- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- ชงเพิ่มเงินอุดหนุน"ตาดีกา"กว่าเท่าตัว ใช้งบปีละ 450 ล้าน
ชงเพิ่มเงินอุดหนุน"ตาดีกา"กว่าเท่าตัว ใช้งบปีละ 450 ล้าน
ศอ.บต.ชง ครม.เพิ่มเงินอุดหนุน "ตาดีกา" ชายแดนใต้ ทั้งค่าตอบแทนครูผู้สอนและค่าบริหารจัดการมัสยิด จากเดือนละ 5-9 พันบาท เป็น 2 หมื่นบาท เทงบปีละ 450 ล้าน หวังเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาให้นักเรียนมุสลิมกว่า 2 แสนคน ส่งผลสร้างสันติสุขยั่งยืน
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เตรียมเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพิ่มค่าตอบแทนผู้สอนโรงเรียนตาดีกา หรือศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) อนุมัติเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของ ครม.ก็ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
ศอ.บต.ได้เสนอเหตุผลและข้อมูลประกอบ สรุปว่า นับตั้งแต่เกิดปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2547 โรงเรียนตาดีกาและปอเนาะถูกกล่าวหาจากหน่วยงานความมั่นคงว่าเป็นสถานที่บ่มเพาะหรือเป็นโรงเรียนของผู้ก่อเหตุรุนแรง ครูผู้สอนบางส่วนถูกติดตามไล่ล่า และบางส่วนถูกจับกุมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) แต่ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีกว่าร้อยละ 80 ในพื้นที่ก็ยังนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในตาดีกา กระทั่งเป็นสถานศึกษาที่พี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งเด็กและเยาวชนเข้าเรียนมากที่สุด
แม้รัฐบาลจะพยายามส่งเสริมให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐเปิดสอนศาสนาอิสลามเพื่อทดแทนตาดีกา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองในพื้นที่ยังให้ความมั่นใจตาดีกามากกว่า และให้ความสำคัญเรื่องการปฏิบัติตามหลักศาสนามากกว่าการสอนตามหลักสูตรในห้องเรียน
จากการสำรวจของ ศอ.บต.พบว่า ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีศูนย์ตาดีกามากถึง 2,038 แห่ง มีจำนวนนักเรียน 215,735 คน และมีครูผู้สอน 6,467 คน แต่พบปัญหา คือ เงินอุดหนุนที่รัฐมอบให้กับศูนย์ตาดีกาในปัจจุบัน ทั้งเงินอุดหนุนครูผู้สอน และเงินสำหรับบริหารจัดการมัสยิด (ศูนย์ตาดีกาใช้มัสยิดเป็นสถานที่สอน) อยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริง ทำให้ศูนย์ตาดีกาส่วนใหญ่อยู่ในสภาพทรุดโทรม บางแห่งไม่มีกระทั่งชอล์คเขียนกระดาน
ในส่วนของค่าตอบแทนครูที่รัฐอุดหนุนอยู่เดิม แบ่งเป็น
- ตาดีกาที่มีนักเรียนไม่เกิน 80 คน มีจำนวน 566 แห่ง อุดหนุนค่าตอบแทนครู 2 คน คนละ 2,000 บาท และค่าบริหารจัดการมัสยิดอีก 1,000 บาท รวมเป็น 5,000 บาทต่อเดือน
- ตาดีกาที่มีนักเรียน 81-120 คน มีจำนวน 553 แห่ง อุดหนุนค่าตอบแทนครู 3 คน คนละ 2,000 บาท และค่าบริหารจัดการมัสยิดอีก 1,000 บาท รวมเป็น 7,000 บาทต่อเดือน
- ตาดีกาที่มีนักเรียน 121 คนขึ้นไป มีจำนวน 919 แห่ง อุดหนุนค่าตอบแทนครู 4 คน คนละ 2,000 บาท และค่าบริหารจัดการมัสยิดอีก 1,000 บาท รวมเป็น 9,000 บาทต่อเดือน
"การจ่ายเงินอุดหนุนครูผู้สอนในจำนวนที่ไม่เท่ากับจำนวนครูที่มีอยู่จริง ทำให้ครูไม่เพียงพอกับจำนวนชั้นเรียน ส่งผลทำให้การเรียนการสอนไม่มีคุณภาพ และเมื่อเด็กเรียนจบจากศูนย์ตาดีกาไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม นักเรียนก็ไม่สามารถเข้าเรียนในระดับอิสลามศึกษาตอนกลางได้ทันที แต่จะต้องเรียนซ้ำในระดับอิสลามศึกษาตอนต้น จึงทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและสูญเสียเวลาและโอกาส" เอกสารประกอบที่ ศอ.บต.เสนอต่อ ครม.ระบุตอนหนึ่ง
