เปิดแผนยุทธการ "ปิเหล็ง 2" ไส้ศึกชี้เป้าถล่มฐาน-ปล้นปืน!
ทีมเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจจุดเกิดเหตุพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุการณ์นี้เหมือนเป็น "ปิเหล็ง 2"
ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน วันที่ 4 ม.ค.2547 เกิดเหตุคนร้ายหลายสิบคน (ข่าวบางกระแสเชื่อว่าน่าจะมีเป็นร้อยคน) บุกโจมตีกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส สังหารทหารที่เข้าเวรไป 4-5 นาย และปล้นอาวุธปืนไปทั้งหมด 413 กระบอก
ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 คนในพื้นที่เรียกกันติดปากว่า "ค่ายปิเหล็ง" และเหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นปฐมบทความรุนแรงรอบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นำมาสู่การก่อเหตุร้ายรายวัน ทั้งลอบยิง วางเพลิง วางระเบิด จนมีผู้สังเวยชีวิตไปแล้วถึง 4,370 ราย
7 ปีเศษต่อมา เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 เกิดเหตุคนร้ายบุกโจมตีฐานทหารและปล้นปืนล็อตใหญ่ซ้ำอีก แม้ขนาดและความสำคัญของทหารกับจำนวนอาวุธปืนจะไม่สาหัสเท่าเมื่อครั้ง "ปิเหล็ง 1" แต่เมื่อพิจารณาจากแผนยุทธการของคนร้าย ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือปฏิบัติการ "ปิเหล็ง 2"
โดยเฉพาะข้อสันนิษฐานที่ว่ามี "ไส้ศึก" หรือ "หนอนบ่อนไส้" คอยชี้เป้าให้โจรบุกปล้นค่าย!
ทหารสังกัด ร้อย ร.15121 ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ถูกบุกโจมตี เล่าให้ฟังว่า คนร้ายแต่งกายด้วยชุดลายพราง มีผ้าพันคอและโพกศีรษะด้วยผ้าสีแดง ปฏิบัติการครั้งนี้คนร้ายรู้ตำแหน่งของเป้าหมายเป็นอย่างดี รู้รูปแบบการวางกำลงรวมทั้งจุดสำคัญๆ ภายในที่ตั้ง แม้กระทั่งตำแหน่งที่ ผบ.ร้อย (ร.อ.กฤช คัมภีรญาณ ผู้บังคับกองร้อยทหารราบ 15121 ซึ่งเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ) ทำงานอยู่ คนร้ายก็ยังสามารถโจมตีได้อย่างตรงจุดพอดี
"เชื่อว่าการโจมตีครั้งนี้มีคนข้างในรู้เห็นเป็นใจ" ทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ ฟันธง
สำหรับแผนประทุษกรรม ฝ่ายคนร้ายได้แบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุด กำลังชุดแรกประมาณ 10 คน ฉวยจังหวะหลังกำลังพลเพิ่งรับประทานอาหารเย็นเสร็จ ใช้อาวุธปืนยิงก่อกวนบริเวณหน้าฐานใกล้กับถนนสายระแงะ-มะรือโบตก ทำให้กำลังทหารภายในฐานทั้งหมดระดมกันมาช่วยยิงตอบโต้ด้านหน้า
จากนั้นคนร้ายชุดที่ 2 และ 3 อีกประมาณ 20 คน ได้บุกทะลวงเข้าด้านหลังฐาน ใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงเปิดทาง และวิ่งผ่านรั้วสนามโดยใช้ไม้กระดานวางพาดเป็นสะพาน
เมื่อบุกเข้าไปในฐานได้แล้ว คนร้ายได้ใช้อาวุธปืนกราดยิงทหาร วางเพลิงเผาโรงเรือนแบบน็อคดาวน์ 4 หลัง รถจักรยานยนต์ 1 คัน และงัดโรงเรือนที่ดัดแปลงเป็นคลังอาวุธประจำฐาน ชิงอาวุธปืนไปประมาณ 50 กระบอก ทั้งเอ็ม 16 ปืนพกขนาด 11 ม.ม. เครื่องกระสุนหลายพันนัด และข่าวบางกระแสระบุว่าคนร้ายได้ปืนกลเบา เอ็ม 60 ไปด้วย
ฐานปฏิบัติการแห่งนี้ หากใช้เส้นทางจากตัวอำเภอระแงะ เข้าถนนด้านข้าง สภ.ระแงะ ประมาณ 7-8 กิโลเมตร จะเจอสามแยกปาฮงดารอ จากจุดนี้เลี้ยวซ้ายสามารถทะลุสายเอเซีย (ถนนสายใหญ่ระหว่างจังหวัด) ได้ จากสามแยกดังกล่าวตรงไปอีกประมาณ 50 เมตรก็จะถึงฐานปฏิบัติการ ร้อย ร.15121 จากหน้าฐานตรงไปอีกจะเข้า อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส สภาพโดยรอบฐานเป็นป่า จากด้านหน้าเดินเท้าประมาณ 10 กิโลเมตรจะเป็นภูเขากูจิงลือปะ ส่วนด้านหลังเป็นเทือกเขาบูโด
