- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- น้ำท่วมระลอกใหม่...กับบทเรียนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยบ้านดาโต๊ะ
น้ำท่วมระลอกใหม่...กับบทเรียนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยบ้านดาโต๊ะ
สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด ณ วันศุกร์ที่ 7 ม.ค.2554 ที่ จ.นราธิวาส นายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติจำนวน 8 อำเภอจาก 13 อำเภอ ได้แก่ อ.สุไหงโก-ลก รือเสาะ จะแนะ ยี่งอ แว้ง เจาะไอร้อง สุไหงปาดี และระแงะ พร้อมไฟเขียวให้ผู้บริหารสถานศึกษาสั่งปิดโรงเรียนได้ตามที่เห็นสมควร ขณะนี้โรงเรียน 11 แห่งใน 5 อำเภอ คือ อ.ตากใบ สุไหงปาดี สุคิริน แว้ง และสุไหงโก-ลก ได้ประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนดแล้ว
ส่วนที่ จ.ปัตตานี ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีสูงขึ้นเรื่อยๆ และเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มและบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำในเขต อ.เมืองปัตตานี โดยเฉพาะที่ ต.ปะกาฮารัง และ ต.บาราเฮาะ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 200 หลังคาเรือน
ขณะที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยวาตภัยและดินถล่ม จังหวัดยะลา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 2/2554 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ม.ค.2554 ให้ประชาชนระมัดระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง 3 วัน โดยที่ อ.กรงปินัง ยะหา และรามัน บางพื้นที่เริ่มมีน้ำท่วมขังแล้ว
บทเรียนจากบ้านดาโต๊ะ
ดังที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่งเกิดอุทกภัยและวาตภัยครั้งใหญ่ นำความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินสู่พี่น้องประชาชนไม่น้อย โดยเฉพาะชุมชนตลอดแนวฝั่งทะเลของ จ.ปัตตานี เช่น ที่บ้านดาโต๊ะ อ.ยะหริ่ง
ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากหลังภัยพิบัติผ่านพ้น ก็คือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งในแง่ของความรวดเร็ว ทั่วถึง และการบริหารจัดการสิ่งของบริจาคที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมหาศาล
ในวาระที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมระลอกใหม่ “ทีมข่าวอิศรา” จึงขอสรุปบทเรียนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่บ้านดาโต๊ะ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเก่าๆ เกิดซ้ำรอยอีก
ปัญหาจากสายตาคนนอก
มะนาเซ สาและ จาก อ.เมืองปัตตานี เล่าว่า เขาทำงานขายหนังสืออยู่ในเมืองปัตตานี ได้ยินข่าวน้ำท่วมที่บ้านดาโต๊ะหนักมาก บ้านเรือนพังเสียหายเกือบทั้งหมด รู้สึกเห็นใจจึงร่วมกับเพื่อนๆ นำสิ่งของไปบริจาค โดยเป็นการไปแบบส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับส่วนราชการ
“ภาพที่เห็นตอนนั้นคือบ้านเรือนเสียหายหนักมากจริงๆ แต่คนที่เข้าไปช่วยเหลือก็มีเยอะเหมือนกัน ทว่าช่วงหลังได้ข่าวว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เป็นเรื่องการจัดการสิ่งของที่ได้รับบริจาคซึ่งไม่เป็นระบบ ไม่มีเจ้าภาพจัดการ ผมคิดว่าน่าจะหาคนรับผิดชอบในส่วนนี้ เพราะถ้าไม่มีการบริหารจัดการ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนอาจไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง” มะนาเซ กล่าว
ฟาตีหม๊ะ เบ็ญฮาวัน ชาวบ้านจาก ต.ยามู อ.ยะหริ่ง กล่าวว่า ตอนที่ได้ข่าวชะตากรรมของชาวบ้านดาโต๊ะก็รู้สึกเศร้าและสงสาร จึงช่วยกันกับเพื่อนๆ ทำข้าวต้มไปบริจาค ตอนนั้นรู้สึกดีมาก เพราะทั้งมุสลิมและไทยพุทธต่างก็ช่วยเหลือกัน ทุกคนเต็มใจช่วยโดยไม่มีค่าตอบแทน
แต่ปัญหาที่พบคือความไม่ทั่วถึงของข้าวของที่นำไปแจกจ่าย เพราะไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ ส่วนใหญ่คนที่ไปก็นำสิ่งของไปแจกเฉพาะรอบนอก ไม่รู้ว่าคนที่อยู่ในๆ ได้รับบ้างหรือเปล่า ฉะนั้นหากเกิดน้ำท่วมขึ้นอีก ก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปแก้ไขตรงจุดนี้ด้วย
