- Home
- South
- สกู๊ปข่าว
- เปิดร่างหลักเกณฑ์เยียวยาไฟใต้...จาก 1 แสนถึง 7.5 ล้าน "ทวี" แจงเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
เปิดร่างหลักเกณฑ์เยียวยาไฟใต้...จาก 1 แสนถึง 7.5 ล้าน "ทวี" แจงเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
คณะกรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้คลอดร่างหลักเกณฑ์จ่ายชดเชยแล้ว เตรียมประชุมอีกรอบศุกร์นี้ เผยเหยื่อฆ่ารายวันทั้งชาวบ้าน-เจ้าหน้าที่รัฐได้เงินรายละแสน เน้นช่วยเหลือเรื่องรักษาพยาบาล ซ่อมแซมบ้านแทน ส่วนกลุ่มที่ได้ 7.5 ล้านมี 4 กรณี "กรือเซะ-ตากใบ-ไอร์ปาแย-คนหาย" กรรมการโวยไม่มีเหตุผลตอบสังคมได้ หวั่นก่อปัญหาเหลื่อมล้ำ ส.ว.รวมกลุ่มเหยื่อเหตุร้ายรายวันตกสำรวจบุกยื่นหนังสือถึงนายกฯ ด้านเลขา ศอ.บต.แจงร่างหลักเกณฑ์เป็นแค่ตุ๊กตา ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ย้ำช่วยทุกกลุ่มแน่ มุ่งดูแลคุณภาพชีวิตเป็นหลัก ขณะที่เงินเป็นเรื่องสุดท้าย
คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับความเสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมนำเข้าหารือในคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งในวันศุกร์ที่ 23 มี.ค.นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้จำกัดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะผู้เสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 4 กลุ่ม คือ
1.ประชาชนทั่วไป
2.เจ้าหน้าที่ของรัฐ
3.จากเหตุการณ์เฉพาะกรณี และ
4.ผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
สำหรับ "การช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟู" ได้กำหนดนิยามเอาไว้ว่า ให้หมายถึงการช่วยเหลือฟื้นฟูการดำรงชีวิตให้สามารถอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ โดยคณะอนุกรรมการจะพิจารณาให้การช่วยเหลือเยียวยาทั้งในรูปตัวเงิน และการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่จำเป็น ได้แก่ การรักษาพยาบาลทั้งด้านร่างกายและจิตใจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สนับสนุนกายอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์, ให้สิทธิพิเศษในการเข้ารับการศึกษา, สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการศึกษาอย่างต่อเนื่องถึงระดับชั้นสูงสุด, การบรรจุเข้ารับราชการหรือพนักงานราชการของทายาทเป็นกรณีพิเศษ, ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย, ส่งเสริมการประกอบอาชีพ และสนับสนุนการประกอบศาสนกิจ
เหยื่อรายวัน"ชาวบ้าน-จนท.รัฐ"ได้หลักแสน เน้นดูแลคุณภาพชีวิต
สำหรับผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 และ 2 คือ ประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ ให้หมายรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 จนถึงปัจจุบันที่มีข้อมูลพบว่าเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา หรือได้รับการช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วแต่ยังมีความทุกข์ยากเดือดร้อน ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้
ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ร่างหลักเกณฑ์ระบุว่ามีงบประมาณสนับสนุนสำหรับช่วยเหลือเยียวยา 500 ล้านบาท ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐมีงบประมาณอุดหนุน 300 ล้านบาท โดยกรอบการช่วยเหลือเยียวยามีรายละเอียดใกล้เคียงกัน คือ
1.การรักษาพยาบาลทั้งด้านร่างกายและจิตใจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สนับสนุนกายอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์
2.ให้สิทธิพิเศษในการเข้ารับการศึกษา สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการศึกษาอย่างต่อเนื่องถึงระดับชั้นสูงสุด
3.การบรรจุเข้ารับราชการหรือพนักงานราชการของทายาทเป็นกรณีพิเศษ
4.ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
5.ส่งเสริมการประกอบอาชีพ
6.การเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่องโดยทีมสหวิชาชีพ
7.ส่งเสริมการสร้างกลุ่มและการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบเพื่อการดูแลซึ่งกันและกันทั้งทางด้านการเงินและจิตใจ
