"ดร.นันทนา" วิพากษ์สื่อสารการเมืองของผู้นำ จากยุคทักษิณ ถึง นายกฯประยุทธ์
“...การสื่อสารในรายการคืนความสุขให้คนในชาติไทม์มิ่งไม่ดี ยิ่งมาออกตอน 2 ทุ่ม คนไทยต้องการพักผ่อน เพราะผ่านชีวิตประจำวันมาหนักหนาสาหัส แต่พอท่านออกมาด้วยบุคลิกที่แข็งตึง จากสุขอาจจะกลายเป็นทุกข์ ต่อให้คนรักเราแค่ไหน อาจไม่มีใครอยากฟัง”
เกือบ10 ปีมานี้ คำพูดของนายกรัฐมนตรีไทยในการสื่อสารทางการเมืองแต่ละยุคสมัย มีทั้งคำพูดที่สร้างสรรค์ นุ่มนวล ตรงไปตรงมา ดุดัน เชือดเฉือน หรือประเภทวาจาเป็นพิษ สร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ก็มีให้ได้ยินหลายครั้งหลายหน
สำนักข่าวอิศรา ชวน “ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง การสื่อสารของผู้นำใน 5 ยุค 5 สมัย ที่มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกัน
ตั้งแต่ผู้นำที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ,พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ , ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ,มาจนถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคสช.คนปัจจุบัน
บทวิเคราะห์ของ ดร.นันทนา มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ อาจทำให้คุณผู้อ่านอยากรู้ว่าคำพูด บุคลิกและตัวตน ของผู้นำการเมืองที่คุณทั้งรักและชังแต่ละคนเป็นเช่นไร ...
…………….
ดร.นันทนา กล่าวถึง “พ.ต.ท.ทักษิณ” ว่า มีการสื่อสารทางการเมืองชัดเจนและทำได้สำเร็จ บรรลุตามเป้าหมายคือการชนะเลือกตั้ง
เมื่อเป็นนายกฯ คุณทักษิณก็นำการตลาดทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในทางการเมือง สื่อสารโน้มน้าวใจให้ประชาชนคล้อยตามและสนับสนุนโครงการหรือนโยบายที่คุณทักษิณทำ
เช่นเดียวกับการจัดรายการนายกฯทักษิณคุยกับประชาชน เป็นบรรยากาศของการสื่อสารแบบใหม่ที่คนไทยยุคหลังได้รู้จัก ให้คนรู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ โดยใช้วิธีการนำเสนอแบบพูดเร็ว คิดเร็ว ให้ความรู้สึกสดและใหม่ แม้จะมีทีมงานคอยทำข้อมูลประกอบให้ แต่นำเสนอออกมาได้เป็นธรรมชาติ ใครไม่ฟัง รวมทั้งสื่อ อาจตกข่าว
“ถ้าดูตามเป้าหมายถือว่าสำเร็จอย่างมาก ใช้การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง แต่ในความคิดเร็ว พูดเร็ว ก็มีความผิดพลาดพอสมควร หลายครั้งที่คุณทักษิณพลาดด้วยการพูดเร็วเกินไป จนกลายเป็นเรื่องที่สร้างความขัดแย้งรุนแรงในสังคม”
ถัดมาคือ “พลเอกสุรยุทธ์” นายกฯยุครัฐบาลคมช. ดร.นันทนา วิเคราะห์ว่า เป็นนายกฯที่ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองเป็นรัฐบาลชั่วคราว ฉะนั้น การสื่อสารของพลเอกสุรยุทธ์จึงมีลักษณะอ่อนน้อมถ่อมตน พูดน้อย คิดเยอะ ไม่ค่อยพยายามนำเสนออะไรที่รวดเร็ว
มีทีมงานกลั่นกรองเนื้อหาข้อมูลก่อนนำเสนอ ทำให้ไม่เห็นตัวตนของพลเอกสุรยุทธ์เท่าใดนัก ซึ่งสะท้อนผ่านรายการวิทยุเปิดบ้านพิษณุโลก ที่ท่านไม่ได้พูดคนเดียว แต่มีพิธีกรหลากหลายสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาซักถาม เพื่อให้มีส่วนดึงความสนใจของผู้ฟัง
