แกะรอยใบปลิวเหตุฆ่า3ศพบันนังสตา ใครคือ "อส.ฮากิม" ที่ถูกกล่าวหาระรานชาวบ้าน
"นี้คือโทษฐานที่มึงสั่งให้ลูกน้อง อส.(ฮากิม)ฆ่าและรุกรานชาวมลายูของกู ปัตตานีเอกราช"
เป็นข้อความบนใบปลิว 5 แผ่นจาก 6 แผ่น ที่ถูกเขียนด้วยปากกาสีแดงบนกระดาษสีขาวขนาดเอ 4 ซึ่งเจ้าหน้าที่พบบริเวณจุดเกิดเหตุสังหารหมู่ 3 ศพคณะผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นำโดย นายเอียะ ศรีทอง อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านกาสังใน ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อบ่ายวันพุธที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะกำลังเดินทางกลับหมู่บ้านหลังเสร็จจากการประชุมที่อำเภอ
ถือเป็นปฏิบัติการสังหารที่โหดเหี้ยม เพราะสองในสามของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิง คือ นางเฉลียว พิกุลกลิ่น อายุ 50 ปี และ นางอุไร ทับทอง อายุ 47 ปี โดยทั้งคู่เป็นพี่น้องกัน หนำซ้ำศีรษะของนางอุไรยังถูกตัดขาด และคนร้ายนำศีรษะไปโยนทิ้งไว้ในพงหญ้าอีกฝั่งหนึ่งของถนนด้วย
การกระทำรุนแรงต่อชีวิตของบุคคลอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีทางสู้ และยังทำร้ายทำลายศพ ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินการจับกุมมาลงโทษ
ทว่าสิ่งที่น่าค้นหาไม่น้อยไปกว่าการล่าตัวผู้กระทำผิด ก็คือมูลเหตุหรือแรงจูงใจของการกระทำ ซึ่งตรงจุดเกิดเหตุมีการทิ้งใบปลิวบอกเอาไว้...
แกะรอยใบปลิวปริศนา
น่าแปลกที่เนื้อหาหรือข้อความคล้ายๆ กันนี้ เคยปรากฏมาแล้วในใบปลิวอีกหลายใบที่ถูกทิ้งไว้ในเหตุการณ์ความรุนแรงหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่ จ.ยะลา
เช่น เหตุสังหาร ด.ต.เอกพงษ์ ศักดายุทธ อายุ 65 ปี อดีตตำรวจสันติบาล เสียชีวิตคาปั๊มน้ำมันบริเวณแยกกำนัน ในเขตเทศบาลตำบลยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 17 มี.ค. โดยใกล้ๆ กับศพพบกระดาษเอ4 เขียนด้วยหมึกสีดำ-แดง มีข้อความขู่ทำร้ายชาวบ้านไทยพุทธ เพราะทางการปล่อยให้ อส. (อาสารักษาดินแดน) อ.บันนังสตา จ.ยะลา ระรานชาวบ้านที่บันนังกูแว (หมู่บ้านหนึ่งใน อ.บันนังสตา)
หรือเหตุการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ 3 มี.ค. คนร้ายขว้างระเบิดเข้าไปในร้านขายก๋วยจั๊บ ย่านชุมชนไทยพุทธ (หน้าโรงเรียนยะลาบำรุงผดุงประชา) เลขที่ 26 ถนนเทศบาล 3 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน แต่ในที่เกิดเหตุคนร้ายได้ทิ้งใบปลิวเป็นกระดาษเอ4 สีขาว ข้อความพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ อ้างว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อล้างแค้นจากกรณีที่ทางการปล่อยให้ อส.ฮากิม (ระบุชื่อ-นามสกุลจริง) ซึ่งเป็น อส.บันนังสตา ระรานชาวบ้านที่บันนังกูแว เป็นต้น
จากการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ชุดตรวจจุดเกิดเหตุ และผู้สื่อข่าวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ติดตามไปรายงานข่าวความรุนแรง ณ จุดเกิดเหตุ ประมาณว่ามีการทิ้งใบปลิวเขียนข้อความคล้ายคลึงกันนี้ โดยมีการพาดพิงถึงพฤติกรรมของ อส.ฮากิม และพรรคพวก ไม่น้อยกว่า 4-5 ครั้งแล้ว
ประเด็นที่ต้องค้นหาต่อไปก็คือ อส.ฮากิม คือใคร มีตัวตนจริงหรือไม่ ถ้ามีตัวตนจริง เขามีพฤติกรรมอย่างไร หรือเป็นเพียงการอุปโลกน์เรื่องราวขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุร้ายของบรรดากลุ่มก่อความไม่สงบที่เลือกใช้วิธีรุนแรง และที่สำคัญ...เกิดอะไรขึ้นที่บันนังกูแว
ใครคือ อส.ฮากิม
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่บันนังสตา ยืนยันว่า อส.ฮากิม มีตัวตนจริง โดยครอบครัวของเขามีพื้นเพอยู่ที่บ้านกูแบยีงอ ซึ่งเป็นบ้านย่อยของบ้านบันนังกูแว ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา แต่คนนอกพื้นที่จะไม่รู้จักหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ มักรู้จักเฉพาะบ้านบันนังกูแวเท่านั้น
