รู้จัก "อส." นักรบประชาชน...อีกหนึ่ง"เป้านิ่ง"ที่ชายแดนใต้
อับดุลเลาะ หวังนิ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
"ดักบึ้มรถ อส.ดับ 2 เจ็บ 3" คือพาดหัวข่าวล่าสุดที่บ่งบอกถึงความสูญเสียของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "อส." กองกำลังในเครื่องแบบอีกกลุ่มหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มักไม่ค่อยมีใครพูดถึง ทั้งๆ ที่พวกเขาคืออีกหนึ่ง "เป้านิ่ง" ท่ามกลางเสียงปืนและเสียงระเบิดที่ดังขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน
"อส." หรือเรียกเต็มๆ ว่า "อาสารักษาดินแดน" เป็นเจ้าพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วย อส. เรียกว่ากองอาสารักษาดินแดน จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.2497 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ
วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้งก็เพื่อให้มีกำลังสำรองไว้ช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติทั้งยามปกติและยามสงคราม โดยรับสมัครราษฎรที่สมัครใจอาสาเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เรียกว่า สมาชิก อส.
แนวคิดการจัดตั้ง อส. พัฒนามาจากระบบ "ราษฎรอาสา" ในสมัยโบราณ กล่าวคือเมื่อเกิดภาวะสงครามจะมีราษฎรที่ไม่ใช่ทหารรวมตัวกันต่อสู้กับข้าศึกเพื่อรักษาแผ่นดิน อาทิ ในศึกบางระจัน เป็นต้น
ต่อมาในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้จัดตั้งหน่วยพลเรือนอาสาขึ้นมาอย่างเป็นระบบ โดยตราพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดนขึ้น กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2497 เหล่า อส.จึงถือเอาวันที่ 10 ก.พ.ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน
สมาชิก อส.ในปัจจุบันมีกระจายอยู่ทุกจังหวัด อำเภอ และกิ่งอำเภอทั่วประเทศ สมาชิก อส.ถือเป็นกำลังพลกึ่งทหารของฝ่ายปกครอง แม้จะรับสมัครจากราษฎรที่อาสาเข้ามา แต่ก็มีการควบคุมบังคับบัญชาและรักษาระเบียบวินัยเช่นเดียวกับทหาร ตำรวจ มีการฝึกฝนและอบรมอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีเครื่องแบบ ชุดฝึก และชั้นยศ พวกเขาจึงเป็น "นักรบประชาชน" อย่างแท้จริง
บทบาทของ อส.โดดเด่นอย่างมากในช่วงของสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ เนื่องจากสมาชิก อส.ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ จนมีผลงานและวีรกรรมเป็นที่ยอมรับกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายลง โดยมีสมาชิก อส.พลีชีพไปเป็นจำนวนมาก
หลังภารกิจสู้รบกับคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง กองอาสารักษาดินแดนจึงปรับเปลี่ยนภารกิจของสมาชิก อส.ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยนอกจากหน้าที่ตามกฎหมาย 6 ประการคือ 1.บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก 2.ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ 3.รักษาสถานที่สำคัญและการคมนาคม 4.ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟังและรายงานข่าว 5.ทำความช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการและตัดทอนกำลังข้าศึก และ 6.เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็นแล้ว...
ปัจจุบันกองอาสารักษาดินแดนยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญคือ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยในพื้นที่ชายแดนใต้มีสมาชิก อส.รวมทั้งสิ้น 5,434 นาย แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 1,459 นาย จ.ยะลา 1,313 นาย จ.นราธิวาส 1,907 นาย 4 อำเภอของ จ.สงขลา 516 นาย และสงขลาส่วนหน้าอีก 239 นาย
แม้พิจารณาจากตัวเลข พวกเขาจะมีกำลังถึงกว่าครึ่งหมื่น แต่เวลาปฏิบัติหน้าที่จริงในพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลและเต็มไปด้วยอันตราย ทั้งยังต้องรับผิดชอบภารกิจไม่ต่างจากตำรวจ ทหาร จึงทำให้มีข่าวความสูญเสียของ อส.แทบจะรายวันไม่แพ้หน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ
เอาแค่ในรอบเดือนสุดท้ายปลายปี 2552 ก็ปรากฏความสูญเสียครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง คือเหตุระเบิดที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 30 ธ.ค. มี อส.พลีชีพ 2 นาย บาดเจ็บสาหัส 3 นาย และเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส มีสมาชิก อส.ต้องสังเวยชีวิตไปอีก 3 นาย
แม้จะตกเป็น “เป้านิ่ง” ที่ชายแดนใต้ แต่มีน้อยครั้งนักที่เหล่า อส.จะได้เปิดใจผ่านสื่อ...
