- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- Jake Lynch: วารสารศาสตร์สันติภาพ...ขยายขอบเขตเรื่องราวสร้างความเข้าใจ
Jake Lynch: วารสารศาสตร์สันติภาพ...ขยายขอบเขตเรื่องราวสร้างความเข้าใจ
ในการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย" ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อวันที่ 22 ส.ค.57 ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอีกคนหนึ่งที่ร่วมแสดงปาฐกถา และได้รับความสนใจจากผู้ฟังอย่างสูง
เขาคือ Jake Lynch ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง"
หลักคิดของเขาคือ วารสารศาสตร์แนวใหม่ที่ฉีกกฎเดิมๆ ของการรายงานข่าว สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งได้จริง และเห็นผลเป็นรูปธรรม
ข่าวร้ายถูกเสนอมากกว่าข่าวดี
Jake Lynch เริ่มต้นอธิบายว่า วารสารศาสตร์สันติภาพเป็นนโยบายการสื่อสารระดับนานาชาติ แนวคิดนี้เริ่มต้นจาก โยฮัน เกาล์ตุง (Johan Galtung) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของสันติศึกษายุคใหม่ ซึ่งได้พยายามเพิ่มเนื้อหาการนำเสนอข่าวเพื่อสันติภาพ โดยยกกรณีศึกษาการนำเสนอข่าวตามสถานการณ์จริง พบว่าแม้นักข่าวมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมีมากกว่าสิ่งที่รายงาน ดังนั้นนักข่าวจึงเสมือนผู้กำหนดวาระข่าวสารว่าตนจะนำเสนออะไร และจากการศึกษาพบว่า สื่อระดับชาติมักรายงานข่าวความขัดแย้งทั่วโลก โดยมักนำเสนอข้อมูลที่เชื่อว่าผู้รับสารชื่นชอบ
Jake Lynch ยกตัวอย่างการสัมภาษณ์ทหารอเมริกันที่อิรักโดยนักข่าวที่ไปฝังตัวในสนามรบ พบว่าผู้สื่อข่าวทั่วไปเน้นความถี่หรือจำนวนเหตุการณ์ปะทะหรือความรุนแรงเท่านั้น แต่หากจะนำเสนอข่าวเพื่อสันติภาพจำเป็นต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องนำเสนอข่าวนั้นทันที แต่ควรวิเคราะห์หรือค้นหาสาเหตุ ตลอดจนผลประโยชน์บางอย่าง หากนำเสนอได้จะถือว่าเป็นการรายงานข่าวที่ยอดเยี่ยม แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อย
"ข่าวร้ายมักถูกนำเสนอมากกว่าข่าวดี นักข่าวมักหาข่าวในพื้นที่เกิดเหตุร้าย สิ่งที่น่าสนใจคือในพื้นที่นั้นมีกลุ่มคนที่พยายามปรับตัวหรือแก้ปัญหาอยู่ด้วย แต่นักข่าวมักไม่เห็นหรือไม่สนใจ ดังนั้น โยฮัน เกาล์ตุง จึงคิดค้นการนำเสนอข่าวเพื่อสันติภาพ โดยก่อตั้งศูนย์เพื่อศึกษา พร้อมสร้างหลักสูตรวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการนำเสนอข่าวระดับชาติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยอมรับว่าการจะให้ผู้สื่อข่าวยอมรับแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย"
นักข่าวไม่อยากพูดสันติภาพ
Jake Lynch กล่าวต่อว่า การเสนอข่าวที่สร้างสรรค์เป็นการนำประเด็นต่างๆ หรือกระบวนการต่างๆ มารายงานเพื่อสะท้อนพลังของประชาชนในการรับมือหรือตอบโต้กับปัญหาที่เกิดขึ้น หรือความพยายามสร้างสันติภาพ แต่นักข่าวส่วนใหญ่มักไม่อยากพูดเรื่องสันติภาพ เพราะเกรงว่าผู้รับสารอาจไม่อยากรับฟัง และข้อจำกัดใหญ่ของสื่อมวลชนอีกประการหนึ่งคือ มักต้องนำเสนอตามวาระขององค์กรข่าวของตัวเอง
เขายกตัวอย่างกรณีนักข่าวตะวันตกส่วนใหญ่ต่างตัดสินว่า การฆ่า พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย (ปี 2554) เป็นชัยชนะของนาโต้ จึงไม่จำเป็นต้องรายงานข่าวชิ้นนี้อีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็มีนักข่าวชาติอื่นๆ ที่ยังติดตามปัญหาการกดขี่จากการใช้กำลังในการโค่นล้มอำนาจของกัดดาฟี ซึ่งอาจก่อปัญหาอื่นๆ ตามมาก็เป็นได้
