เปิดกลุ่มยาเอ็นเสดอันตรายต่อไต พบคนไทยใช้พร่ำเพรื่อ ป่วยพุ่งอันดับ 3 อาเซียน
เปิดกลุ่มยาเอ็นเสด อันตรายต่อไต พบคนไทยป่วยโรคไตพุ่งอันดับ3 อาเซียน สถิติเพิ่มขึ้นถึงปีละ 8 พันราย 5.4 % ที่เชื่อกันว่า โรคไตเรื้อรังเกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม
วันที่ 9 มี.ค. ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับนักวิชาการจากคณะเเพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (สยส.) และเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต จัดแถลงข่าว “ยาที่เป็นอันตรายต่อไต” ณ ห้อง Dipak C.Jain ศศนิเวศ จุฬาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และประธานอนุกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล กล่าวว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังสูงถึง 8 ล้านคน คิดเป็น 17 % ของประชากรไทยในปัจจุบัน เป็นสถิติที่ค่อนข้างสูงจัดได้ว่า ติดอันดับ 3 ของ ประเทศในอาเซียน ในจำนวนทั้งหมดนี้มีคนไข้โรคไตที่ต้องการฟอกไตประมาณ 2 แสนคน อีกทั้งสถิติพบว่า จะเพิ่มขึ้นถึงปีละ 8 พันราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวานหรือความดันเลือดสูง นอกจากนี้ 5.4 % ที่เชื่อกันว่า โรคไตเรื้อรังเกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม
“ยาที่ไม่เหมาะสมที่มีการพูดถึง คือ ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ และยาบำรุงหรือยาเสริมที่ใช้ทั่วไป ขายตามท้องตลาด ถ้าดูแลเรื่องการใช้ยาได้ดีขึ้น เชื่อว่า ปัญหาโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยจะลดลงเรื่อยๆ” ศ.นพ.ชัยรัตน์ กล่าว และว่า สำหรับยาที่ทำให้เกิดโรคไตที่เป็นไปได้คือ การกินยาที่เป็นพิษต่อไตโดยตรง ซึ่งไปทำลายเนื้อเยื่อไต ยาที่มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง จะทำให้ความดันเลือดผิดปกติ ยาที่ตกตะกอนในท่อไตหรือในกระเพาะปัสสาวะ และจากการใช้ยาโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่กินยาแก้ปวดแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) มาเป็นเวลานาน ยาฆ่าเชื้อบางชนิด หรือยาจีน-ยาไทยที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ซึ่งในบางครั้งจะทำให้ไตเสื่อมมากขึ้นหรือหยุดทำงานได้
ศ.นพ.ชัยรัตน์ กล่าวถึงการดูแลและป้องกันปัญหาโรคไต มี 4 หลักที่ควรทำเพื่อถนอมไต คือ ควรกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง ควรสอบถามจนเข้าใจถึงยาที่กินอยู่ ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าเป็นโรคอะไร และควรมีรายชื่อยาที่ใช้อยู่เป็นประจำพกติดตัวไว้เมื่อมาพบแพทย์ เพื่อป้องกันผลเสียของยาต่อไต คือ ไม่ควรหยุดยาเอง ไม่ควรซื้อยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาบำรุงอาหารเสริมมากินเอง ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาในการกินยาที่ไม่รู้จัก และไม่ควรกินยาของผู้อื่น หากใช้ยาได้ถูกต้อง สมเหตุผล ปัญหาเรื่องไตก็จะลดลง
ด้านผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า ยากลุ่มเอ็นเสดเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวด บวม แดง ร้อน มีที่ใช้หลากหลาย เช่น ใช้บรรเทาปวดจากโรคเกาต์ ไมเกรน ข้อเข่าเสื่อม ปวดประจำเดือน และการปวดทางทันตกรรม เป็นต้น ยากลุ่มนี้หลายคนใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อินโดเมทาซิน ไอบูเฟน ไพร็อกสิแคม ไดโคลฟีแนค เมฟีนามิกแอสิด เซรีค็อกสิบ และเมลล็อกสิแคม หากใช้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ไตเสื่อมไตวาย จึงต้องใช้ให้ถูกขนาดหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น ไม่ใช้ต่อเนื่องนานๆ ต้องมีการตรวจติดตามการทำงานของไต และหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่เป็นโรคไตอยู่เดิม
“ปัจจุบันกลับพบว่า มีการใช้ยาเหล่านี้อย่างพร่ำเพรื่อทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ตลอดจนร้านขายยา รวมไปถึงการขายยาอย่างผิดกฎหมายตามร้านชำและรถเร่ โดยเฉพาะการซื้อขายในรูปแบบของ “ยาชุด” ซึ่งมีเอ็นเสดมากกว่า 1 ชนิดในยาชุดแต่ละซอง อันเป็นการซ้ำเติมให้เกิดพิษต่อไตอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น จึงควรควบคุมการใช้เอ็นเสดให้เป็นไปอย่างสมเหตุผลในการจ่ายยานี้จากทุกแหล่ง ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐ เอกชนและควรบังคับใช้กฏหมายต่อการขายยาอย่างผิดกฎหมายเพื่อช่วยปกป้องประชาชน”
ขณะที่ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า โรคไตของไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อภาระทางเศรษฐกิจทั้งต่อผู้ป่วยครอบครัวและประเทศ โดยพบว่า งบประมาณในการล้างไตสูงขึ้นทุกปี ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 สูงถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาต่างๆ จำนวนไม่น้อย โดยการใช้ยาที่ส่งผลต่อโรคไต และพบว่ามีผู้ใช้ติดต่อกันนานเป็นปีจนถึงขั้นไตวาย
นอกจากนี้ ในชุมชนยังมีปัญหาความเสี่ยงต่อโรคไตได้แก่ การฉีดยาต้านอักเสบที่ไม่ถูกต้อง ยาที่อนุญาตขึ้นทะเบียนยาไม่เหมาะสม สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อไต เช่นยาสูตรผสมระหว่างยาต้านอักเสบเอ็นเซดกับสเตียรอยด์และวิตามิน มีการอนุญาตทะเบียนยาที่อ้างบำรุงไตหรือล้างไตที่ไม่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ผู้ป่วยอาจละเลยการดูแลไต จนโรคลุกลามได้ การกระจายของยาสมุนไพรแผนโบราณที่นำเข้าและมีการลักลอบใส่ยาต้านอักเสบจนมีผู้เสียชีวิต รวมถึงการไม่จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบำรุงไตเกินจริง จนทำให้ผู้ป่วยหลงเชื่อหาซื้อมาบริโภคจนเกิดความเสียหายทั้งด้านการเงินและสุขภาพ
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรัง กล่าวแสดงความเป็นห่วงผู้บริโภค 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ เพราะเป็นแหล่งเงินที่ดีที่สุดของกลุ่มที่ขายยาจำพวกนี้ และกลุ่มผู้สูงอายุ คือ ไม่ออกนอกบ้าน อยู่แต่บ้าน ฟังวิทยุ ส่วนใหญ่จะเป็นคนค่อนข้างมีครอบครัวที่ดี ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่รักลูกหลานและให้ลูกหลานซื้อ ซึ่งไม่รู้ว่ายาสมุนไพร หรือการซื้อยากินเอง มีส่วนทำให้เกิดโรคไต