“แต่เนื่องจากลักษณะการสื่อสารในยุคนี้เหมือนการประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติในนโยบายของรัฐบาล จึงไม่ค่อยมีอะไรที่หวือหวา ทำให้การสื่อสารในรัฐบาลชุดนี้เป็นการสื่อสารแบบเรียบง่าย ไม่มีสีสัน ไม่ฉูดฉาด แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหาให้คนทะเลาะกัน”
ต่อมายุค “มาร์ค อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯที่มีวาทศิลป์ดี พูดจาฉะฉาน คมคาย มีความสามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ดี เป็นจุดที่น่ายกย่อง รวมทั้งใช้คำที่มีความหมายลึกซึ้ง
แต่เมื่อออกมาสื่อสารในฐานะผู้นำ ช่วงที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตทางการเมืองมีความขัดแย้งสูง การสื่อสารในภาวะวิกฤตหลายครั้งเป็นคำที่ท้าทายสื่อมวลชน ท้าทายประชาชน ด้วยวาทศิลป์ไม่ถึงขนาดสร้างความขัดแย้ง แต่ก็ไม่อ่อนน้อมถ่อมตัว มีลักษณะกล้านำเสนอข้อมูลในทิศทางของตนเอง
ทว่า คุณอภิสิทธิ์ใช้ภาษาในช่วงเวลานั้นได้ดี เช่น การสลายการชุมนุม ใช้คำว่า ขอคืนพื้นที่ กระชับวงล้อม แม้สิ่งที่ทำไปนั้นโดยพฤติกรรมแล้วจะเป็นลบ แต่ภาษากลับสร้างความรู้สึกเป็นบวก
นอกจากนี้ยังมีความแหลมคมในการคิดวิเคราะห์ ไม่ค่อยตกเป็นเหยื่อของสื่อมวลชนในการตอบคำถาม ไม่ถูกต้อนจนมุม
อย่างไรก็ตามกลับพบว่าในการจัดรายวิทยุ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะคุณอภิสิทธิ์ ค่อนข้างเกรงกับการพยายามที่จะนำเสนอข้อมูล
ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ไม่ได้สร้างกระแส และไม่ได้กำหนดวาระสังคมมากนัก ออกมาในแนวประชาธิปัตย์ คือเป็นไปตามหลักการ มีเหตุมีผล
“ฉะนั้นแล้ว คุณอภิสิทธิ์เป็นคนพูดจาดี ภาษาสละสลวย ไม่ผิด แต่ไม่โดดเด่น ไม่โดน ฟังแล้วดีปรบมือ แต่จำไม่ได้ว่าคุณอภิสิทธิ์พูดอะไร วรรคทองของคุณอภิสิทธิ์แทบนึกไม่ค่อยออก”
สำหรับยุคนายกฯหญิง “ยิ่งลักษณ์” ดร.นันทนา เห็นว่า มีจุดอ่อนเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะเรื่องการพูด ที่พูดไม่เก่งจากการไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง
คุณยิ่งลักษณ์จึงเป็นนายกฯที่พูดตามสคริป พูดอย่างระมัดระวังตัวมากและตอบคำถามน้อย เพิ่งมาช่วงท้ายสมัย ถึงเริ่มจะตอบโต้กับสื่อมวลชนบ้างเป็นครั้งคราว
อย่างไรก็ตาม การอ่านสคริปผิดของคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ผิดในสาระสำคัญ เช่น อ่านวรรคตอนผิด แต่คุณยิ่งลักษณ์ก็ยังสามารถประคับประคองการสื่อสารของตนเองให้ไปบรรลุเป้าหมายได้
รวมทั้งในการจัดรายการโทรทัศน์ก็จะไม่จัดเองหรือพูดเองคนเดียว แต่มีพิธีกรและรัฐมนตรีมาออกทีวีแทน มาตอบคำถามแทน ซึ่งเป็นวิธีการที่ลบจุดอ่อนของตนเองได้ดี
“โดยตัวคุณยิ่งลักษณ์เองสื่อสารไม่ดี แต่ก็รู้วิธีการจัดการจุดอ่อนของตนเองให้สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ ใช้ทีมงานเข้ามาตอบคำถาม ไม่เอาตนเองเข้าไปปะทะ ทำให้มีภาพลักษณ์เป็นคนอ่อนโยน ถ่อมตัว และสุภาพ”
สุดท้ายคือ “พลเอกประยุทธ์” หัวหน้าคสช.และนายกฯคนปัจจุบัน คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ชี้ว่า เป็นผู้นำที่สื่อสารการแนวบู๊มากที่สุด หากเทียบกับ 4 ท่านที่พูดมา อาจเทียบได้กับนายกฯสมัคร(สุนทรเวช)