8.ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีเสียชีวิตหรือพิการที่ไม่เคยได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐมาก่อน ภายในวงเงินไม่เกินรายละ 1 แสนบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2548
"กรือเซะ-ตากใบ-ไอร์ปาแย"ไม่เกิน7.5ล้าน
ในส่วนของผู้เสียหายกลุ่มที่ 3 จากเหตุการณ์เฉพาะกรณี หมายถึง บุคคลที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวม 4 กลุ่ม คือ
- กรณีชุมนุมประท้วงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส (วันที่ 25 ต.ค.2547)
- กรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 (เหตุการณ์กรือเซะ)
- กรณีที่มัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส (วันที่ 8 มิ.ย.2552)
- ผู้ถูกบังคับให้สูญหายหรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจนเสียชีวิตหรือพิการ
ผู้เสียหายกลุ่มนี้มีงบประมาณอุดหนุน 1 พันล้านบาท แยกเป็นกรณีเสียชีวิต จ่ายชดเชยการเสียชีวิต 4.5 ล้านบาท ชดเชยด้านจิตใจ 3 ล้านบาท ประกอบพิธีฮัจญ์ 1.5 แสนบาท หรือบำเพ็ญศาสนกิจของศาสนิกอื่น 1.5 แสนบาท ซึ่งแต่ละรายมีเพดานได้รับความช่วยเหลือเยียวยาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท
กรณีพิการ จ่ายชดเชยความพิการ 4.5 ล้านบาท และชดเชยด้านจิตใจ 3 ล้านบาท
กรณีถูกดำเนินคดีและได้มีการถอนฟ้องคดีแล้ว จ่ายชดเชยด้านจิตใจ 5 พันบาท และชดเชยการถูกคุมขังวันละ 400 บาท
กรณีถูกควบคุมตัวโดยไม่ถูกดำเนินคดี จ่ายชดเชยด้านจิตใจ 5 พันบาท
นอกจากนี้ ในร่างหลักเกณฑ์ฯ ได้ระบุเหตุผลของการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ว่า เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ความโกรธแค้น หวาดระแวง สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี สร้างความปรองดองสมานฉันท์เพื่อนำสันติสุขมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน
คดียกฟ้องจ่ายชดเชยถูกคุมขังวันละ 400
สำหรับผู้เสียหายกลุ่มที่ 4 คือ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย หมายถึง ผู้ที่ถูกคุมขังตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดี หรือถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี แต่ต่อมาปรากฏหลักฐานว่ามิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือมีการถอนฟ้อง หรือมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่เคยได้รับการชดเชยตามกฎหมายใดๆ กลุ่มนี้มีงบประมาณอุดหนุน 200 ล้านบาท เกณฑ์การช่วยเหลือ ประกอบด้วย
- ผู้ที่ถูกดำเนินคดีและได้มีการถอนฟ้องคดีแล้ว จ่ายชดเชยด้านจิตใจ 5 พันบาท และชดเชยการถูกคุมขังวันละ 400 บาท
- ผู้ถูกควบคุมตัวโดยไม่ถูกดำเนินคดี จ่ายชดเชยด้านจิตใจ 5 พันบาท
เยียวยาก้อนใหม่ต้องหักลบเงินที่เคยได้รับ
ในท้ายของร่างหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยา ยังระบุเอาไว้ว่า ให้นำจำนวนเงินช่วยเหลือหรือเงินชดเชยอื่นๆ จากภาครัฐทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้รับไปแล้ว หักออกจากจำนวนเงินเยียวยาที่จะได้รับภายใต้หลักเกณฑ์นี้ และเมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้รับเงินเยียวยาภายใต้หลักเกณฑ์ฉบับนี้แล้ว ให้ถือว่าสิทธิที่ได้รับเงินช่วยเหลือหรือเงินชดเชยอื่นๆ จากภาครัฐเป็นอันระงับไป
นอกจากนั้น ร่างหลักเกณฑ์ยังได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการให้เสร็จสิ้นภารกิจภายในวันที่ 30 ก.ย.2555 ด้วย
กังขาช่วยไม่เท่าเทียม หวั่นชาวบ้านฮือ
แหล่งข่าวซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการเยียวยาฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างหลักเกณฑ์ฯฉบับนี้ไม่ได้ถูกยกร่างจากที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ จึงไม่ทราบว่าใครมีส่วนร่วมบ้าง จึงเกรงว่าในการประชุมคณะกรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้วันศุกร์ที่ 23 มี.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีการนำร่างหลักเกณฑ์ที่ยกร่างเรียบร้อยแล้วมาให้กรรมการรับทราบคล้ายกับเป็นแค่ตรายาง
แหล่งข่าว บอกอีกว่า ร่างหลักเกณฑ์ฯที่ออกมา อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้หลายประการ เช่น ความรู้สึกไม่เท่าเทียม เนื่องจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงรายวันที่เป็นชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ หากต้องการความช่วยเหลือในรูปตัวเงิน จะได้เพียงรายละไม่เกิน 1 แสนบาทเท่านั้น ที่เหลือเป็นการช่วยเหลือด้านอื่น โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ขณะที่กลุ่มผู้เสียหายจากเหตุการณ์เฉพาะกรณี คือ กรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย และคนหาย กลับมีเพดานได้รับการช่วยเหลือเยียวยาถึง 7.5 ล้านบาท
"ไม่รู้ว่าเอาหลักคิดอะไรมากำหนด จะบอกว่าเป็นผู้ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่น่าใช่ เพราะกรณีไอร์ปาแย ผู้กระทำที่ตกเป็นจำเลยในชั้นศาลอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ หากกรณีไอร์ปาแยได้ 7.5 ล้าน เชื่อว่ากรณีอื่นๆ ต้องออกมาเรียกร้องแน่นอน"
งบน้อยกว่าคน-ส่อมีวิ่งเต้น หักหัวคิว
แหล่งข่าวรายนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า การระบุจำนวนเงินงบประมาณที่จะอุดหนุนให้ผู้เสียหายแต่ละกลุ่ม ทำให้เกิดความสงสัยว่างบจะพอหรือไม่ เช่น กลุ่มประชาชนทั่วไป มียอดเสียชีวิตจากเหตุร้ายรายวันมากกว่า 4 พันราย แต่กลับได้รับอุดหนุนเพียง 500 ล้านบาท เช่นเดียวกับผู้เสียหายจากเหตุการณ์เฉพาะกรณี 4 กลุ่ม รวมแล้วมากกว่า 200 ราย หากได้รายละ 5-7 ล้านบาท งบอุดหนุน 1 พันล้านบาทไม่น่าจะพอ
"เมื่อเงินน้อยกว่าจำนวนคนก็จะต้องมีการพิจารณาเป็นรายกรณี ซึ่งตามหลักเกณฑ์ให้อำนาจอนุกรรมการเป็นผู้พิจารณา จึงเกรงว่าจะเกิดการวิ่งเต้น ใช้เส้นสาย หรือเรียกรับผลประโยชน์เพื่อให้ได้รับเงินเยียวยา" แหล่งข่าว ระบุ
ส.ว.พาเหยื่อยิงรายวันร้องนายกฯ
ด้าน นายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จาก จ.ปัตตานี กล่าวว่า ได้พูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบอีกหลายกลุ่มซึ่งยังไม่แน่ว่าจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาหรือไม่ ทั้งๆ ที่ถูกกระทำด้วยความทารุณโหดร้าย เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญเช่นกัน อาทิ กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ยิงรถตู้โดยสารสายเบตง-หาดใหญ่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 8 ราย ในพื้นที่ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อปี 2550 หรือกรณีกราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิต 4 ราย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2554 เป็นต้น กลุ่มผู้สูญเสียเหล่านี้มีทั้งพุทธและมุสลิม รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ
"ทราบว่ารัฐให้ความสำคัญเฉพาะบางกรณี และจะพิจารณาให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก แต่ก็มีหลายกรณีที่เป็นเหตุร้ายรายวันซึ่งชาวบ้านถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน แต่กลับไม่ได้รับการพูดถึง นอกจากนั้นยังมีหลักเกณฑ์ที่รัฐอ้างว่าเป็นความสูญเสียขนาดใหญ่ เช่น เหตุการณ์ไอร์ปาแย ถ้าอย่างนั้นกรณี 8 ศพในรถตู้ ยิงร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด ฆ่าพระที่วัดพรหมประสิทธิ์ (อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อปี 2548) และอีกหลายๆ กรณี ก็น่าจะได้รับด้วย"
นายอนุศาสตร์ กล่าวด้วยว่า จะนำผู้ได้รับผลกระทบกรณีต่างๆ เหล่านี้ แถลงข่าวที่รัฐสภา ในวันพุธที่ 21 มี.ค. และเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกับกรณีอื่นๆ ต่อไป
"ทวี" แจงดูแลทุกกลุ่ม หลายวิธี - เงินเป็นเรื่องสุดท้าย
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ร่างหลักเกณฑ์ที่ปรากฏเป็นข่าว เป็นเพียงร่างตุ๊กตาที่ยกร่างขึ้นมาเบื้องต้น ยังไม่มีข้อยุติ และต้องประชุมกันอีกหลายครั้งกว่าจะได้หลักเกณฑ์ที่สมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย
"ตอนนี้เราได้เชิญผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายมาร่วมกันร่างหลักเกณฑ์ ทั้งอาจารย์บุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณคอลีเยาะ หะหลี ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะ หรือคุณแยนะ สะแลแม ญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ ทุกคนมาช่วยกัน รวมทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งยังต้องหารือกันต่อไป และอนุกรรมการหลายชุดที่เราตั้งขึ้นก็กำลังเร่งทำงานกันอยู่"
