เอ็กซเรย์บันนังสตา…แดนสนธยากลืนชีวิต “หมวดตี้-ผู้กองแคน-ผู้กำกับฯสมเพียร”
นาซือเราะ เจะฮะ / ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุระเบิดที่หมู่ 2 บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้ผู้คนทั้งประเทศได้รู้จัก พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.บันนังสตา แต่หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าอำเภอแห่งนี้เคยกลืนชีวิต ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข หรือ “ผู้กองแคน” กับ ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ หรือ “หมวดตี้” วีรบุรุษสีกากีในหัวใจของใครหลายคนด้วยเช่นกัน
29 ก.ย.2550 ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข อายุ 30 ปี รองผู้บังคับกองร้อยรบพิเศษ 1 (รพศ.1) กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หรือตำรวจพลร่ม จากค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี ถูกซุ่มโจมตีขณะนำกำลังออกลาดตระเวนบริเวณเนินเนาวรัตน์ บนถนนบ้านสายสุราษฎร์-บ้านภักดี หมู่ 3 ต.เขื่อนบางลาง อ.บังนังสตา
20 มิ.ย.2551 ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ ผู้บังคับหมวด กองร้อยรบพิเศษ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ถูกซุ่มโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธขณะนำกำลังออกลาดตระเวน บริเวณเนินบ้านสันติ 1 หมู่ 2 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา
12 มี.ค.2553 พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดและยิงถล่มซ้ำ ขณะนำกำลังออกตรวจพื้นที่ บนถนนในหมู่บ้าน หมู่ 2 บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา
น่าสนใจไม่น้อยว่า เหตุใดตำรวจหนุ่มฝีมือดี อนาคตไกลถึง 2 นายที่มีศักยภาพพร้อมรบสูงสุด เพราะเป็นถึงตำรวจพลร่ม กับตำรวจรุ่นลายครามที่ช่ำชองพื้นที่อย่างมาก และมีความสามารถรอบตัว จึงต้องจบชีวิตในอำเภอแห่งนี้
“ทีมข่าวอิศรา” พาไปสำรวจพื้นที่บันนังสตา อำเภอที่กลืนชีวิตตำรวจที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “วีรบุรุษสีกากี” ไปแล้วถึง 3 นาย
ถิ่นนามะปราง...
อ.บันนังสตาตั้งอยู่ตอนกลางของ จ.ยะลา หากใช้เส้นทางสายหลักจากตัวเมืองยะลา คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 มุ่งลงใต้เพียง 39 กิโลเมตรก็จะถึงตัวอำเภอ โดยปลายสุดของถนนสายนี้คือ อ.เบตง ใต้สุดแดนสยาม
บันนังสตาแม้จะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่ก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่น้อย กล่าวคือตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2450 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว เดิมชื่อ “อำเภอบาเจาะ” เป็นเขตการปกครองที่ขึ้นกับเมืองรามัน ตั้งอยู่บริเวณบ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ ในปัจจุบัน
ต่อมาสยามได้ยกเลิกหัวเมืองต่างๆ จึงย้ายอำเภอมาตั้ง ณ ที่แห่งใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น "บันนังสตา" ซึ่งเป็นภาษามลายูถิ่น แปลว่า "นามะปราง" ปัจจุบันมีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ถิ่นนามะปราง บางลางอุทยาน อนุสรณ์สะพานโบราณ คู่บ้านกล้วยหิน”
“บางลางอุทยาน” ก็คืออุทยานแห่งชาติเขื่อนบางลาง เขื่อนหินถมแกนดินเหนียวกั้นแม่น้ำปัตตานี ขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วน “สะพานโบราณ” น่าจะหมายถึงสะพานเหล็กที่ทหารญี่ปุ่นสร้างข้ามแม่น้ำปัตตานีช่วงเข้าเขต อ.บันนังสตา เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว เพราะใช้สะพานคอนกรีตที่สร้างขนานอยู่แทน
