- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- โรงเรียนสามัคคีปิดต่อหลังเจอบึ้ม "ประชา" แจงเยียวยาพิเศษ 4 กลุ่มไม่มีกรือเซะ
โรงเรียนสามัคคีปิดต่อหลังเจอบึ้ม "ประชา" แจงเยียวยาพิเศษ 4 กลุ่มไม่มีกรือเซะ
โรงเรียนสามัคคี ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ยังปิดต่ออีก 1 วัน หลังคนร้ายดักบึ้มทหาร 3 ลูกซ้อนถึงในบริเวณโรงเรียน ทำครู-นักเรียนขวัญผวา เปิดปูมเหตุร้ายในรั้วสถานศึกษา สวนทางข้อเรียกร้องให้ฝ่ายความมั่นคงถอนกำลังออกจากรั้วโรงเรียน ไฟใต้ยังคุต่อเนื่อง เอ็ม 79 ลงอีกลูก ตั้งเป้าถล่มโรงพักหนองจิก แต่พลาดไปโดนบ้านพักตำรวจ ด้านปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ บุกตรวจค้นหลายจุด ยึดยุทโธปกรณ์และเครื่องดำรงชีพในป่าเพียบ ขณะที่ปมเยียวยาเหยื่อไฟใต้ยังวุ่นต่อ "ประชา" แจงดูแลพิเศษ 4 กลุ่มแต่ไม่มีกรือเซะ "อังคณา" ห่วงผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มฮือขอ 7.5 ล้าน
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงตึงเครียดและเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 10.15 น.วันพฤหัสบดีที่ 23 ก.พ.2555 พ.ต.อ.นรินทร์ บูสะมัญ ผู้กำกับการ สภ.ยะหา จ.ยะลา รับแจ้งจากชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยโรงเรียนในท้องที่ อ.ยะหา ว่า มีเหตุระเบิดภายในโรงเรียนสามัคคี หมู่ 7 ต.ปะแต อ.ยะหา มีทหารได้รับบาดเจ็บหลายนาย จึงรีบนำกำลังรุดไปตรวจสอบ
ทั้งนี้ จุดเกิดเหตุอยู่ติดกับอาคารเรียน 2 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องเรียน ห้องพักครู ห้องพักผู้อำนวยการ และห้องคอมพิวเตอร์ ส่วนชั้นล่างเป็นห้องโถง จัดเป็นเวทีกิจกรรมนักเรียน ใกล้ๆ กับอาคารมีรั้วลวดหนามเป็นเขตรั้วโรงเรียน นอกรั้วเป็นป่ายางพารา โดยจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณขนำหรือกระท่อมที่ตั้งอยู่ติดกับอาคาร ข้างๆ รั้วลวดหนาม แรงระเบิดทำให้กระจกห้องเรียนบนชั้นสองของอาคารแตกกระจาย เวทีในห้องโถงได้รับความเสียหาย ครูและนักเรียนพากันตื่นตกใจ มีผู้ปกครองเดินทางมารับบุตรหลานกลับบ้านจนเกือบหมดโรงเรียน ส่วนครูที่มาจากต่างพื้นที่ก็ขออนุญาตกลับบ้านทั้งหมด เหลือเฉพาะครูกับ ชรบ.ที่เป็นคนในหมู่บ้านเท่านั้น
สำหรับทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อนทหารช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหาแล้ว ทราบชื่อคือ จ.ส.อ.จียะพันธ์ นาคราช อายุ 46 เป็นหัวหน้าชุด ส.ท.อภิวัฒน์ จักสาน อายุ 21 ปี พลทหารอาทิตย์ บัวดำ อายุ 21 ปี และ พลทหารอนิรุทธ์ อินทนุพัฒน์ อายุ 23 ปี ทุกนายอาการสาหัส โดยทั้งหมดเป็นทหารสังกัดกองร้อยทหารราบที่ 1512 หน่วยเฉพาะกิจยะลา 14
จากการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารและพยานผู้เห็นเหตุการณ์ทราบว่า ทหารชุดดังกล่าวมี 6 นาย ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่บริเวณสามแยกบ้านปะแต หมู่ 6 ต.ปะแต อ.ยะหา ได้ออกลาดตระเวนดูแลรักษาความปลอดภัยเส้นทาง และดูแลความเรียบร้อยภายในโรงเรียนสามัคคีเป็นประจำทุกวัน ก่อนเกิดเหตุขณะเดินตรวจตรารักษาความปลอดภัยตามอาคารเรียน ได้เกิดระเบิดขึ้นจากบริเวณขนำเสียงดังสนั่นหวั่นไหวถึง 3 ครั้งติดต่อกัน ทำให้ทหาร 4 นายได้รับบาดเจ็บดังกล่าว โดยระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดแสวงเครื่อง น้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม วางเรียงไว้ด้านข้างอาคารติดกับขนำ 3 ลูก จุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
ผอ.สั่งปิดการเรียนการสอน - ครูอยากให้มีทหารตั้งฐานในโรงเรียน
ต่อมาวันศุกร์ที่ 24 ก.พ. นางอาภรณ์ สมพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสามัคคี ได้สั่งปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 1 วัน เนื่องจากเห็นว่าคณะครูและนักเรียนยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย โดยทางโรงเรียนจะเปิดการเรียนการสอนตามปกติอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 27 ก.พ.
