร์ค เพอร์มิต ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องลักลอบ เรื่องนี้รัฐบาลพยายามช่วยคนไทยที่ไปทำงานในมาเลย์
ที่ผ่านมามีปัญหาข้อกฎหมายอีกอย่างหนึ่งคือ คนที่เป็นพนักงานเสิร์ฟซึ่งได้เงินเดือนไม่มาก เวลาไปทำเวิร์ค เพอร์มิต เขาคิดในอัตรากุ๊ก ปีหนึ่งหลายหมื่นบาท ก็ไม่คุ้ม ทีนี้ทางการไทยก็ช่วยให้เจ้าของกิจการที่มีใบอนุญาตอยู่แล้ว มาขอใบอนุญาตทำงานของพนักงานในร้านให้ถูกกฎหมาย ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไปได้ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นประเด็นเหมือนที่สื่อบางแขนงลง ที่ว่าเป็นเรื่องส่งผลกระทบต่อความมั่นคง นั่นอาจจะมองในแง่ลบมากเกินไป พยายามโยงในสิ่งที่มันไม่มีหลักฐาน ซึ่งไม่ควรเขียนแบบนั้น
O ตอนนี้ที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเรื่องพูดคุยสันติภาพ ความเคลื่อนไหวทางฝั่งมาเลย์เป็นอย่างไรบ้าง?
เข้าใจว่าในระดับนโยบาย สมช.(สภาความมั่นคงแห่งชาติ) จะเป็นคนทำเรื่องนี้ โดยยึดตามแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา (นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557) จะเห็นว่ามีการส่งเสริมการพูดคุยสันติภาพ แต่เท่าที่ทราบยังไม่มีในเรื่องนี้ชัดเจนในมาเลย์ ก็ทราบจากสื่อมวลชนเหมือนกัน แต่ถ้าดูจากนโยบายแล้ว ก็น่าจะมีการพูดคุยกันจริง ถามว่าแนวโน้มจะสำเร็จหรือไม่ ผมคิดว่ามันมีปัจจัยประกอบมาก เช่น คนที่เราไปคุยถือว่าถูกคนหรือเปล่า และใครที่เป็นคนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัด
ที่ผ่านมาก็มีเอ็นจีโอและสำนักข่าวหลายแห่งของต่างประเทศพยายามเข้ามาทำข่าวประเด็นสืบสวนอยู่เหมือนกันว่าใครอยู่เบื้องหลังปัญหาชายแดนใต้ และมีความพยายามต่อสายพูดคุย แต่จริงๆ มันมีหลายมิติที่อยู่ในนั้น จะสำเร็จหรือไม่ผมก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าพูดคุยอยู่กับใคร หรือมีการพูดคุยจริงหรือไม่ แต่ผมเห็นด้วยกับแนวทางการเจรจา แนวทางการใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สามคนไทยระหว่างถูกนำตัวขึ้นศาลมาเลย์ (ภาพจากแฟ้มภาพ โดย แวลีเมาะ ปูซู)
อ่านประกอบ :
1 ศาลเลื่อนไต่สวนคดี 3 คนไทยถูกมาเลย์รวบพร้อมระเบิด
http://www.isranews.org/south-news/Other-news/28-2009-11-14-06-19-24/1401-3.html