บันนังสตามีพื้นที่ 629 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดต่อกับ อ.ยะหา อ.กรงปินัง และ อ.รามัน จ.ยะลา ทิศตะวันออกจรด อ.รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทิศใต้ติดต่อกับ อ.ธารโต จ.ยะลา และทิศตะวันตกติดต่อกับรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
บันนังสตาเป็นอำเภอเล็กๆ มีจำนวนประชากร 53,602 คน 50 หมู่บ้าน 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.บันนังสตา ต.บาเจาะ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ ต.ถ้ำทะลุ ต.ตลิ่งชัน และ ต.เขื่อนบางลาง ประชากรส่วนใหญ่ราว 60% นับถือศาสนาอิสลาม ที่เหลืออีก 32% นับถือศาสนาพุทธ
สวรรค์ของกลุ่มโจร
ที่ตัวอำเภอบันนังสตา มีสถานที่ราชการตั้งอยู่ติดๆ กัน ทั้งที่ว่าการอำเภอ โรงพัก และโรงเรียน มีสามแยกไม่เล็กไม่ใหญ่ หากหันหน้าไปทางทิศใต้บนทางหลวงหมายเลข 410 เลี้ยวขวาที่สามแยกนี้จะเข้าเขต ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นถนนสายที่เคยเกิดเหตุคนร้ายในชุดไอ้โม่งบุกยิงคนบนรถตู้สายเบตง-หาดใหญ่ เสียชีวิตถึง 8 ศพ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2550 กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ
ถนนสายนี้ยังเคยเกิดเหตุรุนแรงอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเหตุยิงปะทะ ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ มีข้าราชการและประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องมาสังเวยชีวิตมากมาย
ความน่ากลัวของบันนังสตาตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา อธิบายได้ง่ายๆ ก็คือเป็นเพียงหนึ่งใน 2 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แม่ทัพภาคที่ 4 ประกาศ “เคอร์ฟิว” หรือมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานตามเวลาที่กำหนด โดยอีก 1 อำเภอที่ประกาศเคอร์ฟิวพร้อมกันก็คือ อ.ยะหา ที่เกิดเหตุฆ่า 8 ศพบนรถตู้นั่นเอง
สภาพพื้นที่ของ อ.บันนังสตา เป็นที่ราบสลับหุบเขา ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น ป่ายางพารา และสวนผลไม้ แม้จะมีถนนสายใหญ่ตัดผ่านอย่างทางหลวงหมายเลข 410 แต่เมื่อแยกจากถนนสายนี้เข้าไปตามตำบลต่างๆ จะมีถนนสายเล็กๆ คดเคี้ยวไปตามเหลี่ยมเขาและราวป่า คล้ายเส้นโลหิตฝอยมากมายหลายสาย แต่ละสายลัดไปออกได้หลายอำเภอ บางสายลัดข้ามจังหวัดได้เลยทีเดียว
นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อำเภอแห่งนี้เป็นดั่งสวรรค์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะมีเส้นทางหลายเส้นที่เรียกกันว่า “คิลลิ่ง โซน” (Killing Zone) กล่าวคือเป็นทางโค้งขึ้นเนินเขาสูงข่ม สองข้างทางปกคลุมไปด้วยป่ารก ง่ายต่อการดักซุ่มยิงและลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน
หลังก่อเหตุก็มีเส้นทางให้เลือกหลบหนีได้อย่างสะดวกโยธิน!
ตลิ่งชัน...ปิดตำนาน”จ่าเพียร”
หากขับรถมาจากตัวเมืองยะลา พ้นเขต อ.กรงปินัง ก็จะเข้าสู่ อ.บันนังสตา มองป้ายข้างถนนจะพบชื่อหมู่บ้านแปลกๆ เช่น บ้านตะบิงติงงี อยู่ในเขต ต.ตลิ่งชัน
จากทางแยกเข้า ต.ตลิ่งชัน เพียง 20 กิโลเมตรก็จะเข้าเขต ต.กาหลง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ถนนสายนี้เป็นสายเล็กๆ 2 ช่องจราจร ตัดผ่านหุบเขา มีภูเขาใหญ่น้อยเป็นดั่งกำแพงล้อมรอบ แม้จะเป็นถนนลาดยางตลอดสาย และชาวบ้านนิยมใช้ เพราะย่นระยะเวลาการเดินทางไป จ.นราธิวาส ได้มากมายกว่าเส้นทางปกติถึงเท่าตัว แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า กลางคืนห้ามผ่าน!
