ผลสะเทือนมติเยียวยา (1)...ตากใบยิ้มทั้งน้ำตา กรือเซะถามหาความเป็นธรรม
มติที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อผลสะเทือนในพื้นที่พอสมควร แม้การเยียวยาจะเป็นเรื่องดีที่ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ในบางมิติก็อาจนำไปสู่ปัญหาได้เช่นกัน
โดยเฉพาะมติของคณะกรรมการฯ ที่สรุปกรอบการเยียวยาล็อตแรก 4 กลุ่ม 5 กรณี ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์รุนแรงขนาดใหญ่หรือส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งสิ้น ทว่าแต่ละกรณีกลับจะได้รับเงินเยียวยาไม่เท่ากัน
"ทีมข่าวอิศรา" สำรวจอารมณ์ความรู้สึกของผู้เสียหายและครอบครัวผู้สูญเสียในพื้นที่ โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับอนุมัติกรอบการเยียวยาแล้ว พบว่าแต่ละกลุ่มมีท่าทีแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ตากใบ...ยิ้มทั้งน้ำตา
เมื่อวันอังคารที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส กรณีเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และสูญหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 จำนวนประมาณ 50 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.เพื่อแสดงความขอบคุณที่คณะกรรมการเยียวยาฯ ชุดที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และมี พ.ต.อ.ทวี เป็นกรรมการ มีมติให้จ่ายเงินเยียวยาผู้สูญเสียและผู้เสียหายกรณีตากใบ รายละ 7.5 ล้านบาท
นางแยนะ สะแลแม ตัวแทนผู้สูญเสีย กล่าวว่า ชาวบ้านทุกคนเดินทางมาด้วยใจ และมีความประสงค์ที่จะขอบคุณเลขาธิการ ศอ.บต.ที่สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นและไม่ทอดทิ้งประชาชน เพราะตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกเหมือนตกอยู่ภายใต้ข้อสงสัย แต่วันนี้เราได้รับคำตอบที่เคยเป็นปมในหัวใจแล้ว ทำให้มีกำลังใจต่อสู้เพื่อความยุติธรรมต่อไป อย่างน้อยก็ทำให้พวกเรารู้ว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง
นางมัสตะ เจะอูมา ซึ่งสูญเสียลูกชายคือ เด็กชายมูฮำหมัดซับรี อาบูคารี อายุเพียง 14 ปี เนื่องจากเสียชีวิตระหว่างถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบและถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า ได้ทราบข่าวว่าคณะกรรมการเยียวยาฯมีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ชาวบ้านก็รู้สึกดีใจ แม้ตัวเงินจะไม่สามารถทดแทนกับความสูญเสียได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ได้รับรู้และรู้สึกถึงความเป็นธรรมที่เกิดขึ้น จึงอยากขอบคุณเลขาธิการ ศอ.บต.ที่สร้างความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน ถึงแม้จะเรียกคืนชีวิตลูกชายกลับมาไม่ได้ แต่การที่ภาครัฐยังเหลียวแลและดูแลนั้น อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าพวกเราจะอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้อย่างไร
โอกาสนี้ พ.ต.อ.ทวี พร้อมด้วย นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้ลงมาพบปะกับกลุ่มชาวบ้านและพูดคุยอย่างเป็นกันเอง เมื่อครอบครัวผู้สูญเสียหลายคนเล่าถึงความทุกข์ยากที่ต้องประสบมาตลอดเกือบ 8 ปี ทำให้บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำเรื่องนี้คือการเยียวยาด้านจิตใจ ทำให้ชาวบ้านมั่นใจว่าหน่วยงานภาครัฐสามารถเป็นที่พึ่งได้ และทำอย่างไรให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในชุมชน การมอบเงินเยียวยาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือการดูแลคุณภาพชีวิตในระยะยาว เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถหยัดยืนและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข
กรือเซะ...ถามหาความเป็นธรรม
