- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- โชว์หนังสือ-เหตุผล 4 ตัวแทนสื่อ ลาออกอนุฯ กมธ. ปฎิรูปสื่อสปท. ค้าน 'กม.คุมสื่อ'
โชว์หนังสือ-เหตุผล 4 ตัวแทนสื่อ ลาออกอนุฯ กมธ. ปฎิรูปสื่อสปท. ค้าน 'กม.คุมสื่อ'
โชว์หนังสือ 4 ตัวแทนสื่อ ลาออก อนุฯกมธ. ปฎิรูปสื่อ สปท. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
จากกรณี นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข และ น.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ตัวแทนสื่อที่เป็นอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากอนุ กมธ.เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของ สปท. เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2560 นั้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำหนังสือการลาออก จากอนุ กมธ.เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของ สปท. ของตัวแทนสื่อทั้ง 4 ราย พร้อมเหตุผลประกอบมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอีกครั้ง ดังนี้
---------------------
เรื่อง ขอลาออกจากคณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
เรียน ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ผ่าน ประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์
ตามที่ข้าพเจ้าผู้มีรายนามข้างท้ายนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นั้น
บัดนี้ปรากฏว่า อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ได้นำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง การปฏิรูปการสื่อสารมวลชน : ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ต่อคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณารับหลักการให้เป็นตามผลการศึกษา ทั้งที่คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ได้ทำการศึกษาพิจารณา รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องจำนวนมากไปแล้ว โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน มีข้อเสนอแนะที่แตกต่างกันในสาระสำคัญระหว่างร่างของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน และร่างของอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ในหลายประเด็น อีกทั้งยังเป็นการขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานสำคัญในการรับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ข้าพเจ้าผู้มีรายนามข้างท้ายนี้ จึงขอแสดงความประสงค์ขอลาออกจากการเป็นอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นับตั้งแต่วันที่ลงในหนังสือนี้เป็นต้นไป โดยมีเหตุผลการลาออกดังรายละเอียดปรากฏตามความเห็นที่แนบท้ายหนังสือนี้ซึ่งขอถือเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือลาออกในครั้งนี้ด้วยทุกประการ
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
1.นายจักร์กฤษ เพิ่มพูน
2.นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
3.นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข
4. นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์
-----------------------------
เหตุผลและความเห็นประกอบการลาออกจากคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสิ่งพิมพ์ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
จากการไม่ยอมรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ จัดทำขึ้นตามภาระงานที่ได้รับการแต่งตั้งมอบหมาย โดยได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการและโครงสร้างสำคัญของกฎหมายในหลายประการ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าผู้มีรายนามในหนังสือลาออกต้องขอลาออก นั้น ข้าพเจ้าขอสรุปประเด็นความคิดเห็นและเหตุผลที่แตกต่างกันไว้เป็นหลักฐานดังนี้ คือ
1. ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นผู้รับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
คณะอนุกรรมาธิการฯด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มีความเห็นว่า เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตยที่กำหนดให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พูด เขียน พิมพ์โฆษณา หรือสื่อความหมายซึ่งอาจส่งผลให้บทบัญญัตินี้เป็นโมฆะเพราะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทได้ รวมทั้งยังเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดและแย้งต่อบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่โดยหลักการแล้วต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น (ซึ่งหมายถึง การพูด การเขียน การพิมพ์) และ การโฆษณา การกำหนดให้การแสดงบทบาทและการทำหน้าที่ที่ได้รับเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกได้ต้องมีการขึ้นทะเบียนย่อมมีผลเป็นการทำลายหลักการของเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้แต่ต้นลงโดยสิ้นเชิง อีกทั้งเหตุผลที่ต้องการใช้เป็นกลไกในการป้องกันการลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษในความผิดด้านจริยธรรม นั้น เป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสาธารณะเกินความจำเป็น เพราะสามารถใช้กลไกที่มีอยู่ในประการอื่นของบทบัญญัตินี้ทดแทนได้ เช่น เมื่อมีการลาออกจากการเป็นสมาชิกในระดับใดระดับหนึ่ง สภาวิชาชีพมีอำนาจในการกำกับดูแลตรง
2. ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงจำนวนและองค์ประกอบของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
คณะอนุกรรมาธิการฯด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มีความเห็นว่า การออกแบบการจัดตั้งสภาวิชาชีพ มีหลักการ
สำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ความเป็นอิสระในการประกอบวิชาชีพ การมีมาตรฐานการปฏิบัติเป็นการเฉพาะการมีองค์ความรู้เป็นพื้นฐาน ไม่มีใครมาสั่งการให้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ได้ การปกครองกันเองภายใต้วิชาชีพ เป็นอิสระจากการควบคุมของคนนอก เมื่อสมาชิกทำผิด การพิจารณาจะเริ่มจากคนในองค์กรวิชาชีพก่อน การแก้ไขบทบัญญัติในร่างของกรรมาธิการฯให้มีคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง นอกจากจะขัดหลักการจัดตั้งสภาวิชาชีพข้างต้นแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก ซึ่งอาจเป็นการแทรกแซงจากการเมืองผ่านข้าราชการประจำ จากการศึกษาพัฒนาการแนวคิดด้านการกำกับดูแลกันเองของสภาวิชาชีพในปัจจุบัน มีแนวโน้มยอมรับการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียซึ่งหมายถึงบุคคลภายนอกให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลได้บ้าง แต่หลักความได้สัดส่วนก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ทำลายหลักการด้านการกำกับดูแลโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันเองลง นอกจากนี้เนื่องจากวิชาชีพสื่อเป็นวิชาชีพที่ส่งผลต่อการชี้นำความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของประชาชน จึงต้องป้องกันและระมัดระวังการเข้าแทรกแซงจากภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่ภาคประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อสังคมกลับเข้าสู่ภาวะความแตกแยกทางความคิดและทุกฝ่ายมุ่งผลสัมฤทธิ์ในการเข้าควบคุมความคิดของประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จ
3. ไม่เห็นด้วยกับการตัดสาระสำคัญที่ “ห้ามมิให้องค์กรสื่อ องค์การวิชาชีพมวลชนและคณะกรรมการสภาวิชาชีพหรือคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน เรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา หากในขณะเรื่องร้องเรียน นั้น ผู้ร้องเรียนได้ฟ้องผู้ถูกร้องเรียนในเรื่องเดียวกัน และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล”
คณะอนุกรรมาธิการฯด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มีความเห็นว่า หลักการที่บัญญัติให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพและคณะกรรมการจริยธรรมของสภาวิชาชีพ มีอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนและวินิจฉัยชี้ขาดได้ หมายถึง การมอบอำนาจ “กึ่งตุลาการ” ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพและคณะกรรมการจริยธรรมของสภาวิชาชีพ เพื่อการกำกับดูแลกันเองเฉพาะด้านจริยธรรมของกลุ่มวิชาชีพไว้ การตัดอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการสภาวิชาชีพและคณะกรรมการจริยธรรมของสภาวิชาชีพเมื่อมีการใช้สิทธิทางศาลยุติธรรมเป็นไปตามหลักการป้องกันมิให้เกิดอำนาจคู่ขนานซึ่งจะส่งผลเป็นการขัดต่อหลักการอำนวยความยุติธรรม กล่าวคือ การกระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน สาเหตุเดียวกัน ผู้กระทำความผิดควรได้รับการพิจารณาตัดสินหรือการวินิจฉัยจากผู้ทำหน้าที่ตุลาการเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ การกระทำความผิดกรรมเดียวแต่อาจได้รับผลคำวินิจฉัยหรือพิพากษาที่แตกต่างกันอันจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและไว้วางใจในคำวินิจฉัยใดวินิจฉัยหนึ่งที่แตกต่างกัน และอาจเป็นการทำลายหลักความเป็นธรรมทั้งระบบลงได้ในที่สุด และในกรณีที่ไม่บัญญัติให้มีการตัดอำนาจกึ่งตุลาการในความผิดด้านจริยธรรมของสภาวิชาชีพไว้ อาจส่งผลให้เกิดข้อพิพาทไปสู่การดำเนินการในชั้นศาล ๒ ระบบ ได้แก่ ศาลปกครอง (กรณีไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของสภาวิชาชีพ) และศาลยุติธรรม (กรณีมีการฟ้องให้รับผิดในทางแพ่งและทางอาญา) อันเป็นการขัดหลักการของระบบการใช้อำนาจตุลาการในที่สุดด้วย ส่วนข้อที่กังวลว่าการดำเนินทางศาลจะทำให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาช้ากว่าการดำเนินการโดยสภาวิชาชีพ นั้น เป็นกรณีที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดเป็นรายกรณีไป ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาบางกรณีการพิจารณาของสภาวิชาชีพอาจล่าช้ากว่าการดำเนินการในชั้นศาลได้เช่นเดียวกัน
