การฆ่าแบบ"ด้อยค่าเหยื่อ"ที่ชายแดนใต้ โจทย์ใหญ่ย้อนไปที่"การบ่มเพาะความคิด"
ปี 2557 นับเป็นปีที่ 11 ของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา แม้รัฐจะผ่านประสบการณ์การแก้ไขปัญหามานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนผลสัมฤทธิ์ยังไม่ดีขึ้นมากนัก
โดยเฉพาะปี 2557 เป็นปีที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์และเป้าหมายอ่อนแอ เช่น เด็ก ผู้หญิง คนชรา พระ ครู และผู้นำศาสนา ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งบุคลากรทางสาธารณสุขที่เคยถูกกระทำน้อยมาก แต่ปีนี้โดนไปแล้วถึง 2 ครั้ง
ได้แก่ เหตุการณ์สังหารนักวิชาการสาธารณสุขตั้งท้อง 2 เดือนที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ขณะที่เพื่อนอีกคนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อ 29 เม.ย. และเหตุยิงนักศึกษาสาว 2 คนจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ยะลา ใน อ.ยะหา จ.ยะลา เสียชีวิตทั้งคู่ เมื่อวันที่ 9 ก.ค.
ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นกลางตลาดนัดในเวลากลางวันแสกๆ อย่างไม่สนใจสายตาประชาชนนับสิบนับร้อยคู่ที่จ้องมอง!
ยิ่งในช่วงเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมซึ่งเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 29 มิ.ย. เหตุร้ายดูจะเพิ่มความถี่มากขึ้น และเพิ่มดีกรีความโหดร้ายยิ่งขึ้น โดยเหยื่อความรุนแรงหากไม่นับเหตุยิงถล่มรถรองผู้กำกับการ สภ.กรงปินัง จ.ยะลา เสียชีวิต 3 นายแล้ว เกือบทั้งหมดที่เหลือล้วนเป็นเป้าหมายอ่อนแอ!
รอมฎอนยิ่งเดือด
แถลงการณ์ประณามความรุนแรงที่กระทำของเด็กและสตรีของ "มูลนิธิผสานวัฒนธรรม" กับ "กลุ่มด้วยใจ" ระบุว่า ครึ่งแรกของเดือนรอมฎอน ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.จนถึงวันที่ 12 ก.ค. มีผู้หญิงถูกยิงเสียชีวิตแล้ว 4 ราย คือ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. (นางสมใจ ไชยเอียด อายุ 37 ปี พนักงานห้างไดอาน่า สาขาปัตตานี) 5 ก.ค. (นางจิราพร วัฒนถือธรรม วัย 50 ปีเจ้าของร้านชำใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา) และวันที่ 9 ก.ค. (นักศึกษาวิทยาลัยการสาธารณสุขฯ 2 คน)
นอกจากนั้นยังมีผู้หญิงได้รับบาดเจ็บจากเหตุกราดยิงเมื่อวันที่ 8 ก.ค. (ยิงถล่มรถสองแถวสายนิคมกือลอง-ยะลา) อีก 5 คน
แถลงการณ์ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ กลุ่มด้วยใจ ระบุว่า ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธ และผู้หญิงที่เสียชีวิตทั้งหมดเป็นชาวไทยพุทธ!
ส่วนเหตุการณ์ลอบวางระเบิดทหารหลัก ทหารพราน และตำรวจ ตลอดจนทำลายทรัพย์สินของทางราชการและบ้านเรือนร้านค้าของพี่น้องประชาชนก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
4 ปัจจัยไฟใต้โชน
คำถาม คือ ไฟใต้ถูกโหมให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้งเพราะอะไร? คำตอบเท่าที่ประมวลได้จากฝ่ายต่างๆ มีดังนี้
1.เรื่องความเชื่อ ที่มีการปลูกฝังความคิดยึดโยงกับหลักศาสนาว่า การตายในเดือนเดือนรอมฎอนได้บุญมากกว่าเดือนอื่นๆ กลุ่มแนวร่วมที่เชื่อในอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนและจับอาวุธต่อสู้กับรัฐไทย จึงออกปฏิบัติการอย่างกว้างขวาง
2.กรณียิงบิดาของโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านท่าม่วง ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. แม้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พยายามชี้แจงว่าเป็นการกระทำของคนร้ายที่ต้องการยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แต่พลาดไปโดนบิดาของโต๊ะอิหม่ามจนเสียชีวิตก็ตาม ทว่ามีการนำเหตุการณ์นี้ไปปลุกระดมให้กลุ่มแนวร่วมที่เป็นวัยรุ่นออกมาปฏิบัติการล้างแค้น โดยประเด็นนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงในส่วนกลางให้น้ำหนักค่อนข้างมาก
