ความยุติธรรมกับราคาชีวิต "ทนายสมชาย - จ่าเพียร" และ "อับดุลเลาะห์ อาบุคารี"
ถึงนาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ความอยุติธรรม" ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศไทยไปแล้ว ซ้ำยังเป็นต้นตอของอีกหลายๆ ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรมทางการเมือง คดีความต่างๆ รวมถึงความอยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่อง กับดินแดนปลายสุดด้ามขวานซึ่งสะท้อนถึงปัญหา "ความยุติธรรม" อย่างแจ่มชัดถึง 2 เรื่องด้วยกัน
หนึ่งคือ คดีการหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งนับถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว
สองคือ การเสียชีวิตของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเพิ่งครบรอบ 1 ปีไปเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมานี้เอง
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง "พ.ต.ต.เงิน" คดีอุ้มทนายสมชาย
เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มี.ค.2554 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 และนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย และลูกๆ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีตสารวัตรกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (อดีต สว.กอ.รมน.) ช่วยราชการกองบังคับการปราบปราม, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อายุ 42 ปี อดีตพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม, จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อายุ 40 ปี อดีตผู้บังคับหมู่งานสืบสวน แผนก 4 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 38 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อายุ 45 ปี อดีตรองผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย จากกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย เมื่อปี 2547
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก พ.ต.ต.เงิน เป็นเวลา 3 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย และให้ยกฟ้องจำเลยคนอื่น
ทั้งนี้ ในวันอ่านคำพิพากษา จำเลยที่ 2-5 เดินทางมาศาล ส่วนจำเลยที่ 1 หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา (พ.ต.ต.เงิน หายตัวไปจากอุบัติเหตุโคลนถล่มที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เมื่อปี 2551) ศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว พร้อมสั่งปรับนายประกัน 1.5 ล้านบาท
ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลแถลงว่า คดีนี้นายประกันได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งปรับนายประกันจำนวน 1.5 ล้านบาท โดยโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลบหนี แต่เป็นบุคคลสาบสูญ จึงแยกสำนวนส่งให้ศาลอุทธรณ์เพื่อมีคำสั่งต่อไป
จากนั้นศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศาลได้ประชุมตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2-4 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลพิเคราะห์แล้วได้ข้อเท็จจริงว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.วันที่ 12 มี.ค.2547 นายสมชาย นีละไพจิตร ได้ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค สีเขียว ทะเบียน ภง 6768 กรุงเทพมหานคร ไปพบเพื่อนที่โรงแรมชาลีน่า ย่านรามคำแหง 65 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
ต่อมาเวลาประมาณ 20.15 น. นายสมชายได้ออกจากโรงแรมเพื่อไปพักกับเพื่อนที่อยู่บริเวณแยกลำสาลี จากนั้นนายสมชายได้หายตัวไป โดยวันรุ่งขึ้นพบรถยนต์ซีวิคของนายสมชายจอดอยู่ที่สถานีขนส่งหมอชิต
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวบพยานหลักฐานการใช้โทรศัพท์จนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ซึ่งทั้งหมดได้เข้ามอบตัวและให้การปฏิเสธ แต่คำเบิกความของพยานจำนวน 3 ปากให้การว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน เห็นรถยนต์เก๋งสองคันจอดอยู่ริมถนนรามคำแหง จากนั้นมีบุคคล 3-5 คนฉุดกระชากนายสมชายขึ้นรถเก๋งคันหลังไป แต่ไม่เห็นใบหน้าชัดเจน ประกอบกับเอกสารการใช้โทรศัพท์ติดต่อของจำเลยที่ 2-5 คนที่ได้มาจากบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเป็นเพียงสำเนา ไม่อาจใช้รับฟังในชั้นศาลได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ให้พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่ 2-5 ตามศาลชั้นต้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นให้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยอุทธรณ์ไว้ว่าไม่มีพยานเห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน แม้ปรากฏว่ามีแสงไฟจากเสาไฟฟ้ามองเห็นสลัวได้ในระยะประมาณ 10 เมตร รวมทั้งแสงไฟจากริมรั้วบ้าน และแสงไฟจากรถยนต์ที่สัญจรไปมา แต่พยานให้การว่าเห็นชาย 3-5 คน ผลักดันชายอายุประมาณ 50 ปี รูปร่างไม่สูงใหญ่ สวมเสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวให้ขึ้นรถเก๋ง แต่พยานให้การว่ามองเห็นจากด้านข้าง รูปร่างคล้ายจำเลยที่ 1 อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นจำเลยที่ 1 คำให้การของพยานยังสับสน จึงมีเหตุความสงสัยตามสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่ 1 อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 แต่คดีนี้ศาลได้ออกหมายจับจำเลยไว้แล้ว จึงให้ออกหมายขังจำเลยที่ 1 ไว้ระหว่างฎีกา
หลังฟังคำพิพากษา นางอังคณา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และจะยื่นฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อไป
คดีทนายสมชายกับกรณีคนหายซ้ำซ้อน
ความยืดเยื้อยาวนานของคดีการหายตัวไปของทนายสมชายนั้น ทำให้มีคดีเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้อีกหลายคดี และที่น่าตกใจก็คือ ทุกคดียังล้วนเป็นปริศนา!