วิโรจน์ ศรีขวัญ ผู้บังคับกองร้อย.อส.จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า กำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกวันนี้ตกเป็นเป้านิ่งเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือ อส. ทุกคนล้วนตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์
“ที่หนักที่สุดก็คือชุดรักษาความปลอดภัย หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ชุด รปภ. ทั้ง รปภ.เส้นทาง รปภ.ครู รปภ.สถานที่สำคัญ เพราะกำลังพลกลุ่มนี้จะปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จำกัด ซ้ำๆ กันทุกวัน คนร้ายก็สามารถเฝ้ามอง สังเกตการณ์ และวางแผนลอบทำร้ายได้ตลอด”
ปัญหาของสมาชิก อส.ที่ชายแดนใต้ในความเห็นของ วิโรจน์ คือยังไม่ได้รับการฝึกอบรมเท่าที่ควรจะเป็น
“บางคนตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ยังไม่เคยได้รับการฝึกเลย บางคนผ่านไป 3-4 ปีกว่าจะได้รับการฝึกสักครั้งหนึ่ง ยิ่งสถานการณ์เป็นแบบนี้ อส.ยิ่งต้องได้รับการฝึกให้มากกว่าเดิม แต่นี่กลับมีน้อยมาก”
“ยกตัวอย่างกำลัง อส.ของอำเภอเมืองปัตตานีซึ่งมีอยู่หลายร้อยนาย และเร็วๆ นี้จะเพิ่มมาอีก 200 นาย ซึ่งผ่านการฝึกมาแล้ว และกำลังจะมาเริ่มทำงาน แต่ปัญหาก็คือเมื่อไหร่พวกเขาจะได้กลับไปฝึกทบทวนอีก เพราะการปฏิบัติหน้าที่นับวันจะยิ่งไม่ปลอดภัย ทุกคนจึงต้องการเพิ่มทักษะการป้องกันตัวและการใช้อาวุธให้เชียวชาญมากขึ้น”
วิโรจน์ บอกว่า สิ่งที่ อส.ต้องการมากที่สุดคือการฝึกอบรม ไม่ใช่เรื่องเงินเดือนและสวัสดิการ เพราะนั่นคือเรื่องรอง
“เรื่องเงินเดือนกับสวัสดิการ รัฐมีให้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่เป็นไร เพราะทุกวันนี้ อส.ทุกคนก็ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงกันอยู่แล้ว แต่ความถนัดในการใช้อาวุธ ความสามารถในการป้องกันตนเองและการดูแลประชาชน ตรงนี้ต่างหากที่พวกเขาต้องการเรียนรู้” ผู้บังคับกองร้อย อส.ปัตตานี กล่าว
เรื่องค่าตอบแทนของ อส.เป็นที่กล่าวขานกันว่าแทบจะไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ต้องรับผิดชอบภารกิจมากมาย ความรู้สึกในหัวอกของ อส.จึงไม่ต่างจากทหารพรานสักเท่าไหร่
แวยูโซ๊ะ มูซูยี อส.วัย 47 ปี เล่าว่า เขาเริ่มเป็น อส.ที่ อ.ปะนาเระ ตั้งแต่ปี 2531 หรือกว่า 20 ปีมาแล้ว เมื่อก่อนเงินเดือนแค่ 1,200 บาท ทางราชการมีอาวุธและเครื่องแบบให้ เงินแค่นั้นกับค่าครองชีพในสมัยนั้นก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะยังมีภาระไม่มาก
“แต่ปัจจุบันแม้ผมจะได้เงินเดือน 8,000 บาท เบี้ยเสี่ยงภัยอีก 2,500 บาท และค่าครองชีพอีก 1,000 บาท รวมแล้วหมื่นกว่าบาท แต่ผมมีภาระมากขึ้น มีลูก 3 คน เงินเดือนที่ได้แทบไม่พอกับค่าใช้จ่าย ก็ต้องอยู่กันอย่างพอเพียง แต่หากเมื่อไหร่คนในครอบครัวเกิดเจ็บป่วย รายจ่ายเราก็จะเพิ่มทันที เพราะสมาชิก อส.เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เฉพาะแค่ตัวเองคนเดียวเท่านั้น ส่วนบุตรกับภรรยาไม่มีสิทธิ์ จึงอยากให้กระทรวงมหาดไทยช่วยดูแลภาระตรงนี้ด้วย”
