ตรวจแนวรบ "เจรจาดับไฟใต้" เมื่อ "องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ" ขอมีเอี่ยว
กรณีที่ศาลโกตาบารู ประเทศมาเลเซียยกฟ้อง 3 คนไทยจาก จ.นราธิวาส ในคดีครอบครองวัตถุระเบิดและอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากที่บ้านเช่าหลังหนึ่งในย่านปาเสมัส รัฐกลันตัน และคดียุติลงอย่างเด็ดขาดเมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น กลายเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทยต้อง "คิดหนัก" เกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ของไทย ซึ่งทางการไทยคาดหวังอย่างสูงจากมาเลเซีย
ในมุมมองของฝ่ายไทย...คดีนี้เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความร่วมมือที่ดีต่อกัน เพราะฝ่ายความมั่นคงไทยหมายมั่นปั้นมืออย่างมาก เนื่องจากมีหลักฐานและหมายจับชัดเจนว่า 2 ใน 3 ของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ (อ่านรายละเอียดคดีและคำพิพากษาได้ใน ปมลึกมาเลย์ยกฟ้องคดีระเบิด 3 มุสลิมใต้ กับคำให้การต่อต้านรัฐไทย! http://www.isranews.org/south-news/special-talk/53-2009-11-15-11-15-38/16051--3-.html)
ผลของคดีนี้จึงสะเทือนถึงการทำงานของรัฐบาลไทยในแง่ของการ "พูดคุยสันติภาพ" ซึ่งกำลังก่อรูปกำหนดทิศทางตามที่กำหนดกรอบเอาไว้ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 9 ก.พ.2555 และรัฐสภาทราบเมื่อปลายเดือน มี.ค.
ในวัตถุประสงค์ข้อ 8 จาก 9 ข้อเพื่อแปรนโยบายดังกล่าวสู่การปฏิบัติ ระบุเอาไว้ชัดเจนให้ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ (อ่านรายละเอียดได้ใน ส่องนโยบาย สมช.หนุน "พูดคุยสันติภาพ" ดับไฟใต้ http://www.isranews.org/south-news/documentary/39-2009-11-15-11-15-13/6241--qq.html)
ที่ผ่านมารัฐไทยมีข้อมูลมาตลอดว่าชายแดนมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐกลันตัน เป็นแหล่งพักพิงและหลบซ่อนของผู้ก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ฉะนั้นการจะสกัดการเคลื่อนไหวเพื่อบรรเทาเหตุรุนแรงรายวัน ก่อนจะก้าวไปสู่การแก้ไขปัญหาในขั้นต่อไปนั้น ความร่วมมือจากรัฐบาลมาเลย์จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
ล่าสุดจึงมีข่าว พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพบก เตรียมจัดคณะพูดคุยกับทางการมาเลย์ เพื่อกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นตามที่เคยรับปากกันเอาไว้
ขณะที่ในแง่ของการ "เจรจา" หรือ "พูดคุยสันติภาพ" ต้องยอมรับว่าตั้งแต่นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลบังคับใช้ ความเคลื่อนไหวด้านนี้ดูจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในภาพใหญ่ที่คุมเกมโดยรัฐบาล มีข่าวว่า นายยูซุฟ คัลลา อดีตรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้เข้าพบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหารือกันถึงแนวทางการ "พูดคุยสันติภาพ" ทั้งในแง่ที่อินโดนีเซียจะเป็น "ตัวกลาง" และในแง่ของการพูดคุยกับบางกลุ่มจากชายแดนใต้ของไทยที่ไปพำนักในอินโดนีเซีย
นายยูซุฟ คัลลา ผู้นี้เคยมีบทบาทเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "ตัวแทนชุมชนมุสลิมทางตอนใต้ของประเทศไทย" เมื่อปี 2551 ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช จนเป็นข่าวครึกโครมพร้อมภาพถ่ายมาแล้ว โดยผู้แทนของรัฐบาลไทยในครั้งนั้นคือ พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
ส่วนในระดับของหน่วยปฏิบัติอย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ภายใต้การนำของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ก็มีข่าวอย่างต่อเนื่องว่าได้ไป "พูดคุยสร้างความเข้าใจ" กับกลุ่มเห็นต่าง และกลุ่มที่ถูกมองว่าเห็นต่าง เช่น กลุ่มผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซีย และอีกบางกลุ่มในอินโดนีเซีย มีทั้งที่ พ.ต.อ.ทวี เดินทางไปด้วยตนเอง และส่งคนที่ไว้วางใจเดินทางไป
แต่อีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวก็คือ การต่อสายพูดคุยสานสัมพันธ์กับรัฐบาลซาอุอาระเบียซึ่งมีกรณีบาดหมางกับไทยมาเนิ่นนานจากคดีสังหารเจ้าหน้าที่ทูต อุ้มฆ่านักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ และคดีโจรกรรมเพชรซาอุฯ โดย พ.ต.อ.ทวี สานต่อการพูดคุยจากประเด็นความคืบหน้าในคดีสำคัญที่รัฐบาลซาอุฯคาใจ และรุกเข้าไปถึงเรื่องความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะที่ซาอุฯเป็น "พี่ใหญ่" ของประเทศในโลกมุสลิม