อีกด้านหนึ่งคือความรู้สึกของทายาทและครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 กรณีมัสยิดกรือเซะ ซึ่งคณะกรรมการเยียวยาฯเคาะตัวเลขเงินช่วยเหลืออยู่ที่ 4 ล้านบาท ขณะที่ผู้สูญเสียในเหตุการณ์เดียวกันแต่คนละสถานที่ คือที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กลับได้รับรายละ 7.5 ล้านบาท
คอลีเยาะ หะหลี ผู้สูญเสียพ่อคือ นายมะแอ หะหลี วัย 63 ปีในมัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 กล่าวว่า เสียความรู้สึกกับมติของคณะกรรมการเยียวยาฯ เพราะถือว่าไม่ยุติธรรม กรณีตากใบอ้างเหตุผลแค่ว่าเจ้าหน้าที่ทำร้าย แล้วมาเปรียบเทียบกับกรณีกรือเซะ ถามว่าเอาอะไรมาเปรียบเทียบ เอาอะไรมาชี้วัด และเอาอะไรมาตัดสิน
"ขอร้องอย่ามาพูดว่าใครผิดใครถูก เพราะว่าความจริงยังไม่ได้สรุปว่าอะไรเป็นอะไร จึงอยากเห็นการเยียวยาที่เท่าเทียมกัน ที่ผ่านมาความเป็นธรรมในเรื่องนี้เราได้เรียกร้องมาตลอด ในขณะที่บางกลุ่มไม่ได้เรียกร้องอะไรเลย ทำให้รู้สึกว่าความเป็นธรรมอยู่ห่างไกลจากพวกเรามาก"
คอลีเยาะ บอกว่า ประเด็นที่เธอติดใจมากที่สุดคือการกล่าวหาแบบเหมารวมว่าผู้ที่เสียชีวิตในมัสยิดทั้งหมดเป็นกลุ่มเดียวกับที่บุกโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีการพิสูจน์หรือนำคดีขึ้นสู่ศาล แต่ประเด็นนี้กลับกลายเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลถึงกรอบการเยียวยา ซึ่งทราบว่าทีแรกจะไม่ให้เลยด้วยซ้ำ หรือไม่ก็ให้ราวๆ 5 แสนบาท
"อยากให้สังคมแยกแยะว่าผู้ชายแก่ๆ คนหนึ่งนั่งอยู่ในมัสยิด นุ่งผ้าโสร่ง นอนบนผ้าละหมาด ถือลูกประคำ ปราศจากอาวุธ หมายความว่าอย่างไร สังคมพิสูจน์ได้หรือไม่ว่ามือเปื้อนเลือด ไปทำร้ายคนอื่นมาหรือเปล่า คุณจะต้องแยกแยะว่า 32 คน ใครมีอาวุธใครไม่มีอาวุธ อย่าเหมารวม ฉะนั้นมติของคณะกรรมการเยียวยาฯในครั้งนี้ขอบอกว่าไม่พอใจอย่างมาก ตอนนี้ส่งสัญญาไปแล้วว่ากลุ่มญาติผู้สูญเสียพร้อมจะเคลื่อนไหวทุกเมื่อ ทั้งจากควนโนรี คลองช้าง (ตำบลใน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะ) แต่ตอนนี้ยังบอกอะไรมากไม่ได้"
ไม่รับ 4 ล้าน...ขอทำความจริงให้ปรากฏ
คอลีเยาะ ยังตั้งคำถามว่า กรณีที่อนุกรรมการเยียวยาระบุว่าผู้ตายไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ก่อน ด้วยการยกเหตุการณ์ที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี กับที่มัสยิดกรือเซะมาเกี่ยวโยงกัน (ที่ อ.แม่ลาน ก็มีเหตุการณ์บุกทำร้ายเจ้าหน้าที่) ถามว่ามันยุติธรรมกันไหม มีการโยนหินถามคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นหมายความว่าอย่างไร
"จริงๆ เงิน 4 ล้านมันก็เยอะสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ ก็พอใจในระดับหนึ่งกับการเหลียวแลของรัฐ แต่ประเด็นที่เราไม่ยอมรับข้อเสนอที่ว่านี้ เพราะทราบว่าในที่ประชุมไม่มีใครเห็นด้วยว่าผู้ที่เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะควรได้เงินเยียวยาด้วยซ้ำไป แต่เมื่อท่านประชา พรหมนอก กับเลขา.ศอ.บต.เสนอว่าควรให้ 4 ล้านบาทเพื่อมนุษยธรรม จึงสรุปเป็นมติออกมา บอกตรงๆ ว่าไม่ได้ติดใจเรื่องเงินเยียวยา แต่เห็นบรรทัดฐานการตัดสินของคณะอนุกรรมการบางส่วนแล้วถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีความชัดเจน ไม่มีหลักเกณฑ์ และไม่สามารถอธิบายกับญาติผู้สูญเสียได้ รู้สึกไม่พอใจ ถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรี จึงไม่ขอรับข้อเสนอนี้และพร้อมจะเดินหน้าต่อไป"
"ตราบใดที่ความจริงยังไม่ปรากฏ จะเดินหน้าค้นหาความจริงและความเป็นธรรมให้กับครอบครัวทุกรูปแบบ ถ้าไม่ได้เงิน 7.5 ล้านบาทก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่ต้องการจากรัฐบาลคือความจริงของเหตุการณ์ และหาผู้ที่สั่งการยิงอาร์พีจีเข้าไปในมัสยิดมารับโทษ มาขอโทษประชาชน ถ้าทำได้ฉันจึงจะยอมรับ และถ้าพิสูจน์แล้วผลออกมาว่าพ่อเป็นคนผิด ฉันก็ยินดีไปขอโทษครอบครัวเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ แต่ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ฉันเชื่อว่าพ่อและญาติๆ เป็นผู้บริสุทธิ์" คอลีเยาะ กล่าว
