เปิดมติเยียวยาใต้ "สะบ้าย้อย-ตากใบ" 7.5 ล้าน กรือเซะ 4 ล้าน ตายรายวัน 5 แสน
ในที่สุดคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุดที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ก็ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มแรกแล้ว พร้อมปรับหลักเกณฑ์การเยียวยาสำหรับผู้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจากเหตุร้ายรายวันด้วย
การประชุมคณะกรรมการเยียวยาฯ มีขึ้นที่โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี พล.ต.อ.ประชา เป็นประธานการประชุม ทั้งยังมี นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งทางด้านการเงินและคุณภาพชีวิต เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ ในวาระการพิจารณาขออนุมัติเงินให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 3 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์กรือเซะ (วันที่ 28 เม.ย.2547) เหตุการณ์สะบ้าย้อย (วันที่ 28 เม.ย.2547) และเหตุการณ์ตากใบ (สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาสน เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547) ที่ประชุมมีมติดังนี้
1.กรณีเหตุการณ์ตากใบซึ่งมีผู้เสียชีวิต 85 ราย จะได้รับการเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท ส่วนกรณีที่มีการเยียวยาไปแล้ว 42 ราย รายละประมาณ 3-4 แสนบาทก่อนหน้านี้ ให้นำมาหักจากจำนวน 7.5 ล้านบาท โดยจะหักเป็นเงินสดงวดแรกที่จ่ายให้
2.เหตุการณ์ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 19 ราย (ทีมฟุตบอลเยาวชนบ้านสุโสะ) จะได้รับการเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท
3.เหตุการณ์กรือเซะ (ในมัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธหนักยิงถล่มเข้าไป) ที่มีผู้เสียชีวิต 32 ราย จะได้รับเงินเยียวยารายละ 4 ล้านบาท
ส่วนการพิจารณากรณีการสูญหายของบุคคลทั้งหมด 24 ราย แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ยังไม่สรุปการสูญหายมี 12 ราย และ 2.กลุ่มที่สรุปการสูญหายแล้ว 21 ราย บวก 1 ราย คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่ประชุมมีมติออกเป็น 2 กรณี คือ
1.กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าการสูญหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เช่น เชิญตัวไปสอบสวนแล้วหายตัวไป จะได้รับการเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท
2. กรณีที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าหายตัวไปจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จะได้รับการ เยียวยารายละ 4 ล้านบาท
ส่วนการเยียวยากรณีพิเศษคือ ทนายสมชาย ซึ่งหายตัวไปในขณะที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากเรื่องยังอยู่ในชั้นศาล ที่ประชุมโดย พล.ต.อ.ประชา มีมติให้ได้รับการเยียวยา 7.5 ล้านบาท
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้สรุปกาอบเยียวยาสำหรับประชาชนผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จากเดิมที่ได้รับการเยียวยาจำนวน 1 แสนบาทกรณีเสียชีวิต และ 8 หมื่นบาทกรณีทุพพลภาพ ให้ปรับเป็น 5 แสนบาท
เปิดมติที่ประชุมเยียวยาใต้ "สะบ้าย้อย-ตากใบ" ได้ 7.5 ล้าน
ภายหลังการประชุมที่หาดใหญ่ "ทีมข่าวอิศรา" ได้รับเอกสารสรุปมติที่ประชุมของคณะกรรมการเยียวยาฯ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 5/2555 จึงขอหยิบมานำเสนออย่างละเอียด เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญและได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในพื้นที่
มติที่ประชุมสรุปได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชน
มติ : เห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชน
- กรณีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากเดิม 100,000 บาท เพิ่มเป็น 500,000 บาท
- กรณีทุพพลภาพ จากเดิม 80,000 บาท เพิ่มเป็น 500,000 บาท
ทั้งนี้ ให้มีผลสำหรับผู้ได้รับผลกระทบถึงเสียชีวิตหรือทุพพลภาพตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเป็นต้นไป และนอกจากนั้นให้ย้อนหลังครอบคลุมไปถึงผู้เสียชีวิตและผู้ทุพพลภาพตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 ด้วย
สำหรับส่วนที่ให้มีผลย้อนหลังนี้จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นไม่ช้ากว่าปีงบประมาณ 2555–2558 เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในปีหนึ่งปีใดเกินสมควร และให้นำจำนวนเงินที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วมาหักออกจากจำนวนเต็มที่จะพึงได้รับด้วย
ประเด็นที่ 2 เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547
- กรณีมัสยิดกรือเซะ ที่ประชุมเห็นว่าด้วยคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ในมัสยิดกรือเซะ (ที่มี นายสุจินดา ยงสุนทร เป็นประธาน) ได้มีความเห็นว่า สมควรเสนอแนะมาตรการเร่งด่วนขั้นแรก คือ รัฐควรพิจารณาจ่ายเงินค่าช่วยเหลือให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิตและแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายโดยอาศัยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก อีกทั้งเป็นการตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล การจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยในการเยียวยาและสมานแผลที่เกิดจากเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ และอาจเป็นก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์
