- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ครบชุด!ข้อมูล-กม.กรณี 7 สนช. ขาดประชุม ต้องพ้นเก้าอี้จริงหรือ?-ชง ป.ป.ช.สอบ
ครบชุด!ข้อมูล-กม.กรณี 7 สนช. ขาดประชุม ต้องพ้นเก้าอี้จริงหรือ?-ชง ป.ป.ช.สอบ
“…อธิบายให้ง่ายคือ ในช่วงเวลา 90 วัน หากมีสมาชิก สนช. รายใด มาลงมติไม่ถึง 1 ใน 3 ของมติที่ประชุมทั้งหมดในช่วงเวลานั้น ให้ถือว่า สนช. รายนั้นพ้นสมาชิกสภาพ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาในการขอลาประชุม … หากเดือนไหน สนช. รายใด มาประชุมไม่เกินกึ่งหนึ่งของกำหนดนัดประชุมในแต่ละเดือน (ส่วนมากจะประชุมเดือนละ 6-8 ครั้ง) จะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนรายเดือน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาให้ลาได้…”
เป็นข่าวคราวคึกโครมมาหลายวัน กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างน้อย 7 ราย ที่ถูกสื่อหลายสำนักเสนอว่า ขาดการประชุม สนช. หลายครั้ง จนสุ่มเสี่ยงถึงขั้นพ้นสมาชิกภาพได้ โดย 3 ใน 4 รายดังกล่าว เป็นนายทหารระดับยศ ‘พลเอก’ และมีรายหนึ่งมีสถานะเป็นถึง ‘น้องชาย’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลยทีเดียว
สำหรับรายชื่อสมาชิก สนช. ทั้ง 7 ราย ที่มีการเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนหลายสำนัก แบ่งเป็นนายทหาร 4 ราย ได้แก่ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย ‘บิ๊กตู่’ พล.ร.อ.ณะ อารีกิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ เสนาธิการทหารเรือ
พลเรือน 3 ราย ได้แก่ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ทั้ง 7 ราย ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม เนื่องจากเมื่อเข้ามาเป็นสมาชิก สนช. ได้รับเงินค่าตอบแทนแล้ว ไฉนจึงไม่มาประชุม-ปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนด ที่สำคัญยังมีบางรายได้รับเงินเดือนจากหน่วยงานต้นสังกัดตัวเองด้วย หรือเรียกได้ว่ารับเงินเดือน ‘สองทาง’ ?
แม้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ออกมายืนกรานว่า สนช. ทั้ง 7 ราย มีใบลาประชุมถูกต้องทุกประการ ดังนั้นจึงไม่พ้นสมาชิกภาพตามข้อบังคับการประชุมของ สนช. ก็ตาม แต่คำถามถึงความไม่เหมาะสมยังคงพุ่งเป้าไปยัง 7 สนช. ข้างต้นอยู่ดี
กระทั่งนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการแสวงหาพยานหลักฐานตรวจสอบการขาดลงมติการประชุมของ สนช. 7 รายดังกล่าว นำโดย ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาค อัยการสูงสุด (อสส.) หนึ่งในสมาชิก สนช. เป็นประธานฯ ซึ่งเปิดเผยแนวทางออกมาแล้วว่า จะเรียกประชุมครั้งแรกเพื่อรวบรวมข้อมูลได้ในช่วงสัปดาห์หน้า และกำหนดกรอบเวลาประมาณ 30 วัน
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำสถิติการลงมติ และการลาประชุมมสมาชิก สนช. ทั้ง 7 ราย ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2559 ที่เปิดเผยจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มานำเสนอดังนี้
สถิติการลงมติ ในปี 2559 มีการลงมติทั้งสิ้น 1,264 ครั้ง
1.พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ลงมติจริง 398 ครั้ง มติที่ไม่ได้ลง 27 ครั้ง มติที่ไม่ได้นับเนื่องจากได้รับอนุญาตให้ลาหรือติดราชการสภา 839 ครั้ง
2.พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ลงมติจริง 428 ครั้ง มติที่ไม่ได้ลง 4 ครั้ง มติที่ไม่ได้นับเนื่องจากได้รับอนุญาตให้ลาหรือติดราชการสภา 832 ครั้ง
3.พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ลงมติจริง 230 8รั้ง มติที่ไม่ได้ลง 0 ครั้ง มติที่ไม่ได้นับเนื่องจากได้รับอนุญาตให้ลาหรือติดราชการสภา 1034 ครั้ง
4.พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ ลงมติจริง 646 ครั้ง มติที่ไม่ได้ลง 0 ครั้ง มติที่ไม่ได้นับเนื่องจากได้รับอนุญาตให้ลาหรือติดราชการสภา 618 ครั้ง
5.นายดิสทัต โหตระกิตย์ ลงมติจริง 214 ครั้ง มติที่ไม่ได้ลง 3 ครั้ง มติที่ไม่ได้นับเนื่องจากได้รับอนุญาตให้ลาหรือติดราชการสภา 1047 ครั้ง
6.นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ลงมติจริง 387 ครั้ง มติที่ไม่ได้ลง 0 ครั้ง มติที่ไม่ได้นับเนื่องจากได้รับอนุญาตให้ลาหรือติดราชการสภา 877 ครั้ง
7.นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ลงมติจริง 656 ครั้ง มติที่ไม่ได้ลง 19 ครั้ง มติที่ไม่ได้นับเนื่องจากได้รับอนุญาตให้ลาหรือติดราชการสภา 589 ครั้ง (ดูเอกสารประกอบ)
สถิติการลาประชุม ในปี 2559 มีการประชุมทั้งสิ้น 84 ครั้ง แบ่งสาเหตุการลาประชุมเป็น 3 กรณี
กรณีลาทั้งวัน หมายความว่า สมาชิกไม่มาประชุมสภาในวันที่มีประชุม สนช. ทั้งวัน กรณีลาเป็นช่วงเวลา หมายความว่า สมาชิกมาประชุมสภาแต่ไม่อยู่ลงมติ เนื่องจากช่วงเวลาที่ลงมติติดภารกิจ เช่น ติดประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) รับแขกต่างประเทศ หรือรับหนังสือร้องเรียน และกรณีลาไปราชการสภา หมายความว่า ลาไปปฏิบัติราชการของสภาโดยได้รับอนุญาตจากประธาน เช่น การรับรองแขกต่างประเทศ การประชุมระหว่างประเทศในนามของรัฐสภา
1.พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ลาประชุมทั้งวันรวม 25 ครั้ง ลาประชุมเป็นช่วงเวลารวม 23 ครั้ง โดยทั้งหมดเป็นการลาราชการต้นสังกัด
2.พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ลาประชุมทั้งวันรวม 11 ครั้ง ลาประชุมเป็นช่วงเวลารวม 50 ครั้ง โดยเป็นการลาราชการต้นสังกัด 54 ครั้ง ลากิจ 5 ครั้ง ลาราชการของสภา 2 ครั้ง
3.พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ลาประชุมทั้งวันรวม 8 ครั้ง ลาประชุมเป็นช่วงเวลารวม 68 ครั้ง โดยทั้งหมดเป็นการลาราชการต้นสังกัด
4.พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ ลาประชุมทั้งวันรวม 9 ครั้ง ลาประชุมเป็นช่วงเวลารวม 39 ครั้ง โดยเป็นการลาราชการต้นสังกัด 56 ครั้ง ลาราชการของสภา 1 ครั้ง
5.นายดิสทัต โหตระกิตย์ ลาประชุมทั้งวันรวม 13 ครั้ง ลาประชุมเป็นช่วงเวลารวม 62 ครั้ง โดยเป็นการลาราชการต้นสังกัด 74 ครั้ง ลาป่วย 1 ครั้ง
6.นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ลาประชุมทั้งวันรวม 5 ครั้ง ลาประชุมเป็นช่วงเวลารวม 63 ครั้ง โดยเป็นการลาราชการต้นสังกัด 25 ครั้ง ลากิจ 40 ครั้ง ลาป่วย 3 ครั้ง
7.นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ลาประชุมทั้งวันรวม 15 ครั้ง ลาประชุมเป็นช่วงเวลารวม 31 ครั้ง โดยทั้งหมดเป็นการลากิจ (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดีตามข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 หมวด 4 การสิ้นสุดสมาชิกภาพ ข้อ 82 ระบุว่า สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาตามข้อ 63 เกินกว่าหนึ่งในสามของจํานวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลาเก้าสิบวัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงตามมาตรา 9 (5) ของรัฐธรรมนูญ วันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของแต่ละรอบระยะเวลาให้เป็นไปตามที่ประธานสภากําหนด