ทั้งนี้ โรงเรียนสามัคคีมีนักเรียนทั้งหมด 205 คน มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 17 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยในช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 24 พ.อ.นพพร เรือนจันทร์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา นายธวัช แซ่ฮ่ำ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 และ ร.อ.ถนอมพงษ์ เรืองจันทร์ ผู้บังคับกองร้อยทหารราบที่ 1512 หน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 ได้เข้าตรวจความเรียบร้อยที่โรงเรียนพร้อมกัน
นางอาภรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริเวณด้านหลังโรงเรียนมีกองกำลังทหารพรานตั้งฐานอยู่ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับครูและนักเรียนเพื่อความอุ่นใจ แต่ภายหลังได้ย้ายฐานออกไป ทำให้ไม่รู้สึกมั่นใจเหมือนเมื่อก่อน ถึงแม้ว่าจะมีกำลังทหารจากหน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 คอยลาดตระเวนมาดูแลเป็นระยะก็ตาม
"ตอนนี้ครูบางคนไม่กล้าลงไปเข้าห้องน้ำ เพราะกลัวเหตุการณ์ร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากสภาพพื้นที่ของโรงเรียนเป็นจุดล่อแหลม ด้านหลังติดกับป่ารกทึบ ด้านหน้าติดถนน เอื้ออำนวยต่อการก่อเหตุร้ายของกลุ่มผู้ไม่หวังดี" ผู้อำนวยการโรงเรียนสามัคคี ระบุ
นายธวัช กล่าวว่า ความรู้สึกของครูยังอยู่ในอาการอกสั่นขวัญหาย แต่คณะครูทุกคนก็ไม่ย่อท้อ เพราะมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบกันอยู่ ฉะนั้นในวันจันทร์ที่ 27 ก.พ.จะเปิดการเรียนการสอนตามปกติแน่นอน เนื่องจากต้องคุมเด็กนักเรียนไปสอบโอเน็ตด้วย สำหรับสิ่งที่ต้องการมากที่สุดขณะนี้ คืออยากให้มีกำลังทหารพรานเข้ามาตั้งฐานดูแลความปลอดภัยภายในบริเวณโรงเรียน
ย้อนรอยปมถอนทหารออกจากสถานศึกษา
อนึ่ง เหตุรุนแรงบริเวณโรงเรียนเพื่อประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่เมื่อวันพุธที่ 28 ก.ย.ปีที่แล้ว เกิดเหตุคนร้ายประมาณ 15 คน แต่งกายคล้ายทหารพราน ใช้อาวุธสงครามยิงใส่ทหารชุดรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) โรงเรียนบ้านลาเมาะนอก หมู่ 3 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ขณะพักผ่อนรอเวลาปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองครูในช่วงเย็น ทำให้ทหารเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 2 นาย และยังมีนักเรียนถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 1 คน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศได้เรียกร้องให้ฝ่ายความมั่นคงถอนกำลังทหาร หรือกองกำลังติดอาวุธออกจากสถานศึกษา และห้ามตั้งฐานปฏิบัติการภายในสถานศึกษา เพราะเกรงว่าเด็กและเยาวชนจะซึมซับความรุนแรง ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 จึงได้สั่งถอนกำลังทั้งหมดออกจากพื้นที่สถานศึกษา แม้ด้านหนึ่งจะส่งผลดีด้านภาพลักษณ์ที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติตามข้อเรียกร้องขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาความปลอดภัยครู นักเรียน และโรงเรียนเช่นกัน ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนบ้านสามัคคีล่าสุด
ยิงรองนายก อบต.ริโก๋ สิ้นชื่อ
เวลา 18.30 น.วันเดียวกัน คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธสงครามยิง นายเจ๊ะบือราเฮง เจ๊ะมามะ อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47/2 บ้านดอเฮะ หมู่ 3 ต.ริโก๋ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ริโก๋ เสียชีวิตคาที่ขณะขี่รถจักรยานยนต์อยู่บนถนนในหมู่บ้าน เพื่อไปประกอบพิธีละหมาดที่มัสยิดดอเฮะ เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุการสังหาร แต่ให้น้ำหนักไปที่ความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น
เวลา 19.00 น.คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิง นายอับดุลเลาะ อาเด๊ะอาแว อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 36/1 บ้านไอจือเราะ หมู่ 5 ต.มาโมง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดขณะนายอับดุลเลาะกำลังทำอาหารอยู่ภายในบ้านของตนเอง เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุการลอบยิง
ดักบึ้มทหารที่เจาะไอร้องเจ็บ 5
วันพุธที่ 22 ก.พ. คนร้ายลอบวางระเบิดดักสังหารเจ้าหน้าที่ทหารพรานกองร้อยที่ 4502 กรมทหารพรานที่ 45 ขณะเดินทางออกจากฐานข้างโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดยใช้รถกระบะหุ้มเกราะเป็นพาหนะ เพื่อไปปฏิบัติภารกิจที่กรมทหารพรานที่ 45 ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้ทหารพรานได้รับบาดเจ็บ 5 นาย เหตุเกิดบริเวณเชิงสะพานในท้องที่บ้านลูโบ๊ะเยาะ หมู่ 7 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง
รายชื่อทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ประกอบด้วย ร.ต.ถาวร คลังทอง ผู้บังคับกองร้อย อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) พรเทพ เรืองอุไร อส.ทพ.มนตรี ไกรปราบ อส.ทพ.อรุณ สวยสด และ อส.ทพ.ธฤทธิ์ เจริญทรัพย์ ทั้งนี้ ระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดแสวงเครื่อง ประกอบใส่ไว้ในถังดับเพลิง น้ำหนัก 20 กิโลกรัม จุดชนวนโดยใช้แบตเตอรี่ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
มีรายงานด้วยว่า คนร้ายได้ฝังระเบิดน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัมไว้อีก 1 ลูก บริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ คาดว่าเพื่อเตรียมดักสังหารเจ้าหน้าที่ชุดตรวจที่เกิดเหตุ แต่เคราะห์ดีเจ้าหน้าที่สังเกตเห็นก่อน จึงเก็บกู้เอาไว้ได้อย่างปลอดภัย
ยิง อรบ.ที่ปัตตานี - เอ็ม 79 หวังถล่มโรงพักหนองจิก
ที่ จ.ปัตตานี คนร้าย 2 คนมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนพกขนาด .38 ประกบยิง นายบุญญะ บุญสร้าง อายุ 55 ปี อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ปฏิบัติหน้าที่ชุดคุ้มครองครูในเขต อ.หนองจิก ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดขณะนายบุญสร้างขี่รถจักรยานยนต์อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ท้องที่หมู่ 1 บ้านดอนรัก ต.ดอนรัก อ.หนองจิก โดยจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากจุดตรวจของทหารเพียง 200 เมตร เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบเช่นกัน
เวลา 19.30 น.วันเดียวกัน คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้เครื่องยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 ยิงถล่มโรงพัก สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี แต่กระสุนปืนพลาดไปตกใส่หลังคาบ้านเช่าชั้นเดียว เลขที่ 100/5 ห่างจาก สภ.หนองจิก ประมาณ 50 เมตร ซึ่งเป็นบ้านของ ด.ต.อภิรักษ์ สายอ๋อง ตำรวจ สภ.หนองจิก ทำให้บ้านได้รับความเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจำนวน 5 ราย ได้แแก่ ด.ต.อภิรักษ์ นางศิริรัตน์ สายอ๋อง อายุ 33 ปี ด.ญ.ศศิธร สายอ๋อง อายุ 7 ปี ด.ญ.อภิสรา สายอ๋อง อายุ 6 ปี และ ด.ช.บุณยวัจน์ สายอ๋อง อายุ 4 ปี เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
ยะลาเจออาก้าฝังดิน - บุกทลายแหล่งซ่องสุมกลุ่มป่วนใต้
ด้านปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 ก.พ.หน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 โดยกองร้อยทหารราบที่ 5014 ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวในพื้นที่ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา ว่า เห็นบุคคลนำถุงพลาสติกสีดำไปฝังไว้ใต้ต้นไม้บริเวณฝายกั้นน้ำบ้านท่าสาป หมู่ 4 ต.ท่าสาป จึงจัดกำลัง 3 ชุดปฏิบัติการเข้าพิสูจน์ทราบ พบถุงพลาสติกสีดำมัดด้วยเชือกฟาง ภายในบรรจุอาวุธปืนอาก้า 1 กระบอก ซองกระสุนปืนอาก้า 1 ซอง อาวุธปืนคาร์บิน 1 กระบอก ซองกระสุนปืนคาร์บิน 3 ซอง รวมถึงเครื่องกระสุนอีกจำนวนหนึ่ง