3.การท้าทายอำนาจทหารหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง เมื่อ 22 พ.ค. และมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ โดยให้ฝ่ายทหารและ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นองค์กรนำทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และการกำหนดทิศทางการใช้จ่ายงบประมาณ
โดยเฉพาะการตั้ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก (รองผบ.ทบ.) และเลขาธิการ คสช. เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เท่ากับว่ากำหนดให้ทหารรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้แบบเต็มรูปแบบ จึงท้าทายให้กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนปฏิบัติการตอบโต้
4.กรณีการปรับทิศทางกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่ คสช.เปลี่ยนชื่อเป็น "กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้" และมีการให้ข่าวจากผู้เกี่ยวข้องทำนองว่า จะไม่มีการพูดคุยเรื่องการปกครองตนเอง หรือปกครองพิเศษ
การส่งสัญญาณดังกล่าวของฝ่ายรัฐ ส่งผลสะเทือนค่อนข้างแรง ทำให้ทั้งกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทั้งฝ่ายที่อยากพูดคุยและไม่อยากพูดคุย ไม่พอใจ ฝ่ายที่อยากพูดคุยก็เสียหน้าที่รัฐไทยส่งสัญญาณแบบนี้ เพราะถ้าไม่คุยเรื่องรูปแบบการปกครองตนเองแบบพิเศษ ก็ไม่รู้จะคุยอะไร เนื่องจากได้ลงนามไปแล้วในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูคคุยสันติภาพ เมื่อ 28 ก.พ.56 ว่าจะไม่มีการแยกดินแดนตั้งรัฐใหม่ หรือเรียกร้องเอกราช
ที่ผ่านมากลุ่มขบวนการใน "สายพิราบ" ก็พยายามทำความเข้าใจกับ "สายใช้ความรุนแรง" จนมีบางปีกพร้อมเข้าสู่โต๊ะเจรจา แต่เมื่อรัฐส่งสัญญาณแบบนี้ ก็เท่ากับการพูดคุยจะเกิดยากขึ้น
ขณะที่ฝ่ายที่ไม่อยากพูดคุยก็ชัดเจนว่าเสียงดังขึ้นมา เพราะเคยปรามาสเอาไว้แล้วว่า รัฐไทย (ซีแย) ไม่เคยจริงใจ
ทั้ง 2 มุม 2 แนวคิดจึงถูกบีบให้เหลือเพียงทางเดียว คือ ก่อความรุนแรง ด้านหนึ่งก็เพื่อความสะใจ อีกด้านหนึ่งก็เพื่อกดดันให้รีบเปิดโต๊ะพูดคุยในเงื่อนไขใหม่ที่ฝ่ายขบวนการยังคงความได้เปรียบ
"บ่มเพาะความคิด"คือต้นตอ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะพบว่า แท้ที่จริงแล้วเหตุปัจจัยในข้อที่ 1 เป็นสาเหตุของข้ออื่นๆ ที่เหลือทุกข้อ โดยเฉพาะข้อ 2 กับข้อ 3
เพราะการอ้างว่าต้องการแก้แค้นให้กับผู้สูญเสียในเหตุการณ์หนึ่ง โดยไม่สนใจสาเหตุที่แท้จริง แล้วไปกระทำรุนแรงกับคนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ เช่น ผู้หญิง เด็ก ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือพระ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มี "ความเชื่อ" บางอย่าง และ "ความเกลียดชัง" อย่างรุนแรงฝังหัวอยู่
เช่นเดียวกัน การฆ่าทหาร ตำรวจ โดยไม่สนใจวิธีการและสถานที่ เช่น วางระเบิดไว้ใต้ม้านั่งหินอ่อนในโรงเรียนที่มีเด็กๆ นับร้อยเรียนหนังสืออยู่ หรือซุกระเบิดไว้ใต้ม้าหินแล้วจุดระเบิดขณะที่กำลังพลกำลังล้อมวงกินข้าว เรื่องแบบนี้ถ้าไม่ได้มีความจงเกลียดจงชังหรือแค้นเคืองอย่างเต็มพิกัด คงตัดสินใจกดจุดชนวนระเบิดไม่ได้ (แน่นอนว่าบางเหตุการณ์เป็นการแก้แค้นตอบโต้กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับพวกของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในภาวะสงคราม)
โจทย์ไฟใต้ ณ ปี 2557 จึงย้อนกลับไปจุดเดิมเหมือนเมื่อปี 2547 คือ "การบ่มเพาะความคิดความเชื่อ" ซึ่งดูเหมือนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการแก้ไขน้อยมาก
ฆ่าได้กระทั่งคนแก่-พิการ