เริ่มจากกรณี พ.ต.ต.เงิน ทองสุข จำเลยคนเดียวในคดีทนายสมชายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ปรากฏว่าระหว่างประกันตัวสู้คดีในศาลอุทธรณ์ พ.ต.ต.เงิน ซึ่งมีข่าวระบุว่าไปช่วยญาติทำกิจการก่อสร้างที่ จ.พิษณุโลก นั้น ได้ถูกกระแสน้ำและดินถล่มพัดหายสาบสูญที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เมื่อกลางเดือน ก.ย.2551 กระทั่งขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดพบศพหรือพบ พ.ต.ต.เงิน อีกเลย
ต่อมา วันที่ 11 ธ.ค.2552 นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี วัย 25 ปี พยานปากสำคัญในคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนซึ่งมีตำรวจหลายนายตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ได้หายตัวไปอย่างลึกลับหลังเดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลฮารีรายอที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทั้งๆ ที่อยู่ในกระบวนการคุ้มครองพยานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ
คดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 นั้น เป็นคดีที่ทนายสมชายรับว่าความก่อนถูกอุ้มหาย ด้วยเหตุนี้การหายตัวไปของนายอับดุลเลาะห์จึงมีผลโดยตรงต่อคดีซ้อมผู้ต้องหาคดีปล้นปืน และส่งผลโดยอ้อมต่อคดีการหายตัวไปของทนายสมชายด้วย
ต่อมาวันที่ 22 ธ.ค.2553 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไม่รับคำร้องกล่าวหา พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รองผบช.ก.) กับพวกรวม 19 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกลั่นแกล้งและทำร้ายร่างกาย นายมะกะตา ฮารง กับพวก ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันปล้นอาวุธปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 โดยเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ
และคดีนี้เองที่ อับดุลเลาะห์ เป็นพยานปากสำคัญ แต่เขาก็หายตัวไปแล้ว...
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์อัดรัฐล้มเหลว
หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีทนายสมชาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "เจ็ดปีรัฐล้มเหลวไม่สามารถนำคนอุ้มสมชายมาลงโทษ รัฐต้องตอบญาติ สังคมไทยและเวทีโลก ใครอุ้มทนายสมชาย"
แถลงการณ์ระบุตอนหนึ่งว่า คดีทนายสมชายเป็นคดีที่สาธารณชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจำเลยจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายแล้ว คดีนี้ยังความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่วิจารณ์กันว่าคดีลักษณะนี้ผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมักลอยนวล โดยที่กฎหมายไทยไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้
คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ตอกย้ำข้อวิจารณ์ดังกล่าวและเป็นการยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพหรือปกป้องเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดให้ลอยนวล (Impunity) ทั้งยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการที่เพียงพอในการนำผู้กระทำผิดโดยบังคับให้บุคคลสูญหายมาลงโทษได้ เนื่องจากไม่มีข้อหาการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญาในกฎหมายไทย นอกจากนั้นกระบวนการยุติธรรมของไทยยังไม่ยอมรับว่าการบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือ Enforced Disappearances หรือการอุ้มหาย อุ้มฆ่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
ฉะนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นพนักงานสอบสวนและอัยการเพื่อแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดแต่ลอยนวล ทั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย หรือ International Convention for the Protection of all persons from Enforced Disappearance อันจะนำมาซึ่งการตราบทบัญญัติในกฎหมายอาญาว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการกระทำผิดทางอาญา
การปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญาจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐาน ทั้งทางกฎหมาย การบริหารงานตุลาการ และด้านการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองและยุติการบังคับให้บุคคลสูญหายในประเทศไทย
เวทีโลกจับตาไทย 57 คดีคนหาย คลี่คลายแค่ 3 คดี
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2554 นางอังคณา นีละไพจิตร ในฐานะประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Justice for Peace Foundation) ในนามคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists–ICJ) ได้แถลงด้วยวาจาระหว่างการเสนอรายงานร่วมของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ หรือ Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance และคณะทำงานด้านการควบคุมตัวตามอำเภอใจ หรือ Working Group on Arbitrary Detention ขององค์การสหประชาชาติ ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นครเจนีวา (Human Rights Council)
โดยนางอังคณาได้เรียกร้องให้คณะทำงานฯร่วมมือกับรัฐบาลไทยยุติการควบคุมตัวตามอำเภอใจ และให้ความกระจ่างถึงชะตากรรมของบรรดาผู้ถูกบังคับให้สูญหาย โดยให้รัฐบาลไทยตอบรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของคณะทำงานของสหประชาชาติ
ทั้งนี้ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในการประชุมครั้งที่ 10 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลได้แสดงความยินดีต่อรัฐบาลไทยในการให้การรับรองว่าผู้กระทำผิดในการทำให้ทนายสมชายสูญหายจะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่จนปัจจุบันยังไม่มีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมที่จะหาตัวผู้รับผิดชอบต่อการสูญหายของทนายสมชาย ในขณะที่ครอบครัวยังต้องเผชิญกับการข่มขู่ คุกคาม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จะมีการอ่านคำพิพากษา
นางอังคณายังกล่าวถึงกรณีผู้สูญหายอื่นๆ ในประเทศไทยด้วยว่า คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติได้รับกรณีผู้สูญหาย 57 กรณีและได้ส่งคำถามถึงรัฐบาลไทย พบว่ามี 54 กรณีของผู้สูญหายรวมถึงคดีทนายสมชายที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย
นอกจากนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลยังได้แสดงความกังวลเรื่องการควบคุมตัวประชาชนตามอำเภอใจภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในประเทศไทย โดยกล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้ได้กัดกร่อนหลักนิติธรรมและหลักกฎหมายของประเทศไทย รวมถึงยังเป็นการส่งสัญญาณการขยายขอบเขตอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวประชาชน โดยอนุญาตให้สามารถควบคุมตัวบุคคลได้ตามอำเภอใจ ซึ่งขัดแย้งกับมาตรา 9 ของกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
โอกาสนี้ ดร.เจรามี ซาร์กิน ประธานคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ ยังได้แถลงเรียกร้องให้รัฐต่างๆ พัฒนาให้มีกฎหมายภายในรัฐต่างๆ กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม รวมทั้งการรับรองสิทธิของเหยื่อและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะทราบความจริง สิทธิในความยุติธรรม และสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาด้วย
ในขณะที่ประธานคณะทำงานด้านการควบคุมตัวตามอำเภอใจของสหประชาชาติได้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยตอบรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของคณะทำงานฯเพื่อตรวจสอบสถานการณ์การควบคุมตัวบุคคลโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายและกติกาสากลระหว่างประเทศ
ราคาชีวิต "สมเพียร" แค่ตัดเงินเดือน
ช่วงเดียวกับที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีทนายสมชาย การตายของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา ก็เวียนมาบรรจบครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 12 มี.ค.
วันเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว พ.ต.อ.สมเพียร (ยศในขณะนั้น) ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดจนเสียชีวิตที่บ้านทับช้าง หมู่ 2 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา ขณะออกตรวจพื้นที่และเยี่ยมเยียนชาวบ้าน
การเสียชีวิตของนายตำรวจวัยใกล้เกษียณผู้นี้ตกเป็นข่าวครึกโครม เนื่องจากก่อนหน้านั้นเพียง 17 วัน คือเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2553 พ.ต.อ.สมเพียร เพิ่งเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากไม่ได้รับการพิจารณาให้โยกย้ายออกจากพื้นที่ สภ.บันนังสตา ไปเป็นผู้กำกับการ สภ.กันตัง จ.ตรัง ตามที่ขอกับทางผู้บังคับบัญชาเอาไว้เพื่อพักผ่อนในช่วง 18 เดือนสุดท้ายของชีวิตราชการ หลังจากปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักมาตลอด 40 ปี โดยเฉพาะการรับผิดชอบพื้นที่สีแดงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การตายของ พล.ต.อ.สมเพียร กลายเป็นภาพสะท้อนปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอันเละเทะ เต็มไปด้วยเส้นสาย พวกพ้อง และผลประโยชน์ จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาคนรับผิดชอบ ขณะที่ พล.ต.อ.สมเพียร เจ้าของฉายา "จ่าเพียรขาเหล็ก" ได้รับการยกย่องเป็น "วีรบุรุษ" มีการเชิดชูวีรกรรมความกล้าหาญผ่านสื่อแขนงต่างๆ มากมาย กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติคิดจะสร้างอนุสาวรีย์ให้เลยทีเดียว
ทว่าเมื่อหนึ่งปีผ่านพ้นไป ครอบครัวของ พล.ต.อ.สมเพียร จัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ "จ่าเพียรขาเหล็ก" ที่วัดคลองเปล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยไร้เงานักการเมือง คนในรัฐบาล และผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกเว้น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร.เท่านั้นที่เดินทางไปร่วมพิธีด้วยตนเอง
ส่วนการสอบสวนเพื่อหา "ผู้รับผิดชอบ" ต่อการตายในหน้าที่ครั้งนี้ ผ่านไปแล้ว 1 ปียังไม่มีผู้ใดต้องรับผิด ข่าวคราวล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว คณะกรรมการตรวจสอบชี้มูลเบื้องต้นสรุปผลการสอบสวนให้ลงโทษผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้าย โดยโทษสูงสุดคือ "ตัดเงินเดือน" และโทษสถานเบาสุดคือ "ตักเตือน"
นี่คือราคาชีวิตของตำรวจนายหนึ่งซึ่งไม่แตกต่างจากทนายมุสลิมอีกคนหนึ่งกับเด็กหนุ่มจากชายแดนใต้ที่เป็นพยานในคดีของเขา!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ซ้าย- ทนายสมชาย ขวา- พล.ต.อ.สมเพียร