เงินเดือนหมื่นกว่าบาทแม้หลายคนมองว่ามากโขอยู่สำหรับคนที่มีการศึกษาน้อย และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ถ้าเทียบกับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญแล้ว ต้องบอกว่าไม่คุ้มเลย
“เฉพาะ อ.ปะนาเระ มีกำลัง อส.ร้อยกว่านาย ฟังดูเหมือนเยอะ แต่ต้องเข้าใจว่าเมื่อทำงานจริงเราต้องแบ่งพื้นที่กันทำ เช่น ตั้งด่านจุดละ 6 คน รปภ.ครู 5 คนต่อ 1 ชุด นอกจากนั้นยังต้องดูแลนาย และทำงานที่อำเภออีก กำลังที่มีเมื่อเทียบกับงานจึงต้องบอกว่าน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะแต่ละจุดล้วนเสี่ยงอันตราย อีกอย่างคืออาวุธยังไม่เพียงพอ เวลาไปทำงานต้องมาเบิกอาวุธ พอจะไปลาดตระเวนทีก็เบิกกันที ทั้งๆ ที่การทำงานในพื้นที่เสี่ยงต้องมีอาวุธครบ ไม่ใช่ขาดๆ เกินๆ แบบนี้” แวยูโซ๊ะ กล่าว
ความยากลำบากในการใช้ชีวิต กับภารกิจที่มากโขและเสี่ยงอันตราย ทำให้ อส.ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะเครียด โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีข่าวเพื่อนร่วมอาชีพถูกทำร้ายหรือตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรง
“เวลาฟังข่าวก็รู้สึกเสียใจ แต่มันไม่มีทางเลือก เราต้องเดินหน้าทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีต่อไป เพราะเป็นพื้นที่ของเรา อย่าลืมว่า อส.คือราษฎรในพื้นที่ที่อาสามาดูแลบ้านของตัวเอง ฉะนั้นไม่ว่าจะเสี่ยงแค่ไหนเราก็ต้องทำ เพื่อบ้านของเรา”
“หน้าที่ของ อส. เช้าขึ้นต้องเข้างาน 7 โมงเพื่อไปรับคณะครูส่งโรงเรียน เสร็จแล้วก็ต้องออกลาดตระเวนเส้นทางจนกว่าจะพักเที่ยง หลังเที่ยงก็ออกดูแลความสงบเรียบร้อยอีกครั้ง ก่อนจะไปรับคณะครูกลับไปบ้าน วันไหนผ่านพ้นไปด้วยดีก็ถือว่าโชคดี แต่ก็ไม่รู้ว่าวันไหนจะเกิดเหตุร้าย เรียกว่าต้องขึ้นกับดวงของแต่ละคน”
ในความเห็นของ แวยูโซ๊ะ เขาคิดว่านอกจากฝึกการใช้อาวุธแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ควรเร่งฝึกเป็นการด่วน คืองานด้านจิตวิทยามวลชน
“ปัจจุบันเรามีทหารมาฝึกให้ปีละครั้ง ครั้งละ 15 วัน เพื่อทดสอบร่างกายและยิงปืน แต่ผมอยากให้มีการอบรมด้านจิตวิทยาด้วย เพราะเราต้องเข้าไปในพื้นที่ ไปพบปะประชาชน และดูแลความปลอดภัยเส้นทาง งานแบบนี้ต้องใช้จิตวิทยาช่วย ยิ่งในพื้นที่เสี่ยง คนร้ายมักใช้จิตวิทยากับชาวบ้าน เราจึงต้องใช้จิตวิทยามาสู้กับเขา แต่นี่เราไม่มี ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่อาศัยความเป็นคนพื้นที่กับดวงเท่านั้น” แวยูโซ๊ะ กล่าว
ทั้งหมดเป็นเสียงเพรียกจาก “นักรบประชาชน” ผู้อาสารักษาแผ่นดินถิ่นเกิดให้สมดั่งคำขวัญของพวกเขาที่ว่า...ปวงข้าฯ อส. ขอตั้งสัจจา จะปกป้องพารา จนสิ้นใจ!