- Home
- South
- สกู๊ปข่าว
- โพลล์ระบุคนสามจังหวัดชอบช่อง 7 ดูละครหลังข่าว อ่าน นสพ.หัวสี เผย"ทหาร"อันดับหนึ่งชาวบ้านไม่เชื่อมั่น
โพลล์ระบุคนสามจังหวัดชอบช่อง 7 ดูละครหลังข่าว อ่าน นสพ.หัวสี เผย"ทหาร"อันดับหนึ่งชาวบ้านไม่เชื่อมั่น
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ในการบรรยายหัวข้อ “การวิเคราะห์สังคมการเมืองและอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ที่สถาบันพระปกเกล้า เมื่อเร็วๆ นิ้ ได้มีการนำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นและความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งมีหลายประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่ง
อาจารย์ศรีสมภพ เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และยังเป็นผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ด้วย
การสำรวจความเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดและ 4 อำเภอในครั้งนี้ ใช้กลุ่มตัวอย่าง 2,400 ราย สรุปผลสำรวจเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา พบประเด็นที่สำคัญๆ ดังนี้
พูด-ฟังภาษาไทยได้แต่ไม่ใช้
1.ภาษาพูดในครัวเรือน พบว่าประชาชนใช้ภาษาไทย ร้อยละ 16.8 ใช้ภาษามลายูถิ่นร้อยละ 58.4 ใช้ผสมกันระหว่างภาษาไทยกับมลายูถิ่น ร้อยละ 24.2 และใช้ภาษาอื่นๆ 0.2
2.ทักษะการใช้ภาษา พบว่า พูดภาษาไทยได้ภาษาเดียว ร้อยละ 10 พูด-อ่าน-เขียนภาษามาเลย์ได้ ร้อยละ 12 ฟัง-พูดภาษามาเลย์ได้ ร้อยละ 14 ฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษายาวีไม่ได้ ร้อยละ 15 ฟัง-พูด-อ่าน-เขียนยาวีได้ ร้อยละ 26 ฟัง-พูด-ภาษายาวีได้ ร้อยละ 54 และฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาไทยได้ ร้อยละ 88
ประเด็นนี้ อาจารย์ศรีสมภพ อธิบายเพิ่มเติมว่า แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่พูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ แต่เลือกที่จะไม่ใช้
ชอบอ่านหนังสือพิมพ์หัวสี-ดูละครช่อง 7
3.ความนิยมในการอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน พบว่าประชาชนในพื้นที่นิยมอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมากที่สุด ร้อยละ 40.76 รองลงมาคือเดลินิวส์ ร้อยละ 20.34 นอกจากนั้นก็เป็นหนังสือพิมพ์หัวสี อาทิ คมชัดลึก ข่าวสด ส่วนมติชนอยู่ที่ร้อยละ 9.36 ทางนำ ไทยโพสต์ ผู้จัดการ ร้อยละ 0.17 หนังสือพิมพ์มาเลย์ ร้อยละ 0.12 เดอะเนชั่น ร้อยละ 0.04 บางกอกโพสต์ ร้อยละ 0.17 กรุงเทพธุรกิจ ร้อยละ 0.08
ที่น่าสนใจคือกลุ่มที่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ อยู่ที่ร้อยละ 22.42 ส่วนสื่อต่างประเทศ ซีเอ็นเอ็น ร้อยละ 1.36 บีบีซี 1.43 อัลจาซีรา 1.44
4.ความพึงพอใจที่มีต่อรายการโทรทัศน์ คะแนนเต็ม 5 ปรากฏว่าช่อง 7 ได้คะแนนมากที่สุดคือ 4.00 ช่อง 3 ได้คะแนน 3.81 ช่อง 9 ได้คะแนน 3.42 ช่อง 5 ได้ 3.26 ช่อง 11 ได้ 3.16 และทีวีไทยได้ 2.63 ส่วนทีวีมาเลย์ได้คะแนน 1.71 และทีวีดาวเทียม 1.81
5.ช่วงเวลาที่ประชาชนดูโทรทัศน์มากที่สุดคือ 20.00-21.00 น. (2 ทุ่มถึง 3 ทุ่ม) ร้อยละ 51.50 ซึ่งเป็นช่วงข่าวและละครหลังข่าว รองลงมาคือช่วง 21.00-22.00 น. (3 ทุ่มถึง 4 ทุ่ม) ร้อยละ 45.46 เป็นช่วงเวลาของละครหลังข่าว และช่วง 19.00-20.00 น. (1 ทุ่มถึง 2 ทุ่ม) ร้อยละ 42.20 เป็นช่วงข่าวประจำวัน
ประเด็นนี้ อาจารย์ศรีสมภพ วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า คนสามจังหวัดก็คล้ายๆ กับคนภาคอื่นๆ คือมีการเปิดโลกทัศน์มากขึ้น พี่น้องไทยมลายูรับสื่อเยอะขึ้น และสนใจข่าวสาร ตลอดจนละครทางโทรทัศน์ใกล้เคียงกับภูมิภาคอื่นของประเทศ ถือเป็นความเป็นจริงของสังคม
ชาวบ้านไว้ใจผู้นำศาสนา-ไม่เชื่อมั่นทหารมากสุด
ผลสำรวจยังมีประเด็นสอบถามความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อบุคคล องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ คะแนนเต็ม 5 ปรากฏว่า ประชาชนเชื่อมั่นไว้วางใจผู้นำศาสนามากที่สุด 3.96 คะแนน รองลงมาคือแพทย์ 3.76 คะแนน ครู 3.73 คะแนน สภาทนายความ 3.72 คะแนน กำนันผู้ใหญ่บ้าน 3.58 คะแนน
ส่วนกลุ่มที่ชาวบ้านไม่ค่อยไว้วางใจ คือได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด อันดับหนึ่ง คือ ทหาร ได้ 2.76 คะแนน รองลงมาคือตำรวจ ได้ 2.86 คะแนน เอ็นจีโอ 2.93 คะแนน
เมื่อถามถึงสาเหตุของปัญหาความไม่สงบในความเข้าใจและการรับรู้ของประชาชน พบว่า ประเด็นที่ประชาชนมองว่าเป็นสาเหตุของปัญหาความไม่สงบมากที่สุดคือเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม ร้อยละ 31.46 ซึ่งมีปัจจัยจากความอยุติธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ การปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อมุสลิม และความไม่เป็นธรรมกับคนมลายู รองลงมาคือสาเหตุจากกลุ่มก่อความไม่สงบ ร้อยละ 19.21
ในประเด็นประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบ แม้ประชาชนร้อยละ 62.9 จะบอกว่าไม่เคยมีประสบการณ์ แต่ก็มีถึงร้อยละ 25.6 ที่ระบุว่ารู้จักกับบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือสูญหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ร้อยละ 6.2 ระบุว่ามีคนในครอบครัวเสียชีวิต ร้อยละ 5.2 ระบุว่าคนในครอบครัวถูกสอบสวน ร้อยละ 1 บอกว่าถูกข่มขู่ และครอบครัวมีชื่อในบัญชีดำ
เป็นการแบกภาระความรุนแรงท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่รัฐยังแก้ไขไม่จบเสียที!