นอกจากนั้นแล้วน่าจะนำความพึงพอใจได้บางส่วนมาสู่บุคคล องค์การ และนานาประเทศที่กำลังจ้องมองประเทศไทยว่าจะจัดการอย่างไรกับเหตุการณ์ดังกล่าว และย่อมส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีนานาชาติว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นธรรมและมนุษยธรรม
ที่ประชุมจึงมีมติเห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 ที่มัสยิดกรือเซะ ทั้งผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำนวน 500,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษเพื่อช่วยเหลือตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 (ระเบียบ กพต.) อีก 3,500,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของเพดานเงินที่จ่ายได้ตามระเบียบดังกล่าว) รวมสองจำนวนเป็นเงินรายละ 4,000,000 บาท (ครอบคลุมประชาชนที่เสียชีวิต 32 ราย เจ้าหน้าที่ 3 ราย)
- กรณีสะบ้าย้อย ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่ากรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 500,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษเพื่อช่วยเหลือตามระเบียบ กพต.อีก 7,000,000 บาท รวมสองจำนวนเป็นเงินรายละ 7,500,000 บาท (ครอบคลุมผู้เสียชีวิต 19 ราย)
ประเด็นที่ 3 เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรณีตากใบ (สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อ 25 ต.ค.2547)
ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่ากรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ที่ อ.ตากใบ เห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 500,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษเพื่อช่วยเหลือตามระเบียบ กพต.อีก 7,000,000 บาท รวมสองจำนวนเป็นเงินรายละ 7,500,000 บาท (ครอบคลุมผู้เสียชีวิต 85 ราย)
สำหรับผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาไปบ้างแล้ว ให้นำจำนวนเงินที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วหักออกจากจำนวนเต็มที่จะพึงได้รับด้วย
ประเด็นที่ 4 กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร สูญหาย และมีหลักฐานชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องโดยตรงในเหตุการณ์และมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมเห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวน 7,500,000 บาท ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิทายาทที่จะใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมในศาลยุติธรรมต่อไป
ประเด็นที่ 5 กรณีผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ที่ประชุมเห็นสมควรให้ความช่วยเหลือเยียวยาดังนี้
- ในกรณีสูญหายโดยมีข้อมูลน่าเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้อง ที่ประชุมเห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวน 7,500,000 บาท
- ในกรณีสูญหายซึ่งมีข้อมูลชั้นต้นว่าอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้อง ที่ประชุมเห็นสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวน 4,000,000 บาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนวิธีอื่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต เป็นผู้พิจารณาจำแนกข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี
สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาตามมติที่ประชุมวันที่ 10 มิ.ย.2555 มิได้หมายความว่าจะไม่ได้รับการพิจารณา แต่คณะกรรมการเยียวยาฯและอนุกรรมการทุกชุดจะเร่งพิจารณาในโอกาสต่อไป
ศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้องเพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายเหยื่อตากใบ
เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบจำนวน 34 คน ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา และศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ผู้ร้องจึงได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่า ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าศาลจังหวัดสงขลารับคดีไว้และทำการพิจารณาพิพากษาไปแล้ว ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องต่อศาลอาญา ซึ่งกรณีเช่นนี้ศาลอาญาไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีก เป็นการต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2535 มาตรา 15 ที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องรวม 34 คนฟังไม่ขึ้น ให้ยกคำร้อง
อนึ่ง คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งในสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือคดีไต่สวนการตาย กรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมจากบริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยใช้วิธีให้ถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง แล้วนำขึ้นรถยีเอ็มซีในลักษณะนอนเรียงซ้อนกันจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 78 ราย
ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 78 คนเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ กฎหมายระบุเอาไว้ว่าคำสั่งศาลในสำนวนไต่สวนการตายให้ถือเป็นที่สุด
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การประชุมคณะกรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา