เปิด 4 ปัจจัยรัฐ"จำกัดวง"ไฟใต้...เข้าใกล้สันติสุขหรือรอวันปะทุ?
เหลียวดูปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยามนี้ ต้องยอมรับว่าตกจากหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันและข่าวนำของวิทยุโทรทัศน์สถานีต่างๆ ไปนานพอสมควร และหากว่ากันตามจริงจะเรียกว่าแทบจะหลุดจากความสนใจของผู้คนในสังคมไทยไปเลยก็ว่าได้ (ยกเว้นข่าวความคืบหน้าเรื่องพูดคุยเจรจา)
สาเหตุสำคัญก็เพราะไม่มีข่าวคราวความรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นเลยตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว นับถึงวันนี้ก็ร่วม 2 เดือนเต็ม!
ขณะที่เดือน พ.ย.ก็มีสถิติการก่อเหตุระเบิดค่อนข้างน้อย แต่ยังมีเหตุยิงรายวันที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ทั้งประชาชนทั่วไป ครู ไม่เว้นแม้แต่นักเรียน
สถิติเหตุรุนแรงเดือน พ.ย.57 เฉพาะที่สรุปแล้วว่าเป็นเหตุความมั่นคง (เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มก่อความไม่สงบ) มีระเบิด 8 เหตุการณ์ ลอบยิง 9 เหตุการณ์ วางเพลิง 1 เหตุการณ์ ก่อกวน 15 เหตุการณ์ และอื่นๆ 2 เหตุการณ์ รวมเป็น 35 เหตุการณ์เท่านั้น แต่มียอดผู้เสียชีวิต 34 ราย บาดเจ็บ 40 ราย
ตัวเลขมีทิศทางลดลงจากเดือน ต.ค.57 ที่มีเหตุรุนแรงรวม 39 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 17 เหตุการณ์ ระเบิด 8 เหตุการณ์ ก่อกวน 8 เหตุการณ์ และลอบวางเพลิง 6 เหตุการณ์ แต่มียอดสูญเสียน้อยกว่า คือ เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 23 ราย
ส่วนเดือน ธ.ค.ไม่ต้องพูดถึง เงียบเกือบทั้งเดือน สอดรับกับข้อมูลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่ระบุว่าในห้วงเวลาตั้งแต่เดือน ต.ค.ถึง ธ.ค.57 เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 185 เหตุการณ์ น้อยกว่าห้วงเวลาเดียวกันของปี 56 ถึง 241 เหตุการณ์ (ปี 56 มีเหตุรุนแรง 426 เหตุการณ์) คิดเป็นร้อยละ 56.57
ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บห้วงเดือน ต.ค.ถึง ธ.ค.57 มีจำนวน 180 ราย (แยกเป็นเสียชีวิต 83 ราย บาดเจ็บ 97 ราย) น้อยกว่าห้วงเวลาเดียวกันของปี 56 ถึง 176 ราย คิดเป็นร้อยละ 49.4 (ปี 56 ห้วงเดียวกันมียอดเจ็บ-ตาย 356 ราย แยกเป็นเสียชีวิต 138 ราย บาดเจ็บ 218 ราย)
หลายคนพยายามชี้ว่าอาจเป็นเพราะภาวะน้ำท่วมใหญ่ในเดือน ธ.ค.57 ทว่าขณะนี้ข้ามปีใหม่เข้าสู่เดือน ม.ค.58 แล้ว น้ำก็ลดไปนานแล้ว สถานการณ์ก็ยังดูนิ่งๆ ทรงๆ มีเหตุระเบิดจะๆ เพียง 2 ครั้ง ที่เหลือเป็นลอบยิงเจ้าหน้าที่และฐานปฏิบัติการทหาร ตำรวจ
คำถามที่หลายคนให้ความสนใจก็คือ ทำไมสถานการณ์ ณ ดินแดนปลายด้ามขวานจึงดูดีขึ้น คำตอบที่รวบรวมมาได้แยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.การปรับนโยบายดับไฟใต้ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกองทัพภาคที่ 4 กับ 2.การริเริ่มกระบวนการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐรอบใหม่ เพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ดี ในวันนี้จะขอเจาะลึกเฉพาะการปรับนโยบายดับไฟใต้ก่อน ซึ่งรวมๆ แล้วมีอยู่ 4 ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น
1.การปรับกำลังในพื้นที่โดยใช้กองกำลังประจำถิ่นมากขึ้น กล่าวคือ ลดกำลังพลจากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ลงเหลือเพียง 5 กองพันในปัจจุบัน แล้วเน้นใช้กำลังจากกองทัพภาคที่ 4 และกำลังทหารพรานที่มีถึง 12 กรมทหารพราน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในสามจังหวัดที่คุ้นเคยพื้นที่อยู่แล้ว เข้าไปคุมสถานการณ์แทน
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลหรือกองทัพลดกำลังพลในพื้นที่ลง เพราะเมื่อพิจารณาจากอัตรากำลังของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ประจำปี 2558 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 30 ธ.ค.57 จะพบว่าอัตรากำลังไม่ได้ลดลง โดยมีกำลังพลรวม 70,738 นาย เพิ่มขึ้นจาก 6 หมื่นเศษเมื่อหลายปีก่อนด้วยซ้ำ ซึ่งอัตรากำลังในปัจจุบัน เฉพาะในส่วนกองกำลังก็อยู่ที่ 61,221 นายแล้ว แยกเป็น ทหาร 32,958 นาย ตำรวจ 18,583 นาย และอาสารักษาดินแดน (อส.) 9,680 นาย
แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ "การปรับกำลังใหม่" ดึงภาคประชาชนเข้ามาร่วมดูแลพื้นที่ใน "ภารกิจเชิงรับ" ตามแนวทางของ "ทุ่งยางแดงโมเดล" จึงสามารถใช้กำลังทหารหลักและทหารพรานที่มีอยู่กดดันพื้นที่รอบนอกได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ตั้งชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน หรือ "ชป.กร." ในระดับกองพันที่เกาะติดพื้นที่อยู่แล้ว เข้าไปทำความเข้าใจและปฏิบัติการทางจิตวิทยาในระดับหมู่บ้าน ซึ่งส่งผลทางอ้อมเป็นการจำกัดเสรีของฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ด้วย ทั้งหมดทำให้โอกาสในการก่อเหตุรุนแรงลดลง