กรณีที่สมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติตามวรรคหนึ่งเนื่องจากได้ลาการประชุม โดยได้รับอนุญาตจากประธานสภา มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติ และมิให้นับจํานวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สมาชิกได้รับอนุญาตให้ลาการประชุม รวมเป็นจํานวนครั้งที่สมาชิกผู้นั้นไม่ได้แสดงตนเพื่อลงมติตามวรรคหนึ่ง
การอนุญาตให้ลาการประชุมตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานสภากําหนด
เลขาธิการต้องมีหนังสือแจ้งให้สมาชิกแต่ละคนทราบถึงจํานวนครั้งที่สภามีมติ และจํานวนครั้งที่สมาชิกคนนั้นได้แสดงตนเพื่อลงมติในรอบสามสิบวันที่ผ่านมา และอาจดําเนินการทางโทรสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นด้วยก็ได้
ในกรณีที่ปรากฏว่าสมาชิกผู้ใดไม่ได้แสดงตนเพื่อลงมติเกินกว่าจํานวนครั้งที่ได้กําหนดไว้ในวรรคหนึ่งให้เลขาธิการแจ้งให้ประธานสภาทราบและให้ประธานสภาแจ้งให้สมาชิกผู้นั้นและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทราบถึงการสิ้นสุดสมาชิกภาพโดยเร็ว
สมาชิกที่ได้รับแจ้งถึงการสิ้นสุดสมาชิกภาพตามวรรคห้าอาจใช้สิทธิโต้แย้งเป็นหนังสือถึงความถูกต้องของการบันทึกการแสดงตนเพื่อลงมติได้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งตามวรรคห้าเพื่อให้ประธานสภาวินิจฉัย คําวินิจฉัยของประธานสภาถือเป็นที่สุด
หรืออธิบายให้ง่ายคือ ในช่วงเวลา 90 วัน หากมีสมาชิก สนช. รายใด มาลงมติไม่ถึง 1 ใน 3 ของมติที่ประชุมทั้งหมดในช่วงเวลานั้น ให้ถือว่า สนช. รายนั้นพ้นสมาชิกสภาพ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาในการขอลาประชุม
ขณะเดียวกันตาม พ.ร.ก.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ.2557 บัญญัติว่า สมาชิกผู้ใดไม่มาประชุมเกินกึ่งหนึ่งของกำหนดนัดประชุมในแต่ละเดือน ไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มเป็นรายเดือนสำหรับเดือนนั้น เว้นแต่กรณีไม่มาประชุมเพราะเหตุไปราชการของสภา โดยได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกอยู่
หมายความว่า หากเดือนไหน สนช. รายใด มาประชุมไม่เกินกึ่งหนึ่งของกำหนดนัดประชุมในแต่ละเดือน (ส่วนมากจะประชุมเดือนละ 6-8 ครั้ง) จะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนรายเดือน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาให้ลาได้
นี่คือข้อมูล-ข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานชุด ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์
ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เริ่มเข้าไปสอบสวนในประเด็นการรับเงินเดือนสองทางทั้งของ สนช. และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้ว โดยเบื้องต้นเห็นว่า ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามรับเงินเดือนสองทาง
(อ่านประกอบ : สตง.ลุยสอบแล้ว สนช.-สปช. รับเงิน 2 ทาง เบื้องต้นพบยังไม่มี กม.ห้าม)
นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์หน้า มีรายงานข่าวว่า จะมีผู้ไปยื่นเรื่องนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วย
ท้ายสุดบทสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องรอติดตามกันต่อไป !