- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
"..ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่า พนักงานการบินไทย ที่ได้รับสินบนครั้งนี้อยู่ในตำแหน่งใด ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ จะหมายความถึงนักการเมืองหรือไม่ แต่มีการคาดหมายว่า บุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเส้นทางเงินสินบนครั้งนี้ จะต้องมีตำแหน่งระดับสูงอย่างแน่นอน และน่าจะมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจอนุมัติการดำเนินงานโครงการนี้ด้วย..."
จากกรณี ศาลสหราชอาณาจักรสั่งปรับ โรลส์-รอยซ์ บริษัทเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอังกฤษ 671 ล้านปอนด์ หรือ ราว 3 หมื่นล้านบาท หลัง สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของประเทศ พบว่า บริษัทสมรู้ร่วมคิดกับการทุจริต หรือ ละเลยต่อการป้องกันการติดสินบนในไทย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย
โดยคำวินิจฉัยของ เอสเอฟโอ ชี้ว่า โรลส์-รอยซ์ ยอมจ่ายเงินราว 680 ล้านบาทให้แก่นายหน้าในภูมิภาค โดยเงินบางส่วนจ่ายให้แก่ "ผู้แทนของประเทศไทย และพนักงานของการบินไทย" ซึ่งบุคคลเหล่านี้ "ถูกคาดหวังว่าจะให้ความความช่วยเหลือแก่โรลส์-รอยซ์ในการจัดซื้อเครื่องเครื่องยนต์ T800 โดยการบินไทย" หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า การจ่ายเงินดังกล่าวสูงถึง 1.3 พันล้านบาท ระหว่างปี 2534-2548 เพื่อให้การบินไทยซื้อเครื่องยนต์ Trent ถึง 3 ลอตจากโรลส์-รอยซ์
ขณะที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ชี้แจงกำลังเร่งขอข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาตรวจสอบโดยละเอียด เมื่อได้รับข้อเท็จจริง การบินไทยจะพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมในการจัดการเรื่องทุจริตครั้งนี้โดยเร็ว
(อ่านประกอบ : การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ประมวลข้อมูลข่าวการจ่ายเงินสินบนการจัดซื้อครื่องยนต์ระหว่างการบินไทย กับ บริษัท โรลส์-รอยซ์ จำกัด จากสื่อต่างๆ มาให้สาธารณชนได้รับทราบชัดๆ ดังนี้
1. ข้อมูลการจัดซื้อ และ การจ่ายสินบน
- สื่อในต่างประเทศและในประเทศ รายงานข้อมูลตรงกันว่า โครงการที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีปัญหาการจ่ายเงินสินบน คือ การซื้อขายเครื่องยนต์ ที-800 ในเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 777
โดยถูกระบุว่ามีการจ่ายเงินสินบน จำนวน 3 ครั้ง รวม 1,223 ล้านบาท
ครั้งแรก - เกิดขึ้นในการจัดซื้อ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2534-30 มิ.ย. 2535 ซึ่ง โรลส์-รอยซ์ จ่ายค่านายหน้าคนกลางให้หน่วยงานหนึ่งเป็นเงิน 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 663 ล้านบาท) และเงินดังกล่าวมีการนำไปให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย เพื่อช่วยให้โรลส์-รอยซ์ ชนะการเสนอขายดังกล่าว
ครั้งสอง - เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2535-31 มี.ค.2540 โดย โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงิน 10.38 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 336 ล้านบาท) ให้นายหน้าคนกลาง ซึ่งนำเงินดังกล่าวบางส่วนไปให้พนักงานการบินไทย
ครั้งสาม - เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2547-28ก.พ. 2548 โดยโรลส์-รอยซ์จ่ายเงินให้กับคนกลาง 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 254 ล้านบาท) ซึ่งมีเงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย (อ้างอิงข้อมูลข่าวส่วนนี้จาก โพสต์ ทูเดย์)
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสืบสวนของ เอสเอฟโอ เกี่ยวกับการจ่ายเงินซื้อขายเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ให้กับการบินไทยจำนวน 3 ครั้ง ดังกล่าว ที่ได้รับ สำนักข่าวอิศรา สรุปกลุ่มบุคคล ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง กับกระบวนการจ่ายเงินสินบน ได้ดังนี้
@ การจ่ายเงินครั้งแรก 663 ล้านบาท
1. นายหน้าคนกลาง
2. หน่วยงานแห่งหนึ่ง
3. เจ้าหน้าที่รัฐ
