อินไซด์กลันตัน...ภาพฝันแห่งสันติสุขแนบชิดชายแดนใต้
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
หลายคนคงเคยสังเกตเวลาที่พูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเราซึ่งกลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งหนึ่งที่ทั่วโลกจับตามอง มักมีการหยิบยก “รัฐกลันตัน” ทางตอนเหนือของมาเลเซีย ติดกับจังหวัดนราธิวาสของไทย เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุขของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ในท่วงทำนองของ “ดอกไม้หลากสี”
เสียงลือเสียงเล่าอ้างทำให้ใครหลายคนอยากรู้จัก "รัฐกลันตัน" มากกว่าหาดูในแผนที่...
“แวลีเมาะ ปูซู” ผู้สื่อข่าวสาวของ “อิศรา” มีประสบการณ์เดินทางเยือน “รัฐกลันตัน” ในโครงการ “นำคณะครูผู้สอนศาสนาอิสลามและนักเรียนไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องศาสนาและพบปะหารือกับมุขมนตรีรัฐกลันตัน” ซึ่งจัดโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
แม้จะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เรื่องราว “ดอกไม้หลากสี” ยังคงทันสมัยและน่าสนใจเสมอ...
แวะเยือนโกตาบารู
“กลันตัน” ณ วันนี้เป็นหนึ่งใน 13 รัฐของประเทศมาเลเซีย เป็นรัฐทางตอนเหนือสุดของประเทศ มี สุลต่านอิสมาแอล อิบนิ อัลมัรฮูม สุลต่านยะห์ยา ปุตรา และ พระชายา ตวนกูอานิส บินตี อัลมัรฮูม ตวนกูอับดุลฮามิด เป็นผู้ปกครอง และมีประชากรราว 5 แสนคน
รัฐกลันตันแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ เป็นเมืองที่ปราศจากอบายมุข ไม่มีอาหารฮะรอม (อาหารที่ผิดหลักการทางศาสนาอิสลาม) พื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐจรดพรมแดนไทยด้านจังหวัดนราธิวาส ขณะที่ “นครโกตาบารู” ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ อยู่ห่างจากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพียง 25 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอสุไหง-โกลก เมืองเอกริมชายแดนของจังหวัดนราธิวาสเพียง 45 กิโลเมตรเท่านั้น
แม้จะมีแม่น้ำโก-ลกกั้นเขตแดนทางภูมิศาสตร์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย หรือจะกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงก็คือ ระหว่างนราธิวาสกับกลันตัน แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวกลันตันกับผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความใกล้ชิดผูกพันกันอย่างมาก ทั้งในแง่ของพรมแดน วัฒนธรรม และเครือญาติตั้งแต่ระดับเชื้อพระวงศ์จนถึงประชาชนทั่วไป
วันแรกของการเดินทาง คณะครูสอนศาสนาอิสลามและนักเรียนไทยมุสลิมได้มีโอกาสเข้าพบ ท่านสุรพล เพชรวรา กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ซึ่งท่านกงสุลใหญ่ได้ฉายภาพให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลันตันกับไทยอย่างชัดเจน
“แม้จะมีเส้นเขตแดนกั้นอยู่ แต่นั่นก็เป็นแค่เส้นเขตแดน เพราะความเป็นพี่เป็นน้องไม่ได้มีอุปสรรค ผู้คนจากทั้งสองประเทศยังคงไปมาหาสู่กัน มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคลึงกัน พูดได้ว่ากลันตันก็เหมือนกับภาคใต้ตอนล่างของไทย ผู้คนที่นี่อยู่กันอย่างสุขสงบ ผมคิดว่า ศอ.บต.จะได้เรียนรู้จุดแข็งของกลันตันเพื่อนำไปปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป” ท่านสุรพล กล่าว
ไฟใต้ในมุมมองของมุขมนตรี
จากนั้นคณะผู้มาเยือนได้เข้าเยี่ยมคารวะและรับฟังการบรรยายธรรมจากผู้นำด้านจิตวิญญาณคือ ตวนกูรูดาโต๊ะ ฮัจยี นิอับดุลอาซิส บินนิมัต มุขมนตรีรัฐกลันตัน โดยท่านได้ให้ข้อคิดที่น่าซาบซึ้งประทับใจ
“ทุกการกระทำในโลกนี้มีทั้งสิ่งที่เป็นข้อควรกระทำและสิ่งที่เป็นข้อห้าม สิ่งที่ควรกระทำคือการพูดความจริง มีความยุติธรรม มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ส่วนการทำร้ายผู้อื่น การฆ่าแกงกัน การติดยาเสพติด การลักเล็กขโมยน้อย นั่นคือสิ่งต้องห้าม เพราะฉะนั้นเราอย่าคิดที่จะกระทำการสิ่งใดตามใจเราเอง และให้นึกอยู่เสมอว่าเรานั้นเป็นบ่าวของพระองค์”
มุขมนตรีรัฐกลันตัน ยังแสดงความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบควรมี “คนกลาง” เป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ย เพราะสันติสุขไม่ใช่ได้มาด้วยการสู้รบหรืออาวุธ และกระสุนปืนไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา
“การปลดชนวนปัญหาที่แท้จริงต้องมาจากสมอง ผมไม่เคยเรียกร้องเอกราชให้รัฐกลันตัน แต่ผมใช้สมองและความคิด เราทุกคนเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า อิสลามไม่เคยพูดถึงชนชาติ ผมเองเป็นชนชาติมลายู แต่ทุกชนชาติ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ จีน หรืออิสลาม ต่างก็เป็นบ่าวของอัลลอฮ์ และมีบรรพบุรุษเดียวกันคือ อาดัม เมื่อเรามีบรรพบุรุษคนเดียวกัน ทำไมต้องมารบราฆ่าฟันกัน ตราบใดที่มีการสู้รบกัน ปัญหาต่างๆ ก็ไม่มีทางยุติลงได้”
“การบิดเบือนหลักคำสอนของศาสนานั้น เป็นเรื่องไม่สมควร จริงๆ แล้วอิสลามไม่เคยส่งเสริมหรือสนับสนุนในเรื่องของการรบราฆ่าฟัน แต่อิสลามส่งเสริมให้มนุษย์เผยแผ่หลักคำสอนของศาสนา การจะยุติสถานการณ์ในพื้นที่ลงได้ ต้องมาจากการที่ทุกฝ่ายยอมกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังต้องการใช้ความรุนแรง โอกาสที่จะยุติสถานการณ์คงยาก ฉะนั้นหากหาคนกลางที่น่าเชื่อถือมาเปิดการเจรจา สถานการณ์ต่างๆ ก็น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
พระดำรัสแห่งองค์สุลต่าน
อากาศยามบ่ายที่ร้อนอบอ้าวไม่แพ้ประเทศไทย แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรค คณะจากเมืองไทยยังได้เดินทางต่อไปยังอาคาร Dewan Utama Kompleks Islam Jubli Perek Sultan Ismail Petra เพื่อเข้าเฝ้า สุลต่านอิสมาแอล อิบนิ อัลมัรฮูม สุลต่านยะห์ยา ปุตรา (Tuanku zlmail Petra lbni Almarhum sultan Yahya Petra) และ พระชายา ตวนกูอานิส บินตี อัลมัรฮูม ตวนกูอับดุลฮามิด (Tengku Anis Binti Almarhum Tengku Abdul Hamid)
ทั้งสองพระองค์ทรงอนุญาตให้คณะครูและนักเรียนจากแดนไทยได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด พร้อมทรงซักถามเรื่องต่างๆ ด้วยอัธยาศัยแห่งมิตรไมตรี
โอกาสนี้ สุลต่านรัฐกลันตันและพระชายา ทรงมีพระดำรัสก่คณะครูผู้สอนศาสนาอิสลามและนักเรียนไทยมุสลิม
“พวกท่านจงกลับไปอยู่ด้วยความใจเย็น สงบเรียบร้อย และทำตัวให้ดี ใช้ความพยายามให้มาก ความสำเร็จจะมาถึงเอง ถ้าเกิดว่าความพยายามมันน้อย ความสำเร็จก็จะน้อยทันที”
“เยาวชนที่เป็นนักเรียนก็เช่นเดียวกัน อย่าเป็นตัวสร้างปัญหาสำหรับคนอื่นเขา เรามีลูกถึง 4 คน ทุกคนต่างเล่าเรียนจนจบ มีการมีงานทำกันจนหมด และรับเงินเดือนจากรัฐบาลเหมือนกัน ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์ แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นลูกกษัตริย์ก็ตาม ฉะนั้นขอให้เยาวชนมีความตั้งใจในการศึกษาทั้งโลกนี้และโลกหน้า หรือผู้ใดมีความประสงค์จะมาเล่าเรียนที่กลันตัน ทางนี้ก็มีความยินดี”
“พี่น้องใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาอะไรช่วยบอกให้ทราบด้วย ยินดีที่จะช่วยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้สงบสุขและเกิดสันติภาพ”
สัมผัสกลันตันและคำถามถึง"บ้านเรา"
ภารกิจเยือนกลันตันเที่ยวนี้ คณะจากประเทศไทยยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐกลันตัน ที่มีเรื่องราวประวัติของเมือง เรื่องราวของสุลต่าน วิถีชีวิตชาวบ้าน และวัฒนธรรม ให้ได้ศึกษาอย่างน่าตื่นตื่นใจ จากนั้นยังไปเยี่ยมชม มูลนิธิอิสลามแห่งรัฐกลันตัน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์เรื่องการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาอิสลามที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วย
สุไฮมี มะเกะ เลขาธิการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า มูลนิธิอิสลามแห่งรัฐกลันตันเป็นแบบอย่างที่เห็นชัดเจนในเรื่องการเรียน การสอน และดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยมูลนิธิจะควบคุมดูแลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการและอื่นๆ ซึ่งจะแตกต่างกับบ้านเราที่ตั้งมูลนิธิเป็นส่วนตัว
“มูลนิธิของไทยส่วนใหญ่เป็นของส่วนตัว มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในขณะที่รัฐกลันตันเห็นอย่างชัดเจนว่าทำเพื่อส่วนรวม ตั้งเป็นสาธารณะ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล และโรงเรียนทุกโรงในรัฐกลันตันก็อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิอีกที ฉะนั้นข้อสอบก็จะเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ต่างประเทศยอมรับได้ เพราะมองว่าเป็นหลักสูตรที่มีความเป็นมาตรฐาน ไม่มีการใช้เส้น”
“พูดถึงข้อสอบบ้านเราตอนนี้ โรงเรียนใครก็โรงเรียนนั้นเป็นผู้ออกข้อสอบ ทำให้ความเป็นมาตรฐานไม่มี ถามว่าของเราทำได้ไหม ถ้าจะทำจริงๆ ผมว่าทำได้ โดยที่รัฐบาลต้องจริงจังด้วยเช่นกัน เด็กที่จบออกมาจึงจะมีประสิทธิภาพ” สุไฮมี กล่าว
ขณะที่ นายอับดุลฮากิม หะยีอับดุลเลาะ ครูสอนศาสนาโรงเรียนแสงธรรมวิทยา อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทาง ศอ.บต ที่มีโครงการดีๆ แบบนี้ การที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสุลต่านและพระชายาแห่งรัฐกลันตัน เป็นสิ่งที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน เพราะในช่วงชีวิตของคนเราใช่ว่าจะมีโอกาสแบบนี้ นับเป็นประสบการณ์ที่หายาก และตั้งใจจะกลับไปถ่ายทอดทุกเรื่องราวได้ลูกศิษย์ได้ซึมซับรับรู้ต่อไป
“วัฒนธรรมประเพณีในรัฐกลันตันก็ไม่ได้แตกต่างกับบ้านเรานัก แต่ทำไมผู้คนถึงสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่มีปัญหา ร้านค้าเปิดขายกลางคืนได้จนถึงสว่าง แล้วเราที่มีอะไรหลายๆ อย่างคล้ายคลึงกับที่นี่ ทำไมถึงต้องขัดแย้งแบ่งแยกกันด้วย”
ด้าน นัสรุดดีน สะแด นักเรียนจากโรงเรียนพัฒนาวิทยา จ.ยะลา บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางเยือนกลันตัน สิ่งสำคัญที่ได้เห็นก็คือกลันตันกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเหมือนอย่างแยกไม่ออก แต่ทำไมบ้านเราจึงเกิดปัญหาความไม่สงบ รบราฆ่าฟัน...
เป็นคำถามที่ทุกคนล้วนถามตัวเองเหมือนๆ กัน เพราะไม่อยากให้กลันตันกลายเป็นภาพฝันแห่งสันติสุขที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมของจังหวัดชายแดนภาคใต้!
-----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มุมหนึ่งของกลันตัน
2 ถ่ายภาพหมู่หน้าเรือนพักของท่านมุขมนตรี
3 บรรยากาศขณะเข้าเฝ้าองค์สุลต่าน และพระชายา