และว่า ด้วยเหตุนี้ ศอ.บต.จึงได้เสนอปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนใหม่ โดยแยกศูนย์ตาดีกาออกเป็น 2 ระดับเท่านั้น และเพิ่มจำนวนครูที่ได้รับเงินอุดหนุนให้มากขึ้น กล่าวคือ
- ตาดีกาที่มีนักเรียนไม่เกิน 60 คน มีจำนวน 409 แห่ง อุดหนุนค่าตอบแทนครู 4 คน คนละ 3,000 บาท และค่าบริหารจัดการมัสยิดอีก 2,000 บาท รวมเป็น 14,000 บาทต่อเดือน
- ตาดีกาที่มีนักเรียนเกิน 60 คน มีจำนวน 1,629 แห่ง อุดหนุนค่าตอบแทนครู 6 คน คนละ 3,000 บาท และค่าบริหารจัดการมัสยิดอีก 2,000 บาท รวมเป็น 20,000 บาทต่อเดือน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า หลักเกณฑ์การอุดหนุนในอัตราใหม่ใช้งบประมาณทั้งค่าตอบแทนครูและค่าบริหารจัดการมัสยิด รวม 38,306,000 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากเดิม 23,285,000 บาทต่อเดือน ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 459,672,000 บาทต่อปี เฉพาะปีงบประมาณ 2555 ซึ่งไม่ได้ตั้งงบ (เฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้น) เอาไว้ ศอ.บต.เสนอขอใช้งบกลางจำนวน 140 ล้านบาท
"เราเชื่อว่าสันติสุขที่ยังยืนอยู่ที่ศาสนาและการศึกษา ดังนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนตาดีกาจะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม มีศักดิ์ศรี และเป็นการแสดงถึงบทบาทของรัฐในการสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาศาสนาขั้นพื้นฐานของชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาให้เทียบเคียงกับประเทศมาเลเซีย" พ.ต.อ.ทวี กล่าว และว่า ในส่วนของการสนับสนุนนักเรียนและการจัดการเรียนการสอน มีนโยบายให้นำงบพนม.(โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับหมู่บ้าน) ในปี 2555 ไปส่งเสริมพัฒนาตาดีกาอย่างน้อยหมู่บ้านละ 30,000 บาทด้วย เชื่อว่าจะเป็นการส่งสัญญาณสันติสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืน
รู้จักหลักสูตรตาดีกา
สำหรับศูนย์ตาดีกาในปัจจุบัน ใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาฟัรฎูอีนประจำมัสยิด พ.ศ.2548 จัดการเรียนการสอนเป็นระดับระดับช่วงชั้น เรียนวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาเด็กจะเรียนสายสามัญในโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐบาล แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะเปิดสอนศาสนาในโรงเรียนระดับประถมแล้ว แต่ผู้ปกครองยังนิยมให้เด็กมุสลิมทุกคนเรียนตาดีกาอยู่ เพราะเป็นเรื่องการปฏิบัติตามหลักศาสนาและความเชื่อ
สำหรับหลักสูตรตาดีกา กำหนดเป็น 2 ช่วงชั้น ตามระดับพัฒนาการของผู้เรียน คือ
ช่วงชั้นที่ 1 ระดับอิสลามศึกษาตอนต้น ปีที่ 1-3 มีเวลาเรียนประมาณปีละ 252 ถึง 440 ชั่วโมง เฉลี่ยวันละ 5-6 ชั่วโมง
ช่วงชั้นที่ 2 ระดับอิสลามศึกษาตอนต้น ปีที่ 4-6 มีเวลาเรียนประมาณปีละ 252 ถึง 440 ชั่วโมง เฉลี่ยวันละ 5-6 ชั่วโมงเช่นกัน
สาระการเรียนรู้ตามหลักสูตร ประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะ หรือกระบวนการเรียนรู้ และคุณลักษณะหรือค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียน มี 8รายวิชา ได้แก่ 1.อัล-กุรอาน 2.อัล-ฮะดีษ 3.หลักศรัทธา 4.ศาสนบัญญัติ 5.ศาสนประวัติ 6.จริยธรรม 7.ภาษาอาหรับ และ 8.ภาษามลายู
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ห้องเรียนของศูนย์ตาดีกา ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพทรุดโทรม
2 ศูนย์ตาดีกาในเขต อ.ยะหา จ.ยะลา (ภาพทั้งหมดโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)