ความคืบหน้าทางด้านนี้นับว่าน่าพอใจ เพราะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลามของซาอุฯ เคยเดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยมุ่งลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ในรอบกว่า 20 ปีที่ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลซาอุฯเดินทางเยือนไทย
และล่าสุดมีข่าวว่า พ.ต.อ.ทวี พร้อมคณะเป็นฝ่ายเดินทางไปเยือนซาอุฯบ้าง โดยเป็นการเดินทางไปแบบลับๆ เพื่อหารือในแง่ความร่วมมือบางประการ และอาจมีการพูดถึงปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย
ส่วนในภาพของ "ผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐ" มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักจาก นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เตรียมจัดประชุม "สภาสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย" ที่กรุงเทพฯ ในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้ เพื่อเดินหน้าจัดตั้ง "สถาบันสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย" หรือ The Asian Peace and Reconciliation Council (APRC)
แม้ นายสุรเกียรติ์ จะตั้งเป้าหมายองค์กรของเขาให้เป็น "ตัวกลาง" ในการสร้าง "กระบวนการพูดคุย" เพื่อแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ ในระดับภูมิภาค แต่ก็ไม่ได้ละเลยปัญหาในระดับประเทศ โดยเฉพาะปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นประเด็นค่อนข้างอ่อนไหวหากสถานการณ์ความรุนแรงยังคงยืดเยื้อต่อไปถึงช่วงที่ไทยก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ "ประชาคมอาเซียน"
ไล่ดูรายชื่อของ "ผู้ร่วมประชุม" ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนมีบทบาทและมีอิทธิพลอย่างสูงต่อปัญหาภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น นายยูซุฟ คัลลา เอง นายอับดุลลาห์ บาดาวี อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย รวมทั้ง นายยูฮา คริสเตนเซน ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือออกแบบสันติภาพและการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งแห่งฟินแลนด์ ซึ่งมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพ "อาเจะห์" และปัจจุบันเชื่อมการทำงานของนายทหารระดับสูงสายพิราบของไทย
ส่วนใน "ภาคประชาสังคม" กำลังจะมีการเปิดตัว “กระบวนการสันติภาพปาตานี” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กับสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเปิด “พื้นที่กลาง” สำหรับการพูดคุยระหว่างคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ความขัดแย้งและการเสนอ "แผนที่เดินทาง" ไปสู่สันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม โดยดึงหลายๆ ภาคส่วนเข้าร่วม เพราะเชื่อว่ากระบวนการสันติภาพไม่อาจเกิดได้จากการกำหนดแนวทางของ "คู่กรณีหลัก" คือฝ่ายรัฐกับฝ่ายตรงข้ามรัฐเท่านั้น โดยในวันที่ 7 ก.ย.นี้จะมีการอภิปรายเรื่อง "กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน" ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ด้วย
แม้การเคลื่อนไหวในระดับต่างๆ โดยเฉพาะจาก "องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ" และ "ภาคประชาสังคม" จะเป็นเรื่องดี แต่ก็มีเสียงท้วงติงจากนักวิชาการด้านความมั่นคงแห่งกองทัพอยู่เหมือนกันว่า ภารกิจดับไฟใต้ยังขาด "ยุทธศาสตร์การเอาชนะกลุ่มก่อความไม่สงบ" ซึ่งการพูดคุยเจรจาก็เป็นแนวทางหนึ่ง แต่ต้องขับเคลื่อนอย่างสอดคล้องกัน และสอดรับกับการต่อสู้ด้านอื่น
เพราะหากต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเคลื่อน สุดท้ายผู้ที่กำหนดเกมทุกอย่างจะกลายเป็นฝ่ายผู้ก่อการ...ไม่ใช่รัฐไทย!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และภาพการคุมตัว 3 ผู้ต้องหาสัญชาติไทยขึ้นศาลมาเลเซียในคดีครอบครองวัตถุระเบิดเมื่อปี 2552
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากทีมกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