- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ‘ณฐพร’พัวพันคดีฟอกเงินขายที่ดิน ‘ศุภชัย’ ไฉนได้รับความไว้ใจบริหารเงิน ช.พ.ค.
‘ณฐพร’พัวพันคดีฟอกเงินขายที่ดิน ‘ศุภชัย’ ไฉนได้รับความไว้ใจบริหารเงิน ช.พ.ค.
“…หากพิจารณาคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการบริหารกองทุนฯ ช.พ.ค. ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินอกจากต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ด้านการเงินหรือการคลัง ด้านเศรษฐศาสตร์หรือการลงทุน ด้านบริหารธุรกิจ ด้านการบัญชี ด้านกฎหมาย ด้านหนึ่งด้านใดแล้ว ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพด้วย ตรงนี้จะเข้าข่ายขัดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกหรือไม่…”
นับเป็นเรื่องที่ชวนสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ?
กรณีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
โดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯชุดดังกล่าว ได้คัดเลือก ‘ณฐพร โตประยูร’ อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย
ทั้งที่นายณฐพร เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีฟอกเงินการขายที่ดินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร วงเงิน 477 ล้านบาท !
ขณะเดียวกันนายชวลิต ชูขจร อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้เข้ารับการคัดเลือกหมดแล้วไม่พบอะไรผิดปกติ
ส่วนกรณีปรากฏชื่อนายณฐพรเข้าไปพัวพันกับคดีฟอกเงินการขายที่ดินของนายศุภชัย วงเงิน 477 ล้านบาทนั้น เป็นข้อมูลเชิงลึก ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน ?
(อ่านประกอบ : ปธ.คัดเลือกฯยัน‘ณฐพร’คุณสมบัติครบนั่ง กก.บริหารเงิน ช.พ.ค.-ไม่รู้ถูกสอบคดีฟอกเงิน)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงกรณีนี้ ให้ทราบดังนี้
เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ สกสค. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เพื่อคัดเลือกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนชุดเดิมที่หมดวาระไป จำนวน 5 ราย
สำหรับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯดังกล่าว มีที่มา 2 วิธี ได้แก่ การสมัครเข้ารับการคัดเลือก และการเสนอชื่อของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. หรือสำนักงาน สกสค. ต่างจังหวัด
เบื้องต้นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ได้คัดเหลือรายชื่อรวมทั้งหมด 16 ราย จากทั้ง 5 ด้าน (ด้านการเงินการคลัง ด้านเศรษฐศาสตร์หรือการลงทุน ด้านบริหารธุรกิจ ด้านบัญชี และด้านกฎหมาย)
โดยในส่วนของด้านกฎหมายนั้น มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก 2 ราย คือ 1.ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ (อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) 2.นายณฐพร โตประยูร (อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน)
ต่อมา ช่วงเดือน มิ.ย. 2559 คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ได้คัดเลือกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯทั้งหมดเสร็จสิ้น โดยในส่วนของด้านกฏหมายนั้น คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ มีคะแนนเป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 0 เสียง เลือกนายณฐพร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย โดยเห็นว่า เป็นผู้ที่จะสามารถมีเวลาปฏิบัติงานให้กับกองทุน ช.พ.ค. ได้มากกว่า ประกอบกับแนวคิดวิธีการ และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน มีประสบการณ์ในการติดตามและตรวจสอบขององค์กร รวมทั้งเคยเป็นที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งจะมีความเข้าใจในการดำเนินงานของกองทุน ช.พ.ค. (อ่านเอกสารประกอบ)
ไม่ว่าเหตุผลของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ จะเห็นว่า นายณฐพร เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมที่จะเข้ามานั่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฏหมาย บริหารเงินกู้ ช.พ.ค. หรือไม่ อย่างไร ?
แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านคือ นายณฐพร เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีฟอกเงินการขายที่ดินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น วงเงิน 477 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ด้วย
โดยกรณีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายณฐพร เป็นหนึ่งในผู้ได้รับเช็คจำนวน 60 ล้านบาท จากการขายที่ดินระหว่างนายศุภชัย และบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด วงเงิน 477 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ปรากฏชื่อนายณฐพร อยู่ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว
ต่อมา นายณฐพร อ้างว่า เป็นเงินค่านายหน้า ที่ได้รับผ่านบริษัท อินเตอร์อลายซ์ แอนด์กฎหมาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวเอง โดยนำเช็คดังกล่าวคืนแก่บริษัท และกระจายให้กับผู้เกี่ยวข้องหมดแล้ว
อย่างไรก็ดีมีอย่างน้อย 3 เงื่อนปมที่ยังไม่สามารถทำให้ ‘เคลียร์’ ได้
หนึ่ง นายณฐพร อ้างว่า เช็ค 60 ล้านบาท ดังกล่าวที่ได้รับเป็นเงินค่านายหน้า แต่จากการตรวจสอบพบว่า ในสัญญานายหน้าค้าที่ดินระหว่างนายศุภชัย กับบริษัท อินเตอร์อลายฯ ทำขึ้นในช่วงเดือน ม.ค. 2557 ขณะที่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายศุภชัย กับบริษัท พิษณุโลกฯ ทำขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค. 2556
ดังนั้นสัญญานายหน้าค้าที่ดินของนายศุภชัย กับนายณฐพร ทำขึ้นภายหลังมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไปแล้ว ซึ่งผิดวิสัยในการทำธุรกิจ ที่จะต้องมีการทำสัญญานายหน้าค้าที่ดินเสียก่อน ที่จะมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน นอกจากนี้ในที่ประชุมการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายดีเอสไอ นายศุภชัย ยังอ้างต่อที่ประชุมเองว่า สามารถติดต่อเอกชนเพื่อมาซื้อที่ดินดังกล่าวได้แล้ว เหตุใดจึงต้องไปทำสัญญานายหน้าค้าที่ดินอีก ?
สอง ในหนังสือนายหน้าค้าที่ดินระหว่างนายศุภชัย กับบริษัท อินเตอร์อลายฯ ซึ่งทำขึ้นช้ากว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินประมาณ 1 เดือน มีการระบุถึง กรณีผู้ให้สัญญาสามารถขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ เนื่องจากผลแห่งการที่นายหน้าได้ทำการชี้ช่องหรือได้จัดการให้ได้ขายในราคาไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ผู้ให้สัญญาตกลงยินยอมจ่ายค่านายหน้าให้แก่นายหน้าเป็นเงิน 60 ล้านบาท ตรงนี้บริษัท อินเตอร์อลายฯ ใช้วิธีการคำนวณค่านายหน้าอย่างไร จึงได้รับเงินถึง 60 ล้านบาท หรือจะทราบมาก่อนอยู่แล้วว่า จะมีการขายที่ดินดังกล่าว
นอกจากนี้ทำไมนายณฐพรถึงจำไม่ได้ว่าเป็นกลุ่มนายหน้าจากไหนที่ติดต่อผ่านบริษัท อินเตอร์อลายฯ เพื่อจะซื้อที่ดิน ทั้งที่นายณฐพร ให้สัมภาษณ์เองว่า เป็นผู้เซ็นเอกสารรายละเอียดต่าง ๆ หรืออาจเป็นไปได้ว่า สัญญาฉบับดังกล่าวไม่ได้ทำในช่วงเดือน ม.ค. 2557 จริง แต่เพิ่งทำขึ้นภายหลังปรากฏเป็นข่าวหรือไม่
สาม นายณฐพร ระบุว่า ภายหลังได้รับเช็คค่านายหน้าวงเงิน 60 ล้านบาทแล้ว มีการโอนให้กับกลุ่มนายหน้าที่มาติดต่อ 40 ล้านบาท และผู้ร่วมงาน 5 ล้านบาท ส่วนตัวเองได้ 15 ล้านบาท ทำไมส่วนนี้ถึงไม่ระบุคนที่ต้องจ่ายเงินให้ชัดเจน แต่กลับมาแบ่งเงินกันทีหลัง หรืออาจเป็นไปได้ว่า มีการนำเงินส่วนนี้ไปกระจายแบ่งให้กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐที่อาจอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือไม่
(อ่านประกอบ : ขมวดปมพิรุธค่านายหน้าขายที่‘ศุภชัย’ 60 ล.ก่อน‘กุนซือ’ปธ.ผู้ตรวจฯ ไขก๊อก)
ทั้งหมดคือ 3 เงื่อนปมที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่า เตรียมจะแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้แล้วอย่างน้อย 14 ราย
(อ่านประกอบ : ‘ณฐพร’โผล่นั่ง กก.บริหารเงิน ช.พ.ค. ทั้งที่ถูกสอบฟอกเงินขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 477 ล., เปิดตัว2ขรก.ดีเอสไอถูกแจ้งข้อหาคดีฟอกเงินขายที่ดินส.คลองจั่น 477ล.)
และจากข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ หากพิจารณาคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการบริหารกองทุนฯ ช.พ.ค. ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินอกจากต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ด้านการเงินหรือการคลัง ด้านเศรษฐศาสตร์หรือการลงทุน ด้านบริหารธุรกิจ ด้านการบัญชี ด้านกฎหมาย ด้านหนึ่งด้านใดแล้ว ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพด้วย (อ่านประกอบ : http://www.otep.go.th/?p=otep-page&id=1378)
ตรงนี้จะเข้าข่ายขัดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกหรือไม่ อย่างไร ?
เป็นเรื่องที่ทางสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จะต้องชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อให้สังคมปราศจากข้อสงสัย เพราะที่ผ่านมาเงินกู้ ช.พ.ค. ถูกตั้งคำถามอย่างมาก เกี่ยวกับปัญหาในการเบิกจ่ายเงิน และความไม่โปร่งใส ซึ่งปัจจุบันถูกคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปดำเนินการตรวจสอบแล้ว
อ่านประกอบ :
‘ณฐพร’โผล่นั่ง กก.บริหารเงิน ช.พ.ค. ทั้งที่ถูกสอบฟอกเงินขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 477 ล.
INFO: ใครเป็นใคร? พลิกพฤติการณ์ผู้ถูกกล่าวหาคดีฟอกเงินขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 477 ล.
ขมวดเงื่อนปมซับซ้อน! การขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 477 ล.ชดใช้หนี้คดีคลองจั่น