สงสัย ทบ.ซื้อเรือเหาะ"มือสอง" เทียบราคาส่อแพงเกินจริง 8 เท่า
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แวดวงธุรกิจเรือเหาะตั้งข้อสงสัย "สกาย ดรากอน" ของกองทัพบกส่อแพงเกินจริง พบบอลลูนยักษ์ของ "แอร์ชิป เอเซีย" ที่นำเข้ามาก่อนหน้า ขนาดใกล้เคียงกัน ราคาแค่ 30 กว่าล้าน แถมอาจซื้อของมือสองหรือไม่ก็ลำที่ใช้ในการสาธิต เหตุสั่งซื้อแค่ 2 เดือนได้ของ ทั้งๆ ที่กระบวนการสั่งผลิตลำใหม่ใช้เวลาเกือบปี
ยังคงมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของโครงการจัดซื้อ "เรือเหาะตรวจการณ์" เพื่อใช้ในภารกิจแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงราคาเรือเหาะที่แพงเกินจริง เพราะบริษัทกันตนา กรุ๊ป ซื้อมาถ่ายทำภาพยนตร์ในราคาเพียง 30 ล้านบาท แต่ของกองทัพบกซื้อในราคาถึง 350 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ต่อมาผู้บริหารบริษัทกันตนาฯออกมาชี้แจงว่าทางบริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของเรือเหาะ แต่เช่ามาจากบริษัทแอร์ชิป เอเซีย นั้น
ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า กองทัพบกโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ใช้งบประมาณจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ทำสัญญาซื้อ “ระบบเรือเหาะตรวจการณ์” จาก บริษัทเอเรียล อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน (Arial International Cooperation) โดยเรือเหาะลำนี้ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่น Aeros 40D S/N 21 หรือ สกาย ดรากอน (SKY DRAGON)
กระนั้นก็ตาม มีข้อสังเกตจากบุคคลในแวดวงธุรกิจเรือเหาะว่า ราคาเรือเหาะที่กองทัพจัดซื้อน่าจะแพงเกินไป เพราะเรือเหาะของบริษัทแอร์ชิป เอเซีย ที่นำเข้าและจดทะเบียนก่อนที่กองทัพจะจัดซื้อ และมีขนาดใกล้เคียงกับเรือเหาะ “สกาย ดรากอน” นั้น มีราคาเพียง 30-35 ล้านบาทเท่านั้นเอง
"เรือเหาะที่มีขนาดใกล้เคียงกับที่กองทัพจัดซื้อมากที่สุด คือเรือเหาะลำที่บริษัทแอร์ชิป เอเซีย นำเข้ามา โดยมีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ ราคาราว 30-35 ล้านบาทเท่านั้น"
เฉพาะ"บอลลูน"แพงกว่าร่วม 200 ล้าน
แหล่งข่าวซึ่งอยู่ในวงการธุรกิจเรือเหาะ อธิบายต่อว่า เรือเหาะของบริษัทแอร์ชิป เอเซีย มีขนาดยาว 34 เมตร ขณะที่ของกองทัพ ตามสเปคที่นำเสนอสู่สาธารณะก่อนหน้านี้ มีขนาดยาว 47.35 เมตร ซึ่งก็ถือว่าไม่ใหญ่กว่ากันมากนัก แต่ราคาเฉพาะตัวบอลลูนกลับสูงถึง 230-260 ล้านบาท
"เรือเหาะ 1 ลำมีองค์ประกอบ 2 ส่วนหลักๆ คือตัวบอลลูน กับส่วนที่เป็นห้องนักบินติดเครื่องยนต์ ซึ่งเรือเหาะทุกลำจะมีเหมือนกันหมด ส่วนกล้องตรวจการณ์จะเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก จากเอกสารที่กองทัพเคยเปิดเผยออกมาระบุว่าเฉพาะตัวเรือบอลลูนมีราคา 260 ล้านบาท แต่เท่าที่ผมทราบในวงการที่พูดกันคือ 230 ล้านบาท ก็เท่ากับแพงกว่าเรือเหาะของแอร์ชิป เอเซีย ถึง 200 ล้าน จึงมีเสียงวิจารณ์กันในหมู่คนที่รู้เรื่องเรือเหาะว่า ทำไมถึงเอากำไรกันมากมายขนาดนี้"
แฉเติมฮีเลียมสุดแพงครั้งละ 3 ล้าน
แหล่งข่าวคนเดิม ยังให้ข้อมูลอีกว่า กระบวนการผลิตบอลลูนของเรือเหาะแต่ละลำไม่ค่อยต่างกันนัก หรือจะเรียกว่าเหมือนกันทั้งโลกก็ว่าได้ เพราะบอลลูนที่ได้มาตรฐานสากลแทบจะผลิตจากแหล่งเดียวกันหมด คือใช้วัสดุสังเคราะห์พิเศษ มีความหนา 7 ชั้น ชั้นในเป็นตาข่ายป้องกันอะตอมก๊าซฮีเลียมรั่ว ส่วนชั้นนอกโดยมากเป็นสีครีม เพื่อป้องกันรังสียูวี ไม่ให้เกิดความร้อนจนทำให้ให้ฮีเลียมขยายตัวเร็ว
"บอลลูนลอยได้เพราะอัดก๊าซฮีเลียมเข้าไป ส่วนเครื่องยนต์ที่ติดอยู่กับห้องนักบินจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้บอลลูนเดินหน้าช้าหรือเร็ว ขณะที่แพนหางเป็นตัวบังคับขึ้น-ลง ก๊าซฮีเลียมนั้นเติมกันครั้งละ 7-8 แสนบาท แต่ของกองทัพได้ข่าวว่าเติมครั้งละ 3 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไรถึงแพงกว่าที่ควรจะเป็น"
สงสัย ทบ.ซื้อเรือเหาะมือสอง
ทั้งนี้ แม้จากข้อมูลจะค่อนข้างชัดเจนว่า เรือเหาะของกองทัพไม่ได้ซื้อต่อจากบริษัทในประเทศ แต่ในวงการธุรกิจเรือเหาะก็ยังตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเรือเหาะที่ผลิตขึ้นใหม่จริงหรือไม่
"การผลิตเรือเหาะแต่ละลำจะต้องมีการขึ้นทะเบียนว่าผลิตปีไหน อย่างไร เรือเหาะที่กองทัพบกซื้อ ถ้าเป็นของใหม่จริงต้องมีหลักฐานการขึ้นทะเบียน ถ้าไม่ใช่ของใหม่ก็ตรวจสอบได้ ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยก็เพราะการสั่งซื้อเรือเหาะแต่ละลำต้องใช้ระยะเวลาในการผลิต สั่งแต่ละครั้งเกือบ 1 ปี แต่กองทัพบกมีเวลาเพียงพอแค่ไหนที่จะผลิตของใหม่ หรือใหม่เฉพาะเครื่องยนต์" แหล่งข่าว ตั้งข้อสังเกต
และว่า หากไม่ได้จัดซื้อของใหม่ หรือไปซื้อลำที่บริษัทผู้ผลิตใช้ในการสาธิต จะส่งผลถึงอายุการใช้งาน เพราะเรือเหาะใหม่แต่ละลำมีอายุการใช้งาน 5-7 ปี ส่วนห้องนักบินมีอายุมากกว่า ฉะนั้นหากไปซื้อต่อมือสองมา ราคาที่จัดซื้อก็จะยิ่งแพง เนื่องจากอายุใช้งานจะสั้นกว่าที่ควรจะเป็น
อนึ่ง เรือเหาะตรวจการณ์ ได้รับอนุมัติจัดซื้อจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2552 และมีการลงนามจัดซื้อระหว่างกองทัพบกกับบริษัทเอเรียล อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ปีเดียวกัน จากนั้นเรือเหาะก็ถูกส่งถึงท่าอากาศสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2552
กอ.รมน.ยอมรับระบบยังไม่พร้อมใช้งาน
สำหรับข้อมูลจำเพาะของเรือเหาะลำนี้ คือรุ่น Aeros 40D S/N 21 (SKY DRAGON) ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุฮีเลี่ยม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร) ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ 0 -10,000 ฟุต (0-3,084 เมตร) ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 HP 4-Cylinder, Continental IO-240 B ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน (300 ลิตร) บินได้นาน 6 ชั่วโมง
เกณฑ์การสิ้นเปลือง ณ ความเร็วสูงสุด 50 ลิตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ 100 LL Grade Aviation Fuel ความจุห้องโดยสาร 4 นาย (นักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย)
ทั้งนี้ หลังจากเรือเหาะถูกส่งถึงประเทศไทย ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่จากกองทัพบกไปฝึกการใช้งานเรือเหาะตรวจการณ์กับทางบริษัทผู้ผลิต และได้มีการก่อสร้างโรงจอดที่กองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อโรงจอดสร้างเสร็จ จึงเคลื่อนย้ายเรือเหาะไปไว้ที่โรงจอดดังกล่าวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเริ่มทดลองใช้ ทว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจรับและใช้งานจริงได้
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า ขณะนี้เรือเหาะยังไม่พร้อมใช้งาน แต่เมื่อพร้อมใช้งานจริงจะมีระบบเชื่อมสัญญาณระหว่างตัวเรือเหาะกับภาคพื้นทั้งหมด 30 จุด ทั้งหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ในพื้นที่ และกองบัญชาการกองทัพบก แต่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งยังไม่เรียบร้อย
-----------------------------------------------------------------
ภาพ : สุเมธ ปานเพชร
อ่านประกอบ : ข่าวและสกู๊ปข่าวทั้งหมดเกี่ยวกับ "เรือเหาะตรวจการณ์" ในเว็บอิศรา...
- เรือเหาะยังวุ่น"บินต่ำ-กล้องไม่สมบูรณ์" ผบ.ทบ.ขึงขัง "ไม่รับ-ไม่จ่าย" หากผิดสเปค
- ได้ผู้รับเหมารายใหม่ติดตั้งกล้องวงจรปิดพันล้าน บิ๊กกองทัพยอมรับระบบ "เรือเหาะ" ไม่สมบูรณ์
- ย่างปีที่ 7 ไฟใต้ (2)..."จีที 200-เรือเหาะ-สติ๊กเกอร์" เครื่องมือเพื่อความมั่นคงในอุตสาหกรรมความไม่มั่นคง
- "เรือเหาะ"ถึงใต้แล้ว จับคู่ ฮ.ตรวจการณ์ใช้งานจริงต้นปีหน้า
- "เรือเหาะติดกล้อง"จ่อล่องใต้ เร่งสร้าง"โรงจอด"ใน พล.ร.15
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4955&Itemid=86
- รัฐแจงข้อดี"เรือเหาะ" หวังทำแผนที่ทางอากาศ สกัด-ป้องปรามกลุ่มป่วนใต้
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4511&Itemid=86
- ผวา"เรือเหาะติดกล้อง"แอบมองละเมิดสิทธิ์!
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4509&Itemid=86
- วิจารณ์แซ่ดรัฐทุ่ม 350 ล้านซื้อ "เรือเหาะติดกล้อง" สู้กลุ่มป่วนใต้!
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4501&Itemid=86