ตัดสินเยียวยา...อย่าดูแค่สถานที่
อย่างไรก็ดี กรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ก็มีบางส่วนที่เป็นคดีเข้าส่กระบวนการยุติธรรมเช่นกัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังถูกตั้งคำถามจากครอบครัวของผู้ที่ตกเป็นจำเลย ดังเช่น ซีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ วัย 40 ปีที่สามีของนางคือ อับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ ถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในผู้ก่อเหตุโจมตีจุดตรวจ สภ.แม่ลาน ทั้งๆ ที่มีอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นแค่ชาวบ้านบ้านส้ม หมู่ 3 ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซ้ำยังถูกยิงได้รับบาดเจ็บด้วย
ซีตีนอร์ บอกว่า สามีของนางยืนยันตลอดมาว่าไม่ได้ร่วมก่อเหตุ แค่มีคนบอกให้ขี่รถจักรยานยนต์ไปส่งบริเวณใกล้ๆ จุดเกิดเหตุเท่านั้น แต่ขณะนี้คดีของสามีอยู่ในชั้นฎีกา โดยศาลล่าง 2 ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ปัจจุบันสามีถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวาง
"8 ปีที่ผ่านมาไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออะไร เพิ่งมีโอกาสไปลงทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไฟใต้ที่ ศอ.บต.ออกหน่วยเคลื่อนที่เมื่อไม่นานนี้เอง กรณีเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทก็ไม่ได้คาดหวัง เพราะสามีโดนจับในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากเป็นไปตามที่ศาลตัดสิน ก็คือจำคุกตลอดชีวิต ฉะนั้นจึงไม่ได้คาดหวัง ต้องรอให้คดีถึงสิ้นสุดก่อน แต่เมื่อมองย้อนกลับไปที่ผู้ร่วมชะตากรรมในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษาฯ ก็เห็นชัดๆ ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ พวกเขายังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม ผ่านมากี่ปีก็ยังถูกสังคมทำร้ายตลอดเวลา"
ซีตีนอร์ บอกว่า อยากให้การช่วยเหลือเยียวยาครั้งนี้ ทุกคนได้รับเท่าเทียมกันหมด โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูญเสียในเหตุการณ์เดียวกัน เพียงแค่ต่างสถานที่ ก็น่าจะได้รับเท่ากัน
"ถ้าเป็นฉันก็คงรู้สึกเสียใจถ้าการช่วยเหลือไม่ครอบคลุมทุกคนที่ประสบเหตุ อย่างกรณีของสามี เขาไปโดยไม่รู้ว่าคนที่ชวนไปนั้นจะไปก่อเหตุ จึงอยากได้รับความเป็นธรรมด้วย ไม่อยากให้รัฐตัดสินด้วยการดูสถานที่เป็นหลัก"
ซีตีนอร์ บอกด้วยว่า นางไม่ได้หวังอะไรเลยนอกจากให้รัฐคืนความเป็นธรรมให้สามี ให้ได้กลับมาอยู่กับครอบครัว อยากเห็นการพิจารณาในชั้นศาลชั้นฎีกาสรุปว่าสามีไม่ได้กระทำความผิด ส่วนเงิน 7.5 ล้านบาทที่ถกเถียงกันอยู่นี้ ก็ขอให้เป็นเรื่องของมนุษยธรรมก็แล้วกัน
เยียวยาต้องไม่ลืมฟื้นฟูศักดิ์ศรี
ก่อนที่คณะกรรมการเยียวยาฯจะมีมติกำหนดกรอบการช่วยเหลือเยียวยาล็อตแรก 4 กลุ่ม 5 กรณีเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2555 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิด มุมมอง และประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ในหัวข้อ "เยียวยาอย่างไร นำไปสู่ความสมานฉันท์" ที่ห้องประชุมมะปราง ชั้น 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี
เนื้อหาของการเสวนามีการพูดถึงการเยียวยาทั้งในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (เสื้อเหลือง เสื้อแดง) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งแนวทางการเยียวยาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบทเรียนจากพื้นที่ขัดแย้งในต่างประเทศด้วย
นายสมชาย หอมลออ หนึ่งในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า การเยียวยาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่ารัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคน ฉะนั้นเมื่อประชาชนเป็นเหยื่อของความรุนแรง รัฐจึงต้องมีหน้าที่เยียวยา