ช่วงรอยต่อระหว่าง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา กับ ต.กาหลง อ.ศรีสาคร ส่วนใหญ่เป็นป่ายาง มีบ้านเรือนปลูกอยู่ห่างๆ กันไม่ถึง 20 หลังคาเรือน ที่เห็นเยอะคือเพิงเล็กๆ ที่ใช้พักช่วงกรีดยาง ส่วนใหญ่เป็นคนรับจ้างกรีดยางจากนอกพื้นที่เข้ามาอาศัย เลยจากจุดนี้ไปจะมีสามแยกที่สามารถเลี้ยวไป อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้อีกทางหนึ่งด้วย
และหมู่บ้านทับช้างที่ลึกเข้าไปใน ต.ตลิ่งชัน ก็คือจุดที่คนร้ายใช้ดักสังหาร พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ปิดตำนาน “จ่าเพียรขาเหล็ก” ที่ตรากตรำทำงานในเครื่องแบบสีกากีมานานถึง 40 ปี
ปลายทาง”หมวดตี้-ผู้กองแคน”
หากไม่เลี้ยวรถเข้า ต.ตลิ่งชัน แต่ขับตรงผ่านตัวอำเภอบันนังสตาลงไปทางใต้ จะพบทางแยกเข้าเขื่อนบางลาง เลี้ยวเข้าไปไม่ไกลจะพบทางแยกขวาขึ้นสันเขื่อน
คนนอกพื้นที่อาจเข้าใจว่า เส้นทางสายนี้ปลายทางอยู่ที่สันเขื่อนบางลางซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยงามแต่ร้างผู้คน ทว่าแท้ที่จริงแล้วถนนสายแคบๆ นี้ยังลัดเลาะริมเขาขึ้นไปยังหมู่บ้านอีกหลายแห่งบนพื้นที่สูง
และการเดินทางสู่ ต.เขื่อนบางลาง ที่คร่าชีวิต “ผู้กองแคน” กับ “หมวดตี้” ก็ต้องใช้เส้นทางสายนี้
หมู่บ้านสองข้างทางเป็นหมู่บ้านไทยพุทธสลับมุสลิม โดยคนไทยพุทธจำนวนหนึ่งอพยพมาจากนอกพื้นที่หลายสิบปีแล้ว แม้จะเป็นคนใต้แต่ก็ไม่ใช่ใต้สามจังหวัดชายแดน ชื่อหมู่บ้านที่เคยปรากฏผ่านสื่อเพราะเคยเกิดเหตุรุนแรงก็เช่น บ้านภักดี บ้านสันติ 1 เป็นต้น
หากยังจำชื่อบ้านสันติได้ คงนึกออกว่าเมื่อปลายปี 2549 คนไทยพุทธจากบ้านสันติ 2 ต.แม่หวาด อ.ธารโต และบ้านสันติ 1 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ได้พากันอพยพไปอาศัยอยู่ที่วัดนิโรธสังฆาราม ในตัวเมืองยะลา เพราะไม่กล้าอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากถูกกลุ่มคนร้ายไล่ล่าราวีอย่างหนักข้อ ถึงขนาดฆ่าทิ้งและเผาบ้าน
ผืนป่าทิศตะวันออกของถนนสายนี้คือพรมแดนไทย-มาเลเซีย ฉะนั้นแม้จะมีเส้นทางสายหลักจากเขื่อนบางลางขึ้นมาถึงหมู่บ้านเหล่านี้เพียงสายเดียว แต่การก่อเหตุและหลบหนีของคนร้ายก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสามารถพุ่งตรงเข้าเขต อ.ธารโต ซึ่งเต็มไปด้วยผืนป่าต่อเนื่องไปถึงเขต อ.เบตง ได้ ทั้งยังเล็ดรอดเดินเท้าเข้าประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย
การพลีชีพเพื่อชาติของ “ผู้กองแคน” และ “หมวดตี้” ไม่ได้น่าประหลาดใจเฉพาะตรงที่เขาทั้งคู่อยู่หน่วยเดียวกัน และผู้กองแคนเสียชีวิตในวันถัดจากวันคล้ายวันเกิด 1 วัน ส่วนหมวดตี้สิ้นลมในวันเดียวกับวันคล้ายวันเกิดครบ 24 ปีเท่านั้น แต่ทั้งสองคนยังถูกซุ่มโจมตีในท้องที่ตำบลเดียวกัน คือ ต.เขื่อนบางลางด้วย ต่างกันแค่เพียงหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ห่างกันไม่กี่กิโลเมตร
ถนนหนทางในย่านนี้ทั้งเปลี่ยว คดโค้ง และมีเนินสูงข่มที่เรียกว่า “คิลลิ่ง โซน” หลายแห่ง นานๆ ถึงจะมีรถแล่นผ่านสักคัน แถมเวลาที่มีรถจากนอกพื้นที่สัญจรเข้ามา ยังมีเด็กโตและวัยรุ่นผลุบโผล่จับจ้องอยู่เป็นระยะ ไม่รู้ว่าเป็นหน่วยดูต้นทางของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบหรือเปล่า
พูดกันแบบไม่เกรงใจก็คือ ทหาร ตำรวจระดับนายๆ ทั้งหลายแทบไม่เคยเดินทางเข้าพื้นที่นี้ด้วยรถยนต์เลย ส่วนมากใช้เฮลิคอปเตอร์กันทั้งนั้น และนั่นคือภาพสะท้อนอีกมุมหนึ่งที่ทำให้เห็นการปฏิบัติภารกิจบนความเสี่ยงที่บันนังสตา ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
แดนสนธยา…สมรภูมิถาวร?
ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ต่างอะไรกับสมรภูมิรบ ทำให้บันนังสตามีเหตุการณ์ความสูญเสียเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายก่อความไม่สงบ
นับเฉพาะฝ่ายเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีแต่ตำรวจระดับผู้กำกับการอย่าง พ.ต.อ.สมเพียร เท่านั้นที่ต้องสังเวยชีวิต แต่เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2549 พ.อ.สุทธิศักดิ์ ประเสริฐศรี ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 หรือ ผบ.ฉก.1 จ.ยะลา ก็ถูกวางระเบิดและยิงถล่มซ้ำจนเสียชีวิตมาแล้วที่บริเวณทางโค้งบ้านบาโงสะโต หมู่ 9 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา
31 พ.ค.2550 กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ระเบิดดักสังหารและยิงถล่มซ้ำทหารพรานที่ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา ขณะเคลื่อนกำลังไปช่วยเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งจากเหตุปะทะ ทำให้ทหารพรานพลีชีพในคราวเดียวกันถึง 12 นาย!
บันนังสตาเป็นเขตการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นายมะแอ อภิบาลแบ และพรรคพวก ซึ่งเป็นระดับแกนนำในพื้นที่ รางวัลนำจับหลักล้านบาท นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มย่อยๆ อีกหลายกลุ่ม แต่ละคนมีหมายจับยาวเป็นหางว่าว
เป็นที่ทราบกันดีว่าในพื้นที่แห่งนี้มีเหตุยิงปะทะกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุรุนแรงที่สร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายหนึ่ง ถัดจากนั้นอีกไม่กี่วันก็จะมีการโจมตีในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความสูญเสียให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างเช่นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2552 เกิดเหตุปะทะกันครั้งใหญ่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้ถึง 4 ศพ หนึ่งในนั้นคือ มะซอบี ยะโก๊ะ ซึ่งว่ากันว่ามีหมายจับถึง 16 หมาย และเชื่อว่าเป็นทีมซุ่มยิง “ผู้กองแคน” กับ “หมวดตี้” จนสิ้นชีวิต
โดยก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน เกิดเหตุคนร้ายยิงถล่มร้านอาหาร “ป้านา” ติดกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 ในตัวอำเภอบันนังสตา ทำให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 3 ราย และคนร้ายวางระเบิดซ้ำเพื่อดักสังหารเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจจุดเกิดเหตุ แต่ระเบิดไม่ทำงาน
ในทางการสืบสวนทราบว่าคนร้ายที่ก่อเหตุดังกล่าวคือกลุ่มของนายมะซอบี และรุ่งขึ้นจากนั้นอีก 1 วันเขาก็กลายเป็นศพ
นี่คือตัวอย่างของสภาพการณ์จริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่บันนังสตาซึ่งไม่ต่างอะไรกับสมรภูมิรบ และเป็นอยู่อย่างนี้มาเนิ่นนานแล้ว…
เมื่อใดหนอบันนังสตาจะหลุดพ้นจากสภาพแดนสนธยาเสียที!
-------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ทหารชุดลาดตระเวน ภาพที่เห็นจนชินตาในอำเภอแห่งนี้
2 ป้ายบอกทางริมถนนแจ้งว่าเข้าเขต อ.บันนังสตา แล้ว
3 "จ่าเพียรขาเหล็ก" พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา
4 "ผู้กองแคน" ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข
5 "หมวดตี้" ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต