- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ใครอยู่ใครไป? เปิดชื่อ 5 กก.ป.ป.ช. ปมคุณสมบัติร่าง รธน.-กระทบหนักฟันคดีทุจริต
ใครอยู่ใครไป? เปิดชื่อ 5 กก.ป.ป.ช. ปมคุณสมบัติร่าง รธน.-กระทบหนักฟันคดีทุจริต
“…อาจมีผู้ถูกกล่าวหาในชั้น ป.ป.ช. บางรายที่อ้างว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้จะชี้มูลความผิดไม่ได้ เนื่องจากมีกรรมการ ป.ป.ช. บางราย คุณสมบติขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ? และจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปถึงการพิจารณาคดีต่าง ๆ ทั้งคดีเก่า และคดีใหม่ ที่ ‘บิ๊กกุ้ย’ พล.ต.อ.วัชรพล วางเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องเคลียร์คดีทั้งค้างเก่าและใหม่ให้เสร็จภายใน 1-2 ปี อาจเสร็จไม่ทันได้…”
ประเด็นเรื่องคุณสมบัติของกรรมการในองค์กรอิสระตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น องค์กรอิสระเอง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือศาลรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะ กกต. ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ ที่ออกตัวแรงก่อนหน้านี้ว่า ต้องการให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนในบทบัญญัติให้ชัดเจนกว่านี้ และมีการ ‘ชี้เป้า’ ไปที่กรรมการในองค์กรอิสระหลายแห่งว่า มีบางรายอาจเสี่ยงขัดคุณสมบัติดังกล่าวได้
ขณะที่ ‘เนติบริกรระดับครุฑ’ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. นั่งยันนอนยันว่า กรณีนี้ให้อำนาจกับคณะกรรมการสรรหาฯ เป็นใหญ่ และดำเนินการไปตามบทบัญญัติตามร่างรัฐธรรมนูญ
แต่ยังคงไม่มีทางออกว่า ท้ายสุดแล้วบทสรุปจะเป็นอย่างไร ?
และอย่างที่หลายคนทราบกันไปแล้วว่า มีกรรมการในองค์กรอิสระใดบ้าง ที่อาจ ‘สุ่มเสี่ยง’ ต่อการ ‘หลุด’ จากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น กกต. ป.ป.ช. หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตาม
แต่ถ้าหากมองเหตุการณ์เบื้องต้น ณ ขณะนี้ องค์กรอย่าง กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะยังไม่มีอะไรให้กังวลมากนักเนื่องจากยังไม่มีการจัดการเลือกตั้ง หรือมีอะไรสำคัญที่ต้องส่งให้ตีความ
แต่องค์กรอย่าง ป.ป.ช. ซึ่งดูแลด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่นับเป็น ‘งานหลัก’ และเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ นับว่าประเด็นคุณสมบัติถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด
เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ที่อาจเรียกได้ว่า ‘ชี้ขาด’ เส้นทางชีวิตของบรรดาข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้แต่นักการเมืองว่าจะ ‘อยู่’ หรือ ‘ไป’ !
ขณะที่ปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังคงไต่สวนคดีต่าง ๆ และมีมติชี้มูลความผิดอยู่เรื่อย ๆ
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญของประเด็นนี้เฉพาะกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 216 ซึ่งอิงคุณสมบัติจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 202 มีการระบุถึงคุณสมบัติของกรรมการในองค์กรอิสระว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามจำนวนหลายข้อด้วยกัน และมาตรา 232 กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
แต่ถ้าพิจารณาตามหน้าที่การงาน ‘เดิม’ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 9 ราย ที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพด้วยกัน ตามบทบัญญัติของมาตรา 216 และมาตรา 202 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีกรรมการ ป.ป.ช. อย่างน้อย 5 รายที่อาจเข้าข่ายขัดตามคุณสมบัติเหล่านี้
มาตรา 202 กำหนดลักษณะต้องห้ามว่า
(1) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
(4) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
ส่วนมาตรา 232 กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า
(2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(3) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
หากพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว จะมีกรรมการ ป.ป.ช. ที่อาจเข้าข่ายขัดคุณสมบัติ ได้แก่
หนึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี)
โดยตำแหน่งนี้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ระบุว่า เป็นข้าราชการทางการเมือง มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ดังนั้น ในเมื่อเป็นข้าราชการทางการเมืองแล้ว ก็อาจขัดต่อคุณสมบัติมาตรา 202 (4) ที่ห้ามดำรงตำแหน่งดังกล่าวในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกสรรหา ดังนั้นจึงอาจ ‘หลุด’ จากการเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้
สอง นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 202 (1) ที่เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในองค์กรอิสระใด ได้ นอกจากนี้หากนับเฉพาะช่วงที่นายวิทยา ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังไม่ถือว่ามีตำแหน่งเป็นระดับผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ (ผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสำนักงาน ป.ป.ช. คือ เลขาธิการฯ) ดังนั้นจึงอาจสุ่มเสี่ยงพ้นจากตำแหน่งได้
สาม พล.อ.บุญยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ ซูเปอร์บอร์ด กสทช. รวมถึงเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก ซึ่งทั้งสองตำแหน่งดังกล่าว อาจขัดตามมาตรา 232 (2) และ (3) ได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ในช่วงดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก ถือว่าเทียบเท่ากับระดับใด และเคยดำรงตำแหน่งอยู่เทียบเท่า หรือนานเกินกว่า 5 ปี หรือไม่
สี่ นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. เรียกได้ว่าเป็น ‘ลูกหม้อ’ ประจำสำนักงาน ป.ป.ช. ขนานแท้ ก่อนหน้านี้เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในช่วงสั้น ๆ ในชุดที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. แต่ก็มีอายุงานไม่ถึง 5 ปี ดังนั้นอาจเข้าข่ายขัดกับคุณสมบัติตามมาตรา 232 (2) และ (3) ได้
ห้า นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นอีกหนึ่ง ‘ลูกหม้อ’ ประจำสำนักงาน ป.ป.ช. เช่นกัน ก่อนหน้านี้เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย แต่เป็นสั้นกว่านายปรีชาเสียอีก ดังนั้นอายุงานก็อาจไม่ถึง 5 ปี จึงอาจเข้าข่ายขัดกับคุณสมบัติตามมาตรา 232 (2) และ (3) เช่นกัน
ทั้งหมดคือรายชื่อ 5 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่อาจเข้าข่ายขัดกับคุณสมบัติตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯจากพระมหากษัตริย์
แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร กรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 รายข้างต้น จะมีใครเข้าข่ายขัดคุณสมบัติบ้างนั้น ประเด็นที่ต้องโฟกัสต่อไปคือ การชี้มูลความผิดกับบรรดาผู้ถูกกล่าวหาจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการประกาศใช้แล้ว
เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า หากเรื่องนี้ยัง ‘คลุมเครือ’ อยู่ และไม่มีใครออกมา ‘ฟันธง’ ให้ชัดเจนว่า ตกลงแล้วหน่วยงานใดจะเป็นผู้ส่งเรื่อง ‘ชี้ขาด’ กรณีดังกล่าว
อาจมีผู้ถูกกล่าวหาในชั้น ป.ป.ช. บางรายที่อ้างว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้จะชี้มูลความผิดไม่ได้ เนื่องจากมีกรรมการ ป.ป.ช. บางรายคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ?
และจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปถึงการพิจารณาคดีต่าง ๆ ทั้งคดีเก่า และคดีใหม่ ที่ ‘บิ๊กกุ้ย’ พล.ต.อ.วัชรพล วางเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องเคลียร์คดีทั้งค้างเก่าและใหม่ให้เสร็จภายใน 1-2 ปี อาจเสร็จไม่ทันได้
ตรงนี้คือประเด็นสำคัญที่ทำให้ กรธ. รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคลุมเครือและเข้าใจผิดขึ้นในหมู่ประชาชน และป้องกันไม่ให้บรรดาผู้ถูกกล่าวหาใช้ข้ออ้างนี้เพื่อไม่ให้ถูกชี้มูลความผิดขึ้นได้
ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. ยังคงยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่มีกรรมการ ป.ป.ช. รายใดนำเรื่องนี้มาคุยอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีพูดคุยกันบ้างเบื้องต้นเท่านั้น และยังไม่มีใครกังวลถึงเรื่องนี้ รอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เสียก่อน จึงค่อยหารืออย่างเป็นทางการอีกครั้ง
(อ่านประกอบ : ยังชี้มูลปกติ-ไม่กังวลคุณสมบัติขัด รธน.ใหม่! กก.ป.ป.ช.รอถกหลังประกาศใช้)
ดังนั้นคงต้องรอจับตาภายหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ กรรมการ ป.ป.ช. รายใดจะยังอยู่หรือไป รวมถึง กรธ. จะเอายังไงต่อ !