รัฐแจงหลักเกณฑ์จ่ายเยียวยาไฟใต้ แย้ม "ตากใบ-คนหาย-สะบ้าย้อย" มีลุ้น 7.5 ล้าน!
ภายหลัง "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับปัญหาความสับสนเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนทำให้มีเหยื่อความรุนแรงและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุร้ายรายวันออกมาเรียกร้องเงินช่วยเหลือเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาทกันเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตามหลักเกณฑ์ที่ปรากฏเป็นข่าวออกมาเป็นระยะ น่าจะไม่มีผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มใดได้รับเงินเยียวยาสูงถึง 7.5 ล้านบาทนั้น
ล่าสุด "ทีมข่าวอิศรา" ได้รับเอกสารจากหนึ่งในคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุดที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน โดยเป็นเอกสารหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะใช้เป็นกรอบในการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาฯ รวมทั้งอนุกรรมการทั้ง 8 ชุดที่จะประชุมกันในวันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย.นี้ ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ด้วย
ทั้งนี้ รายละเอียดในเอกสารหลักเกณฑ์เยียวยา ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการช่วยเหลือเยียวยาว่า เพื่อให้ผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ โดยจะแยกการเยียวยาออกเป็นด้านคุณภาพชีวิตและด้านการเงิน ได้แก่
ก.กรณีคุณภาพชีวิตให้อยู่ในสังคมอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย
1.การรักษาพยาบาลทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการส่งต่อฟื้นฟูผู้พิการหรือฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
2.การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์
3.การเยียวยาทางด้านจิตวิญญาณ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ไปประกอบพิธีฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนาอื่น
4.การให้สิทธิในการเข้ารับการศึกษาของตนเองหรือทายาท
5.การสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการศึกษาอย่างต่อเนื่องตามสมควร
6.การช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายด้านทรัพย์สิน
7.การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือการช่วยเหลือด้านที่ทำกิน หรือการส่งเสริมการประกอบอาชีพ
8.การได้รับการเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มสหวิชาชีพ
9.การส่งเสริมการสร้างกลุ่มและการรวมกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบเพื่อดูแลซึ่งกันและกัน
10.การได้รับความช่วยเหลือให้มีความปลอดภัย หรือมีส่วนร่วมในการจัดระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก
11.การคุ้มครองป้องกันจากการถูกปองร้าย
12.การจัดตั้งสถานพยาบาลเฉพาะทาง หรือสถาบันส่งเสริมการศึกษา เยียวยาฟื้นฟูผู้พิการในจังหวัดชายแดนภาคใต้
13.การช่วยเหลือเยียวยาด้านกฏหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
14.ค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน การเข้าถึงความเป็นธรรม
15.การช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเยียวยาฯพิจารณาเห็นสมควร
ข.กรณีการช่วยเหลือด้านการเงิน มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1.การช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูที่เป็นตัวเงิน จะจ่ายจำนวนรายละเท่าใดนั้นเป็นไปตามที่คณะกรรมการฯกำหนดจากผลการสำรวจความเดือดร้อน ความทุกข์ และความต้องการรายบุคลและรายครอบครัวของผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ โดยการจ่ายจะเป็นไปตามมติของคณะกรรมการเยียวยาชุดใหญ่
2.กรณีการจ่ายไม่เกิน 7.5 ล้านบาท ได้แก่ การเสียชีวิตหรือทุพพลภาพที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามเอกสารระบุว่าหมายถึงกรณีตากใบ (เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547), เหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 (เหตุการณ์กรือเซะ), การบังคับให้สูญหาย หรือการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิ์อื่น หรือเกิดจากการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงที่คณะกรรมการพิจารณาช่วยเลือเยียวยาเป็นเฉพาะกรณี ซึ่งตามเอกสารยกตัวอย่างเอาไว้ เช่น กรณีเจ้าหน้าที่รัฐมีคำสั่งให้ปกป้องคุ้มครอง แต่ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่อาจคุ้มครองได้ เป็นเหตุให้สูญเสียจำนวนมาก ฯลฯ
ทั้งนี้ การช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ให้คณะกรรมการเยียวยาฯ นำหลักเกณฑ์การเยียวยาของ กพต.มาใช้ (หมายถึงระเบียบ กพต. หรือระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ่ายไม่เกิน 7.5 ล้านบาท)
เผยที่มาตัวเลข 7.5 ล้านบาท
อนึ่ง สำหรับตัวเลข "7.5 ล้านบาท" เป็นตัวเลขการช่วยเหลือเยียวยามาตรฐานเดียวกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมืองที่รัฐบาลจ่ายล็อตแรกไปแล้ว ซึ่งก็ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายถึงที่มาของตัวเลขว่าคิดจากหลักเกณฑ์ใด
นอกจากนั้น ตัวเลข 7.5 ล้านบาทยังเป็นมาตรฐานเดียวกับการช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบ กพต.ซึ่งจ่ายเยียวยาอัตราเดียวกันนี้กรณีเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นมา (นับตั้งแต่ 1 ต.ค.2554)
โดยผู้เสียหายกลุ่มแรกที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาทตามระเบียบ กพต.คือ กรณีทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพที่ ต.ปุโลปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.2555 โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเงินไปจ่ายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้เอง (จ่ายทันทีหลังเกิดเหตุ 5 แสนบาท ส่วนอีก 7 ล้านบาท จ่ายเป็นเช็คเงินสด 3 ล้านบาท อีก 4 ล้านบาทจ่ายเป็นพันธบัตรรัฐบาลปีละ 1 ล้านบาท รวม 4 ปี)
"ตากใบ-สะบ้าย้อย-คนหาย" ลุ้น 7.5 ล้าน
แหล่งข่าวจากกรรมการเยียวยาชุดใหญ่ เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า จากการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนการประชุมใหญ่อนุกรรมการ 8 ชุดในวันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย.มีข้อสรุปเบื้องต้นว่า กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่จะได้เงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.กรณีตากใบ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 85 ราย จะได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท แต่ต้องหักจากเงินช่วยเหลือเยียวยาและค่าชดเชยที่ศาลแพ่งสั่งจ่ายตามสัญญาประนีประนอมยอมความกับทางกองทัพที่ญาติผู้สูญเสียได้รับไปแล้ว
2.กรณีสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 หรือที่รู้จักกันดีในนาม "เหตุการณ์กรือเซะ" โดยมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นกระจายกัน 11 จุด โดยคณะกรรมการเยียวยาฯเห็นว่า กรณีสะบ้าย้อยค่อนข้างชัดว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเจ้าหน้าที่กระทำการเกินกว่าเหตุ โดยผู้เสียชีวิตเป็นเยาวชนทีมฟุตบอลบ้านสุโสะ ซึ่งเคยเป็นข่าวครึกโครม
3.กรณีบังคับให้สูญหาย (ถูกอุ้มหาย-อุ้มฆ่า) แต่ยังไม่ชัดว่ามีเหตุการณ์ใดบ้าง และจะรวมกรณี ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2547 หลังการรับเป็นทนายความสู้คดีให้กับผู้ต้องหาคดีปล้นปืนที่อ้างว่าถูกซ้อมทรมาน
สำหรับจำนวนเหยื่อถูกบังคับให้สูญหายที่มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้รวบรวมเอาไว้ และเพิ่งจัดทำรายงานเผยแพร่ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เฉพาะกรณีชายแดนภาคใต้ 33 ราย
มีรายงานว่า กรณีใดที่อนุมัติเรียบร้อยจากที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาชุดใหญ่ ในวันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย.คณะกรรมการฯจะพยายามจ่ายให้ก่อนเข้าเดือนรอมฎอน
"กรือเซะ"ยังถกกันหนัก – ญาติผู้สูญเสียฉุนปมโจมตีรัฐก่อน
อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีที่เป็นปัญหาอยู่ คือกรณีกรือเซะ ซึ่งมีเหตุการณ์รุนแรงย่อยๆ กระจายอยู่ 11 จุด แต่จุดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือมัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี เพราะยังมีกรรมการและอนุกรรมการบางรายตั้งข้อสังเกตว่า กรณีกรือเซะเกิดขึ้นเพราะกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมพยายามโจมตีป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐก่อน จึงอาจไม่สมเหตุสมผลหากจะจ่ายเงินเยียวยาสูงถึง 7.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อสังเกตดังกล่าวทำให้ผู้สูญเสียหลายรายไม่พอใจ โดยเฉพาะ น.ส.คอลีเยาะ หะหลี ที่สูญเสียบิดาในมัสยิดกรือเซะ และเธอยืนยันว่าบิดาของเธอกับอีกหลายๆ คนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ไปปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิดกรือเซะช่วงก่อนเกิดเหตุเท่านั้น
"ฉันและคนอื่นๆ อยากได้ความเป็นธรรมมากกว่าเงิน การตั้งข้อสังเกตแบบนี้ทำให้พวกเราไม่อยากรับเงิน และอยากจะให้กรรมการหรืออนุกรรมการนำหลักฐานมาชี้แจงว่าพ่อของฉันหรือคนอื่นๆ ที่อยู่ในมัสยิดโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อน เพราะพ่อของฉันเสียชีวิตในชุดดาวะห์ (ชุดสำหรับผู้เผยแผ่ศาสนา)" น.ส.คอลีเยาะ ระบุ
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่คณะกรรมการเยียวยาชุดใหญ่จะต้องหารือกันในรายละเอียด คือเงื่อนไขสำหรับผู้ได้รับเงินเยียวยากรณีพิเศษนี้ จะไม่สามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่งได้อีก ซึ่งถือเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายและครอบครัว ถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการฯต้องพิจารณาตัดสินใจ เพราะที่ผ่านมากรณีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ก็เคยมีปัญหาสร้างความไม่พอใจให้กับญาติผู้สูญเสียมาแล้ว
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 (ภาพจากอินเทอร์เน็ต และแฟ้มภาพอิศรา)