พ.ต.อ.ทวี ย้ำว่า หลักการของคณะกรรมการเยียวยาฯ และนโยบายของรัฐบาลก็คือ ช่วยเหลือทุกคน ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งการช่วยเหลือนั้นก็จะมีหลายวิธี ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ดูแลเรื่องอาชีพ เรื่องการศึกษาของบุตรหลาน หรือแม้แต่การไปเยี่ยมเยียน และให้ไปปฏิบัติศาสนกิจ ส่วนเรื่องเงินถือเป็นเรื่องสุดท้าย
แจงช่วยเหลือพิเศษ 4 กรณีเฉพาะ เหตุกระทบภาพลักษณ์ในเวทีโลก
สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เฉพาะ 4 กรณี ซึ่งได้แก่ เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย และคนหายนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ยังไม่เป็นที่ยุติเช่นกัน โดยเฉพาะเหตุการณ์ไอร์ปาแย ซึ่งผู้ต้องหาที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ อาจจะตัดออกไปหรือไม่ กำลังพิจารณากันอยู่ และกรณีที่เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่กรณีอื่นๆ ก็มีกรรมการหลายท่านหยิบขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เช่น กรณียิงรถตู้ 8 ศพก็พูดถึง ซึ่งเราจะให้ความช่วยเหลือทุกกลุ่ม
แต่การที่ยก 4 กรณีนี้ขึ้นมาเป็นกรณีเฉพาะ เพราะมีภาพของการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเกิดความสูญเสียรุนแรง ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะในองค์การการประชุมอิสลาม หรือโอไอซี จึงต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษเพื่อให้สังคมโลกได้ทราบว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญ และได้ดูแลช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่จริงๆ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความชุลมุนวุ่นวายระหว่างการช่วยชีวิตผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงรายวันที่ชายแดนใต้ เป็นภาพที่เห็นจนชินตา ในภาพคือการเร่งลำเลียง ตชด.ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุระเบิดที่ อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ธ.ค.2555 ส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา แต่สุดท้าย ตชด.ก็เสียชีวิต (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
หมายเหตุ : เนื้อหาข่าวเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเปิดรายละเอียดร่างหลักเกณฑ์เยียวยาฯ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 21 มี.ค.2555 หน้าปกโฟกัส
อ่านประกอบ : เส้นทางวิบากเยียวยาชายแดนใต้...
1 เยียวยาด้วยเจตนาดี...ความในใจ พ.ต.อ.ทวี แห่ง ศอ.บต.
2 เคลียร์ปมสงสัยเยียวยาเหยื่อไฟใต้...ถึงไหน เท่าไหร่ อย่างไร
3 คลอดเกณฑ์เยียวยาใต้ "ตาย-สูญหาย" 7..5 ล้าน ขังฟรีจ่าย 3 หมื่น
4 เปิดสูตรคำนวณเยียวยาผู้ชุมนุม 7.75 ล้าน ใต้เล็งจ่าย 200 ศพแรก 4 เหตุการณ์ใหญ่
5 โรงเรียนสามัคคีปิดต่อหลังเจอบึ้ม "ประชา" แจงเยียวยาพิเศษ 4 กลุ่มไม่มีกรือเซะ
http://www.isranews.org/south-news/Other-news/28-2009-11-14-06-19-24/5617--qq-4-.html
6 เยียวยาใต้วุ่นหนัก "ครู-ชาวบ้าน" ฮือร้องจ่ายเท่าเทียม กรือเซะพลิกส่อวืด 7.5 ล้าน
http://www.isranews.org/south-news/Other-news/28-2009-11-14-06-19-24/5531-q-q-75-.html
7 สารพัดปัญหาเยียวยา...เคาะตัวเลขแล้วใช่ว่าจะจบ
8 "มาตรา 21 - จ่ายเงินเยียวยา" ปัญหาภาคใต้จบจริงหรือ?
9 เยียวยาใต้ไม่จบแค่ 7 ล้านห้า...เผย 7 ประเด็นปัญหา ชาวบ้านโวยหักเงินตั้ง "กองทุน"
10 เปิดเกณฑ์เยียวยาเหยื่อไฟใต้ รับไม่เต็ม 7.5 ล้าน
11 ศอ.บต.ล้อมคอก "หัวคิวเยียวยา" ญาติเหยื่อแฉซ้ำเจอไถ ใต้วุ่นบึ้มทหารรับตรุษจีน
12 เคราะห์ซ้ำที่ชายแดนใต้...เงินเยียวยายังไม่มา แต่มีนายหน้าขอหักหัวคิวแล้ว!
13 เปิดราคาชีวิต "ตร.-ทหาร-ชาวบ้าน" ชายแดนใต้ กับคำฝากจากใจ "รัฐอย่าสองมาตรฐาน"
14 เช็คชื่อกรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ ผบ.ทบ.แย้มแนวทางใหม่บูรณาการ
15 รัฐตั้ง กอส.2 ชงแนวทางดับไฟใต้ ถกทูตชาติอิสลาม เยียวยาเหยื่อเคาะรายละ 5 ล้าน