แต่ทั้งนี้ คุณสมัครมีความเก๋าทางการเมือง มีประสบการณ์มากกว่า แต่ท่านนายกฯคนปัจจุบันอยู่ในวงการทหารมาตลอดชีวิต ใช้การสื่อสารแบบทางเดียว พอมาเจอการสื่อสารแบบ 2 ทางที่มีการโต้ตอบ ดูเหมือนยังปรับตัวไม่ได้ การพูดมีลักษณะให้ผู้ฟังควรรับฟัง นักข่าวควรรับรู้ พยักหน้า แล้วจดเลคเชอร์ ไม่ควรจะซักถาม
ขณะเดียวกัน เข้าใจว่าท่านนายกฯ ยังไม่มีเป้าหมายของการสื่อสารที่ชัดเจน เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่งต่างจากนายกฯช่วงหลังยกเว้นคุณสุรยุทธ์ ที่มีเป้าหมายชัดเจนเพราะมาจากการเลือกตั้งแล้วสื่อสารนโยบายและผลงานให้ประชาชนยอมรับสนับสนุน แต่ท่านประยุทธ์อาจไม่รู้ว่าจะสื่อสารทำไม เพราะไม่ต้องการคะแนนนิยมเพื่อชนะเลือกตั้ง
แต่อยากจะเรียนท่านว่า แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็จะต้องรักษาคะแนนนิยมให้มาก เป้าหมายในการสื่อสารของท่านไม่ได้ต่างจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อาจไม่ต้องจริงจังกับเรื่องคะแนนนิยมมากมายนัก ทว่าต้องสื่อสารนโยบาย สื่อสารผลงานให้ประชาชนยอมรับท่านเช่นกัน
“อะไรที่ไม่ได้นำไปสู่เป้าหมายด้านนโยบายหรือผลงานรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ เพราะบางเรื่องถ้าท่านพูด ท่านตอบ จะนำไปสู่การลุแก่โทสะ บางครั้งโกรธแล้วแสดงออก ภาพมันออกไปทั่วโลก เป็นการทำลายภาพลักษณ์ท่าน”
เช่นเดียวกับการสื่อสารของนายกฯประยุทธ์ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ดร.นันทนา เห็นว่า ช่วงเวลาที่ออกอากาศไม่ดีนัก ประเด็นเยอะเกินไป และไม่มีเป้าหมายการนำเสนอชัดเจน
“การสื่อสารในรายการคืนความสุขให้คนในชาติไทม์มิ่งไม่ดี ยิ่งมาออกตอน 2 ทุ่ม คนไทยต้องการพักผ่อน เพราะผ่านชีวิตประจำวันมาหนักหนาสาหัส แต่พอท่านออกมาด้วยบุคลิกที่แข็งตึง จากสุขอาจจะกลายเป็นทุกข์ ต่อให้คนรักเราแค่ไหน อาจไม่มีใครอยากฟัง”
ดร.นันทนา เสนอว่า ควรเปลี่ยนช่วงเวลาคืนความสุขให้คนในชาติ เป็นช่วงเช้าวันเสาร์หรืออาทิตย์ และไม่ควรออกนาน แต่นำเสนอประเด็นให้ชัด มีเป้าหมาย แล้วสื่อสารออกไปในรูปแบบน่าสนใจ
“หากท่านใช้ประเด็นนำอารมณ์ คนจะตามประเด็นท่าน ก็จะทำให้เกิดความน่าสนใจ แต่หากนายกฯโกรธ วันนี้อารมณ์เสีย วันนั้นอารมณ์ดี สื่อก็ลงแต่สิ่งเหล่านี้ สุดท้ายอาจไม่บรรลุเป้าหมายการสื่อสารเรื่องการปฏิรูป การปรองดอง เพราะไม่ชัดเจน ไม่สามารถกำหนดวาระให้กับสังคมได้”
ดร.นันทนา ทิ้งท้ายว่า การสื่อสารทางการเมืองตามทฤษฎีคือการส่งสารจากนักการเมือง องค์กรทางการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้อง ผ่านสื่อไปยังประชาชนและเน้นเป้าหมายของการสื่อสารเป็นสำคัญ
หากผู้นำต้องการให้การสื่อสารนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ จะต้องกำหนดเป้าหมาย แล้วสื่อสารออกไป และไปตรวจผลที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
แต่หากไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าสื่อสารไปทำไม รู้แค่ว่ามีหน้าที่จะต้องพูด ต้องตอบ แต่ไม่รู้เป้าหมายว่าเพื่ออะไร ก็จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการสื่อสารทางการเมือง และอาจบอกได้ว่าการสื่อสารนั้นไม่ประสบความสำเร็จ!
ขอบคุณภาพจาก:คลังภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