"หากนำเสนอข่าวเพียงแค่กัดดาฟีเสียชีวิตแล้วจบ ก็ไม่ได้เรียนรู้การนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งหรือการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งภายในประเทศลิเบีย"
อีกตัวอย่างหนึ่ง Jake Lynch เล่าว่า หนังสือพิมพ์ News Weekly เคยพาดหัวข่าวว่า "ใครจะเป็นผู้ชนะระหว่างบุชกับซัดดัม" ซึ่งการพาดหัวเช่นนี้เป็นการแบ่งฝ่ายผู้แพ้กับผู้ชนะ หรือท่าทีเร่งรัดให้เกิดการแพ้หรือชนะ กระบวนการเหล่านี้ถือว่าผู้สื่อข่าวเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างให้ความรุนแรงยิ่งทวีมากขึ้น
เปลี่ยนจุดสนใจของผู้คน
Jake Lynch กล่าวด้วยว่า วารสารศาสตร์สันติภาพคือ การปฏิรูปการนำเสนอข่าวทั่วโลก หากนักข่าวมีอคติในเรื่องใดก็ตาม ก็จะไม่ตั้งคำถามว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นั้นได้ แต่หากมีการตั้งคำถามหรือนำเสนอข้อมูลที่ดี ก็อาจนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ได้ การนำเสนอข่าวเพื่อสันติภาพนั้นจะกระตุ้นให้ผู้อ่านไม่สนับสนุนความรุนแรง และหนุนเสริมสันติภาพมากขึ้น
"มีการเปรียบเทียบระหว่างวารสารศาสตร์ด้านสงคราม กับวารสารศาสตร์ด้านสันติภาพ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง วารสารศาสตร์สงครามนั้นมักจะสร้างความโกรธและความรู้สึกหมดหวัง มีการต่อสู้ช่วงชิง ในขณะที่วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพจะนำเสนอระบบโครงสร้างที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม พร้อมสะท้อนภาพใหญ่ในสังคม และนำเสนอคุณค่าของทุกคนในสังคม"
"เราต้องการเปลี่ยนแปลงจุดสนใจของผู้คนซึ่งเป็นผลมาจากวารสารศาสตร์สันติภาพ ต้องขยายขอบเขตของเรื่องราว เพื่อให้เกิดการรับรู้และยอมรับกันและกันมากขึ้น"
สร้างหุ้นส่วนเผยแพร่ข้อมูล
Jake Lynch กล่าวถึงรูปธรรมของวารสารศาสตร์สันติภาพว่า สื่อท้องถิ่นในฟิลิปปินส์ เช่น มินดานิวส์ ประสบความสำเร็จอย่างมากกับการมีนักข่าวจำนวนมากในท้องถิ่น เพราะสำนักข่าวหลักส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลวง จึงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่ ต้องมีการจัดตั้งสื่อมวลชนท้องถิ่นเพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องให้สื่อมวลชนกระแสหลัก รวมทั้งการนำคนชายขอบเข้ามาพูดคุยและค้นหาสิ่งที่อยากสื่อสาร เพื่อสะท้อนเสียงออกมาสู่สังคมใหญ่
การสร้างพันธมิตรด้านสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูล และสร้างความเป็นหุ้นส่วนเผยแพร่ข้อมูล เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสแก่นักข่าวในการใช้การสื่อสารเพื่อสร้างสันติภาพ หลายแห่งมีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ดังเช่นกรณีการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเคลื่อนไหวปาตานี การพูดคุยนี้อาจเป็นจุดกึ่งกลางที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับความต้องการแบ่งแยกดินแดนได้ นักสื่อสารเพื่อสันติภาพจึงควรแจ้งเตือนสาเหตุของความขัดแย้งให้ประชาชนได้รับทราบอย่างถ่องแท้และหลีกเลี่ยงการโฆษณาชวนเชื่อ
ท้ายสุดของการปาฐกถา Jake Lynch กล่าวฝากถึงการปฏิรูปวารสารศาสตร์ของไทยว่า นักข่าวต้องสร้างพันธมิตรกับภาคประชาสังคมและนักวิชาการ พร้อมเสนอให้ตั้ง conflict news press เพื่อนำเสนอใจกลางของความขัดแย้ง ต้องนำเสนอประเด็นอำนาจของการจัดการความขัดแย้ง จุดยืนของการประนีประนอมปรองดอง มากกว่าเสนอประเด็นแบ่งแยกดินแดน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : Jake Lynch
อ่านประกอบ :
1 Stein Tønnesson: ทำไมยังต่อสู้ด้วยอาวุธ ทั้งๆ ที่อัตราการชนะต่ำ?
2 ม.อ.จัดประชุมนานาชาติ "สื่อสาร - ขัดแย้ง - สันติภาพ"