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าปัจจุบัน อส.ฮากิม มีอายุราว 30 ต้นๆ เมื่อสมัยเด็กเขากับน้องๆ ก็เป็นเด็กดี เมื่อโตขึ้นมาก็เที่ยวเล่นซุกซนเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่เนื่องจากสมัยนั้นในพื้นที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวโดยอ้างอุดมการณ์เยอะ ทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกหวาดกลัว เพราะจู่ๆ ก็มีชาวบ้านถูกฆ่า ทำให้หลายๆ ครอบครัวเดือดร้อน และครอบครัวของ อส.ฮากิม ก็อยู่ในสภาพเดียวกันด้วย
ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์ความรุนแรงรายวันขึ้นในพื้นที่ และภาครัฐเปิดรับสมัครชายฉกรรจ์เข้าประจำการกองกำลังของฝ่ายรัฐ ทั้งทหารพราน และ อส. ทำให้ อส.ฮากิมกับน้องชายสมัครเข้าเป็น อส.ประจำอำเภอบันนังสตา
เท่าที่ประมวลข้อมูลจากชาวบ้าน สรุปได้ว่า เมื่อ อส.ฮากิม และน้องชาย ได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ก็ได้ช่วยเหลืองานราชการเป็นอย่างดี และเริ่มขยายวงไปใกล้ชิดกับกลุ่มคนมีสี ทั้งในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด โดยทั้งคู่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายประสบผลสำเร็จ ทำให้ได้รับคำชื่นชม แต่ในความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่กลับตรงกันข้าม
ชาวบ้านหลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า ถูกคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐรังแก อาจจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง แต่เป็นลูกน้องหรือคนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ รวมทั้งกองกำลังประจำถิ่นของรัฐซึ่งเป็นคนในพื้นที่เอง ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า อส.ฮากิม รู้เห็น และหลายครั้งที่ชาวบ้านพยายามร้องเรียน แต่ฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายก็ไม่ได้ขยับทำอะไร
ที่ผ่านมามีคดีร้ายแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่ก็สรุปว่าเป็นเหตุล้างแค้นส่วนตัว หรือขัดแย้งเรื่องแบ่งมรดกกันไม่ลงตัว ทั้งๆ ที่ชาวบ้านรู้ดีว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
อิทธิพลมืดปกคลุม
คำบอกเล่าของชาวบ้านทำให้รู้ว่า สภาพการณ์ที่ อ.บันนังสตา ทุกวันนี้ เหมือนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน กับ กลุ่มที่อยู่ตรงกันข้ามในนามของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งบางกรณีก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่โดยตรง เมื่อสองกลุ่มนี้ขัดแย้งกัน หลายๆ ครั้งชาวบ้านก็กลายเป็นเหยื่อ
สภาพเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัย พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา มีกลุ่มที่อ้างว่าเป็นคนของ พล.ต.อ.สมเพียร นำโดย "ผู้ใหญ่ ล." ทำตัวคล้ายเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ใครที่อยู่ข้างฝ่ายเดียวกันก็จะได้รับการคุ้มครอง แต่ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามก็จะโดนมาตรการตาต่อตาฟันต่อฟัน
เหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธกลุ่มใหญ่บุกเข้าโจมตีและเผาบ้าน "ผู้ใหญ่ ล." เมื่อเดือน ส.ค.ปี 2554 จนเกิดการยิงปะทะกัน และฝ่ายของผู้ใหญ่ ล.เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีกนับสิบ โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตคือลูกชายของผู้ใหญ่ ล.เอง น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีของสถานการณ์ในพื้นที่ อ.บันนังสตา ณ ห้วงเวลานั้น
อย่างไรก็ดี หลังจาก พล.ต.อ.สมเพียร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "จ่าเพียร" สิ้นชีวิตลงจากเหตุลอบวางระเบิดเมื่อเดือน มี.ค.2553 กลุ่ม "ผู้ใหญ่ ล." ที่อ้างว่าเป็นคนของจ่าเพียรก็ลดระดับการเคลื่อนไหวลง ทำให้ชาวบ้านคลายความหวาดวิตกกับสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีกลุ่มคนถือปืนสองกลุ่มใหญ่ขัดแย้งกันลงไปได้บ้าง
ทว่าชาวบ้านก็นอนหลับสนิทได้ไม่นาน ก็เกิดกรณีของ อส.ฮากิมและพวก ขึ้นมาอีก!
เกิดอะไรขึ้นที่บันนังกูแว
บ้านบันนังกูแว ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นหมู่บ้านที่ระยะหลังมีชื่อติดกลุ่มเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นบ่อยครั้ง และเป็นความรุนแรงที่กลายเป็นเงื่อนไขของสถานการณ์ ณ ห้วงเวลานั้นๆ ด้วย
ย้อนกลับไปในห้วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปีที่แล้ว (2556) ซึ่งรัฐบาลไทยทำข้อตกลงลดเหตุรุนแรงร่วมกันกับขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ปรากฏว่าเหตุรุนแรงแรกๆ ของช่วงรอมฎอนที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นหยิบมากล่าวหาว่ารัฐบาลไทยกระทำผิดข้อตกลง ก็คือ เหตุยิงครูสอนศาสนาที่บันนังกูแว นายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปี เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์ไปสวนยางพารา
หลังจากนั้นว่ากันว่าข้อตกลงเป็นอันล้มเลิก ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้กลับมาเกิดขึ้นตามปกติ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุสังหารครูสอนศาสนารายนี้ก็ตาม
ส่วนในปีนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ. เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนอาก้าบุกยิง นายดอเลาะ ผดุง อายุ 66 ปี และ นางมารีแย ผดุง อายุ 60 ปี สองสามีภรรยาเสียชีวิตคาที่ เหตุเกิดขณะทั้งคู่นอนพักผ่อนอยู่ในบ้านเลขที่ 67/1 บ้านบันนังกูแว หมู่ 4 ต.บันนังสตา จากนั้นคนร้ายได้จุดไฟเผาทรัพย์สินซ้ำ โดยหลังเกิดเหตุดังกล่าวทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ อ.บันนังสตา ตึงเครียดขึ้นและเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับคู่สามีภรรยา
เสียงครวญจากชาวบ้าน
"เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่รู้เห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่น่าสงสัยว่าทำไมพวกเขาจึงไม่แก้ไข ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำงาน ชาวบ้านบันนังสตาคงไม่ถูกรังแกถึงขนาดนี้ เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งมีแค่วันสองวัน แต่มันมีมานานมาแล้ว และทุกครั้งที่ชาวบ้านโวยวาย แต่ทุกอย่างกลับเงียบหาย ทำให้ชาวบ้านต้องแก้ไขด้วยวิธีของตนเอง ถ้าไม่สู้ก็ต้องยอมให้เขารังแก" ชาวบ้านรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในดินแดนบ้านเกิดของเขา
ขณะที่ชาวบ้านอีกรายหนึ่ง มองคล้ายกันว่า ทุกครั้งที่มีเหตุรุนแรงและมีข่าวเสนอออกไปว่ามีใบปลิวลักษณะนี้ (กล่าวหา อส.ฮากิม) น่าแปลกใจว่าทำไมเจ้าหน้าหน้าที่จาก กอ.รมน.ภาค 4 (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) หรือ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่พยายามบอกว่าจะสร้างความเป็นธรรมให้กับคนพื้นที่ กลับนิ่งเฉย
"ถ้าเสียงนี้สามารถส่งไปถึงผู้มีอำนาจได้ ก็อยากให้ลงมาดูแลตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นด้วย เพราะชาวบ้านในบันนังสตาเดือดร้อนมานานแล้ว ถ้าไม่เดือดร้อนจริง กลุ่มก่อความไม่สงบที่ก่อเหตุคงไม่ทิ้งใบปลิวแบบนั้นทุกครั้งที่เขาก่อเหตุ ส่วนชาวบ้านไม่มีทางเลือกอะไร ได้แค่นั่งดูและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น"
ส่วนสาเหตุที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เลือกใช้วิธีทิ้งใบปลิวกล่าวหา และเลือกที่จะก่อเหตุกับบุคคลอื่น แทนที่จะกระทำต่อ อส.ฮากิมและพวกโดยตรงนั้น ชาวบ้านในพื้นที่มองว่า อาจเป็นเพราะกลุ่ม อส.พำนักอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และค่อนข้างระวังตัว มีกำลังติดอาวุธคุ้มกัน ทั้งยังเป็นคนในพื้นที่ จึงรู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี
คำชี้แจงจากภาครัฐ
อย่างไรก็ดี เรื่องการทิ้งใบปลิวหลังก่อเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น การพิจารณาถึงความเชื่อมโยงก็ต้องทำอย่างรอบคอบและให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกอ้างถึงเช่นกัน เพราะที่ผ่านมีหลายกรณีที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ทิ้งใบปลิวอ้างความเกี่ยวโยงถึงเหตุการณ์รุนแรงอื่นๆ ในช่วงนั้น เพื่อเบี่ยงเบนคดี
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเมื่อเกิดเหตุฆ่าเด็กชายสามพี่น้องตระกูล "มะมัน" ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อต้นเดือน ก.พ. ก็มีเหตุรุนแรงที่กระทำการในลักษณะเหี้ยมโหดเกิดขึ้นตามมาอีกหลายเหตุการณ์ บางเหตุการณ์มีการทิ้งใบปลิวอ้างว่าแก้แค้นกรณีเจ้าหน้าที่ฆ่าเด็กสามศพ (มีการปล่อยข่าวลือช่วงหลังเกิดเหตุว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่) แต่เมื่อสืบไปสืบมากลับพบว่าเป็นเหตุขัดแย้งส่วนตัวบ้าง หรือเป็นเหตุชู้สาวก็ยังมี
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับสูงของ อ.บันนังสตา ให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่มีการทิ้งใบปลิวอ้างตอบโต้ อส.ฮากิม และพวกว่า ผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานของตำรวจพบความเชื่อมโยงไปยังคดีความมั่นคงอื่นๆ อีกหลายคดีมากกว่ากรณีที่อ้างถึง อส.ฮากิม
"อส.คนนี้มีตัวตนจริง และมีเรื่องที่ถูกกล่าวหาร้องเรียน แต่เป็นเรื่องส่วนตัว จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับเหตุรุนแรงและการทิ้งใบปลิวที่อ้างว่าเกี่ยวพันกับ อส.คนนี้" เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรายนี้กล่าว และว่าที่ผ่านมาไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือเรียกตัว อส.ฮากิม มาสอบถาม เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ศอ.บต.กลับได้รับข้อมูลในอีกลักษณะหนึ่ง
"เราทราบดีว่าเหตุรุนแรงหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการทิ้งใบปลิวอ้างว่าเป็นการแก้แค้นตอบโต้ อส.ในพื้นที่บันนังสตา จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเหตุรุนแรงในห้วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดในพื้นที่ อ.บันนังสตา คาดว่าจะได้ข้อเท็จจริงเร็วๆนี้"
"ส่วน อส.ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในใบปลิวนั้น ทราบว่าเป็นคนที่เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยใช้งานอยู่ จึงไม่อยากเข้าไปแทรกแซงการทำงานของหน่วยอื่น เบื้องต้นจึงต้องรอผลพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นก่อน" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ศอ.บต.ระบุ
สำหรับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ ศอ.บต.ตั้งขึ้นนี้ ลงนามโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. มี นายวิสุทธิ์ สิงห์ขจรวรกุล อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
ภารกิจคืนสันติสุขให้ชาวบ้านบันนังสตา นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นท้าทายหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าเหตุรุนแรงในดินแดนแห่งนี้จะก่อขึ้นโดยน้ำมือของใคร แต่หากรัฐไม่สามารถจัดการได้ ย่อมหมายถึงภาวะสิ้นความเชื่อถือศรัทธาในความรู้สึกของพี่น้องประชาชน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ใบปลิวกล่าวหาพฤติกรรมของ อส.บันนังสตา ที่คนร้ายทิ้งไว้หลังก่อเหตุรุนแรงหลายๆ เหตุการณ์ในพื้นที่
หมายเหตุ : ใช้เทคนิคลบชื่อ-สกุลจริงของ อส.ในใบปลิว เพื่อเคารพสิทธิผู้ถูกกล่าวหาซึ่งยังไม่ถูกพิสูจน์ว่ากระทำความผิดจริง