สอและ มะสอลา อาสาสมัครช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เล่าว่า เท่าที่ได้สัมผัสรู้สึกหดหู่ อาจเป็นเพราะของบริจาคมากเกินไป ทำให้บางส่วนถูกทิ้งขว้างอย่างน่าเสียดาย
“ตอนที่เข้าไปในพื้นที่ ผมเห็นเสื้อผ้าที่มีคนบริจาคมาถูกทิ้งขว้างเยอะแยะ ไม่ค่อยมีใครสนใจ ขยะก็เต็มไปหมด ไม่มีการจัดการที่ดี การให้ความช่วยเหลือเรื่องสร้างบ้านหลังใหม่ให้กับผู้ประสบภัยที่บ้านพังทั้งหลังก็มีปัญหา เพราะบางรายมีเงื่อนไขมาก อยากได้บ้านสวยๆ หรูๆ ทำให้คนที่เข้าไปช่วยรู้สึกท้อเหมือนกัน” สอและ กล่าว
คำชี้แจงจาก “คนใน”
แวนีซะ สุหลง แกนนำเยาวชนบ้านดาโต๊ะ อธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ในเรื่องของบริจาค ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าที่บ้านดาโต๊ะไม่มีสถานที่สำหรับเก็บสิ่งของในปริมาณมากๆ ทำให้เกิดภาพอย่างที่เห็น และชาวบ้านดาโต๊ะก็พยายามบอกให้ผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือผ่องถ่ายของบริจาคไปให้ชุมชนอื่นที่ประสบภัยเหมือนกันบ้าง แต่พี่น้องที่เข้ามาช่วยก็มีเจตนาดี และมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะบริจาคให้กับพื้นที่บ้านดาโต๊ะ กระทั่งแบกเสื้อผ้าเดินเท้ามาประมาณ 2 กิโลเมตรก็ยังมา
“เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ตัวแทนผู้รับบริจาคต้องยอมรับน้ำใจ และได้พูดหลายครั้งว่าเสื้อผ้าที่บริจาคมามีมากเพียงพอแล้ว แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่สามารถบังคับความปรารถนาดีของผู้ที่ต้องการช่วยเหลือได้”
ส่วนเรื่องที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีการบริหารจัดการสิ่งของบริจาคนั้น แวนีซะ บอกว่า ช่วงเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ผู้นำหมู่บ้านและตัวชาวบ้านเองมีเรื่องที่ต้องทำหลายอย่างมาก เช่น ต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เข้ามาในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องจัดการกับสิ่งของบริจาค ต้องดูแลลูกบ้านอีกหลายชีวิต ทุกคนต่างก็เหน็ดเหนื่อยและเสียขวัญจากเหตุร้าย
ส่วนที่มองกันว่าชาวบ้านอยากได้เงินมากกว่าสิ่งของ และอยากได้บ้านสวยๆ แทนบ้านหลังเก่านั้น แวนีซะ กล่าวว่า แม้จะมีคนพูดอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็เป็นเพียงคนไม่กี่คน ไม่ใช่ชาวบ้านดาโต๊ะทั้งหมด
“ดิฉันคิดว่าความต้องการของคนไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อคนจำนวนมากอยู่รวมกันเป็นสังคม ก็ต้องมีคนแบบนี้อยู่บ้าง ที่ผ่านมาผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านดาโต๊ะส่วนใหญ่ก็ได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้ เป็นการคุยกันก่อนที่คนนอกหมู่บ้านจะวิจารณ์กันเสียอีก แต่มันก็เป็นเรื่องละเอียดก่อน การจะปรับทัศนคติของคนให้ได้ภายในเวลาไม่กี่วันแทบเป็นไปไม่ได้เลย เราก็เลยสรุปกันว่าขอให้อัลลอฮ์เป็นผู้ตัดสินการกระทำของคนที่พูดเช่นนั้นเองก็แล้วกัน”
จากเสียงวิจารณ์แง่ลบที่เกิดขึ้น แวนีซะ บอกว่า ชาวบ้านดาโต๊ะส่วนใหญ่รู้สึกรับไม่ได้ และทั้งผู้นำหมู่บ้าน โต๊ะอิหม่าม คณะกรรมการมัสยิด ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งนักวิจัยท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งชาวบ้านเอง ก็คิดจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่คงต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ดูเหมือนปัญหาหลังน้ำลดที่บ้านดาโต๊ะยังไม่จบ และยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องร่วมกันถอดบทเรียน ในขณะที่เมฆฝนทะมึนดำระลอกใหม่กำลังปกคลุมผืนฟ้าที่ชายแดนใต้อีกแล้ว...
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พายุฝนถล่มปัตตานีเมื่อหนก่อน
2 ของบริจาคเหลือเฟือที่บ้านดาโต๊ะ