ก่อนหน้านั้น วันพุธที่ 22 ก.พ. พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ มัทยาท ผู้กำกับการ สภ.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา สนธิกำลังกับทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 เข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายซ่องสุมของกลุ่มก่อความไม่สงบ ในพื้นที่หมู่ 2 บ้านกูเบ ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา สามารถตรวจยึดอุปกรณ์ยังชีพในป่า และเครื่องสนามได้เป็นจำนวนมาก
การปิดล้อมตรวจค้นดังกล่าวสืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัว นายหัมดี โตะลูโบะ อายุ 27 ปี สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ กลุ่มของ นายฮามดี สะอะ หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธที่เคลื่อนไหวก่อเหตุอยู่ในพื้นที่ โดยนายหัมดีได้เข้ากระบวนการซักถามและให้การเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ โดยแจ้งพิกัดสถานที่ที่ใช้หลบซ่อนตัว คือภายในถ้ำบนเขายะลา หรือเขายาลอ หมู่ 2 บ้านกูเบ จึงนำมาสู่การสนธิกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นดังกล่าว
พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่สามารถจับกุมตัวนายหัมดีได้ เป็นเพราะได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านช่วยแจ้งเบาะแส โดยเชื่อว่านายหัมดีมีส่วนร่วมก่อคดีความมั่นคงหลายคดี อาทิ การลอบวางระเบิดทหารพรานที่บ้านจันเรียน หมู่ 2 ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2554 คดีลอบทำร้ายพระสงฆ์มรณภาพ 2 รูป และบาดเจ็บ 2 รูป ที่โค้งวัดหน้าถ้ำ ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2547 เป็นต้น
ส่วนที่ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ได้ขยายผลหลังปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่ ต.ศรีสาคร อ.ศรีสาคร และวิสามัญฆาตกรรม นายอับดุลรอแม เจ๊ะแน อายุ 55 ปี อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แกนนำระดับสั่งการของกลุ่มก่อความไม่สงบ และสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้อีก 3 ราย โดยเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก ฝังไว้ที่หลังบ้านของนายอับดุลรอแม เลขที่ 68/1 หมู่ที่ 6 ต.ศรีสาคร จึงนำกำลังรุดไปตรวจสอบ แต่พบเพียงถุงพลาสติกสีแดงที่ใช้ห่ออาวุธปืนเอาไว้เท่านั้น ส่วนอาวุธปืนถูกขุดไปก่อนเจ้าหน้าที่ไปถึงไม่นาน
"ประชา"แจงเยียวยาพิเศษ 4 กลุ่มไม่มี "กรือเซะ"
เมื่อวันพุธที่ 22 ก.พ.ที่ จ.อุดรธานี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาซึ่งมีปัญหาความไม่เข้าใจจากประชาชนและข้าราชการหลายกลุ่มในพื้นที่ ว่า ขณะนี้ได้กำหนดเกณฑ์การช่วยเหลือออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 เจาะไอร้อง กลุ่มที่ 2 กลุ่มตากใบ กลุ่มที่ 3 บุคคลที่สูญหายหรือถูกทรมาน และ กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยอธิปไตย
อย่างไรก็ดี ต้องดูด้วยว่าผลกระทบเหล่านั้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ถ้าเป็นผลจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องชดเชยเยียวยา แต่ไม่ใช่เยียวยาทั่วไป ต้องมีความชัดเจน ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เรียบร้อยแล้ว
