เปิดกำหนดการ"ผู้แทนโอไอซี"เยือนไทย ตามดูปัญหาชายแดนใต้-ปมสิทธิมนุษยชน
ข่าวผู้แทน "โอไอซี" หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามองค์การการประชุมชาติอิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation ; OIC) ซึ่งมีชื่อทางการตามที่กระทรวงการต่างประเทศใช้ว่า "องค์การความร่วมมืออิสลาม" เตรียมเดินทางเยือนประเทศไทยในสัปดาห์หน้า เป็นประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงสัปดาห์นี้ร้อนแรงขึ้น ทำนองว่าเพื่อแสดงให้โอไอซีได้เห็นว่ามีปัญหาอยู่จริง ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานของประเทศไทย
และตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงหลังจากพ้นวาระ 8 ปีเหตุการณ์กรือเซะ ก็เริ่มมีเหตุรุนแรงเกิดถี่ขึ้นจริงๆ ตั้งแต่เหตุลอบวางระเบิดทหารพรานในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันอังคารที่ 1 พ.ค. ทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย ตามด้วยเหตุยิงถล่มป้อมจุดตรวจที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทำให้อาสารักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิตอีก 2 นาย ต่อมาวันที่ 2 ก.พ. ก็เกิดเหตุลอบยิง อส.หญิง เสียชีวิตไปอีกรายที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
ล่าสุดยังเกิดเหตุยิงถล่มรถของกำนัน ต.ทุ่งคล้า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้กำนัน ผู้ช่วยกำนัน 2 คนซึ่งเป็นผู้หญิง และสารวัตรกำนันอีก 1 คน รวมเป็น 4 คน เสียชีวิตคารถ
ไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์ร้ายทั้งหมดเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหรือไม่ และมีความจงใจให้เชื่อมโยงกับวาระการเดินทางเยือนไทยของคณะผู้แทนโอไอซีหรือเปล่า แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ประเมินสถานการณ์ไปในทิศทางประมาณนั้น
"ทีมข่าวอิศรา" เห็นว่าประเด็นการเดินทางเยือนไทยของคณะผู้แทนโอไอซีกำลังเป็นที่จับตาของทุกฝ่าย จึงได้นำกำหนดการอย่างละเอียดและประวัติของผู้แทนพิเศษโอไอซีมานำเสนอ
เตรียมพบเลขาฯสมช. - ลงใต้ถกแม่ทัพภาค 4
สำหรับคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโอไอซี ที่จะเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 7-12 พ.ค.นี้ เป็นการเยือนตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยคณะผู้แทนที่จะเดินทางมามี 5 คน นำโดย นาย Sayed Kassem El Masry ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี (นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู ; Ekmeleddin Ihsanoglu) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนรับทราบถึงพัฒนาการของสถานการณ์ และความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา เพื่อให้โอไอซีสนับสนุนแนวนโยบายและมาตรการเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
กำหนดการคร่าวๆ มีดังนี้
วันที่ 8 พ.ค.
- เข้าเยี่ยมคารวะ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทน
- พบปะหารือกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
- พบปะหารือกับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
- พบปะหารือกับเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกโอไอซี (ชาติมุสลิม) ในประเทศไทย
วันที่ 9 พ.ค.
- ช่วงเช้า เดินทางไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และพบปะหารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
- พบปะหารือกับสภาที่ปรึกษาด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.
- พบปะหารือกับประธานคณะกรรมการอิสลามห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้
- เยี่ยมพบปะชุมชนมุสลิมใน จ.ยะลา
วันที่ 10 พ.ค.
- พบปะหารือกับ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4)
- เยี่ยมชมโครงการตามแนวพระราชดำริใน จ.ปัตตานี
- เยี่ยมสำนักงานอิสลามประจำจังหวัดสงขลา
- พบปะชุมชนชาวไทยมุสลิมและไทยพุทธ จ.สงขลา
วันที่ 11 พ.ค.
- เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร เพื่อพบและหารือกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 12 พ.ค.
- 10.00 น. พบปะหารือกับผู้บริหารมูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยและนักวิชาการมุสลิม
- 13.00 น. พบปะหารือกับ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- เดินทางกลับ
เคยเป็นผู้ร่างรายงานปัญหาใต้เสนอที่ประชุมโอไอซี
สำหรับประวัติของ นาย Sayed Kassem El Masry ที่ปรึกษาพิเศษเลขาธิการโอไอซี หัวหน้าคณะล่วงหน้าเลขาธิการโอไอซี เป็นชาวอียิปต์ ปัจจุบันอายุ 71 ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโร เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรอียิปต์ประจำสหประชาชาติ (นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา) เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ และเป็นผู้ช่วยเลขาธิการโอไอซีด้วย
ประสบการณ์การทำงานที่สำคัญ เคยร่วมคณะผู้แทนอียิปต์เข้าประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด, เข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศเรื่องการเหยียดผิวที่กรุงวอซอร์ ประเทศโปแลนด์, เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนอียิปต์ในการประชุมการทูตเพื่อก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ, เป็นคณะกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนและต่อต้านการทารุณกรรมทุกรูปแบบของยูเอ็น และเป็นหัวหน้าคณะค้นหาความจริง (fact finding) ของโอไอซี ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ โดย นาย Sayed Kassem El Masry มีความเชี่ยวชาญและสนใจเป็นพิเศษในเรื่องสิทธิมนุษยชน
สำหรับบทบาทที่เกี่ยวกับประเทศไทย เคยเป็นหัวหน้าคณะโอไอซี กู๊ดวิลล์ มิชชัน เดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อเดือน มิ.ย.2548 และเป็นผู้ร่างรายงานถึงเลขาธิการโอไอซีเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซี ในปี 2548, 2549 และ 2550 โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีกรือเซะ ตากใบ และการหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ตราสัญลักษณ์ของโอไอซี