2.โครงการพัฒนาโดนใจประชาชนในพื้นที่มากขึ้น จากการปรับวิธีการบริหาร ใช้หลักการบูรณาการแผนงานและงบประมาณของทุกหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) เป็นเจ้าภาพ และมีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นฝ่ายเลขาฯ เพื่อกำหนดโครงการพัฒนาจาก "ล่างขึ้นบน" หรือ bottom-up แทนแบบ "บนลงล่าง" หรือ top-down ที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ดังที่ทำอยู่เดิม
3.การเข้าถึงพื้นที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 นำโดย พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 มีการเปิดเวทีพูดคุยรับฟังความคิดเห็นแบบรายจังหวัดและรายอำเภออย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสานต่อโครงการพาคนกลับบ้าน ชักชวนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือกลุ่มติดอาวุธ ทั้งที่มีคดีความและไม่มีคดีความให้วางอาวุธและเข้ารายงานตัวเพื่อต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
ยอดผู้เข้ารายงานตัว ณ สิ้นปีงบประมาณ 57 มีจำนวนถึง 1,129 คน ในจำนวนนี้ทางการได้ปลด "หมาย ฉฉ." หรือหมายจับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ไปแล้ว 681 คน ทั้งนี้ไม่รวมหมายจับในคดีอาญา จนสามารถลดความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนลงได้ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ขั้นตอนต่อไปยังมีแนวคิดในเรื่องของการ "นิรโทษกรรม" ซึ่งไม่ใช่แนวทางตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ซึ่งทดลองใช้มาระยะหนึ่งแล้วแต่ไม่ประสบผลเป็นที่น่าพอใจ ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐให้ยอมวางอาวุธเข้ารายงานตัวกับทางราชการได้อย่างมีนัยสำคัญ
4.มาตรการด้านการข่าวที่ดีขึ้น ชี้เป้าหมายได้ชัดเจน แม่นยำ ประกอบกับ "ชุดเครื่องมือพิเศษ" ที่ใช้เทคนิคพิเศษในการติดตามตัวกลุ่มเป้าหมาย ประสบผลสำเร็จเกินคาด ทำให้ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมมีประสิทธิภาพ ได้ตัวผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา และตัวการสำคัญจำนวนมาก หรือบางกรณีที่มีการยิงปะทะ ฝ่ายรัฐก็สูญเสียน้อย
จากสถิติของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ห้วงเดือน ต.ค.ถึง ธ.ค.57 มีปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมถึง 21 ครั้ง มีผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 4 ราย ควบคุมตัวและออกหมายจับได้ 77 ราย ตรวจยึดอาวุธปืนได้จำนวนมาก ทั้งยังสามารถตรวจยึดค่ายพักของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ 3 แห่ง ตรวจยึดอุปกรณ์ที่สามารถนำไปประกอบระเบิดได้ 20 ลูก
ทั้ง 4 ปัจจัยที่กล่าวมาทำให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงให้อยู่ในวงจำกัด และลดสถิติการก่อเหตุความไม่สงบได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ต้องการลดระดับสิ่งที่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งลง 4 ด้าน ได้แก่ จัดการกองกำลังนอกแถว, ลดการใช้กฎหมายพิเศษ, จัดการผู้มีอิทธิพล ภัยแทรกซ้อน อาวุธสงคราม และลดการใช้กำลังทหารในการดูแลพื้นที่
สิ่งที่ยังเป็นข้อสังเกตก็คือ นี่เป็นการใช้ปฏิบัติการทางทหารกดดันและจำกัดเสรีของฝ่ายตรงข้ามที่ได้ผล ประกอบกับจังหวะเวลาของสถานการณ์ที่ผ่าน 10 ปีมาแล้ว ยังมองไม่เห็นวี่แววของการแบ่งแยกดินแดนได้สำเร็จ ทำให้แนวร่วมรุ่นแรกๆ เริ่มเหนื่อยล้าและถอดใจ...
ทว่าบรรยากาศของความเกลียดชัง การปล่อยข่าวบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ และความเข้าอกเข้าใจต่อกลุ่มขบวนการของชาวบ้านในพื้นที่ทั้งที่เป็นมวลชนของขบวนการและไม่ได้เป็นมวลชนยังมีอยู่เหมือนเดิม
เช่นเดียวกับการบ่มเพาะและเผยแพร่แนวคิดต่อต้านรัฐ รวมทั้งการฝึกรบแบบจรยุทธ์ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยที่ภาครัฐยังไม่รุกแนวรบด้านนี้อย่างจริงจัง พูดได้ว่า "สงครามเอาชนะทางความคิด" อย่างแท้จริงยังไม่เกิด
ความสำเร็จของการลดสถิติเหตุรุนแรงในวันนี้ จึงยังไม่อาจพูดได้ว่าดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังขยับเข้าใกล้สันติสุข เพราะเชื้อไฟแห่งความรุนแรงยังไม่ได้มอดดับ แต่ยังพร้อมปะทุขึ้นอีกทุกเวลา!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การทำงานของ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 คือหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้นในช่วงนี้
ขอบคุณ : ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้