อาวุธที่คนร้ายใช้ปฏิบัติการ จากการเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุพบว่ามีเครื่องยิงลูกระเบิดแบบ เอ็ม 79 รวมอยู่ด้วย!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษภาคใต้ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กล่าวว่า คนร้ายปฏิบัติการได้ขนาดนี้ แสดงว่าต้องมี "ไส้ศึก" อย่างแน่นอน ประกอบกับรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาละเลยโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีศูนย์สั่งการอยู่ในส่วนกลาง ซึ่งเป็นโครงการที่เสนอมานานแล้ว แต่กลับมีการทุจริตและถูกคัดค้านจากบางหน่วยจนโครงการต้องล้มไป
"ถ้ามีระบบกล้องวงจรปิดที่ดีและกระจายทั่วพื้นที่ คนร้ายจะไม่สามารถรวมคนมาก่อเหตุได้มากขนาดนี้ สงครามในภาคใต้ไม่ใช่สงครามตามแบบ แต่เป็นสงครามนอกแบบ แม้กองทัพจะพยายามปรับยุทธวิธีโดยใช้สงครามกองโจรเข้าสู่ แต่เราก็ทำสงครามกองโจรแบบตั้งรับ ทั้งยังไปตั้งรับในพื้นที่อิทธิพลของศัตรู จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและสูญเสียตลอดมา" พล.ท.นันทเดช ระบุ
ในความเห็นของอดีตบิ๊ก ศรภ.รายนี้ ฟันเปรี้ยงว่า ได้เวลาที่กองทัพจะต้องปรับยุทธวิธีครั้งใหญ่แบบยกเครื่อง ต้องเลิกการจัดวางกำลังแบบตั้งฐานที่มั่นกระจายในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของศัตรู เพราะทำให้เสียเปรียบ ไม่ได้กุมการริเริ่ม แค่ไปรักษาพื้นที่ เฝ้ายาม แถมยังสลับกำลังกันทุกๆ 6 เดือนอีก แนวทางที่ถูกต้องคือต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าต่อสู้กับกลุ่มโจร
“ต้องไม่ลืมว่าผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ไม่ได้ตั้งเป็นกองกำลังหรือมีฐานที่มั่นชัดเจน แต่เป็นคนปกติที่ในเวลาปกติก็ทำมาหากินไป พวกเขาต่อสู้เพราะความคับแค้นจากความอยุติธรรมเหมือนที่เกิดกรณีกรือเซะ ตากใบ บางคนอาจจะเป็นคนขับรถรับส่งนักเรียน หรือขับรถให้เจ้าหน้าที่ด้วยซ้ำ แต่พอเวลาเกิดเหตุ ทหารตำรวจก็เอาบัญชีรายชื่อผู้ต้องสงสัยที่ตัวเองมีมากาง แล้วก็ไปตามจับ ซึ่งมันไม่มีทางถูกตัว และยังสร้างเงื่อนไขมากขึ้นไปอีก”
“ทางเดียวที่จะจัดการปัญหานี้ได้คือใช้วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปสู้ เช่น วางระบบกล้องวงจรปิดที่มีศูนย์มอนิเตอร์และสั่งการจากกรุงเทพฯ มีระบบไฟฟ้าสำรองทุกค่าย ทุกฐาน ใช้ระบบดักฟังโทรศัพท์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น เรื่องแบบนี้ได้เวลาคิดและทำได้แล้ว มิฉะนั้นสถานการณ์ในภาคใต้จะยืดเยื้อไม่มีวันจบ และจะมีความสูญเสียเกิดขึ้นเรื่อยๆ” พล.ท.นันทเดช กล่าว
เหตุการณ์ "ปิเหล็ง 1" เมื่อ 7 ปีก่อนได้นำพาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ภาวะสงครามก่อความไม่สงบที่คร่า ชีวิตผู้คนไปกว่า 4 พันคน หลังจากนี้ต้องจับตาว่าเหตุการณ์ "ปิเหล็ง 2" จะเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ที่เลวร้ายลงไปอีกหรือไม่!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนที่แสดงจุดเกิดเหตุและการเข้าตีฐานทหาร ร้อย ร.15121 ของกลุ่มคนร้าย เมื่อค่ำวันที่ 19 ม.ค.2554
ขอบคุณ : แผนที่โดยทีมกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