ลองย้อนๆไปดูเบื้องหลังของเหตุรุนแรงอีกบางเหตุการณ์ จะยิ่งตระหนักว่า "การบ่มเพาะความคิดความเชื่อ" คือปัญหาใหญ่ที่สุดของสถานการณ์ที่ชายแดนใต้จริงๆ
21 มิ.ย.57 คนร้ายยิง ลุงเชย กับป้าเพ็ญ ไกรแก้ว สองสามีภรรยาวัยเกือบ 60 ปี เสียชีวิตที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี โดยเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้นที่อำเภอเดียวกันนี้เพิ่งมีการจัดพิธีทำบุญร้อยวันให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงเข้าใส่พระสงฆ์และชาวบ้านขณะกำลังตักบาตร คนที่สูญเสียมีทั้งพระ หญิงชรา และเด็ก
15 มิ.ย.57 คนร้ายยิงถล่มร้านขายของชำริมถนนในพื้นที่ ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทำให้ เกศนี ร่มเกศแก้ว อายุ 44 ปี เสียชีวิต และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 2 คน
เกศนีเป็นโปลิโอตั้งแต่เด็กๆ แต่เธอไม่ท้อกับชีวิต รับจ้างทำงานทุกอย่าง แม้แต่รับถอนผมหงอกให้ชาวบ้านแลกเงิน
คำถามคือ ผู้กระทำรุนแรงในเหตุการณ์เหล่านั้น ถูกปลูกฝังอะไรถึงได้โหดร้ายขนาดฆ่าพระ คนแก่ เด็ก ผู้หญิง หรือแม้แต่คนพิการได้อย่างไม่ลังเล
การฆ่าแบบ "ด้อยค่าเหยื่อ"
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เคยอธิบายเรื่องนี้เอาไว้ในรายงานสรุปสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดทำโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระบุตอนหนึ่งว่า จากบทเรียนของความขัดแย้งถือว่าเป็นการ "ด้อยค่าเหยื่อ" ไม่ให้อยู่ในฐานะเดียวกันกับพวกตนเอง โดยพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีวาทกรรมซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตซ้ำ ดังนี้
- การเรียกคนไทยพุทธทั้งในและนอกพื้นที่ว่า "ซีแย" และเรียกไทยมุสลิมว่า "นายู" เพื่อสื่อให้เห็นถึงการเป็นพวกเดียวกันของชนชาติที่มารุกราน (สยาม หรือ ซีแย) และยึดครองรัฐปาตานีในอดีต มีการใช้การปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณกวาดล้างคนของรัฐปาตานี ซึ่งก็คือบรรพบุรุษของคนในพื้นที่ปัจจุบัน หรือ "พวกนายู" นั่นเอง
- การปลูกฝังแนวความคิดเรื่องรัฐปัตตานีเป็นดารุลฮัรบ์ (หรือ ดารุลฮัรบี หมายถึง ดินแดนสงคราม) ที่ชาวมุสลิมทุกคนในประเทศ (ชาวมลายูปัตตานี) ต้องทำญิฮาด (ต่อสู้) ถือว่าเป็น "ฟัรดูอีน" (ศาสนบัญญัติ ภาคบังคับ) หรือ "วายิบ" (สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ หากละเลยถือว่าบาป) อันเป็นผลมาจากการนำข้อมูลบางส่วนของประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงเข้ากับหลักศาสนา เพื่อให้เกิดแรงศรัทธาและความชอบธรรมในการต่อสู้ตามวิถีที่ได้บัญญัติในศาสนา ฯลฯ
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง สื่อ และคนไทยจำนวนมากประณามผู้ก่อเหตุว่าเป็นโจรชั่ว ต่ำช้า แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาแชร์ภาพในโซเชียลมีเดียในบริบทของวีรบุรุษ เช่น ภาพการละศีลอดในป่า (รับประทานอาหารมื้อแรกหลังถือศีลอดมาตลอดวัน) ซึ่งมีเพียงข้าวบนใบตอง กับแกงในกะลา และข้อความทำนองว่า ใครจะว่าพวกเขาเลวก็ไม่เป็นไร แต่เขาขอเป็นคนดีในสายตาคนฟาฏอนี (ปัตตานี) ก็เพียงพอ
เราจะหาทางแก้ปัญหานี้อย่างไร นอกเหนือจากการด่าประณามที่ไม่ได้ส่งผลดีอะไรขึ้นมาเลย...
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สองนักศึกษาสาววิทยาลัยการสาธารณสุขฯ ถูกยิงเสียชีวิตกลางตลาดนัดกลางวันแสกๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถือเป็นบรรยากาศและความรุนแรงที่น่าวิตกที่ชายแดนใต้
หมายเหตุ : ใช้เทคนิคพรางภาพ
อ่านประกอบ : แบกึ๋น กอ.รมน.แจงรากเหง้าไฟใต้ เงื่อนไข"ชนกลุ่มน้อย" - "ธุรกิจเถื่อน"แหล่งทุน
http://www.isranews.org/south-news/academic-arena/item/30941-reason_30941.html