"คณะอนุกรรมการ 4 คณะได้พิจารณาว่ากฏเกณฑ์ของแต่ละคณะเป็นอย่างไร การเยียวยาไม่ใช่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว เพราะต้องมีการเยียวยาในเรื่องของศาสนา การศึกษา สาธารณสุข คุณภาพชีวิต และเยียวยาจิตใจด้วย โดยการให้ความช่วยเหลือด้วยตัวเงินต้องไม่เกิน 7.5 ล้านบาทในกรณีเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสำรวจข้อมูล โดยจะนำเรื่องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายใน 2 สัปดาห์" พล.ต.อ.ประชา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยา 4 กลุ่มที่ พล.ต.อ.ประชา พูดถึง ในกลุ่มที่ 1 ที่ระบุว่าเจาะไอร้องนั้น น่าจะหมายถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บอีก 12 ราย ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยอธิปไตยนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าหมายถึงกลุ่มใด
"อังคณา"ห่วงทุกกลุ่มชายแดนใต้แห่ขอ 7.5 ล้าน
นางอังคณา นีละไพจิต ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และรองเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวกับ "สำนักข่าวเนชั่น" เรื่องการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรทางการศึกษาได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือและเยียวยาในมาตรฐานเดียวกัน จึงเป็นกังวลว่าหลังจากนี้ไปในพื้นที่สามจังหวัดจะมีเหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบ โดยเฉพาะที่เป็นการละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ขอรับเงินเยียวยาในกรอบเดียวกัน
"ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งออกมาชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการเยียวยากรณี 7.5 ล้านบาทให้ชัดเจน ต้องทำให้ทุกคนเข้าใจพื้นฐานและหลักเกณฑ์อย่างถ่องแท้ เพราะปัญหาที่เกิดกับชาวบ้านทั้งจากการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และปัญหามาจากปัจเจกบุคคล แต่หน่วยงานของรัฐไม่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองความปลอดภัย ย่อมมีความแตกต่างกัน โดยคนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทั่วไป รัฐก็มีกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาอยู่แล้ว แต่ปัญหาก็คือเริ่มมีเสียงถามถึงมาตรฐานในการจ่ายเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท เพราะกลายเป็นกรณีพิเศษที่ส่งผลทางความรู้สึก สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือจะมีเหยื่อในหลากหลายสาขาอาชีพ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาออกมาเรียกร้องขอให้รัฐเยียวยา 7.5 ล้านบาท" นางอังคณา ระบุ
ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ยังกล่าวเพิ่มเติมกับ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ว่า ตามที่มีข่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการเสนอให้หักเงินเยียวยาส่วนหนึ่งจากที่ญาติผู้สูญเสียได้รับ เพื่อนำไปสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์รำลึกถึงความสูญเสีย เพื่อตระหนักถึงการใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหานั้น ขอชี้แจงว่าประเด็นที่เกี่ยวกับการสร้างพิพิธภัณฑ์ ตัวเธอเป็นคนเสนอเอง แต่ไม่ได้เสนอให้หักเงินเยียวยาจากพี่น้องประชาชน สิ่งที่เสนอคือให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาจัดสร้าง ซึ่งถือเป็นการเยียวยาด้านจิตใจอย่างหนึ่ง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เจ้าหน้าที่กำลังตรวจจุดเกิดเหตุระเบิดข้างอาคารเรียนภายในบริเวณโรงเรียนสามัคคี ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา
2 บรรยากาศหน้าโรงเรียนสามัคคี
3 อุปกรณ์ดำรงชีพในป่าที่ตรวจยึดได้จากแหล่งซ่องสุมของสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบ ในท้องที่บ้านกูเบ ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา (ภาพทั้งหมดโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)