อย่างไรก็ดี หากศึกษาเปรียบเทียบการเยียวยากรณีภาคใต้กับความรุนแรงทางการเมืองในกรุงเทพฯ แม้หลักการเป็นเรื่องเดียวกัน แต่วิธีการเยียวยาของภาคใต้จะต้องคำนึงถึงประเด็นละเอียดอ่อนมากกว่าในกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นจริง เพราะถ้าการเยียวยามีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง จะมีผลต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่ไปพร้อมกันด้วย
"การเยียวยามีหลายรูปแบบ แต่ประเด็นคือจะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์ เหยื่อความรุนแรงมีหลายแบบ ในแง่ของตัวเงินอาจไม่เท่ากัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความยุติธรรม การฟื้นฟูศักดิ์ศรีกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด รัฐอาจจะต้องมีวิธีการอย่างไรที่จะฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านั้น" นายสมชาย กล่าว
อย่าให้รู้สึก "เลือกปฏิบัติ"
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กล่าวว่า รัฐเยียวยามา 7 ปี ถามว่าใช้มาตรฐานของใคร มาตรฐานทางวิชาการหรือมาตรฐานสากล บทเรียนงานเยียวยาจากต่างประเทศที่ร่วมทำกับเนปาล ปาปัวนิวกินี (อินโดนีเซีย) อาเจะห์ และมินดาเนา (ประเทศฟิลิปปินส์) สิ่งที่เป็นข้อตั้งสังเกตจากประเทศเหล่านั้นก็คือ ทำไมประเทศไทยถึงรวย เสียชีวิตได้มากถึง 5 แสนบาท ขณะที่ 4 ประเทศนี้ไม่มีเลย ส่วนใหญ่ได้รับการเยียวยาจากเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) ต่างประเทศ มีเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้นที่มาจากรัฐบาล
"แต่ที่น่าสนใจก็คือ ผู้หญิงมีบทบาทและมีส่วนร่วมเยอะกับการเยียวยา ส่วนปัญหาที่พบก็ไม่ต่างกันมากนัก คือการคอร์รัปชั่น การขาดความเสมอภาคและเท่าเทียม ปัญหาการเข้าถึง และขาดการดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบ ซึ่งทั้งหมดนี้หากย้อนมองกลับมาที่บ้านเรา ในแง่ของการดูแลสุขภาพจิตก็ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน"
พญ.เพชรดาว กล่าวอีกว่า การเยียวยาที่จะมุ่งไปสู่ความสมานฉันท์เป็นเรื่องของเวลา หลักการคือทำอย่างไรก็ได้อย่าผลักมวลชนให้ไปอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย (ทหาร ตำรวจ ปกครอง) ไม่รับรองเหตุการณ์ว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งมียอดอยู่ราวๆ 600 กว่าคน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สำคัญ แม้รัฐจะทำดีกับอีกร้อยหรือพันราย ความสมานฉันท์ก็ยากจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากมีการปล่อยปละละเลยคนเหล่านี้
ฉะนั้นการสื่อสารให้เข้าถึงข้อมูลว่าเหตุใดจึงไม่ได้รับการเยียวยาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่อยากให้การเลือกปฏิบัตินำมาซึ่งความไม่สมานฉันท์และความไม่สันติสุขในอนาคต เพราะจะทำให้การเยียวยาทั้งหมดที่ผ่านมาสูญเปล่า
พญ.เพชรดาว ยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างระบบดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีบุคคลสูญหาย ซ้อมทรมาน การถูกควบคุมตัวแล้วศาลยกฟ้องคดี พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นฐานข้อมลเดียวกัน
ชาวบ้านขอ "ล้างมลทิน"
นางบรรจบ ศรีสุข ผู้แทนผู้ได้รับผลกระทบชาวไทยพุทธ กลุ่มสตรีสายสัมพันธ์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หนึ่งในอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์และประเมินผลการเยียวยา ในคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การจะเยียวยาให้ถูกทาง ลดความคับแค้นได้ ต้องมีการดูแลซึ่งกันและกัน ไม่เลือกปฏิบัติระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม ต้องไม่ทอดทิ้งทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร แม้จะไม่มีหลักฐานรับรองจาก 3 ฝ่ายว่าเป็นเหตุรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบ ก็ต้องให้ความเป็นธรรม สังคมไม่ควรไปลงโทษโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง ถ้าทำได้ ความสมานฉันท์ก็จะเกิด
