- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฯฟัน ‘ปธ.สภาผู้ชมฯTPBS’จงใจไม่ยื่นทรัพย์สิน
เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฯฟัน ‘ปธ.สภาผู้ชมฯTPBS’จงใจไม่ยื่นทรัพย์สิน
“…ผู้คัดค้านยื่นบัญชีทรัพย์สินฯกรณีเข้ารับตำแหน่ง ไม่ยื่นเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วน เป็นเหตุไม่สามารถพิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินฯได้ มีผลเท่ากับไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นครบ 1 ปี เมื่อผู้ร้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้คัดค้านให้ชี้แจงเหตุผลของการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯหลายครั้ง ผู้คัดค้านได้รับหนังสือแจ้งเตือนไว้โดยชอบแล้ว แต่กลับเพิกเฉยไม่ชี้แจงเหตุผลอันใดต่อผู้ร้อง พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านไม่ใส่ใจต่อหน้าที่อันสำคัญของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะต้องปฏิบัติในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ซึ่งเป็นมาตรการที่กฎหมายบัญญัติเพื่อให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง…”
จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาเมื่อปลายปี 2559 ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง นายอานนท์ มีศรี อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาเขลียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ผู้คัดค้าน ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี จำคุก 2 กระทง 4 เดือน ปรับ 16,000 บาท แต่เนื่องจากนายอานนท์ให้การรับสารภาพ มีเหตุให้บรรเทาโทษ โดยโทษจำคุกให้รอกำหนด 1 ปี
ขณะเดียวกันปัจจุบัน นายอานนท์ เป็นประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งถึงสิ้นปี 2560 ด้วยนั้น
แม้ว่าผู้บริหารระดับสูงของ ThaiPBS จะทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ได้พิจารณาตามระเบียบ ส.ส.ท. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานของสภาผู้ชมฯ ปี 2558 เกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้ชมฯ ปรากฏว่าไม่ชัดเจนว่า หากถูกศาลฎีกาฯพิพากษาว่ามีความผิดกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ต้องพ้นจากตำแหน่งเหมือนกรณีร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ และไม่ได้กำหนดเรื่องจริยธรรมของสมาชิกในเรื่อง ขึ้นอยู่กับนายอานนท์ว่าจะแสดงสปิริตหรือไม่ อย่างไร
(อ่านประกอบ : โดนคดีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ!อานนท์ ยันไม่กระทบเก้าอี้ปธ.สภาผู้ชมฯTPBS)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นคำพิพากษาในคดีดังกล่าว สรุปได้ ดังนี้
คดีนี้มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ร้อง นายอานนท์ มีศรี อดีตรองนายก อบต.นาเขลียง เป็นผู้คัดค้าน
ผู้ร้อง (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้าน (นายอานนท์) จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี ในการดำรงตำแหน่งรองนายก อบต.นาเขลียง ห้ามมิให้ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 34 กับลงโทษตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 119 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ
ศาลฎีกาฯ สอบถามผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว เห็นว่า คดีวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียกพยานมาไต่สวนอีกต่อไป
พิเคราะห์คำร้อง เอกสารประกอบคำร้อง และคำให้การของผู้คัดค้านแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายก อบต.นาเขลียง เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2552 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2556 เนื่องจากนายก อบต.นาเขลียง ถึงคราวออกตามวาระ
ผู้คัดค้านยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ล่าช้ากว่าระยะเวลากฎหมายกำหนด และยื่นเอกสารประกอบไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฏหมาย นอกจากนี้ยังไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้คัดค้านชี้แจงการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯหลายนครั้ง แต่ผู้คัดค้านเพิกเฉย
ปัญหามีต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี หรือไม่
เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 4 (7) และประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2554 ข้อ 4 (7) (ข) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองนายก อบต. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2554 เป็นต้นมา ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง พ้นตำแหน่ง และพ้นครบ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 32 และมาตรา 33
ผู้คัดค้านยื่นบัญชีทรัพย์สินฯกรณีเข้ารับตำแหน่ง ไม่ยื่นเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วน เป็นเหตุไม่สามารถพิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินฯได้ มีผลเท่ากับไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นครบ 1 ปี เมื่อผู้ร้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้คัดค้านให้ชี้แจงเหตุผลของการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯหลายครั้ง ผู้คัดค้านได้รับหนังสือแจ้งเตือนไว้โดยชอบแล้ว แต่กลับเพิกเฉยไม่ชี้แจงเหตุผลอันใดต่อผู้ร้อง พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านไม่ใส่ใจต่อหน้าที่อันสำคัญของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะต้องปฏิบัติในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ซึ่งเป็นมาตรการที่กฎหมายบัญญัติเพื่อให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
จึงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นตำแหน่ง และกรณีพ้นครบ 1 ปี ในการดำรงตำแหน่งรองนายก อบต.นาเขลียง
เมื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯภายในเวลาที่กำหนด ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 119 ด้วย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดีคดีนี้มีอายุความ 5 ปี และนายอานนท์ ถูกตัดสินว่าทำผิดฐานจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ แค่ 2 กระทง คือ กรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นครบ 1 ปี ส่วนกรณียื่นเอกสารประกอบไม่ถูกต้องตอนเข้ารับตำแหน่ง คดีขาดอายุความ ดังเหตุผลต่อไปนี้
ผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2554 ซึ่งครบกำหนดต้องยื่นภายในวันที่ 27 ส.ค. 2554 แต่ผู้คัดค้านไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯภายในกำหนดดังกล่าว จึงต้องถือว่าผู้คัดค้านกระทำความผิดในวันที่ 28 ส.ค. 2554 อันเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่ครบกำหนดยื่นฯ และอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนครบ 5 ปี ในวันที่ 27 ส.ค. 2559
แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 17 ส.ค. 2559 ซึ่งถือว่าผู้ร้องฟ้องคดีภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ผู้คัดค้านกระทำความผิดก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องไม่นำตัวผู้คัดค้านมาส่งในวันที่ยื่นคำร้อง จึงเป็นกรณีที่ไม่ได้ตัวผู้คัดค้านมาศาลภายในกำหนดอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิด คดีผู้ร้องในส่วนอาญาที่ขอให้ลงโทษผู้คัดค้านไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีเข้ารับตำแหน่ง จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหานี้จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39 (6) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ซึ่งปัญหาเรื่องอายุความในคดีอาญาเป็นปัญหาข้อกฏหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาฯย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 18 วรรคสอง
จึงพิพากษาว่า นายอานนท์ ผู้คัดค้าน จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีพ้นครบ 1 ปี ในการดำรงตำแหน่งงรองนายก อบต.นาเขลียง ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 32 และมาตรา 33 ห้ามมิให้ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 6 ก.ย. 2556 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 34 วรรคสอง
กับมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 119 การกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละ 8,000 บาท รวม 2 กระทง (กรณีพ้นจากตำแหน่ง และพ้นครบ 1 ปี ส่วนกรณีเข้ารับตำแหน่งขาดอายุความ) เป็นจำคุก 4 เดือน และปรับ 16,000 บาท
ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และมาตรา 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
(อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มประกอบ : http://www.supremecourt.or.th/file/red%20152-59.pdf)
อย่างไรก็ดี นายอานน์ ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า คำพิพากษาดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อตำแหน่งประธานสภาผู้ชมฯ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการนโยบายของ ส.ส.ท.ทราบเรื่องแล้ว เห็นว่า ระเบียบฯว่าด้วยสภาไม่มีการกำหนดเรื่องจริยธรรมไว้ เพราะสภาผู้ชมฯไม่ใช่ฝ่ายบริหาร ไม่มีเงินเดือน เป็นจิตอาสา ที่เข้ามาทำงานให้ความเห็นและสะท้อนความเห็นต่อรายการของไทยพีบีเอสเท่านั้น
"ผมไม่ยึดติดอยู่แล้ว จะออกเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องมีใครมากดดัน" นายอานนท์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระเบียบ ส.ส.ท.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานของสภาผู้ชมฯ พ.ศ.2558 ข้อ 11 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่น่าสนใจดังนี้
11.3 ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสุจริต
11.4 ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกจากงานเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือถือว่า กระทำทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบในการปฏิบัติงานในภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และ/หรือไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