4. พนักงานการบินไทย
@ การจ่ายเงินครั้งสอง 336 ล้านบาท
1. นายหน้าคนกลาง
2. พนักงานการบินไทย (เงินบางส่วนตกไปถึง)
@ การจ่ายเงินครั้งสาม 254 ล้านบาท
1. นายหน้าคนกลาง
2. เจ้าหน้าที่รัฐ (เงินบางส่วนตกไปถึง)
3. พนักงานการบินไทย (เงินบางส่วนตกไปถึง)
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่า พนักงานการบินไทย ที่ได้รับสินบนครั้งนี้ อยู่ในตำแหน่งใด ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ จะหมายความถึงนักการเมืองหรือไม่ แต่มีการคาดหมายจากหลายฝ่ายว่าบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเส้นทางเงินสินบนครั้งนี้ จะต้องมีตำแหน่งระดับสูงอย่างแน่นอน และน่าจะมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจอนุมัติการดำเนินงานโครงการนี้ด้วย
2. ข้อมูลรายชื่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งดีดีการบินไทยและเป็นประธานบอร์ดการบินไทย ในช่วงที่เกิดปัญหาเรื่องสินบน
ในช่วงเวลาที่ถูกระบุว่า โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายเงินให้กับการบินไทย จำนวน 3 ครั้ง เกิดขึ้นช่วงปี 2534-2548 'กรุงเทพธุรกิจออนไลน์' ตรวจสอบพบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย ดังนี้
นายวีระ กิจจาทร เป็นดีดีการบินไทยปี2531-2535 พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ด (ปี2531-2532 ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ปี2532-2535พล.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ.เป็นประธานบอร์ด ส่วนปี2535-2536 นายฉัตรชัย บุญญะอนันต์ เป็นดีดีการบินไทย ขณะที่พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ผบ.ทอ.เป็น ประธานบอร์ด
สำหรับปี2536-2543 นายธรรมนูญ หวั่งหลี เป็นดีดีการบินไทย พล.อ.อ.ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ เป็นประธานบอร์ดการบินไทยตั้งแต่ปี 2536-2539 หลังจากนั้นมีการปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ โดยมีการแต่งตั้งนายมหิดล จันทรางกูร ปลัดกระทรวงคมนาคมมาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดการบินไทย ช่วงระหว่างธ.ค.2539-พ.ย. 2543จากนั้นปี2543-2544นายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ เป็นดีดีการบินไทย แต่รัฐบาลสมัยนั้นแต่งตั้งนายศรีสุข จันทรางศุ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานบอร์ดการบินไทย ( พ.ย.2543-เม.ย.2544) และรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนประธานบอร์ดใหม่โดยแต่งตั้งนายชัยอนันต์ สมุทวณิช (พ.ค.2544-ก.ย.2544) และต่อจากนั้นได้เปลี่ยนคณะกรรมการใหม่ทั้งชุดได้แต่งตั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานบอร์ดการบินไทย (ต.ค.2544-พ.ค.2545 ) แต่ได้สรรหาดีดีใหม่เป็นนายนายกนก อภิรดี ปี2545-2549
ขณะเดียวกัน ในเดือนมิ.ย. 2545-มี.ค.2548 ได้ปรับเปลี่ยนตัวประธานบอร์ดใหม่เป็นนายทนง พิทยะ หลังจากนั้นในปีเดียวกันได้เปลี่ยนประธานบอร์ดอีกรอบเป็นนายวันชัย ศารทูลทัต ปลัดกระทรวงคมนาคม (มี.ค.2548-พ.ย.2549) (อ้างอิงข้อมูลข่าวส่วนนี้ จาก 'กรุงเทพธุรกิจออนไลน์')
เบื้องต้น ยังไม่มีการระบุรายชื่อชัดเจนจากการบินไทยว่า ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย ในแต่ละยุคที่เกิดเรื่อง มีใครเกี่ยวข้องและจะถูกเชิญมาให้ข้อมูลบ้าง ดังนั้น ทุกคนจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
โดยในช่วงเช้าวันที่ 19 ม.ค.2560 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาบางส่วนบางส่วนให้ชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. กล่าวยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ภายหลังปรากฎข่าวเรื่องนี้ สตง.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างใกล้ชิดแล้ว
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลเบื้องต้นที่รวบรวมได้เกี่ยวกับกรณีการจ่ายเงินสืนบน ของ บริษัท โรลส์-รอยซ์ จำกัด ให้กับการบินไทย เป็นวงเงินสูงถึง 1,223 ล้านบาท ที่กำลังปรากฎเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาเสนอให้สาธารณะได้รับทราบในโอกาสต่อไป