ขณะที่ นางคำนึง ชำนาญกิจ ผู้แทนผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นมุสลิม กล่าวว่า สามีและลูกชายของนางโดนจับในคดีความมั่นคงโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ตลอด 2 ปีที่ตามหาความยุติธรรมให้กับคนในครอบครัว สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้องสามี ส่วนลูกชายศาลยกฟ้อง จึงเรียกร้องให้รัฐเยียวยา
"ฉันต้องการให้ล้างมลทินให้กับครอบครัวของฉัน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ทั้งที่ครอบครัวได้รับผลกระทบ ลูกชายต้องออกจากงาน บ้านก็ต้องขาย อยู่ที่เดิมไม่ได้ เพราะถูกมองว่าเป็นโจร จึงอยากเห็นทุกฝ่ายให้ความช่วยเหลือเยียวยาคนกลุ่มนี้ด้วย เขาไม่กล้าแสดงตัวออกมา จึงอยากเสนอให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่เข้าไปดูแล เพราะเขาจะเชื่อใจ เราต้องสมานแผลและคืนความยุติธรรมให้กับพวกเขา"
เยียวยา...คนละเรื่องกับการค้นหาความจริง
ด้าน ไคทลิน เรเจอร์ (Caitlin Reiger) ชาวออสเตรเลีย ที่ปรึกษาศูนย์นานาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (International Center for Transitional Justice) ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด่นาเยียวยาในพื้นที่ขัดแย้งตลอด 10 ปี ทั้งที่ยูโกสลาเวีย และกัมพูชา กล่าวว่า จากที่ได้ศึกษาปัญหาชายแดนใต้ พบว่าปัญหายังถูกซ่อนและเก็บงำไว้มาก นี่คือความต่างเมื่อเทียบกับปัญหาในพื้นที่อื่นๆ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความซับซ้อนยุ่งยากของการแก้ไขปัญหา สิ่งที่มองเห็นตอนนี้คือ ทุกคนพยายามนำหลักการ หลักคิดการทำงานของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพมาใช้ (หลักการของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หรือ Transitional Justice) ซึ่งนั่นจะเป็นการพลิกโฉมจากความขัดแย้งสู่สันติ ถือเป็นความท้าทายที่พยายามใช้การเยียวยาผลักดัน และเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่จะนำไปสู่สันติสุข
"การได้เข้าถึงสิทธิการชดใช้เยียวยา ไม่ใช่สิทธิที่จะนำไปแลกกับการค้นหาความจริงและนำคนผิดมาลงโทษ ไม่ใช่ว่าได้เยียวยาแล้วจะไม่มีการลงโทษ ไม่สามารถนำคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ โดยหลักแล้วมันแลกกันไม่ได้ มันเป็นคนละเรื่องกัน การเข้าถึงความยุติธรรม การนำคนผิดมาลงโทษ กับสิทธิการได้รับการชดใช้เยียวยา มันแลกเปลี่ยนกันไม่ได้ รวมทั้งนิรโทษกรรมและอภัยโทษด้วย นั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกัน" ไคทลิน กล่าว
นับเป็นมุมมองที่แหลมคมสอดคล้องและสอดรับกับคำถามเรื่องการเยียวยาที่ชายแดนใต้ ณ ปัจจุบันนี้พอดิบพอดี!
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ครอบครัวผู้สูญเสียกรณีตากใบ
2 มอบกระเช้าผลไม้ขอบคุณเลขาฯ ศอ.บต. (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
3 เสวนา "เยียวยาอย่างไรนำไปสู่ความสมานฉันท์"
4 ผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย (ภาพโดย แวลีเมาะ ปูซู)
อ่านประกอบ :
1 เปิดมติเยียวยา "ตากใบ-สะบ้าย้อย" 7.5 ล้าน กรือเซะ 4 ล้าน ตายรายวัน 5 แสน
http://www.isranews.org/south-news/scoop/38-2009-11-15-11-15-01/7115--q-q-75-4-5-.html
2 เสียงดังแต่ฟังไม่ชัด..."ธงทอง"แจงมติเยียวยา กับ 5 คำถามค้างคาที่ยังพลิ้ว
http://www.isranews.org/south-news/special-talk/53-2009-11-15-11-15-38/7172-qq-5.html
3 ทำไมไม่คืนความเป็นธรรมทางคดีให้เหยื่อไฟได้ทุกกรณี...พร้อมกับการเยียวยา