4. ไม่เห็นด้วยกับจำนวนของคณะทำงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จ
คณะอนุกรรมาธิการฯด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มีความเห็นว่า สัดส่วนของภาครัฐต้องคำนึงถึงเหตุผลในประเด็นข้อ 3 ประกอบด้วย กล่าวคืออาจถูกแทรกแซงจากบุคคลภายนอกได้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และจำนวนที่มากเกินไปอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือการประชุม
5. ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ข้าพเจ้าผู้มีรายชื่อทั้งหมด มีความเห็นว่า ในทางปฏิบัติไม่มีทางที่จะบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายนี้ได้เนื่องจากยังไม่เคยมีหลักฐานหรืองานวิจัย หรือสถิติข้อมูลจากแหล่งได้ที่ได้เคยทำการศึกษาไว้ก่อนว่าจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพที่จะต้องถูกควบคุมตามกฎหมายนี้จะมีจำนวนเท่าใด อาจมีมากกว่า 1 แสนคนทั่วประเทศ ซึ่งหากบัญญัติกฎหมายไว้ในลักษณะนี้จะส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้ขาดกลไกและสภาพบังคับลงตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ หรือที่เรียกว่า “กฎหมายเป็นหมัน” แต่ต้น และไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายที่กำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าไม่มีการยื่นจดทะเบียนแล้วผลจะเป็นอย่างไร จะลงโทษด้วยการจับกุมคุมขัง หรือการห้ามเขียน ห้ามออกอากาศ ห้ามเผยแพร่ อันจะส่งผลให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในประเทศได้ในที่สุด
อนึ่ง ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการ
สื่อสารมวลชน ยังขาดการพิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบ เพราะการนำเอาร่างของ คณะอนุกรรมาธิการฯด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มาปรับแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ได้คำนึงถึงหลักการและโครงสร้างกฎหมายอันเป็นจุดอันตรายและมีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อความล้มเหลวของกฎหมายฉบับนี้คือ ร่างของคณะอนุกรรมาธิการฯด้านสื่อสิ่งพิมพ์เป็นการออกแบบกฎหมายจากแนวคิด “ความสมัครใจ” ในการเข้ามาสู่การกำกับ ไม่ใช่แนวคิด “การบังคับให้จดทะเบียน” ดังนั้น การแก้ไขเพียงบางมาตราส่งผลให้เป็นกฎหมายที่มีการขัดกันเพราะอาจไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพรายใดให้ความร่วมมือสมัครใจมาขึ้นทะเบียนเพื่อตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้เลย และประเด็นนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่จะพิสูจน์ว่า การจัดทำกฎหมายอย่างขาดความรู้และความเข้าใจในบริบททั้งด้านสื่อสารมวลชนและด้านนิติศาสตร์จะส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตอย่างไร
6. สรุปประเด็นในภาพรวม
คณะอนุกรรมาธิการฯด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มีความเห็นว่า แนวคิดการออกแบบกลไกเพื่อการกำกับดูแล
สื่อมวลชนมีความจำเป็นต้องตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานที่จะต้องรักษาความสมดุลระหว่าง เสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนควบคู่ไปกับเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนประการหนึ่ง และหลักของการใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบที่สื่อมวลชนพึงมีต่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญอีกประการหนึ่ง อีกทั้งการกำกับดูแลสื่อมวลชนของไทยได้เกิดขึ้นและมีพัฒนาการอยู่ในสังคมไทยมาแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
การนำเสนอข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและการกำกับดูแลจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประมวลแนวคิดสถานการณ์แวดล้อมและบริบทต่างๆในด้านการส่งเสริมและการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นมาแล้วและทิศทางที่กำลังดำเนินไปทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลกมาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและสามารถนำไปเชื่อมต่อกับอนาคตได้ ตลอดจนต้องคำนึงถึงการนำเสนอที่เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้เพื่อให้กฎหมายนี้ได้รับการยอมรับและนำไปสู่ผลในทางปฏิบัติได้ในที่สุด
(..................................................................)
1.นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล
(..................................................................)
2.นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
(..................................................................)
3.นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข
(..................................................................)
4. นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์