- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- แพร่ ม.44 ตั้ง ป.ย.ป. แก้การปฏิรูป-ปรองดอง ดึงภาคเอกชนนั่งที่ปรึกษา
แพร่ ม.44 ตั้ง ป.ย.ป. แก้การปฏิรูป-ปรองดอง ดึงภาคเอกชนนั่งที่ปรึกษา
ราชกิจจานุเบกษาแพร่คำสั่ง ม.44 ตั้ง ป.ย.ป. นายกฯ ปธ.-รองนายกฯ-รมว.คลัง-มหาดไทย-รมต.สำนักนายกฯ นั่ง กก. ขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูปประเทศ-ปรองดอง ดึงผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย ตั้ง สนง.บริหารนโยบาย คอยติดตามผล
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง
คำสั่งดังกล่าว ระบุว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กําหนดนโยบายการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ การรักษาความสงบเรียบร้อย และการสร้างความสามัคคีปรองดองในระยะแรก เพื่อเตรียมการไปสู่การกําหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวอันจะทําให้ประชาชนทราบถึงเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาและการแก้ปัญหาประเทศในช่วงเวลาต่างๆ อย่างชัดเจนนั้น
ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ก็ได้มอบให้รัฐบาลรับไปดําเนินการในระยะที่สอง ซึ่งหลังจากนั้น มีข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ เช่น กลุ่มสานพัฒนาตามแนวทางประชารัฐ สื่อมวลชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้เคยมีบทบาททางการเมืองในอดีต และผู้ทรงคุณวุฒิ ส่งเรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลพิจารณาดําเนินการเป็นจํานวนมาก นับว่าเป็นความปรารถนาดีต่อส่วนรวม อันควรนํามาพิจารณาอย่างเป็นระบบ มีการกลั่นกรอง จัดลําดับความสําคัญและความเป็นไปได้แล้วเริ่มดําเนินการไปพลางก่อน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องดําเนินการอยู่แล้วภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่แม้จะประกาศใช้ในเวลาต่อไป ก็ยังต้องรอการตรากฎหมาย และการใช้เวลารับฟังความเห็นจากประชาชนเพื่อยกร่างแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติอีกระยะหนึ่ง รัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงได้บัญญัติว่า ในระหว่างนี้ให้หน่วยงานของรัฐดําเนินการโดยอาศัยหน้าที่และอํานาจที่มีอยู่แล้วไปพลางก่อนเพื่อจะส่งต่อให้รัฐบาล และองค์กรที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบรับไปดําเนินการในระยะที่สามต่อไป
คณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาแล้ว สมควรกําหนดกลไกให้รัฐบาลสามารถบูรณาการการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ แผนต่างๆ ของชาติและนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีซึ่งได้ประกาศให้สาธารณชนทราบแล้ว อีกทั้งสมควรกําหนดกลไกให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจที่จําเป็นและประชาชนรอคอยให้ดําเนินต่อไปได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ชอบด้วยกฎหมายผู้ปฏิบัติมีความรับผิดชอบร่วมกัน ปราศจากการทุจริต และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งสามารถเชื่อมโยงการทํางานกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เรียกโดยย่อว่า “ป.ย.ป.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการ
เมื่อมีการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานใด นายกรัฐมนตรีอาจให้รัฐมนตรีที่บังคับบัญชาหรือกํากับดูแลการบริหารราชการของหน่วยงานนั้น หรือเชิญประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการเฉพาะวาระนั้น ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเลขานุการ ป.ย.ป. คนหนึ่ง ซึ่งอาจแต่งตั้งจากกรรมการก็ได้ และแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความเหมาะสม
ให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ และโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรีเข้าประชุมด้วยในฐานะผู้ให้ข้อมูลด้านการบริหาร กฎหมาย แผนพัฒนา บุคลากร ระบบราชการ และงบประมาณ
ข้อ 2 นายกรัฐมนตรีจะสั่งการให้พิจารณาหรือติดตามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคในเรื่องใด ซี่งเสนอมาจากคณะกรรมการตามข้อ 4 หรือให้นําเรื่องใดมาพิจารณาโดยตรง แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปก็ได้
ข้อ 3 ให้มีคณะที่ปรึกษา ของ ป.ย.ป. ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ดํารงตําแหน่งในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) และคณะกรรมการหรือคณะทํางานสานการพัฒนาตามนโยบายประชารัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและอื่น ๆ ตามจํานวนและรายชื่อที่นายกรัฐมนตรีกําหนด
ข้อ 4 ในการพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอ ป.ย.ป. ให้มีคณะกรรมการ 4 คณะ ได้แก่
(1) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่อง โครงการ หรือแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ในเชิงยุทธศาสตร์และในลักษณะบูรณาการเพื่อการขับเคลื่อนที่รวดเร็ว
(2) คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มีหน้าที่เตรียมการเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในด้านหรือประเด็นต่าง ๆ
(3) คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ มีหน้าที่เตรียมการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ
(4) คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีหน้าที่เตรียมการเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีปรองดอง
คณะกรรมการแต่ละคณะประกอบด้วย บุคคลตามจํานวนและรายชื่อที่นายกรัฐมนตรีกําหนดและให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนหนึ่งตามที่ประธานสภามอบหมายเป็นกรรมการโดยตําแหน่งในคณะกรรมการตาม (2) (3) และ (4) เว้นแต่จะไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าว
คณะกรรมการมีหน้าที่และอํานาจกลั่นกรอง ตรวจสอบ กําหนด เสนอแนะ จัดลําดับความสําคัญ พิจารณาความเป็นไปได้ และติดตามการดําเนินการด้านการบริหารราชการแผ่นดินการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ หรือการสร้างความสามัคคีปรองดองในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่นายกรัฐมนตรีกําหนด
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานได้
มติของ ป.ย.ป. และคณะกรรมการตามข้อนี้หากเกี่ยวข้องกับงานในอํานาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ให้แจ้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทราบ
ข้อ 5 ให้จัดตั้งสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นหน่วยงานภายใน สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ประเมินผล กําหนดตัวชี้วัด และติดตามความก้าวหน้าในการดําเนินการตามมติของ ป.ย.ป. และคณะกรรมการตาม ข้อ 4 หรือตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ (Agenda) และเชิงบูรณาการตามพื้นที่หรือกลุ่มภารกิจ (Area) ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการและธุรการให้ ป.ย.ป. เลขานุการ ป.ย.ป. คณะกรรมการตามข้อ 4และคณะอนุกรรมการ หรือคณะทํางานต่าง ๆ
ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อํานวยการสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีขึ้นตรงต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประสานกับเลขานุการ ป.ย.ป. ในการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ และให้สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดให้สํานักงานดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ งบประมาณ สถานที่ทํางาน อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทํางานและสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามที่ ป.ย.ป. กําหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และสามารถรับโอนทรัพย์สินของสํานักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สํานักงานสภาพัฒนาการเมือง และสํานักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมาดูแลรักษา ใช้สอย รวมทั้งรับโอนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสํานักงานดังกล่าวและส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นตลอดจนจ้างผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาบรรจุ แต่งตั้ง หรือปฏิบัติงานในสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีได้
ข้อ 6 ในส่วนของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งกลั่นกรองการขับเคลื่อนภารกิจปกติ (Function) ภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ (Agenda) และภารกิจเชิงพื้นที่หรือกลุ่มภารกิจ (Area) ในเชิงยุทธศาสตร์ให้จัดระดับความรับผิดชอบในการดําเนินการเพื่อการทํางานที่ประสานเชื่อมโยงกันเป็น 3 ระดับดังนี้
(1) ระดับหน่วยงานหรือกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบแต่ละกระทรวงหรือหน่วยงาน บังคับบัญชาหรือกํากับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนของตนหรือที่ตนเป็นหน่วยงานหลักให้เป็นไปโดยเรียบร้อยในลักษณะบูรณาการ โดยใช้กลไกการบริหารราชการแผ่นดิน การร่วมมือและประสานงานกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้น ๆ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และอํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง
(2) ระดับกํากับการบริหารราชการให้รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบการกํากับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินดังนี้
2.1 กํากับการบริหารราชการกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ตามคําสั่งที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมายหรือมอบอํานาจ
2.2 สั่งและปฏิบัติราชการในฐานะเจ้ากระทรวงหรือเจ้าสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ ตามคําสั่งที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมายหรือมอบอํานาจ
2.3 ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หรือกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามคําสั่งที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมายหรือมอบอํานาจ
2.4 ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หรือกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะต่างๆ ตามคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
2.5 กํากับติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคในจังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือเขตตรวจราชการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
2.6 รับผิดชอบ ขับเคลื่อน หรือติดตามความคืบหน้าโครงการ แผนงาน ยุทธศาสตร์ หรือประเด็นปัญหาเฉพาะเรื่องตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
2.7 รับผิดชอบ ขับเคลื่อน หรือกํากับดูแลกลุ่มงาน (Cluster) ในลักษณะบูรณาการ เช่น การบูรณาการกลุ่มกระทรวง งบประมาณหรือกลุ่มภารกิจตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรมอบหมาย
(3) ระดับบัญชาการ ในกรณีมีปัญหา อุปสรรค หรือจําเป็นต้องขับเคลื่อนเรื่องใดให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิงยุทธศาสตร์โดยเร็ว นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจสั่งการให้นําเรื่องนั้นเข้าพิจารณากลั่นกรองในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ในระดับบัญชาการก่อนเสนอ ป.ย.ป. หรือจะให้เสนอ ป.ย.ป. พิจารณาโดยตรงก็ได้
ข้อ 7 ให้โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ย.ป. คณะกรรมการตามข้อ 4 และสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยประสานกับโฆษกหรือผู้รับผิดชอบด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรมประชาสัมพันธ์ และสื่อต่าง ๆ ของรัฐทุกประเภท รวมทั้งการประสานกับสํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อการสร้างสื่อความรับรู้ความเข้าใจ
ข้อ 8 นายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งนี้ได้ตามความเหมาะสม
ข้อ 9 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 17 มกราคม พุทธศักราช 2560
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
อ่านประกอบ :
ทูลเกล้าฯขอรับร่าง รธน.ลงมาแก้-ใช้ ม.44 ตั้ง ป.ย.ป. 3 เดือนปรองดองได้ข้อยุติ
เจาะโครงสร้าง'ปรองดอง'ฉบับ คสช. ขอความเห็นกลุ่มการเมือง-ฉลุยหรือเหลว?
เปิดโครงสร้าง-แนวทางปรองดองฉบับ สปท.-ให้โอกาสคนหนีคดีกลับไทย