- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- กก.รณรงค์แนวร่วมวางปืนนัดถก27ก.ย. "ประยุทธ์"ร่ายยาวเลิก-ไม่เลิก พ.ร.ก.
กก.รณรงค์แนวร่วมวางปืนนัดถก27ก.ย. "ประยุทธ์"ร่ายยาวเลิก-ไม่เลิก พ.ร.ก.
การจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" นำเสนอและเปิดประเด็นไปก่อนหน้านี้นั้น มีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงเมื่อวันอังคารที่ 25 ก.ย.2555 ว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 (วันที่เกิดเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอก จากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส) เป็นต้นมา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปในพื้นที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานไม่ได้ส่งผลดีกับการต่อสู้ของขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐ แต่กลับทำให้เกิดความสูญเสียต่อทุกฝ่าย ส่งผลกระทบทำให้พื้นที่ขาดโอกาสในการพัฒนาทุกด้าน ขณะเดียวกันองค์กรที่ต่อสู้กับรัฐก็ไม่สามารถชี้นำให้มวลชนและสมาชิกขององค์กรเห็นช่องทางที่จะนำพาหรือขับเคลื่อนองค์กรไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สมาชิกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้ที่ไร้ทิศทาง ไม่เป็นระบบ จึงได้เดินออกจากขบวนการ เพื่อหาทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการสูญเสียแก่ประชาชน ประกอบกับการที่รัฐได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐและเคยต่อสู้กับรัฐด้วยวิธีรุนแรงได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กลุ่มบุคคลดังกล่าวจึงรวมตัวกันขึ้นมา และประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง โดยได้แสดงตนต่อผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4 หมายถึงแม่ทัพภาคที่ 4) จำนวน 93 คน (เมื่อวันอังคารที่ 11 ก.ย.2555) เพื่อร่วมกับรัฐในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต่อสู้กับรัฐด้วยวิธีรุนแรงในห้วงที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันรู้สึกเบื่อหน่ายการต่อสู้ และมีความประสงค์ที่จะยุติบทบาทการต่อสู้หันมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธีร่วมกับรัฐ แต่เนื่องจากบุคคลดังกล่าวอาจจะยังขาดข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มั่นใจในรัฐ หรือยังมองไม่เห็นช่องทางในการแสดงตน รวมทั้งขาดคนชี้นำให้คำปรึกษาในกระบวนการแสดงตน กอปรกับผลสืบเนื่องมาจากการกระทำที่ผิดพลาดของตนในขณะที่ร่วมกับขบวนการ อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่น ในการนี้ ผอ.รมน.ภาค 4 จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง "คณะกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ขึ้นมา
สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วยบุคลากรที่ได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ จำนวน 18 คน เพื่อประสานงานและรณรงค์ให้ผู้ที่ยังคงต่อสู้กับรัฐด้วยวิธีรุนแรงอยู่ได้ยุติการต่อสู้ และมาแสดงตนเพื่อร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีร่วมกัน
นอกจากนั้นจะมีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการอำนวยความสะดวกด้านกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้ที่แสดงตนเพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งจะดำเนินการโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
โอกาสนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้กำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 27 ก.ย.2555 เวลา 10.00 น.ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี (อ่านประกอบ เปิดแผนรัฐเลิก พ.ร.ก.ใต้ ลุยตั้ง "กก.2 ชุ" รณรงค์แนวร่วมวางอาวุธ http://www.isranews.org/south-news/scoop/38-2009-11-15-11-15-01/16569--2-.html )
ผบ.ทบ.แขวะเลิก พ.ร.ก. "อย่าเดือดร้อนแทนผู้ร้าย"
ด้านความคืบหน้ากรณี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ว่าที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เมื่อวันเสาร์ที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่ารัฐบาลได้เตรียมการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 บางพื้นที่ ในปี 2556 นั้น
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
"กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะยกเลิกพื้นที่ใด แต่ถ้ายกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการทางกฎหมายได้โดยทันทีเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องไปขอหมายศาลในการจับกุม ตรวจค้น ซึ่งอาจไม่ทันเวลา และไม่มีอำนาจในการควบคุมตัว การพิสูจน์หาหลักฐานก็จะลดลง และผู้ร้ายก็จะหลุดไปได้ง่าย นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ได้มาคือกระแสสังคมที่จะทำให้ดูดีว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ไปรังแกประชาชน"
"ผมอยากให้แยกให้ออกว่า คำว่ารังแกคน ซึ่งยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ที่เลวๆ และไปทำร้ายคนก็มี แต่ก็ได้รับการลงโทษและจะหมดไปเรื่อยๆ แต่ก็มีคนดีที่ลงไปทำงานและใช้กฎหมายในทางที่ถูกจำนวนมาก คิดว่าอาจจะ 100% แล้วก็ได้ ขอให้เห็นใจ"
"ถ้าบอกว่าให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ผมไม่มีปัญหา และตำรวจก็ไปขอหมายจับจากศาลเอาเอง ซึ่งต้องรับผิดชอบกัน ขอให้สั่งมา ผมทำได้หมด แต่ผมคิดว่าการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ยกเว้นผู้ร้าย แต่ตอนนี้ทุกคนกำลังเดือดร้อนแทนผู้ร้ายทั้งหมด พอมีความบกพร่องและเกิดเหตุก็หันมาโทษเจ้าหน้าที่ ก็เป็นแบบนี้"
ลุยตั้งด่าน-เพิ่มความเข้มงวด ชี้ชาวบ้านอาจเดือดร้อนบ้าง
ส่วนเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้น เช่น เหตุคาร์บอมบ์ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 21 ก.ย.2555 ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี นั้น ผบ.ทบ.กล่าวเอาไว้แบบนี้
"เหตุการณ์ต่างก็ยังคงต้องเกิดอยู่ เพราะการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างจำกัด เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งได้รับความเดือดร้อน และส่วนหนึ่งไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่ประชาชนทั้งสองส่วนก็ไม่อยากให้ใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ค่อนข้างดำเนินการได้ยาก โดยเฉพาะการตรวจค้น จับกุม สอบสวนและการดำเนินคดีที่ต้องอาศัยเวลาพอสมควรในการพิสูจน์หลักฐาน หากพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องปล่อยตัว"
"เราทราบดีว่าคนเหล่านั้นมีส่วนร่วมก่อเหตุความรุนแรง สิ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือเรื่องการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์หลังจากที่มีการจับกุมได้แล้ว ซึ่งจะต้องยอมรับกันในจุดนี้ ผมคิดว่าต้องเข้มงวดด้านยุทธวิธีและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้น โดยผมจะสั่งการให้ตั้งด่านตรวจสกัดให้มากขึ้นในทุกพื้นที่ สำหรับในพื้นที่ควบคุมบางพื้นที่อาจจะต้องดำเนินการเป็นพิเศษ คือประชาชนได้รับความเดือดร้อนแน่นอน เพราะถ้าไม่เข้มงวดการตั้งด่านตรวจด่านสกัดให้ได้ผลจริงๆ และไม่เพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันเวลาก็จะต้องเกิดเหตุอยู่เช่นนี้ เนื่องจากคนเหล่านั้นไม่ได้กลับมาร่วมมือกับเรา"
"ยอมรับว่าเรามีช่องว่างมาก ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบฉวยโอกาสก่อเหตุ เพราะเรามีเป้าหมายเสี่ยงจำนวนมาก เช่น พื้นที่และประชาชน ปัจจุบันทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปดูแลจนถูกลอบทำร้าย ทั้งชุดรักษาความปลอดภัย ชุดเฝ้าสถานที่ ชุดคุ้มครองครู นักเรียน วัด ซึ่งถือเป็นเป้าหมายอ่อนแอ เพราะมีความเสี่ยงในการสัญจรไปมาในเส้นทางเดิมและเวลาเดิม นี่คือสาเหตุที่เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ในส่วนของพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงเป็นจำนวนมาก เรากำลังจะกำหนดว่าพื้นที่ใดมีความรุนแรงมากหรือน้อย แต่ก็เสี่ยงเหมือนกัน เพราะถ้าเรากำหนดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งว่ามีความรุนแรงมาก ผู้ก่อเหตุก็จะเปลี่ยนพื้นที่การก่อเหตุไปยังพื้นที่ที่เราให้ความสำคัญน้อยลง ซึ่งต้องยอมรับว่าการดำเนินการทุกด้านมีความสุ่มเสี่ยงหมด แต่เราจะอาศัยมาตรการทางด้านการข่าว ถ้าอยากจะได้ข้อมูล 100% เราจะต้องส่งคนไปอยู่กับเขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย"
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ค่ายสิรินธร ที่ตั้งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)
ขอบคุณ : ข่าว ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ โดย ปัญญา ทิ้วสังวาลย์ สำนักข่าวเนชั่น